Innovation กับ Transformation ต่างกันอย่างไร? เรามักจะได้ยินคำว่า นวัตกรรม (Innovation) กับคำว่า การเปลี่ยนแปลง (Transformation) มาเคียงคู่กันเสมอ อาจจะฟังดูคล้ายกัน แต่จริงๆ แล้ว ในบริบทของโลกปัจจุบัน สองคำนี้มีความต่างกันอยู่พอสมควร
ในบางกรณี Transformation สามารถนำไปสู่การเกิด Innovation ใหม่ๆ ส่วน Innovation ก็อาจนำไปสู่ Transformation ได้เช่นกัน แต่ความสัมพันธ์ระหว่างสองคำนี้มักถูกมองข้าม เพราะคนส่วนใหญ่คิดว่ามีความหมายเหมือนกัน จริงๆ มันก็มีความเกี่ยวเนื่องกันอยู่บ้าง จึงเป็นความจำเป็นที่ผู้นำในยุคนี้ ที่จะต้องทำความเข้าใจความแตกต่างระหว่างสองคำนี้ให้กระจ่าง
หนึ่งในปัจจัยหลักๆ ที่แยกสองคำนี้ให้เห็นอย่างชัดเจนเลยก็คือ ความเร็ว
การเปลี่ยนแปลง หรือ Transformation นั้นต้องใช้เวลา อย่างการเปลี่ยนจากที่หนึ่งไปสู่อีกที่หนึ่ง ในทางกลับกัน Innovation จะให้ความหมายในแง่ของไอเดีย ความคิดสร้างสรรค์ และการกระทำที่จะจุดประกายกลยุทธ์ของบริษัท
การจะเกิด Innovation ได้นั้น จะต้องอาศัยทั้งการส่งเสริม การทำงานร่วมกัน และการสื่อสาร แต่โดยทั่วไปแล้วมักจะหมายถึงการมีขั้นตอนที่จะต้องทำอย่างชัดเจน เป็นจุดเริ่มต้นของอะไรใหม่ๆ ส่วน Transformation จะเป็นกระบวนการหลังจากที่ไอเดียนั้นได้เกิดขึ้น
Digital transformation เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นความแตกต่างของ Innovation และ Transformation ได้ชัดเจน มันคือกระบวนการที่บริษัททำการกำหนดกลยุทธ์ในการปรับใช้เทคโนโลยี เพื่อพัฒนาธุรกิจ และตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป
ซึ่งเป้าหมายของ Digital transformation ในที่นี้อาจรวมถึงการขยายขอบเขตการเข้าถึงลูกค้า การปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงาน ไปจนถึงการถ่ายทอดวัฒนธรรมและภาพลักษณ์ของบริษัทด้วยเช่นกัน
เมื่อเราถูกท้าทายด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ได้รับการพัฒนาตลอดเวลา จึงเป็นสิ่งสำคัญที่บริษัทยุคนี้ ในการรับรู้ศักยภาพของเทคโนโลยี และยอมรับว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องเปลี่ยน
Innovation เป็นแรงขับเคลื่อนให้เกิดความเปลี่ยนแปลง อย่างเช่นการเกิดขึ้นของโซเชียลมีเดียที่เข้ามา disrupt แวดวงการตลาด ทำให้ตอนนี้ผู้คนสามารถสื่อสารกันโดยไม่จำกัดสถานที่ อีกทั้งการเปลี่ยนแปลงของข้อมูลก็จะเร็วกว่าที่เคย เพราะเมื่อเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่นสมาร์ทโฟนและอุปกรณ์เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตพัฒนา สังคมก็ต้องเปลี่ยนตามเพื่อรองรับนวัตกรรมเหล่านั้น
Innovation ก็คือการ rethinking หรือการจำลองกระบวนการทางธุรกิจที่มีอยู่แล้ว โดยเมื่อ Transformation เกิดขึ้น Innovation ก็เกิดขึ้นหลังจากนั้น เมื่อสิ่งเดิมๆ ถูกท้าทาย
อย่างกรณีโซเชียลมีเดียได้เปลี่ยนวิธีที่เราสื่อสาร สิ่งที่เคยเป็นบรรทัดฐานอย่างที่เป็นที่ยอมรับอย่างเช่น ข่าว แวดวงบันเทิง content และธุรกิจก็ต้องเปลี่ยนไปตามๆ กัน ตอนนี้โซเชียลมีเดียกำลังถูกนำไปปรับใช้เพื่อวัตถุประสงค์ใหม่ๆ นับไม่ถ้วน รวมถึงในด้านธุรกิจด้วย
เพราะเมื่อโซเชียลมีเดียได้กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน มันก็เป็นเรื่องง่ายที่แบรนด์จะเข้าถึงและเชื่อมต่อกับลูกค้า ต่างจากแต่ก่อนที่กว่าลูกค้าจะเดินทางมาถึงจุดที่แบรนด์สามารถปิดการขายได้นั้นก็ต้องใช้เวลาพอสมควร
โซเชียลมีเดียช่วยให้แบรนด์สามารถนำเสนอเนื้อหาที่มีคุณค่า มีความหมาย และสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งผู้ใช้หลายคนก็ต้องการที่จะคอนเนคกับแบรนด์ที่ตัวเองขอบและเพลิดเพลินไปกับประสบการณ์ใหม่ๆ โซเชียลมีเดียเป็นนวัตกรรม (Innovation) อันจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง (Transformation) ของวิธีการที่ธุรกิจสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้
เมื่อนึกถึงบริษัทที่มีนวัตกรรมยอดเยี่ยม Apple น่าจะเป็นบริษัทต้นๆ ที่ขึ้นมาในลิสต์ของใครหลายคน จะเห็นได้ว่า เมื่อใดก็ตามที่ Apple ทำการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ ทั่วโลกก็ต้องจับตา อย่างไรก็ตาม Apple ก็ยังถูกท้าทายจากผู้ใช้อยู่หลายครั้ง เพราะคนต้องการเห็นนวัตกรรมใหม่ๆ ทำให้ Apple ต้องรับแรงกดดัน ทำการผลักดันขอบเขตของนวัตกรรมตัวเองให้เหนือจินตนาการ
และผู้เล่นหน้าใหม่ก็เข้ามาไม่น้อย แข่งขันพัฒนานวัตกรรมที่ดีกว่า ซึ่งคนที่ได้ประโยชน์ที่สุดเห็นจะเป็นลูกค้า เพราะ disruption ทำให้เกิดการแข่งขัน อันจะนำไปสู่ผลิตภัณฑ์และบริการที่ดีกว่านั่นเอง
เพราะ disruption ทำให้เกิดการแข่งขัน ซึ่งจะนำไปสู่ผลิตภัณฑ์และบริการที่ดีกว่า
ส่วนคำว่า Transformation จะให้ความหมายในแง่ของกระบวนการที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่ Innovation ได้เกิดขึ้นแล้ว
Google เป็นตัวอย่างที่ดีของบริษัทที่ทำการเปลี่ยนแปลงตัวเอง จะเห็นได้ว่า ปัจจุบันทุกคนใช้ search engine ได้ง่ายๆ สามารถหาสิ่งที่ต้องการแค่ปลายนิ้ว แต่กว่าจะมาถึงจุดนี้ Google ก็ได้ทำการแก้ไขปรับปรุงผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ผลลัพธ์การค้นหาที่แม่นยำ และมีความเกี่ยวข้องสำหรับผู้ใช้มากที่สุด Google อนุญาตให้ผู้ใช้ได้ค้นหาสิ่งที่ต้องการได้อย่างน่าเชื่อถือ และในขณะเดียวกัน ธุรกิจก็ได้ประโยชน์จากการเข้าถึงลูกค้า
แน่นอนว่าบริษัทผู้นำนวัตกรรมเช่น Google, Apple, Amazon มักจะถูกยกขึ้นมาเป็นตัวอย่างผู้นำด้านนวัตกรรม แต่อย่างลืมว่า Microsoft, Cisco, IBM, Dell, HP และบริษัทที่ไม่เกี่ยวข้องกับด้านเทคโนโลยี เช่น Procter and Gamble, Nike, BMW ก็เป็นตัวอย่างที่ดีของบริษัทที่เปลี่ยนแปลงตนเองอยู่ตลอดเวลา เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด
เมื่อทราบความหมายและเห็นความสำคัญของ Innovation และ Transformation กันแล้ว จึงเป็นความจำเป็นที่ผู้นำทางธุรกิจจะต้องกระตุ้นให้ทีมมองหาวิธีในการคิดค้นสิ่งใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา เนื่องจากกฎเกณฑ์ของธุรกิจสมัยใหม่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด
หากยังต้องการดำรงเป็นผู้เล่นในสนามแข่ง องค์กรจะต้องปรับตัว ผลักดันคนในการใช้เทคโนโลยีใหม่ ติดตามเทรนด์ใหม่ และแนวคิดใหม่ ๆ อยู่เสมอ ให้อำนาจพนักงานในการทำงานร่วมกัน กระตุ้นให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ เพื่อที่จะเกิดนวัตกรรม และเมื่อนั้นพลังงานสร้างสรรค์ก็จะขับเคลื่อนองค์กรไปสู่การเปลี่ยนแปลงในรูปแบบที่นับไม่ถ้วน
ที่มา: Innovation Vs. Transformation: The Difference In A Digital World
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด