สรุปประเด็นจาก Main Stage ภายในงาน Techsauce Global Summit 2024 หัวข้อ Thailand's Tech Gateway: Bridging Global Investment and Local Innovation หรือ ปั้นไทยเป็น Tech Gateway สะพานเชื่อมการลงทุนระดับโลก
เกริ่นก่อนว่า Techsauce ผู้ขับเคลื่อนระบบนิเวศเทคโนโลยีในไทย มุ่งผลักดันประเทศไทยให้เป็น 'Digital Gateway' โดยจัดทำโครงการหลากหลายด้าน อาทิ Thailand Accelerator เพื่อพัฒนาเทคสตาร์ทอัพและเชื่อมต่อผู้ประกอบการกับนักลงทุนจากทั่วโลกที่ต้องการขยายธุรกิจและฐานการผลิตในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ Digital Gateway เพื่อผลักดันประเทศไทยสู่การเป็น Digital Gateway พื้นที่แห่งเทคโนโลยีและนวัตกรรม ซึ่งร่วมยกระดับผู้ประกอบการไทยให้เข้าถึงแหล่งความรู้และเพิ่มโอกาสขยายธุรกิจในวงกว้าง
โครงการข้างต้นได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐและองค์กรเอกชนหลากหลายแห่ง ทำให้ Techsauce เล็งเห็นว่า ยังมีโอกาสพัฒนาระบบนิเวศสตาร์ทอัพและสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจได้อีกมากหากร่วมแรงร่วมใจพาประเทศไทยไปเป็น Tech Gateway ประตูบานแรกที่ดึงดูดการลงทุนในระดับโลกสู่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนธุรกิจนวัตกรรมและสตาร์ทอัพไทยให้เติบโตสู่ระดับโลก
คุณนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการ คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) กล่าวถึงสถานการณ์โดยรวมว่า ทั่วโลกกำลังเผชิญกับความท้าทายมากมาย ไม่ว่าจะเป็น สถานการณ์ตึงเครียดด้านภูมิรัฐศาสตร์ สงครามการค้า สงครามเทคโนโลยี แรงผลักดันเพื่อการเปลี่ยนผ่านสีเขียว (Green Transition) ทั้งยังมีความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในเรื่องการลงทุนทั่วโลก ตลอดจนการปรับโครงสร้างห่วงโซ่อุปทาน
อย่างไรก็ตาม คุณนฤตม์ยังเชื่อว่านักลงทุนกำลังมองหาสถานที่ที่ปลอดภัย มีความยืดหยุ่น คุ้มค่าที่จะลงทุน และเชื่อว่าประเทศไทยจะเป็นจุดหมายปลายทางที่เหมาะสมสำหรับนักลงทุน เนื่องจากไทยมีจุดยืนในเรื่องความเป็นกลางและมีความสัมพันธ์อันดีกับนานาประเทศ จนมีคนเรียกประเทศไทยว่าเป็น 'เขตปลอดความขัดแย้ง' หรือ 'เขตปลอดภัยสำหรับนักลงทุน'
สำหรับการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจสีเขียว รัฐบาลไทยมีความตั้งใจที่จะส่งเสริมการลงทุนด้าน BCG (Bio-Circular-Green) ร่วมกับใช้ โมเดลเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economic Model) เป็นทุนเดิม ฝั่ง BOI ในฐานะที่เป็นสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ก็ให้สิทธิประโยชน์หลากหลายด้านเพื่อสนับสนุนให้ภาคเอกชนดำเนินธุรกิจสู่การเปลี่ยนผ่านสีเขียว จึงเป็นทิศทางที่สอดคล้องกันอย่างชัดเจน
จากสถิติของ BOI ในปี 2023 มีการลงทุนมากกว่า 23 พันล้านดอลลาร์ หรือเพิ่มขึ้น 43% จากปีก่อน ส่วนครึ่งแรกของปีนี้ มีการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนสูงถึง 13 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 35% เมื่อเทียบกับปีก่อน นี่คือโอกาสทั้งหมดที่เรามอบให้นักลงทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคเทคโนโลยี เช่น อิเล็กทรอนิกส์ เซมิคอนดักเตอร์ ยานยนต์ไฟฟ้า รวมถึงอุตสาหกรรมดิจิทัล และอุตสาหกรรมสีเขียว
คุณนฤตม์กล่าวเพิ่มถึงจุดแข็งด้านภูมิศาสตร์ของประเทศไทย เพราะไทยตั้งอยู่ใจกลางภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับสองในภูมิภาค มีประชากรเกือบ 70 ล้านคน ทั้งยังสามารถเข้าถึงตลาดที่มีประชากรมากกว่า 300 ล้านคนในคาบสมุทรอินโดจีน และ 600 ล้านคนในภูมิภาคอาเซียน
นอกเหนือจากตลาดในภูมิภาค ประเทศไทยยังมี ข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) 15 ฉบับกับ 19 ประเทศ และ ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP: Regional Comprehensive Economic Partnership) ซึ่งเป็นกลุ่มการค้าขนาดใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีชาติอาเซียนและ 5 ประเทศคู่ค้าของไทยรวมอยู่ด้วย ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์
เพิ่มเติมจากนี้ ไทยยังมีห่วงโซ่อุปทานที่แข็งแกร่งจึงสามารถเป็นประตูหรือเกตเวย์สำคัญที่สร้างโอกาสให้แก่นักลงทุนได้อีกมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในด้านอุตสาหกรรมเทคโนโลยี ด้านโครงสร้างพื้นฐานที่ได้รับการพัฒนาแล้ว ด้านแรงงานคุณภาพสูง ด้านสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจ เช่น สิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับชาวต่างชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย อย่างโรงพยาบาลที่ได้มาตรฐานระดับโลก โรงเรียนนานาชาติที่มีมากกว่า 200 แห่ง รองรับบุตรหลานของคนที่เดินทางเข้ามาทำงานในไทยได้
ศักยภาพของประเทศไทยที่คุณนฤตม์กล่าวทั้งหมดนี้ จึงสะท้อนว่า ไทยสามารถสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันในการจูงใจให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนแล้วได้รับประโยชน์กลับไปมหาศาล
ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) เล่าย้อนถึงการจูงใจให้นักลงทุนหันมาสนับสนุนเทคสตาร์ทอัพว่า depa ช่วยสตาร์ทอัพไทยมานานกว่า 8 ปี แต่น้อยคนนักที่จะรู้ว่า depa ให้เงินลงทุนในฐานะ Angel Investor แก่สตาร์ทอัพระยะเริ่มต้น (Early Stage) รายละ 1 ล้านบาท แม้ในความเป็นจริงจะมีสตาร์ทอัพ 9 ใน 10 รายที่ล้มหายตายจาก แต่ depa ในฐานะหน่วยงานภาครัฐก็ยังช่วยแบกรับความเสี่ยง และมีสตาร์ทอัพ 20% ที่เหลือรอด ทาง depa ก็ให้เงินลงทุนแก่สตาร์ทอัพอีกรายละ 5 ล้านบาท นอกจากนี้ depa ยังมีแนวทางสนับสนุนสตาร์ทอัพเต็มพิกัด
ปัจจุบัน depa มีสตาร์ทอัพในพอร์ต 160 ราย มูลค่าตลาดรวมอยู่ที่ราว 4,000 ล้านบาท และยังสร้างความร่วมมือในหลากหลายรูปแบบ สร้างเครื่องมือใหม่ๆ เพื่อนำไปสู่การใช้บริการผลิตภัณฑ์จริง เช่น Thailand Digital Catalog หรือ บัญชีบริการดิจิทัล ที่เปิดรับผู้ให้บริการด้านดิจิทัลทั้งไทยและเทศเข้าสู่ระบบ เพื่อนำเสนอบริการทางเลือกให้แก่ภาครัฐและเอกชน โดยผู้ใช้งานหรือลูกค้าที่ใช้บริการดิจิทัลในแคตตาล็อกดังกล่าวจะได้รับสิทธิประโยชน์จาก BOI และจะได้ลดหย่อนภาษีจากค่าใช้จ่ายมากถึง 100% ขณะที่สตาร์ทอัพ เอสเอ็มอี ซึ่งเป็นผู้ให้บริการในระบบบัญชีบริการดิจิทัลก็จะได้รับการลดหย่อนภาษีสูงถึง 200% จากกระทรวงการคลัง
การที่มี BOI เข้ามาซัพพอร์ต depa และผู้ให้บริการดิจิทัล ทำให้ Thailand Digital Catalog เป็นเกตเวย์เดียวของภูมิภาคนี้ที่เปิดให้ธุรกิจสตาร์ทอัพลงทะเบียนเข้ามาอยู่ในระบบ และเข้าถึงตลาดภาครัฐในไทยได้ ซึ่งนอกจากจะส่งเสริมการเติบโตของธุรกิจ ยังช่วยแก้ปัญหาสตาร์ทอัพที่ไม่สามารถโตจากการเข้าถึงลูกค้าองค์กรขนาดใหญ่ได้อีกด้วย
ผศ.ดร.ณัฐพลเผยว่า ไม่ว่าจะเป็นบัณฑิตจบใหม่ พนักงานบริษัท ผู้ประกอบธุรกิจ เอสเอ็มอี สตาร์ทอัพ ก็ล้วนต้องการการสนับสนุนจากรัฐบาล ต่อด้วยศักยภาพของประเทศไทยที่สามารถเป็น Tech Gateway ได้ด้วยหลายปัจจัย ดังนี้
"ข้อแรก ผมคิดว่าประเทศไทยมีสิทธิประโยชน์มากมายและยังให้สิทธิพิเศษเทียบได้กับตลาดโลก ข้อสอง ประเทศไทยมีการพัฒนาโครงการพื้นฐานไว้เป็นอย่างดี และไม่กี่ปีมานี้ เรายังมีข่าวดีที่บริษัทเทคระดับโลกประกาศว่าจะเข้ามาลงทุนด้าน Data Center และให้บริการธุรกิจคลาวด์ในประเทศไทย ซึ่งเข้ากับโครงสร้างพื้นฐานที่ไทยมีอยู่ ข้อสาม ค่าครองชีพในประเทศไทยอยู่ที่ราวเดือนละ 1,000 ดอลลาร์ เมื่อเทียบกับประเทศผู้ผลิตน้ำมันแล้ว ค่าครองชีพของเราถูกกว่ามาก จึงเอื้อให้ต่างชาติตัดสินใจเข้ามาลงทุนหรือทำธุรกิจในไทยได้ง่ายขึ้น ข้อสี่ เมืองไทยมีตลาดเพียงพอแล้วทั้งตลาดภาครัฐและเอกชนที่เทคสตาร์ทอัพจะสามารถทำตลาดได้ การลงทุนหรือการเข้ามาตั้งธุรกิจใหม่จึงเป็นโอกาสที่ดี และข้อห้า เรามีไฮสปีดอินเทอร์เน็ตใช้ ซึ่งความเร็วติดอันดับท็อปของโลก สำคัญมากต่อการใช้ชีวิตและตอบโจทย์การทำงานในยุคดิจิทัล"
คุณจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (WHA) กล่าวถึงแนวทางที่ประเทศไทยสามารถดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ โดยยกคำพูดข้างต้นของคุณนฤตย์มาตอกย้ำว่า ได้บอกปัจจัยหรือแนวทางเอาไว้หมดแล้ว แต่ถ้ายังจำกันได้ ปี 2017 ประเทศไทยจัดตั้งโครงการ เขตเศรษฐกิจพิเศษ หรือ EEC ขึ้น และ BOI ก็ให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้ลงทุน รัฐบาลก็วางกลยุทธ์ในการสร้างอุตสาหกรรม S-curve และ New S-curve มาในปี 2018 ก็เกิดสงครามการค้า ทำให้เกิดการย้ายฐานการผลิตครั้งใหญ่จากจีนมายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีประเทศไทยเป็นหนึ่งในเป้าหมายของฐานการผลิต ซึ่งทางรัฐบาลจีนก็ให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ กอปรกับการให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้ลงทุนในอุตสาหกรรม S-Curve ของภาครัฐ การใช้วีซ่าดึงดูดนักลงทุน ฯลฯ
เรื่องทำเลที่ตั้งที่คุณนฤตม์กล่าวถึง เนื่องจากประเทศไทยมีโลเคชันที่ดี จึงกลายเป็นว่า บริษัทใหญ่ๆ หลายแห่งต้องการใช้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านดิจิทัล เช่น ภาคยานยนต์ไฟฟ้า ที่ไทยสามารถดึงดูดการลงทุนเข้ามาได้มาก หรือบริษัทที่ทำธุรกิจด้าน Data Center, Big Data ก็เข้ามาลงทุนในไทยเพราะมีโครงสร้างพื้นฐานที่ดีและมีความน่าเชื่อถือ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภาคพลังงาน ที่ประเทศสามารถผลิตจากพลังงานหมุนเวียนได้ 100% หรือเรียกว่า RE100 (Renewable Energy 100%) ทั้งยังมีแรงงานที่มีทักษะร่วมด้วย จึงเป็นเครื่องบ่งชี้ว่า บริษัทในไทยมีจุดเชื่อมต่อจนคล้ายจะเป็นระบบนิเวศ ยกตัวอย่างธุรกิจยานยนต์ ที่มีการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ (PCB) จากการย้ายฐานการผลิตจากจีนเข้ามายังประเทศไทย และคาดว่าปัจจุบันจะมีธุรกิจผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ (PCB) ขนาดใหญ่ที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทยอยู่ราว 30 แห่ง
ถ้าจะดึงดูดการลงทุนในตอนนี้ เราต้องคิดเรื่องห่วงโซ่อุปทานและมองเทรนด์เทคโนโลยีให้ออกว่าเป็นเรื่อง 'เทคโนโลยี' ขณะเดียวกันก็ต้องทำเรื่อง 'ความยั่งยืน' ด้วย ซึ่งหมายถึงการทำเรื่องดิจิทัลก็ต้อง Go Green และต้องทำให้ได้ตามหลัก RE100 เพื่อให้ธุรกิจอยู่รอดอย่างยั่งยืนได้ทุกวันและตลอดไป
ทั้งหมดนี้เป็นแนวโน้มที่ทำให้นักลงทุนย้ายฐานการผลิตมายังประเทศไทย แต่ครั้งนี้ไม่เหมือนกับเมื่อ 30 ปีที่แล้ว เพราะปัจจุบันไทยมีโครงสร้างพื้นฐานที่ดีที่สุด สามารถอินทิเกรตเทคโนโลยีเข้ากับธุรกิจหรือระบบนิเวศต่างๆ ได้ ทั้งยังมีการสนับสนุนจากภาครัฐ การสนับสนุนจากภาคเอกชนร่วมด้วย ซึ่งสิ่งเหล่านี้ยังส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจของ WHA Group ที่สามารถสร้างรายได้สูงสุดเป็นประวัติการณ์ จากการดำเนินธุรกิจ 4 กลุ่ม ได้แก่ 1) โลจิสติกส์ โดยโฟกัสมากขึ้นที่โลจิสติกส์สีเขียว (Green Logistics) 2) นิคมอุตสาหกรรม 3) ระบบสาธารณูปโภคและพลังงาน โดยโฟกัสที่จะสร้างพลังงานสีเขียว (Green Energy) และพลังงานสะอาด (Clean Energy) มากขึ้น และ 4) ดิจิทัล โซลูชัน
ในด้านนโยบายที่จูงใจให้นักลงทุนหันมาสนับสนุนเทคสตาร์ทอัพมากขึ้น คุณจรีพรกล่าวเพิ่มในฐานะองค์กรเอกชนที่พร้อมให้ความช่วยเหลือว่า ทาง WHA เปิดโอกาสให้สตาร์ทอัพที่อยากได้เงินลงทุน อยากควบรวมธุรกิจ (Joint Venture) หรืออยากริเริ่มทำอะไรใหม่ๆ เข้ามาขอคำปรึกษากับ WHA ได้
เนื่องจากพาร์ตสำคัญที่สุดของ WHA คือ เรามีองค์กรขนาดใหญ่จากทั่วโลกรวมแล้วมากกว่า 85% มาใช้บริการของเรา นั่นหมายความว่า สตาร์ทอัพสามารถรับข้อมูลการตลาดแบบอินไซด์จาก WHA หรืออาจได้รับการสนับสนุนจากองค์กรขนาดใหญ่ หรือจะให้ WHA เข้าไปเป็นพาร์ตเนอร์ทางธุรกิจก็ได้ เราสนับสนุนความต้องการได้ทั้งหมด
คุณอรนุช เลิศสุวรรณกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท เทคซอส มีเดีย จำกัด (Techsauce Media) กล่าวถึงภารกิจที่ประกาศไว้ในปี 2023 ว่า เห็นโอกาสอย่างมากในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และในประเทศไทย ว่าสามารถใช้ประโยชน์จากที่ตั้งทางยุทธศาสตร์ได้ เพราะขณะที่ยังต้องเผชิญกับความท้าทายในการบริหารชุมชนและระบบนิเวศด้านเทคโนโลยีไปด้วยไทยอยู่ตรงกลางของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีแพลตฟอร์มโลจิสติกส์ที่แข็งแกร่ง มีโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่แข็งแรง
เกือบ 12 ปีแล้วที่ Techsauce ตระหนักว่า มีหลายสิ่งที่สามารถทำให้ระบบนิเวศเทคโนโลยีดีขึ้นและประสานงานแต่ละองค์กรเข้าด้วยกันได้ จึงก้าวเข้ามาเป็นแพลตฟอร์มที่เชื่อมโยงทุกคนเข้าด้วยกัน โดยมีทั้งภาคเอกชน ภาครัฐ ที่มีเป้าหมายเดียวกัน มีวิสัยทัศน์เดียวกัน มาร่วมขับเคลื่อนประเทศไทยให้เป็นประตูสู่เทคโนโลยีของเอเชียได้อย่างไร โดยในปีที่แล้ว Techsauce พูดคุยกับพันธมิตรจำนวนมากและยังทำงานร่วมกับพันธมิตรระหว่างประเทศด้วยเพื่อดึงดูดการลงทุนเข้าสู่ประเทศไทย และหากสังเกตกิจกรรมมากมายภายในงาน Techsauce Global Summit 2024 จะเห็นว่าทุกกิจกรรมสนับสนุนสู่การเป็น Tech Gateway ทั้งสิ้น
เราต้องการโปรโมตประเทศสู่นักลงทุนนานาชาติ ด้วยสิทธิประโยชน์ ด้วยผลประโยชน์ที่ประเทศไทยสามารถให้ได้ เพื่อดึงดูดให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทย ซึ่งผลลัพธ์อย่างหนึ่งที่เห็นได้จากอีเวนต์ Techsauce Global Summit 2024 คือ จะเห็นว่าเรามีโซน Pavillions ที่เหล่าสตาร์ทอัพจากเขตหรือประเทศต่างๆ มาร่วมจัดแสดงนวัตกรรมภายในงาน นั่นหมายความว่าเราดึงดูดสตาร์ทอัพและนักลงทุนมาเยือนไทยได้แล้วส่วนหนึ่ง แต่อย่างไรก็ตาม ก็อยากเห็นสตาร์ทอัพจากภูมิภาคอื่นเข้ามาเพิ่ม และไม่ใช่แค่ดึงดูดการลงทุนเท่านั้น เรายังอยากให้ต่างชาติเข้ามาเปิดบริษัทในประเทศไทยมากขึ้น และตั้งสำนักงานใหญ่ในประเทศไทยก่อนขยายไปสู่ประเทศอื่นๆ ต่อไป
ในฐานะที่ Techsauce เป็น Tech Ecosystem Builder ที่สนับสนุนการเชื่อมต่อระหว่างนักลงทุนระดับโลก กับนวัตกรและชุมชนเทคโนโลยีของประเทศไทย คุณอรนุชกล่าวเพื่อกระตุ้นเรื่องการให้ความสำคัญแก่ระบบนิเวศสตาร์ทอัพไทยว่า
"เราต้องร่วมกันดูแลสตาร์ทอัพในประเทศไทย เพราะพวกเขายังขาดทักษะบางอย่างและไม่รู้ว่าจะตอบสนองนักลงทุนได้อย่างไร ดังนั้นสิ่งที่เราพยายามทำคือ พยายามเชื่อมโยงสตาร์ทอัพกับ เอสเอ็มอีเข้าสู่ระบบนิเวศ โดยเราเปิดตัวโปรแกรมเพื่อเชื่อมโยงเข้าด้วยกัน พัฒนาโซลูชันเพื่อสนับสนุนเอสเอ็มอี โดยใช้โซลูชันของเทคสตาร์ทอัพไทย แล้วก็ช่วยให้สตาร์ทอัพเข้าไปสนับสนุนองค์กรขนาดใหญ่ เข้าไปช่วยค้นหาปัญหาที่แท้จริงขององค์กร รวมทั้งเราพยายามสร้างและช่วยเหลือในส่วนของการสร้างรายได้เพื่อช่วยให้สตาร์ทอัพและเอสเอ็มดีเติบโต และหลังจากนั้น หากมีศักยภาพที่จะขยายตลาดออกนอกประเทศไทย ก็จะร่วมส่งเสริมการรับรู้ทางการตลาดในภายหลัง"
คุณพรวิช ศิลาอ่อน รองอธิบดี กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กล่าวถึง DITP ว่า จะเชื่อมโยงและสนับสนุนสตาร์ทอัพไทยมากขึ้นผ่านการจัดกิจกรรม การให้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดแสดงผลิตภัณฑ์หรือบริการผ่านอีเวนต์ต่างแดน เช่นที่ Techsauce เข้าไปเจาะตลาดโฮจิมินห์ ประเทศเวียดนาม ซึ่งเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่หากสตาร์ทอัพจะนำสินค้าหรือบริการเข้าไปทำตลาด ซึ่งจะเป็นตลาดที่มีศักยภาพเพิ่มมากขึ้นในอนาคต
ที่จริง DITP ไม่ได้โฟกัสแค่ตลาดในภูมิภาค แต่ยังเป็นแพลตฟอร์มที่เชื่อมเข้าสู่เทคสตาร์ทอัพในโตเกียว เฮลซิงกิ มิวนิก นอกจากนี้ก็หวังจะพาเทคสตาร์ทอัพไปสร้างอิมแพ็กในตลาดโลก เพราะสตาร์ทอัพก็สามารถทำอย่างต่างประเทศไทย ทั้งการ Pitching การขายไอเดีย การปิดดีล ฯลฯ
DITP ยังมีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบนิเวศสตาร์ทอัพในแง่ของการช่วยให้สตาร์ทอัพเข้าใจความต้องการของตลาดมากยิ่งขึ้น และอย่างที่กล่าวไปข้างต้น DITP มีเครือข่ายการค้าที่สามารถเข้าถึงได้ 58 เขตการค้าทั่วโลก ซึ่งมีความต้องการสินค้าไทยแตกต่างกันออกไป
มากกว่านั้น ศักยภาพของประเทศไทยยังเป็นเกตเวย์ได้ทั้งการนำเข้าและส่งออก (Inbound & Outbound) โดยในขาส่งออก ตลาดใหญ่สำหรับสตาร์ทอัพไทยก็เช่น โฮจิมินห์ ประเทศเวียดนาม ที่ผู้ประกอบการสตาร์ทอัพหรือเอสเอ็มอีสามารถไปจัดแสดงสินค้า Top Thai Brand ได้ในงานแฟร์ที่นั่น เพราะชาวเวียดนามเชื่อมั่นในสินค้าไทยและสินค้าไทยสามารถตอบสนองความต้องการของตลาดเวียดนามได้เป็นอย่างดี
DITP มองว่าสามารถพัฒนาความสัมพันธ์ในมุมสตาร์ทอัพกับการทำความเข้าใจความต้องการในตลาดต่างประเทศ และเราก็หวังว่าจะได้เข้ามาเป็นพาร์ตเนอร์สำคัญของระบบนิเวศนี้ เพื่อเป็นตัวเชื่อมระหว่างผู้คนในพื้นที่นี้ออกสู่ตลาดโลก
สุดท้ายนี้ การที่ธุรกิจสตาร์ทอัพสามารถทำตลาดได้แบบไร้พรมแดน สตาร์ทอัพต่างชาติก็จะได้เห็นสตาร์ทอัพไทยไปโชว์เคส ได้เห็นแพลตฟอร์มที่แตกต่าง สตาร์ทอัพไทยก็จะได้เห็นตลาดที่แตกต่าง สามารถทำธุรกิจข้ามแดนได้ หรือจะยกระดับสตาร์ทอัพไทยสู่ตลาดโลกก็ได้เช่นกัน
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด