เปิดตัว 'บัญชีบริการดิจิทัล' กลไกยกระดับเศรษฐกิจดิจิทัลที่ภาครัฐหรือเอกชนก็เลือกใช้งานได้ | Techsauce

เปิดตัว 'บัญชีบริการดิจิทัล' กลไกยกระดับเศรษฐกิจดิจิทัลที่ภาครัฐหรือเอกชนก็เลือกใช้งานได้

ทำความรู้จัก 'บัญชีบริการดิจิทัล' กลไกยกระดับเศรษฐกิจดิจิทัลไทยมาใหม่ที่ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DES) และ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) ร่วมกันผลักดันและให้ข้อมูลผ่านงานแถลงข่าวเปิดตัวการจัดทำบัญชีบริการดิจิทัล ว่าสำคัญต่อสตาร์ทอัพ ผู้ประกอบการดิจิทัลไทย และผู้ใช้สินค้าและบริการดิจิทัลอย่างไร 

บัญชีบริการดิจิทัล techhunt depaTechhunt มีลักษณะคล้าย Marketplace ที่ผู้สนใจสามารถเข้าไปหาสินค้าหรือบริการดิจิทัลได้ในที่เดียว

ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบสาระสำคัญเรื่องการจัดทำบัญชีบริการดิจิทัล เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2565 ภาครัฐจึงหวังเป็นมาตรการส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาสินค้าและบริการดิจิทัลจากผู้ประกอบการและผู้ให้บริการดิจิทัลไทยเทียบเท่ามาตรฐานสากล พร้อมเปิดโอกาสสู่ตลาดภาครัฐ ขณะเดียวกัน หน่วยงานภาครัฐจัดซื้อจัดจ้างสินค้า/บริการดิจิทัลที่มีราคากลางที่ชัดเจน และนำไปสู่การพัฒนาบริการเพื่อประชาชน สอดรับการพัฒนาเมืองอัจฉริยะน่าอยู่ เผยเตรียมพร้อมให้ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชนเข้าถึงและสามารถเลือกซื้อสินค้า/บริการดิจิทัลคุณภาพ ผ่าน TECHHUNT แพลตฟอร์มที่รวบรวมสินค้าและบริการดิจิทัลจากผู้ประกอบการไทยที่มีคุณภาพ และมีข้อมูลชัดเจน ซึ่งเปิดให้ทุกคน ทุกภาคส่วน สามารถเข้าถึงและเลือกใช้ได้อย่างสมัครใจ พร้อมด้วยมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนต่าง ๆ จาก ดีป้า 

นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เป็นประธานในงานแถลงข่าวการจัดทำ ‘บัญชีบริการดิจิทัล’ พร้อมปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ 'นโยบายขับเคลื่อนกลไกการเร่งการเติบโตทางธุรกิจ (Scaling up) ของผู้ประกอบการดิจิทัลไทย' โดยระบุว่า รัฐบาลเล็งเห็นความสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล โดยที่ผ่านมา กระทรวงดิจิทัลฯ มุ่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน กำลังคน และระบบนิเวศดิจิทัล รวมถึงหากลไกใหม่ ๆ เพื่อปลดล็อกข้อจำกัดที่ส่งผลต่อการขับเคลื่อนธุรกิจ ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบเชิงเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศ 

ด้วยเหตุนี้ การจัดทำบัญชีบริการดิจิทัลจึงถือเป็นมาตรการสำคัญที่กระทรวงดิจิทัลฯ โดย สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า มุ่งมั่นผลักดันให้เกิดขึ้น เพื่อเป็นส่วนช่วยเสริมประสิทธิภาพการทำงานระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน โดยมุ่งหวังให้คนไทยได้ใช้สินค้าและบริการดิจิทัลที่ได้มาตรฐานและราคาสมเหตุสมผล 

รมว.กระทรวงดิจิทัลฯ กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ 'นโยบายขับเคลื่อนกลไกการเร่งการเติบโตทางธุรกิจของผู้ประกอบการดิจิทัลไทย' 

บัญชีบริการดิจิทัล เป็นการรวบรวมสินค้าและบริการดิจิทัลจากผู้ประกอบการและผู้ให้บริการดิจิทัลไทยที่มีคุณสมบัติครบถ้วน และเป็นไปตามข้อกำหนดด้านมาตรฐานและราคา ส่วนหนึ่งเพื่อเป็นตัวช่วยในการคัดกรองสินค้าและบริการดิจิทัลที่มีคุณภาพในราคาที่สมเหตุสมผล อำนวยความสะดวกแก่ผู้ที่มองหาสินค้าหรือบริการดิจิทัล ตลอดจนหน่วยงานภาครัฐที่ต้องการเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อพัฒนาการให้บริการแก่ประชาชน 

"นอกจากนี้ยังเป็นการเปิดโอกาสให้กับผู้ประกอบการดิจิทัลไทยในการเข้าสู่ตลาดภาครัฐ โดยรัฐสามารถใช้กระบวนการทางพัสดุด้วยวิธีคัดเลือกหรือเฉพาะเจาะจงในการซื้อหรือเช่าซื้อสินค้าและบริการดิจิทัลจากบัญชีบริการดิจิทัล ซึ่งจะช่วยให้กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐเป็นไปอย่างเที่ยงธรรม มีมาตรฐาน และสามารถตรวจสอบได้” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลฯ กล่าว

dSURE ดีป้า SCG พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ 'การยกระดับคุณภาพสินค้าและบริการดิจิทัลไทยสู่ระดับสากลด้วยมาตรฐาน dSURE' ระหว่าง ดีป้า และ SCG 

ด้าน ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า กล่าวว่า ดีป้า เป็นหน่วยงานหลักในการขึ้นทะเบียนบัญชีบริการดิจิทัล โดยจะตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ประกอบการดิจิทัลไทย รวมถึงสินค้าและบริการดิจิทัลที่ขอรับการขึ้นทะเบียน ไม่ว่าจะเป็น Software, Software as a Service, Digital Content Service, Smart Devices และ Hardware and Firmware ฯลฯ ซึ่งเป็นไปตามข้อกำหนดด้านมาตรฐานตามที่สำนักงานฯ กำหนด เช่น CMMI, ISO สำหรับ Software และ dSURE สำหรับ Smart Devices ที่ผ่านการรับรองมาตรฐานด้านความปลอดภัย การใช้งาน และความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ โดยจะจัดเก็บข้อมูลในประเทศไทยเพื่อป้องกันการรั่วไหล ทั้งนี้ ประชาชนจะได้รับประโยชน์จากบริการภาครัฐที่ได้รับการยกระดับด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลที่เป็นของคนไทย สอดรับกับการพัฒนาเมืองอัจฉริยะที่จะช่วยให้คุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้น

ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า 

“ดีป้าเชื่อว่า บัญชีบริการดิจิทัลจะเป็นอีกปัจจัยกระตุ้นให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลไทยอย่างมีคุณภาพ โดย ดีป้า เล็งเห็นถึงศักยภาพของผู้ประกอบการดิจิทัล หรือ ดิจิทัลสตาร์ทอัพไทย แต่ในทางกลับกัน การเติบโตกลับสวนทาง ขณะที่บางรายต้องปิดตัวลง เพราะไม่สามารถดำเนินธุรกิจต่อได้ 

"เราจึงเร่งทำลายข้อจำกัดต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยได้แสดงความสามารถผ่านการพัฒนาสินค้าหรือบริการดิจิทัลที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐานระดับสากล มีราคาที่สมเหตุสมผล และได้รับการนำไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ภาคประชาชน โดยมีตลาดภาครัฐเป็นแก่นสำคัญ และพร้อมต่อยอดสู่การเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ โดยที่ดิจิทัลสตาร์ทอัพไทยจะเป็นหนึ่งในกำลังสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล และขับเคลื่อนเมืองอัจฉริยะบนพื้นฐานของความคุ้มค่า ทั้งคุณภาพและราคา” ผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า กล่าว

ผอ.ดีป้า กล่าวถึง pain point ว่าพบซอฟต์แวร์ที่ไม่ได้มาตรฐาน จึงร่วมกับสภาอุตสาหกรรมฯ ตรวจสอบมาตรฐาน ISO และขึ้นทะเบียนรับรองให้ และในกรณี Software-as-a-service ขอให้ผู้ประกอบการขึ้นทะเบียนเป็นรายสินค้าเพื่อให้ภาครัฐรู้ว่า ต้นทุนเท่าไหร่ จำหน่ายที่ราคาเท่าไร เพื่อเป็นฐานข้อมูล

สำหรับผู้ประกอบการทั่วไปที่มีการซื้อหรือจ้างทำหรือใช้บริการสินค้าหรือบริการในบัญชีบริการดิจิทัลจะได้สิทธิประโยชน์ทางภาษี สามารถนำค่าใช้บริการ Software เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตไปลดหย่อนภาษีสูงสุด 200% อาทิ ค่าบริการซอฟต์แวร์ที่มีมูลค่า 100,000 บาท จะได้รับสิทธินำค่าบริการดังกล่าวไปลดหย่อนภาษีได้ 200,000 บาท ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งแนวทางการกระตุ้นให้เกิดการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลในการดำเนินธุรกิจ

นอกจากนี้ภายในงาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลฯ ยังร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ 'การยกระดับคุณภาพสินค้าและบริการดิจิทัลไทยสู่ระดับสากลด้วยมาตรฐาน dSURE' ระหว่าง ดีป้า โดย ผศ.ดร.ณัฐพล และ SCG โดย นายอภิรัตน์ หวานชะเอม Chief Digital Officer สำหรับความร่วมมือในครั้งนี้ ดีป้าและเอสซีจีมีความมุ่งมั่นที่จะร่วมยกระดับคุณภาพ สร้างความเชื่อมั่น และพัฒนาความสามารถทางการแข่งขันในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ดิจิทัลของไทย รวมถึงคัดกรองผลิตภัณฑ์ดิจิทัลที่ไม่ได้มาตรฐาน และปกป้องผู้บริโภคจากภัยอันไม่พึงประสงค์ ต่อด้วยการเสวนาในหัวข้อ 'เปิดเกมรุก สู่มิติใหม่ของสินค้าและบริการดิจิทัล' โดย 

  • คุณอภิรัตน์ หวานชะเอม 
    Chief Digital Officer เอสซีจี
  • คุณนิติ เมฆหมอก 
    นายกสมาคมไทยไอโอที
  • ดร.พิมพ์ใจ โสวะภาสน์ 
    กรรมการผู้จัดการ บริษัท อินโฟโปร บิสสิเนส โซลูชั่น จำกัด
  • คุณอมฤต ฟรานเซน 
    กรรมการบริหารฝ่ายการตลาด บริษัท แอพแมน จำกัด
  • คุณชณกช ชสิธภณญ์
    ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์การพัฒนาเมือง สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
  • ร.ต.อ.ดร.ตรีลุพธ์ ธูปกระจ่าง 
    นายกเทศมนตรีนครรังสิต

สรุปเบื้องต้นได้ว่า แพลตฟอร์มนี้มีข้อดีหลายประการ เช่น 1) ผู้ประกอบการดิจิทัลไทยมีรายได้เพิ่มจากฐานลูกค้าที่กว้างขึ้น เพราะบริษัทเอกชนหรือหน่วยงานภาครัฐก็สามารถเข้าไปค้นและเลือกใช้สินค้าหรือบริการดิจิทัลบนแพลตฟอร์มนี้ได้ 2) ช่วยลดความเสี่ยงที่จะถูกหลอกให้ซื้อสินค้า เช่น ซอฟต์แวร์ปลอม 3) การซื้อขายผ่านแพลตฟอร์มสามารถตรวจสอบได้ มีมาตรฐาน และช่วยสร้างความโปร่งใสอีกทางหนึ่ง

นอกจากนี้ ภายในงานยังมีสินค้าและบริการดิจิทัลหลากหลายแบรนด์ที่มาร่วมออกบูธ "Thailand Digital Products & Services Catalog Showcase" ได้แก่ Appman แอปตรวจสอบข้อมูลบุคคลและยืนยันตัวตนผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล, ฟ้าฝน แพลตฟอร์มที่บอกข้อมูลสภาพอากาศและปริมาณน้ำฝนล่วงหน้า แจ้งเตือนภัยธรรมชาติในพื้นที่ที่ต้องการ ช่วยให้เกษตรกรวางแผนการเพาะปลูกได้ดียิ่งขึ้น, SRAN แพลตฟอร์ม, Gravitech ผู้พัฒนาโซลูชันและอุปกรณ์สำหรับ Smart Home, Hiveground แพลตฟอร์ม, Jarton แพลตฟอร์ม

ผู้สนใจสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารและรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับบัญชีบริการดิจิทัลได้ที่เว็บไซต์ www.depa.or.th เพจเฟซบุ๊ก depa Thailand หรือสามารถสมัครเป็น depa Member เพื่อขึ้นทะเบียนบัญชีบริการดิจิทัลได้ที่ LINE Official Account: depaThailand

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

NVIDIA เปิดตัว Jetson Orin Nano Super Developer Kit ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ AI จิ๋ว เตรียมใช้ในหุ่นยนต์ AI

NVIDIA กำลังก้าวไปในสู่โลกของหุ่นยนต์อย่างเต็ม หลังเมื่อต้นปี 2024 ที่ผ่านมา ได้เปิดตัวของสำคัญหลายอย่างทั้ง Blackwell ชิปกราฟิกประสิทธิภาพสูงสำหรับประมวลผล AI โดยเฉพาะ ไปจนถึง Pro...

Responsive image

Openspace กองทุนแห่ง SEA ตั้งเป้า 2 ปี ลงทุนสตาร์ทอัพไทยไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาท

โอเพ่นสเปซ (Openspace) กองทุนที่ลงทุนในบริษัทสตาร์ทอัพ SEA ประกาศแผนลงทุนในสตาร์ทอัพไทย ส่งเสริมระบบนิเวศสตาร์ทอัพไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาท ในช่วงปี พ.ศ. 2568 - 2569...

Responsive image

ยักษ์ใหญ่ญี่ปุ่นจับมือ! Honda-Nissan เตรียมควบรวมกิจการ

รายงานระบุว่า ทั้งสองบริษัทกำลังพิจารณารวมตัวกันภายใต้บริษัทโฮลดิ้ง ซึ่งคาดว่าจะมีการลงนามข้อตกลงในเร็วๆ นี้ โดยมีแผนจะดึงมิตซูบิชิ มอเตอร์ส ที่นิสสันถือหุ้น 24% เข้ามาร่วมด้วย เพื...