กฏเหล็กของ Startup ที่อยากโตระดับโลก โดย 'คุณกระทิง เรืองโรจน์ พูนผล' | Techsauce

กฏเหล็กของ Startup ที่อยากโตระดับโลก โดย 'คุณกระทิง เรืองโรจน์ พูนผล'

จากคอนเซปต์ 'Think global from day one' หัวใจสำคัญของโครงการ Allianz Ayudhya Activator ที่ได้นำ Startups ทั้ง 14 ทีมเข้าสู่โปรแกรม Incubation อย่างเข้มข้นเป็นเวลา 12 สัปดาห์ โดยมีวิทยากรคนแรก กระทิง- เรืองโรจน์ พูนผล ซึ่งถูกยกให้เป็น God Father แห่งวงการ Startup เมืองไทย เขามาพร้อมกับแนวทางสร้างธุรกิจให้เติบโตและประสบความสำเร็จในเวทีโลก ด้วยเคล็ดลับวิธีคิดและคุณสมบัติเฉพาะ

อย่าเริ่มทำธุรกิจ แต่ให้เริ่มจาก Mission

ผู้ก่อตั้งหรือ CEO ที่จะพา Startup ไปต่อถึงระดับ Global มักจะมีภารกิจที่ชัดเจนว่า ธุรกิจนี้สร้างขึ้นมาเพื่ออะไร ซึ่งสิ่งที่ทำให้ธุรกิจแตกต่างออกไปคือ Mission หรือเรื่องราวของผู้ก่อตั้ง (Story) นั่นเอง เจ้าพ่อวงการ Startup ตอกย้ำด้วยประโยค “Don’t start a business. Start a Crusade” เพราะ Crusade คือสงครามศักดิ์สิทธิ์ที่มีเป้าหมายชัดเจนว่ากำลังต่อสู้เพื่อสิ่งใด เช่นเดียวกับ Startup ที่จะต้องต่อสู้เพื่อแย่งชิงคนที่มีความสามารถมาร่วมฝ่าฟันไปด้วยกัน (Talent Magnet) ไม่ใช่แค่ทำเพื่อเงินลงทุน แต่สิ่งที่จะดึงดูดคนมีความสามารถให้มาร่วมงานด้วยได้คือ "ความฝัน” ซึ่งตัวเขาเองในฐานะ Managing Partner ของกองทุน 500 TukTuks จะพิจารณาให้เงินลงทุน จากคุณสมบัติที่ว่า Startup รายนั้นสามารถดึงดูดคนเก่งๆ มาทำงานด้วยได้หรือไม่ เพราะเมื่อเริ่มจ้างด้วยเงิน ก็จะจากไปด้วยเงิน Startup หลายรายเจ๊งเพราะไม่มี Shared vision ซึ่งต้องเกิดจากการสร้างวัฒนธรรมองค์กร (Mission-driven culture) หรือ “สิ่งที่พนักงานของคุณทำในตอนที่ไม่มีใครเห็น” ซึ่งอาจหมายถึงการอดหลับอดนอนทำงานจนเสร็จ เพราะไม่อยากเป็นตัวถ่วงคนในทีม และไม่อยากให้บริษัทพลาดเป้าหมายตาม Mission นี่คือสิ่งที่เงินไม่สามารถซื้อได้

Mission ของคุณคืออะไร?

Mission คือสิ่งที่ทำให้หัวใจของคนฟังเต้นแรง อยากเข้ามาร่วมงานกับคุณ พร้อมที่จะเป็นสาวกคนแรกๆ ของธุรกิจ และธุรกิจนั้นต้องมีพลังในการสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับโลก ภารกิจของ Tesla คือการสร้างโลกที่สะอาด ไม่ใช่แค่บริษัทขายรถอีกแบรนด์หนึ่ง ส่วนภารกิจของ Space X คือการสร้างอาณาจักรแห่งใหม่ของมนุษยชาติ ไม่ใช่คู่แข่งนาซ่า แล้วคุณจะทำให้โลกนี้ดีขึ้นได้อย่างไร ทำไมโลกนี้ต้องมีธุรกิจของคุณ ล้างสมองตัวเองให้ได้ว่ามันโคตรเจ๋งที่มีธุรกิจของคุณอยู่บนโลกนี้ แล้วต้องจำไว้ว่า Talent เพียง 1 คนมีค่ามากกว่าคนทั่วไป 10 คน เราต้องการเพียงคนๆ เดียวที่ใช่

Create your one market ไม่ใช่ตลาดแมส

Startup ที่มีทรัพยากรอย่างจำกัด ควรเริ่มจากสิ่งเล็กๆ ที่ดีที่สุดเสมอ การจับตลาด Niche ที่มองหาแฟนคลับ หรือสาวกที่โคตรรักในสินค้าของธุรกิจ หรือพยายามยึดหัวหาดสร้างฐานที่มั่นของธุรกิจให้ได้ คือหัวใจสำคัญ นั่นอาจหมายถึงการสร้างฟีเจอร์เด็ดๆ ให้กับสินค้า (Killing features) ที่แบรนด์อื่นทำไม่ได้ ยกตัวอย่าง Allbirds ซึ่งเป็นที่รู้จักดีในซิลิคอนวัลเลย์ ไม่ได้สู้ด้วยเทคโนโลยีแบบแบรนด์ระดับแมส แต่ช่วงชิงตลาดด้วยคุณสมบัติผลิตจากขนแกะ ระบายอากาศได้ดี และนุ่มจนผู้สวมใส่รู้สึกเหมือนเดินบนปุยเมฆ ทำให้ขายดีจนผลิตไม่ทัน แม้จะใช้ช่องทางออนไลน์อย่างเดียวเท่านั้น เช่นเดียวกับธุรกิจใหญ่ๆ อย่าง Amazon และ Starbucks ต่างก็เคยใช้กลยุทธ์นี้มาแล้ว ซึ่งในเชิงการตลาด วิธีการนี้เรียกว่า Bowling Pins Strategy สินค้าที่ดีจะต้องมีคนเกลียด อย่าเป็นแค่โปรดักต์ทั่วไปที่ไม่มีใครอยากจ่ายเงินให้ แต่ควรทำสิ่งที่ทำได้ดีที่สุดเพียงไม่กี่อย่าง และมีแฟนคลับที่รักสินค้าของคุณในแบบที่มันเป็นอย่างสุดหัวใจ และพร้อมจะปกป้องแบรนด์ของคุณเมื่อเกิดดราม่า

ทักษะของ CEO

ความสามารถของผู้นำคือหัวใจของ Startup และความอยู่รอดในระยะยาว จากการสำรวจของบริษัทวิจัย พบว่ามี Startup เพียง 4% นั้นที่สามารถทำกำไรได้ถึง 25 เท่า ซึ่งเป็นผลโดยตรงมาจากความสามารถของ CEO ต่างไปจากบริษัทใหญ่ๆ หรือ Public Company ที่ความสามารถของ CEO จะมีผลเพียง 15% ในขณะที่ CEO ของธุรกิจ Startup จะส่งผลต่อความสำเร็จถึง 90%

“ในช่วงก่อตั้งธุรกิจ CEO หมายถึง Chief Everything Officer คุณต้องทำทุกอย่าง แก้ปัญหาแบบนักดับเพลง ปัญหาเกิดตรงไหนคุณต้องไปดับตรงนั้นทันที”

คุณกระทิงอธิบาย และเมื่อธุรกิจเติบโตขึ้นไปอีกสเต็ป คนเป็น CEO ก็จะต้องเก่งขึ้น 10 เท่า นั่นคือเหตุผลที่ทำให้ผู้ก่อตั้งต้องหามืออาชีพมาช่วยบริหาร เมื่อบริษัทเติบโตขึ้น เหมือนกับที่ Facebook ต้องมี Sheryl Sandberg มาช่วยดูแลงานด้าน Operation

สรุปว่า คนเป็น CEO บริษัท Startup จะต้องมีทักษะทั้ง 6 ข้อ

  1. โฟกัสกับเวลาเป็นอย่างมาก (Extremely time focus) กล่าวคือ CEO จะต้องโฟกัสกับกิจกรรมเพียงไม่กี่อย่าง แต่กิจกรรมเหล่านั้นจะต้องทำให้ตัวชี้วัดของธุรกิจเติบโตขึ้นทุกวัน ส่งผลต่อความสำเร็จของธุรกิจ
  2. ความสามารถในการเรียนรู้อย่างรวดเร็ว
  3. มีทักษะที่เหมาะสมกับการเติบโตของธุรกิจในแต่ละสเตจ
  4. มีความสามารถในการสร้างโมเดลธุรกิจ
  5. ความสามารถในการออกแบบกระบวนการ
  6. มีความสามารถในการดึงดูดคนเก่งมาร่วมงานด้วย

และที่สำคัญไปกว่านั้น ธุรกิจ Startup จะต้องมี CEO หรือมีผู้นำเพียงคนเดียว แม้จะมีผู้ก่อตั้งมากกว่า 1 คนก็ตาม เพราะในจุดใดจุดหนึ่ง จะต้องมีคนที่สามารถฟันธงเพื่อกำหนดทิศทางของธุรกิจได้ (Every startup need a CEO and Captain)นอกเหนือไปจากตัว CEO แล้ว ยังมีปัจจัยแห่งความสำเร็จอื่นๆ อีก 7 ข้อ ดังนี้

  1. ยึดตลาดหัวหาดให้ได้
  2. ทีม
  3. เข้าตลาดให้ถูกเวลา ไม่ช้าหรือเร็วเกินไป (Timing beats the best team all time)
  4. เทคโนโลยี/โปรดักต์
  5. มีลูกค้า ผู้ใช้บริการ
  6. การยอมรับในตัวสินค้า (Torque/Takeoff)
  7. ความสามารถในการแข่งขันที่คู่แข่งไม่สามารถเลียนแบบได้ (Unfair advantage) เช่น ความเป็นทีม วัฒนธรรมองค์กร พาร์ทเนอร์ ฐานลูกค้า เป็นต้น

นอกจากนี้ สิ่งที่มีผลต่อความสำเร็จของ Startup ก็คือ วิธีคิด หรือ Moonshot Thinking นั่นคือการกลับไปดูอุตสาหกรรมดั้งเดิม เพื่อหาช่องทางในการ Disrupt เช่นเดียวกันกับที่ Elon Musk ทำเมื่อตอนก่อตั้ง Space X เขาพบว่าต้นทุนในการปล่อยจรวดขึ้นสู่ชั้นอวกาศ คิดเป็นค่าเชื้อเพลิงเพียง 0.3% เท่านั้น ส่วนที่เหลือถูกใช้ไปกับตัวจรวด นั่นแปลว่า ถ้าสามารถนำมันมาใช้ซ้ำได้ ก็จะสามารถปล่อยจรวดขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศได้มากขึ้น จึงกลายเป็นโครงการเมกะโปรเจกต์ของ Space X ที่จะสร้างอาณาจักรของมนุษยชาติบนดาวอังคาร

และท้ายที่สุด จงทำดีกับผู้คน มีเมตตา ละทิ้งอัตตา หมั่นทดสอบ พัฒนาต่อยอดอย่างสม่ำเสมอ และที่สำคัญที่สุดก็คือ ต้องมีความเชื่อมั่นอย่างแรงกล้าใน Mission ของตัวเอง แม้จะถูกปฏิเสธครั้งแล้วครั้งเล่าจากผู้ลงทุน ก็อย่าสูญเสียตัวตนและความภาคภูมิใจในตัวเอง เพราะในบางครั้งนักลงทุนก็อาจคาดการณ์ผิดไป แม้แต่ตัวคุณกระทิงเองก็ยอมรับว่าเคยรู้สึกเสียดายที่ไม่ได้ตัดสินใจลงทุนกับาตร์ทอัปบางทีม

ทั้งหมดนี้คือบทสรุปจากประสบการณ์ของคุณกระทิง เรืองโรจน์ พูนผล เป็น Session ที่ทำให้เจ้าของธุรกิจ Startup ทั้ง 14 ทีมหัวใจเต้นแรงและดวงตาเป็นประกาย เรียกได้ว่าเป็นเซสชั่นที่ปลุกจิตวิญญาณแห่งความเป็นผู้ประกอบการระดับโลกให้ลุกโชนได้เลยทีเดียว และรับรองว่าเซสชั่นอื่นๆ ของโครงการบ่มเพาะ Startup จาก Allianz Ayudhya ก็เข้มข้นไม่แพ้กัน สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ http://activator.global

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

‘Yindee’ แชตบอตในแอป ttb Touch ใช้ Gen AI จับความรู้สึก ตอบเร็วและฉลาดกว่าที่เคย

Yindee แชตบอตที่อยู่บน Mobile Banking ของ ttb ทำงานผ่านแอป ttb Touch สามารถจับ Mood & Tone ของลูกค้าหรือผู้ใช้บริการ ว่าขณะแชตนั้น ลูกค้าอยู่ในอารมณ์ไหน ด้วย Generative AI โดย Azur...

Responsive image

คนอยากใช้พลังงานเยอะ แต่โลกอยากได้ปล่อยคาร์บอนน้อย บริษัทพลังงานแก้ไขความย้อนแย้งนี้อย่างไรดีในยุค AI

The Energy/Prosperity Paradox หรือภาวะย้อนแย้งแห่งพลังงาน และความเจริญ ถือเป็นความท้าทายระดับโลกที่บริษัทด้านพลังงานกำลังพบเจอ เพราะในตอนนี้โลกกำลังต้องการพลังงานเพิ่มขึ้นอย่างไม่เ...

Responsive image

เศรษฐกิจไทย ‘ฟื้นตัว’ แล้วหรือยัง ? ฟังความเห็นจาก 3 ผู้นำธุรกิจยักษ์ใหญ่ไทย

ค้นพบศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงไทย จีน สิงคโปร์ อินโดนีเซีย เวียดนาม และกัมพูชา พร้อมโอกาสการลงทุนที่น่าสนใจในภาคอุตสาหกรรม การเงิน และเทคโนโลยี...