หลังจากที่มีข่าวเล็ดข่าวลอดสร้างความหวาดหวั่นขวัญผวาให้ตลาด Crypto มาหลายเดือน ในที่สุดกฎหมาย Cryptocurrency และภาษี ก็ได้ออกมาให้เรายลโฉมกันเป็นที่เรียบร้อยแล้วนะครับ ซึ่งก็ตามสูตร คือเต็มไปด้วยภาษากฎหมายยาวเหยียด อ่านแล้วหลับ หลับแล้วตื่น ตื่นมาอ่าน กี่ทีก็ยังมึน
หลังจากผมอ่านไปหลายรอบจนพอจะสรุปออกมาได้ ก็เลยอยากจะเอามาแชร์ให้เข้าใจตรงกัน และส่วนที่เป็นตัวเอนจะเป็นการขยายความ หรือยกตัวอย่างเพิ่ม รวมถึงแทรกความเห็นส่วนตัวของผมเข้าไปด้วยนะครับ
มีกฎหมายใหม่ 2 ฉบับที่เกี่ยวข้องกับ Cryptocurrency นี้ครับ
- พระราชกําหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ปี 2561 ที่พูดถึงเรื่องเงิน Crypto, ICO, Exchange, ข้อกำหนด, บทลงโทษอะไรไป
- พระราชกําหนด แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 19) พ.ศ. 2561 ที่พูดถึงเรื่องภาษีที่เกี่ยวข้องล้วนๆ
เข้าใจนิยามกันก่อน
เพื่อให้อ่านกฎหมายฉบับนี้ได้แซ่บยิ่งขึ้น เราต้องเข้าใจกับนิยามของคำหลายๆคำที่ใช้ในกฎหมายฉบับนี้ก่อนนะ
- ตามกฎหมายฉบับนี้ Cryptocurrency หรือเขียนเป็นไทยว่า “คริปโทเคอร์เรนซี”คือ หน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่ถูกสร้างข้ึนโดยมีความประสงค์ที่จะใช้เป็น “สื่อกลางในการแลกเปลี่ยน” เพื่อให้ได้มาซึ่งสินค้า บริการ หรือสิทธิใดๆ หรือแลกเปลี่ยนระหว่างสินทรัพย์ดิจิทัล
- ส่วน Token Digital หรือ “โทเคนดิจิทัล” หมายถึง หน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่ถูกสร้างขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ “กําหนดสิทธิ” ของบุคคลในการเข้าร่วมลงทุนในโครงการหรือกิจการ หรือกําหนดสิทธิในการได้มาซึ่งสินค้าหรือบริการหรือสิทธิอื่นใดท่ีเฉพาะเจาะจง
- หรือพูดง่ายๆก็คือ “คริปโทเคอร์เรนซี” ก็คือเงินคริปโต เช่น Bitcoin
- ส่วน Utilities token, Securities token, และ Equity token ก็จัดเป็น “โทเคนดิจิทัล”
- และทั้ง Cryptocurrency และ Token Digital สามารถเรียกเหมาๆรวมกันได้ว่า “สินทรัพย์ดิจิทัล”
- ถ้าเจอคำว่า “ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล” ก็ให้รู้ว่าหมายความถึงคนทำอะไรที่เกี่ยวข้องกับ
- Exchange (เช่น BX, TDAX, BitKub)
- Broker หรือ นายหน้า คือผู้ที่ประกาศตัวว่าเป็นตัวแทนรับซื้อขายแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัล
- Dealer ผู้ขายเงิน crypto หรือ token เช่น ทำเวบรับเงินจากบัตรเครดิตหรือให้คนโอนเงินมาแลกคริปโต
- และอะไรอื่นๆ ที่รัฐมนตรีกำหนดให้อยู่ในข้อนี้
(Crypto Credit Card ไม่รวมในกฎหมายนี้นะ เพราะจัดอยู่ใน epayment/ewallet provider ซึ่งจะถูกกำกับดูแล พรบ ระบบชำระเงิน แทน)
- “ผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัล” ก็คือผู้ที่มีหน้าที่ช่วยกลั่นกรองผู้ออก ICO และตัว ICO และตรวจสอบความครบถ้วนถูกต้องของแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายโทเคนดิจิทัล และร่างหนังสือชี้ชวน (หรือเรียกง่ายๆว่าทำหน้าที่เป็น IB ในโลก ICO นั่นเอง ซึ่งในร่างฯเก่าของก.ล.ต. จะเรียกคนทำสิ่งนี้ว่า ICO Portal)
เรื่องทั่วๆ ไปก่อน
- อย่างแรก กฎหมายนี้บอกว่าอะไรที่เข้าข่ายหลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์ เช่นพวก ตั๋วเงินคลัง,พันธบัตร, หุ้น, หน่วยลงทุน ไม่นับว่าเป็น Cryptocurrency หรือ Digital Token (ซึ่งตรงนี้ขอตั้งข้อสังเกตว่าถ้า ในอนาคต ก.ล.ต. ออกกฎว่าให้ Securities token และ Equity token ถือเป็นหลักทรัพย์ ก็อาจจะทำให้ token 2 ประเภทนี้หลุดจากการกำกับด้วยกฎหมาย Crypto นี้ไปถูกกำกับด้วยกฎหมายหลักทรัพย์ได้ทันที หรือในทางกลับกัน ก.ล.ต. ก็สามารถจะออกกฎให้หลักทรัพย์สามารถใช้กระบวนการดิจิตอลภายใต้กฎนี้ได้ด้วย)
- ผู้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล (ถ้าไม่แน่ใจว่าตัวเองเข้าข่ายหรือเปล่า ย้อนกลับไปดูนิยามข้างบนนะจ๊ะ) และ ICO Portal ถือเป็นสถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (แปลว่าต้องทำตามและต้อง “รับผิด” ตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินด้วยนะ)
- ถ้าคนเหล่านี้จะทำธุรกรรมหรือรับค่าตอบแทนเป็น Cryptocurrency ก็ต้องเป็น crypto ที่ได้มาจากการผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่ได้รับอนุญาตเท่าน้ัน (อันนี้เพื่อกันการฟอกเงินหรือหลบเลี่ยงภาษีเต็มๆ จะมาปัดว่า ลูกค้าจะขุดมาจ่ายมั้ง หรือได้มาจากไหนไม่รู้ ไม่ได้)
- คณะกรรมการ ก.ล.ต. มีอำนาจหน้าที่ออกระเบียบข้อบังคับ กําหนดหลักเกณฑ์ตั่งต่างเกี่ยวกับการออกและเสนอขาย โทเคนดิจิทัลและการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล
- เฉพาะนิติบุคคลประเภทบริษัทจํากัดหรือบริษัทมหาชนจํากัดเท่านั้น ถึงจะออก ICO ได้ (คนธรรมดาอยากจะออกก็แค่รวมตัวกันไปจดเป็นบริษัทจำกัดซะก่อน ไม่ได้ยากอะไร)
- ผู้ออก ICO ต้องได้รับอนุญาตจาก ก.ล.ต. และต้องยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายโทเคนดิจิทัลและร่างหนังสือชี้ชวนต่อสํานักงาน ก.ล.ต.
- และสำหรับ ICO ที่ขายแล้วบางส่วน ยังไม่ได้ขายบางส่วน (เช่น JFin) ก็ต้องเข้ากระบวนการยื่นแบบและหนังสือชี้ชวนข้างบนด้วย จะมาอ้างว่าออกเหรียญไว้ก่อนแล้วไม่ได้
- ขาย ICO ได้เฉพาะต่อผู้ลงทุนตามประเภทและภายใต้เงื่อนไขที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกําหนดเท่านั้น (ซึ่งก็น่าจะบังคับได้เฉพาะ primary เท่านั้น พอไปเทรดใน secondary market ก็คุมไม่ได้ละ)
- ต้องเสนอแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายโทเคนดิจิทัลและร่างหนังสือชี้ชวน ให้ ก.ล.ต. อนุมัติก่อน ถึงขาย ICO ได้ และต้องขายผ่าน ICO Portal เท่านั้น
- คณะกรรมการ ก.ล.ต. มีสิทธิกำหนดว่า token แบบไหนต้องยื่นแบบ แบบไหนไม่ต้องยื่น
- ถ้าทำๆ ICO ไป ก.ล.ต. เจอว่าแจ้งข้อมูลเท็จ ข้อมูลคลาดเคลื่อน หรือทำๆไปแล้วกลายเป็นไม่เหมือนในแบบแสดงข้อมูลหรือหนังสือชี้ชวน ทาง ก.ล.ต. ก็มีอํานาจระงับหรือเพิกถอนการอนุญาตนั้นได้ในทันที แต่อันนี้ไม่มีผลย้อนหลังกับ ICO ที่ออกไปแล้ว
- ผู้ออก ICO ต้องจัดทำรายงานเกี่ยวกับผลการดําเนินงานและฐานะการเงิน รวมถึงเปิดเผยข้อมูลที่อาจมีผลต่อสิทธิประโยชน์ของผู้ถือโทเคนดิจิทัล หรือต่อการตัดสินใจลงทุน หรือต่อการเปลี่ยนแปลงในราคาหรือมูลค่าของโทเคนดิจิทัล กับ ก.ล.ต. และสาธารณชนด้วย (อันนี้ไม่ได้บอกว่าต้องส่งรายงานทุกปี หรือทุก quater หรือยังไง น่าจะอยู่ในประกาศ ก.ล.ต. ที่จะตามมาอีกที แต่รวมๆแล้วเป็นภาระงานที่เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลสำหรับผู้ออก ICO)
ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล
- ทวนอีกทีนะ “ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล” คือ exchange, นายหน้าตัวแทนรับซื้อขาย, คนขายเงิน crypto และสิ่งอื่นใดที่รัฐมนตรี และ ก.ล.ต. ท่านอยากให้อยู่ในข้อนี้
- ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลต้องได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรี ซึ่งหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ค่าธรรมเนียมการขออนุญาตจะเป็นไปตามท่ีรัฐมนตรีประกาศกําหนด (ซึ่งก็ยังไม่ได้กำหนดออกมา)
- ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลจะต้องมีแหล่งเงินทุนที่เพียงพอสําหรับการประกอบธุรกิจและรองรับความเสี่ยงในด้านต่างๆ ต้องมีมาตราการการรักษาความปลอดภัยจากการโจรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ และต้องมีระบบบัญชีที่เหมาะสมกับกิจการและจัดให้มีการสอบบัญชีโดยผู้สอบบัญชีที่สํานักงาน ก.ล.ต. ให้ความเห็นชอบ
- ที่สำคัญอีกข้อคือต้องมีมีมาตรการการ KYC/CDD และมาตรการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายหรือการฟอกเงิน (อันนี้งานช้างเลยนะ สำหรับคนที่ไม่มีประสบการณ์ด้านนี้)
- ถ้าผู้ประกอบธุรกิจมีการเก็บรักษาทรัพย์สินของลูกค้า จะต้องจัดทําบัญชีทรัพย์สินของลูกค้าแยกแต่ละรายและต้องเก็บรักษาทรัพย์สินแยกออกจากทรัพย์สินของบริษัทโดยห้ามเอาไปใช้ทำอย่างอื่น (เจตนาของข้อนี้หมายถึงผู้ประกอบธุรกิจเก็บ private key ลูกค้า หรือรับฝากโทเคนลูกค้า เหมือนกับแบบที่ลูกค้าเทรดหุ้นฝากหุ้นกับ broker)
- ซึ่งทั้งหมดนี้ หากไม่ทำตาม คณะกรรมการ ก.ล.ต. อาจสั่งระงับการดําเนินงานท้ังหมดหรือแต่บางส่วนเป็นการชั่วคราว ไปจนถึงเพิกถอนการอนุญาตเลยก็ได้
การป้องกันการกระทําอันไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล
- ห้ามให้ข้อมูลเท็จ หรือข้อมูลที่อาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดเกี่ยวกับฐานะทางการเงิน ผลการดําเนินงาน หรือราคา (คือรายงานราคาได้ แต่ห้ามให้ข้อมูลเป็นเท็จ ฉะนั้นสยามบลอกเชนสามารถโพสรูปจรวดได้ ไม่ผิดจ้ะ)
- ห้ามเอาข้อมูลเท็จหรือข้อมูลไม่ครบถ้วนมาใช้วิเคราะห์หรือคาดการณ์ฐานะทางการเงิน ผลการดําเนินงาน ข้อมูลอื่นใดที่เกี่ยวกับผู้ออก ICO
- ห้ามมิให้บุคคลที่รู้ข้อมูลภายในที่เกี่ยวกับผู้ออก ICO ทำการซื้อ, ขาย หรือทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าเพื่อตนเองหรือบุคคลอื่น และห้ามเปิดเผยข้อมูลภายในแก่บุคคลอื่น (แบบราคาเด้งแน่แกร เดี๋ยวจะมีดีลพิเศษกับหน่วยงานนี้ๆๆ ข้ารู้ข้าเป็นคนวงใน อะไรงี้ ผิดเต็มๆนะจ๊ะ)
- ถ้าผู้ถือ token เกินกว่า 5%, ผู้บริหาร, พ่อแม่ลูกญาติพี่น้องภรรยาสามี, บริษัทแม่บริษัทลูก มีพฤติกรรมการซื้อขายที่ผิดไปจากปกติวิสัย ให้เชื่อไว้ก่อนเลยว่าเป็นผู้รู้ข้อมูลภายใน
- ห้ามผู้บริหารและพนักงานของนายหน้าซื้อขาย หรือ exchange แอบส่ง หรือแก้ไข หรือยกเลิก หรือเปิดเผยข้อมูลการซื้อขายของลูกค้า
- ห้ามส่งคำสั่งซื้อขายที่จะทำให้คนเข้าใจผิดเกี่ยวกับราคาหรือปริมาณการซื้อขาย และห้ามส่งคําสั่งซื้อขายในลักษณะต่อเนื่องกันโดยมุ่งหมายให้ราคาสินทรัพย์ดิจิทัลหรือปริมาณการซื้อหรือขายสินทรัพย์ดิจิทัลนั้นผิดไปจากสภาพปกติ ของตลาด (เรียกง่ายๆว่าห้ามปั่นราคานั่นแหละ)
- ถ้าเปิดบัญชีร่วมกัน ยอมให้คนอื่นใช้บัญชี จ่ายเงินแทนกัน นำเงินหรือสินทรัพย์มาค้ำประกันแทนกัน ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นตัวการในการกระทําความผิด
เจ้าหน้าที่
- เจ้าหน้าที่มีสิทธิเข้าไปในออฟฟิซและดาต้าเซนเตอร์ เพื่อตรวจสอบกิจการ สินทรัพย์และหนี้สินของผู้ประกอบธุรกิจ รวมทั้งตรวจสอบเอกสาร หลักฐาน หรือข้อมูลเกี่ยวกับผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล
- เจ้าหน้าที่มีสิทธิตรวจสอบระบบคอมพิวเตอร์ ข้อมูล หรืออุปกรณ์ที่ใช้เก็บข้อมูล เพื่อตรวจสอบหลักฐาน
- มีสิทธิยึดหรืออายัดทรัพย์สิน เอกสาร หลักฐาน หรือระบบคอมพิวเตอร์ที่เกี่ยวข้องกับการกระทําความผิด
- เมื่อหน่วยงานที่มีหน้าที่และอํานาจตามกฎหมายเก่ียวกับสินทรัพย์ดิจิทัลของต่างประเทศร้องขอ ให้สํานักงาน ก.ล.ต. มีอํานาจให้ความช่วยเหลือ ในการรวบรวมหรือตรวจสอบข้อมูลหรือหลักฐาน
- พยานหลักฐานทั้งหมดที่ได้มา สามารถนำมาใช้อ้างเป็นพยานหลักฐานในการกล่าวโทษ สอบสวน และดําเนินคดีได้
- ใครออก ICO โดยไม่ได้รับอนุญาต หรือขายโดยไม่ผ่าน ICO Portal โทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับเป็นเงินไม่เกินสองเท่าของมูลค่า ICO หรือทั้งจําทั้งปรับ
- ใครออก ICO โดยไม่ยื่นแบบแสดงข้อมูล และหนังสือชี้ชวนให้ถูกต้อง โทษปรับไม่เกินห้าแสนบาท และปรับอีกไม่เกินวันละหนึ่งหมื่นบาท ตลอดเวลาที่ยังมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง
- ให้ข้อมูลเป็นเท็จในแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายโทเคนดิจิทัลและร่างหนังสือชี้ชวน ติดจําคุกไม่เกินห้าปี และปรับเป็นเงินไม่เกินสองเท่าของราคา ICO
- ถ้าปล่อยขาย ICO ก่อนที่แบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายและร่างหนังสือชี้ชวนที่ยื่นไว้ต่อสํานักงาน ก.ล.ต. มีผลใช้บังคับ โทษจําคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับเป็นเงินไม่เกินหนึ่งเท่าของราคา ICO
- แต่ถ้า ก.ล.ต. ระงับ แล้วยังทำไม่รู้ไม่ชี้ขายต่อไปอีก ก็จําคุกไม่เกินสองปี หรือปรับเป็นเงิน 2 เท่า หรือทั้งจําทั้งปรับ
อะไรประมาณนี้แหละ หัวข้อนี้ยาวมาก รายละเอียดปลีกย่อยเยอะมาก ขอสรุปมาพอให้เห็นภาพละกันว่า อะไรที่ห้ามๆไว้ข้างบนน่ะ ถ้าฝ่าฝืนมีโทษหมดนะ ทั้งจำทั้งปรับ
ระยะปลอดภัย
คนที่ทำธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลต้องยื่นคําขออนุญาตตามที่บอกไว้ภายใน 90 วันนะจ๊ะ
มาดูเรื่องภาษีกันบ้าง
- กฎหมายใหม่บอกว่าให้เพิ่ม 2 สิ่งนี้เข้าไปในรายได้พึงประเมิน ในข้อเดียวกับพวกดอกเบี้ยหรือปันผล (ใครกรอกภาษีเอง จะอ๋อทันทีว่าข้อนี้คือ มาตรา 40 วงเล็บ 4)
- เงินส่วนแบ่งของกําไร หรือผลประโยชน์ได้จากการถือ Crypto (ส่วนแบ่งของกำไร หรือผลประโยชน์ในรูปของ token นี่ชัดเจน ตีราคาได้ แต่ถ้าผลประโยชน์เป็นสิทธิในการใช้งาน เป็นรางวัล หรือเป็นอะไรที่คิดเป็นเงินไม่ได้ล่ะ จะคิดภาษียังไง)
- ผลประโยชน์ที่ได้รับจากการโอน Crypto เฉพาะซึ่งตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าที่ลงทุน (เรียกง่ายๆว่าคิดภาษีจากส่วนต่างกำไรจากการเทรดนี่แหละ)
- ให้หักภาษีไว้ 15% เลย ทุกครั้งที่มีการจ่ายเงินได้ตามข้อข้างบน
ความเห็นส่วนตัว
- ในส่วนของการกำกับดูแล Crypto และ ICO ก็มีทั้งส่วนที่ชอบและไม่ชอบนะครับ มาตรการปกป้องคุ้มครองนักลงทุนเป็นสิ่งที่ผมอยากให้มีมานานแล้ว และพยายามผลักดันให้เกิดจากการที่ ecosystem ร่วมกันสร้างมาตรฐาน สร้างมาตรการการกำกับดูแลกันเองด้วยซ้ำ ไม่ได้อยากให้มีรัฐลงมาคุม แต่ในเมื่อกฎออกมาแล้ว และออกมาได้ค่อนข้างดี ก็ถือว่าเป็นข้อที่ชอบและเห็นด้วยครับ
- เรื่องว่าพวกคะแนนสะสม แต้มเกม loyalty point ต่างๆจะถูกรวบมาอยู่ใน พรก. นี้ไหม ในกฎก็ให้อำนาจ ก.ล.ต. ยกเว้นให้อยู่แล้ว ไม่ต้องตกอกตกใจกันไป
- การเก็บภาษีจากส่วนต่างกำไรนี่เป็นเรื่องที่ท้าทายไม่ใช่เล่นนะครับ ว่าจะเอาหลักฐานจากไหนว่าทุนมาเท่าไหร่ ถ้าขุดมาล่ะจะคิดต้นทุนยังไง ถ้าเอาข้อมูลจาก exchange จะตรวจสอบอย่างไรว่าการซื้อขายนั้นตรงตามความเป็นจริงหรือไม่ และการตั้งกฎเกณท์เหล่านี้ขึ้นมาให้ครบถ้วนครอบคลุมและเป็นธรรมนี่ก็ใช้เวลาไม่น้อยเลย สรรพากรจะออกขั้นตอนรายละเอียดได้ทันไหม
- ส่วนเรื่องหนีไปเทรดต่างประเทศ ไปออก ICO ต่างประเทศ หรือหลบไปใช้บัตรเครดิต crypto มีคนพูดถึงกันไปเยอะแล้วนะครับ ไม่ขอสอนจรเข้ว่ายน้ำ :D
- ส่วนต้นทุนและภาระที่เพิ่มมาสำหรับธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล รวมถึงเรื่องภาษีนั้น เป็นประเด็นใหญ่มาก และไม่ได้กระทบเฉพาะกับสำหรับสาย trade เท่านั้น แต่จะส่งผลกับ token economy ของไทยเรามากด้วยเช่นกัน
ขอแสดงความขอบคุณ
- ดร.ภูมิ ภูมิรัตน ที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยี ก.ล.ต.
- คุณอาจารีย์ ศุภพิโรจน์ ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมเทคโนโลยีทางการเงิน ก.ล.ต.
- คุณทิพยสุดา ถาวรามร รองเลขาธิการ ก.ล.ต.
ที่ช่วยตรวจสอบและแก้ไขความถูกต้องของบทความครับ