ตลาด E-Commerce ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ร้อนระอุ เมื่อยักษ์ใหญ่ด้าน E-Commerce จากประเทศสหรัฐอเมริกาอย่าง Amazon ตัดสินใจเข้ามาเปิดตลาดในประเทศสิงคโปร์ในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ ไม่ใช่เพียงร้านค้า E-Commerce ในประเทศสิงคโปร์เท่านั้นที่จะต้องเตรียมรับมือกับการเข้ามาของ Amazon แต่ E-Commerce ในประเทศอื่นๆ ก็จะต้องเตรียมรับมือต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้นนี้เช่นกัน โดยจากผลการศึกษาของบริษัท iPrice ตั้งแต่เดือนเมษายนถึงเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2560 พบผลการศึกษาที่น่าสนใจ 5 ข้อดังต่อไปนี้
น่าจะเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าราชาในตลาด E-Commerce คงจะหนีไม่พ้นยักษ์ใหญ่อย่าง Lazada ที่ทำตลาดในประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 โดย Lazada มีจำนวนผู้เข้าชมเว็บและผู้ติดตามโซเชียลมีเดียมากที่สุดในประเทศไทย ถึงแม้ Lazada จะเป็นยักษ์ใหญ่ในประเทศไทย แต่ก็จะชะล่าใจไม่ได้สำหรับการเข้ามาของ Amazon โดยรายละเอียดว่าเหตุใด Lazada จึงได้เป็นราชาแห่ง E-Commerceมีดังต่อไปนี้
การทำตลาดอยู่ในประเทศไทยกว่า 5 ปีนี้แสดงให้เห็นว่ากลยุทธ์เชิงรุกของ Lazada ในการเข้าทำตลาดใน 6 ประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้พร้อมกันนั้นส่งผลให้ Lazada ขึ้นเป็นราชาในตลาดได้ และที่สำคัญกลยุทธ์การใช้การสื่อสารแบบ Integrated Communication ถือเป็นผลสำเร็จ กล่าวคือใช้ช่องทางโซเชียลช่องทางเดียวกันสำหรับทุกประเทศนั่นเอง
เมื่อจัดอันดับสุดยอดร้านค้า E-Commerce ในประเทศไทยตามจำนวนผู้เข้าชมเว็บไซต์แล้วนั้น พบว่า E-Commerce เว็บไซต์อันดับ 1 ถึง 9 นั้นเป็นร้านค้าที่ขายสินค้าประเภททั่วไปและเทคโนโลยี โดยมีการจัดลำดับดังต่อไปนี้ Lazada TH, 11 Street TH, Shopee TH, Chilindo, Notebook Spec, J.I.B, Central Online, Tarad, Advice,และ Konvy
โดยอันดับที่ 10 เป็นเว็บไซต์ Konvy.com ที่เป็นร้านขายสินค้าประเภทแฟชั่น โดยสินค้าที่วางขายเป็นเครื่องสำอางและครีมบำรุงผิวแบรนด์ต่าง ๆ ทั้งในประเทศไทยและจากต่างประเทศ
จากการศึกษาพบว่าชาวไทยนิยมซื้อเสื้อผ้าจากแบรนด์ร้านค้าที่ขายในช่องทางโซเชียลมีเดีย เช่น Facebook และ Instagram มากกว่า เนื่องจากแบรนด์เหล่านี้มีการออกแบบเสื้อผ้าที่มีสไตล์น่าสนใจและอินเทรนด์กว่าเสื้อผ้าที่วางขายในเว็บไซต์ E-Commerce ทั่วไป จึงทำให้เว็บ E-Commerce ที่ขายเสื้อผ้าแฟชั่นนั้นไม่ได้รับความสนใจ ทำให้เว็บ Konvy.com เป็นเพียงเว็บแฟชั่นเว็บเดียวที่สามารถขึ้นเป็นสุดยอดสิบอันดับได้
เว็บไซต์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย 3 อันดับได้แก่ Lazada, 11street และ Shopee ล้วนแล้วแต่เป็นเว็บไซต์ที่มาจากต่างประเทศและเห็นโอกาสในการทำตลาดในประเทศไทย จึงได้เข้ามาขยายฐานการทำธุรกิจในประเทศไทย โดย Lazada เป็นเว็บไซต์จากประเทศเยอรมนี 11Street มาจากประเทศเกาหลีใต้ และ Shopee มาจากประเทศสิงคโปร์ ล้วนแล้วแต่เป็นบริษัทบริษัทที่มีความเป็นอินเตอร์เนชั่นแนล โดยอันดับที่ 4 นั้นได้แก่เว็บไซต์ Chilindo ซึ่งเป็นเว็บไซต์ผลิตโดยคนไทย ซึ่งเป็นเว็บขายสินค้าออนไลน์ประเภททั่วไปที่ให้ลูกค้าสามารถซื้อสินค้าผ่านการประมูล สิ่งนี้จึงเป็นรูปแบบการขายที่เป็นเอกลักษณ์ที่ทำให้ Chilindo สามารถสู้กับเว็บต่างชาติเหล่านั้นได้
การเข้ามาของเว็บ 11Street จากประเทศเกาหลีนั้น เข้ามาเขย่าบัลลังก์ของราชาอย่าง Lazada ได้อย่างน่ากลัว เนื่องจาก 11Street ประกาศเปิดตัวอย่างเป็นทางการในประเทศไทยในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ของปี พ.ศ. 2560 ว่าจะเข้ามาทำตลาดในประเทศไทย ซึ่งบริษัทจะใช้กระแสนิยมเกาหลี และจำนวนสินค้าที่หลากหลายในการสร้างจุดเด่นให้กับแบรนด์ของตนเอง นอกจากนี้การทุ่มงบประมาณให้กับการสื่อสารทางการตลาดถือเป็นกลยุทธ์ที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก เนื่องจากมีการเจาะตรงกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งเป็นคนกรุงเทพฯ วัยทำงาน นิยมใช้การขนส่งสาธารณะ โดยใช้การโฆษณากลางแจ้งอันได้แก่ BTS Station ซึ่งโฆษณาที่เด่นที่สุดคงจะหนีไม่พ้น BTS Siam ที่ใคร ๆ ก็ต้องติดตากับแบรนด์ 11Street ที่มีการใช้เหล่าคนมีชื่อเสียงมาโปรโมตเว็บไซต์อย่างต่อเนื่อง จนทำให้ 11Street มียอดผู้เข้าชมขึ้นเป็นอันดับสอง ซึ่งมีจำนวนผู้เข้าชมกว่า 9,632,000 ต่อเดือน
Shopee ซึ่งเปิดตัวโดยการทำธุรกิจในรูปแบบ C2C ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่ให้พื้นที่แก่ผู้ขายสินค้าและผู้ซื้อมาแลกเปลี่ยนทางการค้า Shopee เพิ่งระดมทุนรอบใหม่เพื่อนำมาใช้สำหรับการขยายตลาดและเพิ่มรูปแบบของธุรกิจเป็นแบบ B2C นอกจากนี้บริษัท Shopee โฟกัสในการพัฒนาแอปพลิเคชันบนมือถือให้ตอบสนองต่อผู้ใช้เป็นอย่างดี ซึ่งทำให้ผู้ซื้อและผู้ขายใช้แอปพลิเคชันได้ง่ายขึ้น จึงทำให้แอปฯ Shopee มียอดดาวน์โหลดกว่า 1 ล้านดาวน์โหลดและมียอดผู้เข้าชมกว่า 3,500,000 ต่อเดือน
ยอดผู้เข้าชมต่อเดือน, จำนวนแอปฯ ดาวน์โหลดและผู้ติดตามทาง Facebook สูงสุด
ถ้าหากเปรียบเทียบร้านค้าสัญชาติไทยแล้วนั้น ร้านค้า CHilindo ขึ้นเป็นที่หนึ่งในสามด้านได้แก่จำนวนผู้เข้าชมต่อเดือนกว่า 3,056,000 ครั้ง, จำนวนแอปฯ ดาวน์โหลดสูงสุดกว่า 500,000 ดาวน์โหลดและผู้ติดตามทาง Facebook สูงกว่า 3,510,000 ไลค์
Chilindo มีจุดขายที่แตกต่างจากร้านค้าโดยทั่วไปเนื่องจากมีการขายสินค้าในรูปแบบประมูล ซึ่งให้ผู้ซื้อสินค้าประมูลสินค้าเริ่มต้นที่ราคา 1 บาท จุดขายนี้ทำให้ Chilindo เป็นที่สนใจของผู้ใช้ นอกจากนี้บริษัทยังมีการทำการตลาดบน Facebook ที่ active โดยมีการนำเสนอสินค้าผ่านวีดีโอและ GIF ได้อย่างน่าสนใจ ซึ่งแต่ละโพสต์ได้รับความสนใจและสร้าง engagement ได้สูง
Canival ซึ่งเคยเป็นร้านขายรองเท้าสตรีทแบรนด์เล็กๆในมุมหนึ่งของสยามสแควร์ในอดีต ตอนนี้ได้เข้ามาเล่นในตลาด E-Commerce อย่างเต็มตัว จนสามารถเอาชนะยักษ์ใหญ่อย่าง Lazada ได้ด้วยการใช้ Instagram รุกตลาดแฟชั่น ร้าน Carnival มีผู้ติดตามสูงสุดกว่า 261,000 ผู้ติดตามบน Instagram
Carnival ให้ความสำคัญกับรูปภาพที่โพสต์บน Instagram โดยคำนึงถึงองค์ประกอบของรูปภาพทั้งด้านแสง, สี และการวางสินค้าที่มีความเป็นเอกลักษณ์ และสามารถถ่ายทอดรายละเอียดของรองเท้าได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้แต่ละโพสต์จะมีการบอกรายละเอียดที่ลูกค้าต้องการอย่างชัดเจน อาทิ จำนวนสินค้า, ไซส์ และราคาของสินค้าที่วางขาย รวมถึงช่องทางในการสั่งซื้อที่สะดวก ดังนั้น Instagram จึงเป็นจุดแข็งที่ทำให้ Carnival ประสบความสำเร็จในการทำตลาดแฟชั่นด้วย Instagram
LINE เป็นแอปพลิเคชันแชทที่ได้รับความนิยมสูงสุดในประเทศไทย ร้านค้า E-Commerce หันมาให้ความสนใจในการใช้ LINE สำหรับติดต่อและส่งข่าวสารให้กับลูกค้ามากขึ้น ซึ่งจากการศึกษาบริษัทที่ใช้ LINE ในการทำธุรกิจ พบว่า 8 บริษัทเป็นบริษัทจากประเทศไทยได้แก่ Wemall, Karmarts, Powerbuy, Jaymart, Pomelo, Shop 24, Central Online, Beauticool และอีก 2 บริษัทมาจากต่างประเทศ ได้แก่ Lazada และ Shopee
แสดงให้เห็นว่าบริษัทสัญญาติไทยเข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภคมากกว่าบริษัทจากต่างชาติ นี่คงเป็นช่องว่างที่บริษัทจากต่างประเทศสามารถพัฒนาเพื่อใช้เป็นช่องทางในการเข้าถึงผู้บริโภคได้ดียิ่งขึ้น
ในยุคที่ E-Commerce เติบโตอย่างรวดเร็ว ร้านค้าที่มีหน้าร้านหันมาจับโอกาสในการทำตลาดออนไลน์มากขึ้น หนึ่งตัวอย่างที่น่าสนใจได้แก่ร้านค้า J.I.B ซึ่งเริ่มต้นจากการเป็นร้านขายคอมพิวเตอร์ที่เซียร์ รังสิต จนประสบความสำเร็จและมีสาขากว่า 140 สาขาในปัจจุบัน
คุณจิ๊บผู้ก่อตั้ง J.I.B ซึ่งเล็งเห็นถึงโอกาสในการทำธุรกิจออนไลน์ได้ทดลองขายอุปกรณ์คอมพิวเตอร์เป็นครั้งแรกจนมีรายได้กว่า 800,000 บาทต่อเดือน ซึ่งเขารู้สึกเซอร์ไพรส์กับรายได้ผ่านทางออนไลน์อย่างมาก จึงทำให้เขาเห็นโอกาสในธุรกิจออนไลน์และหันมาโฟกัสในการทำธุรกิจบน E-Commerce มากขึ้น ซึ่งปัจจุบันร้านค้า J.I.B มีผู้เข้าชมกว่า 245,000 ครั้งต่อเดือน ทำให้เป็นเว็บที่มีผู้เข้าชมสูงสุดเป็นอันดับที่ 6
ตามมาติด ๆ ก็คือห้าง Central ซึ่งเป็นห้างที่ใหญ่และมีชื่อเสียงมากที่สุดในประเทศไทย Central เห็นโอกาสในธุรกิจออนไลน์จึงได้แตกไลน์ธุรกิจออนไลน์ภายใต้ชื่อ Central Online ซึ่งนโยบายของพวกเขาคือการนำห้างมาอยู่เพียงปลายนิ้ว Central Online มีผู้เข้าชมกว่า 2,039,500 ครั้งต่อเดือน ทำให้เป็นเว็บไซต์อันดับ 7 ที่มีผู้เข้าชมสูงสุด Central Online เป็นหนึ่งบริษัทที่น่าจับตามองเนื่องจากพวกเขาเคยเป็นร้านออฟไลน์ที่หันมาสนใจด้านออนไลน์ ชาวไทยคงต้องจับตามองว่าร้าน Central Online จะสามารถใช้ชื่อเสียงและประวัติที่สั่งสมมานานในประเทศไทยในการทำธุรกิจออนไลน์ให้ประสบความสำเร็จได้หรือไม่
ข้างต้นนี้คือการค้นหาที่น่าสนใจทั้ง 5 ข้อจากสงคราม E-Commerce ในประเทศไทย ถ้าหากต้องการใช้ Interactive Content ชิ้นนี้ สามารถไปที่ : The Map of E-Commerce Thailand
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด