สร้าง "คุณค่า" ให้ธุรกิจของคุณด้วยเหรียญโทเคนดิจิทัล | Techsauce

สร้าง "คุณค่า" ให้ธุรกิจของคุณด้วยเหรียญโทเคนดิจิทัล

บทความโดย คุณณภัทร์ โรมรัน Business Development Team บริษัท โทเคน เอกซ์ จำกัด

ในระยะ 2 – 3 ปีที่ผ่านมานี้ ผู้อ่านหลาย ๆ ท่านคงได้เห็นข่าวของหลายองค์กรทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศเกี่ยวกับการออกเหรียญโทเคนดิจิทัลเป็นของตนเองกันมากมาย 

ไม่ว่าจะเป็นบริษัท อินดิเพนเด้นท์ อาร์ทิสท์ เมเนจเม้นท์ จํากัด หรือ iAM ต้นสังกัดดูแลบริหารงานศิลปินวงไอดอลหญิงวง BNK48  (บีเอ็นเคโฟร์ตีเอต) และศิลปินวงไอดอลหญิงวง CGM48 (ซีจีเอ็มโฟร์ตีเอต) ที่พึ่งมีการออกเหรียญ BNK เมื่อช่วงต้นปี 2565 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นความร่วมมือกับทาง “Token X” บริษัทภายใต้กลุ่มเอสซีบี เอกซ์ ผู้ให้บริการเกี่ยวกับธุรกิจโทเคนดิจิทัลแบบครบวงจร และผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี Blockchain ในการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาพลิกโฉมอุตสาหกรรมบันเทิง พร้อมสร้าง Use case ใหม่ ๆ หรือแม้กระทั่งสายการบิน Singapore Airline ก็ได้มีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี Blockchain ในการออกเหรียญโทเคนดิจิทัลแทนการสะสมไมล์การเดินทางในรูปแบบของ Loyalty Point เดิม ๆ

ผู้อ่านหลายท่านคงสงสัยกันใช่ไหม ? ว่าทำไมองค์ต่าง ๆ เหล่านี้จึงหันมาให้ความสนใจในการออกโทเคนดิจิทัลบนเทคโนโลยี Blockchain กันในปัจจุบัน และเหรียญโทเคนดิจิทัลช่วยเสริมสร้าง “คุณค่า” อะไรให้กับองค์กรต่าง ๆ เหล่านั้นได้บ้าง ดังนั้นวันนี้ผู้เขียนจะพาไปทำความเข้าใจเบื้องต้นพร้อมตัวอย่างที่เกิดขึ้นจริง

ก่อนอื่นขอพาผู้อ่านทุกท่านมาทำความรู้จักประเภทของโทเคนดิจิทัลตามคำจำกัดความโดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)

โทเคนดิจิทัล ถูกแบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ “Investment Token” และ “Utility Token”

Investment Token คือ เหรียญโทเคนดิจิทัลที่ให้สิทธิในการเข้าร่วมลงทุนในโครงการหรือกิจการใด ๆ

Utility Token คือ เหรียญโทเคนดิจิทัลที่ให้สิทธิแก่ผู้ถือในการได้มาซึ่งสินค้า บริการ หรือสิทธิอื่นใดที่เฉพาะเจาะจง

  • Utility Token ไม่พร้อมใช้ ยังไม่พร้อมให้ใช้สิทธิแลกหรือใช้ประโยชน์สินค้าหรือบริการนั้น ต้องรอใช้สิทธิในอนาคต
  • Utility Token พร้อมใช้ สามารถใช้สิทธิแลกหรือใช้บริการได้ทันทีตั้งแต่วันที่เสนอขายครั้งแรก

เมื่อเข้าใจถึงความหมายของเหรียญโทเคนดิจิทัลกันแล้ว ดังนั้นเรามาลองดูกันว่าการออกเหรียญโทเคนดิจิทัลนั้นสามารถสร้าง “คุณค่า” อะไรได้บ้างให้กับบริษัทหรือองค์กรของท่าน

Investment Token

เป็นการระดมทุนในรูปแบบใหม่ที่ใช้เหรียญโทเคนดิจิทัลในการแสดงถึงสิทธิในการร่วมลงทุนในสินทรัพย์นั้น ๆ ซึ่งผู้ถือเหรียญโทเคนนี้จะได้รับส่วนแบ่งผลตอบแทน หรือ สิทธิประโยชน์ตามเงื่อนไขของบริษัทตามที่กำหนดไว้ในเอกสาร Whitepaper 

ซึ่งการออกเหรียญ Investment Token นี้มีขั้นตอนและค่าใช้จ่ายที่มีแนวโน้มถูกกว่าการระดมทุนในรูปแบบเก่า อีกทั้งสร้างความสะดวกในการซื้อ-ขาย หรือโอนสิทธิ์การเป็นผู้ถือมากยิ่งขึ้นโดยไม่จำเป็นต้องมีเอกสารต่าง ๆ มากมาย หรือ ต้องเสียเวลาเดินทางไปติดต่อดำเนินการดังกล่าวกับองค์กรที่ระดมทุน

RealT ถือว่าเป็นตัวอย่างที่น่าสนใจอย่างมาก กล่าวคือ RealT เป็น Platform ในการนำอสังหาริมทรัพย์ที่มีอยู่จริงและสร้างเสร็จแล้วมาทำการออกเหรียญโทเคนดิจิทัลตามมูลค่าของอสังหาริมทรัพย์นั้น ๆ และเปิดโอกาสให้นักลงทุนที่สนใจและมีงบประมาณที่จำกัดได้มีส่วนร่วมในการลงทุนพร้อมได้รับส่วนแบ่งจากกำไรที่ได้จากการปล่อยเช่าหรือขายตามสัดส่วนของการถือเหรียญโทเคนดิจิทัล Real (Real Token)

Utility Token

เหรียญโทเคนดิจิทัลแบบ Utility Token สามารถนำมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ในเชิงธุรกิจได้หลากหลาย ดังนั้นผู้เขียนขอพาผู้อ่านมาทำความเข้าใจพร้อมกันทีละข้อ

เสริมสร้างความแข็งแกร่งของระบบนิเวศ (Strong Ecosystem)

เราสามารถออกแบบเหรียญดิจิทัลโทเคนเพื่อใช้ภายในระบบนิเวศของเราเอง ซึ่งจะทำให้ผู้ใช้งานได้มีส่วนร่วมอย่างเหนียวแน่น (Stickiness) กับระบบนิเวศหรือ Platform ของเรามากยิ่งขึ้น และหากเราออกแบบเหรียญโทเคนดิจิทัลให้มีสิทธิประโยชน์ที่รองรับมากเท่าไหร่ก็จะยิ่งเป็นการเพิ่ม “คุณค่า” ให้กับระบบนิเวศหรือ Platform ของเราเช่นกัน

ตัวอย่างเช่น The Sandbox ที่กำลังพัฒนา Metaverse Platform เพื่อรองรับพฤติกรรมของผู้ใช้งานที่จะเปลี่ยนไปในอนาคต ซึ่งได้มีการออกเหรียญโทเคนดิจิทัลที่ชื่อว่า Sand โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำมาใช้ภายในระบบนิเวศของ The Sandbox เอง อาทิ ใช้เหรียญโทเคนดิจิทัล Sand ในการซื้อที่ดินบน Metaverse หรือแม้กระทั้งใช้ในการซื้อสินค้าและบริการในรูปแบบดิจิทัลในระบบนิเวศ The Sandbox เอง เป็นต้น

สร้าง Brand Awareness และ Engagement ให้กับบริษัท

แน่นอนว่าหากเรามีการออกเหรียญโทเคนดิจิทัลพร้อมทั้งวางแผนการดำเนินธุรกิจที่นำเหรียญโทเคนดิจิทัลนี้ไปต่อยอดและสนับสนุนการเติมโตขององค์กรในอนาคต ก็จะทำให้ผู้คนทั่วไปเห็นถึงวิสัยทัศน์ขององค์กรที่มีการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาประยุกต์ใช้ในการสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ให้กับธุรกิจได้ 

หรือแม้กระทั่งเป็นการสร้างกิจกรรม Engagement ต่าง ๆ ระหว่างลูกค้าหรือกลุ่มผู้ใช้งานกับองค์กรให้มีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น อาทิ เข้าร่วมสนุกผ่านทาง Campaign ของทางองค์กร หรือ รับชมวีดีโอคอนเทนต์ต่าง ๆ จนจบ ผู้ใช้งานจะได้รับ Airdrop เหรียญโทเคนดิจิทัลไปแบบฟรี ๆ เป็นต้น

Basic Attention Token หรือเหรียญโทเคนดิจิทัล BAT ของ Brave Platform ซึ่งเป็น Platform ที่นำเสนอโมเดลทางธุรกิจของวงการโฆษณาในรูปแบบใหม่และเป็นการส่งเสริมการมีส่วนรวมหรือ Engagement กับผู้ใช้งาน 

กล่าวคือเมื่อผู้ใช้งานรับชมโฆษณาหรือคอนเทนต์ รวมถึงร่วมกิจกรรมใด ๆ บน Platform ผู้ใช้งานจะได้รับเหรียญโทเคนดิจิทัล BAT เป็นรางวัล ปัจจุบันมูลค่าของเหรียญโทเคนดิจิทัล BAT อยู่ที่ราว ๆ 13 บาทต่อเหรียญ และมี Market Capitalization อยู่ที่ประมาณ 2 หมื่นล้านบาท (อ้างอิงจาก coinmarketcap.com ณ วันที่ 25 พฤษภาคม 2565) ซึ่งมูลค่าของเหรียญนั้นสามารถเป็นปัจจัยหนึ่งในการสะท้อนถึงบุคคลทั่วไปให้ความสนใจหรือเรียกได้ว่าไดัรับ Brand Awareness เป็นอย่างดี

ปฏิวัติ Loyalty Program หรือ Loyalty Point 

ในอดีตจนถึงปัจจุบันหลาย ๆ แบรนด์หรือองค์กรมีความพยายามอย่างมากในการสร้าง Loyalty Program หรือ Loyalty Point เป็นของตนเอง แน่นอนว่าทำเช่นนี้จะเป็นการสร้างความซื่อสัตย์ของลูกค้าหรือผู้ใช้งานให้เพิ่มขึ้นกับทางแบรนด์หรือองค์กร 

แต่อย่างไรก็ตามหากต้องการขยายขอบเขตการใช้งานของ Loyalty Program หรือ Loyalty Point ให้เติบโตยิ่งขึ้นผ่านการร่วมเป็นพันธมิตรทางธุรกิจ (Partner) กับแบรนด์หรือองค์กรอื่น ๆ นั้นจะทำได้ค่อนข้างยาก ด้วยปัจจัยหลายอย่าง อาทิ การหามูลค่าอ้างอิงของคะแนนนั้น ๆ ระหว่างกัน การบริหารจัดการเรื่องการสับเปลี่ยนคะแนนซึ่งกันและกัน การบริหารจัดการเชิงบัญชีและการเงิน (Accounting, Reconciliation, & Settlement) เป็นต้น

ดังนั้นหากนำ Loyalty Program หรือ Loyalty Point นั้นมาอยู่ในรูปแบบของเหรียญโทเคนดิจิทัลจะทำให้มีความยืดหยุ่น (Flexibility) ในการใช้คะแนนและในการขยายขอบเขตการใช้คะแนนร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจ (Partners) มากยิ่งขึ้น เนื่องจากเทคโนโลยี Blockchain สามารถนำเข้ามาช่วยในเรื่องอันน่าปวดหัวหลาย ๆ เรื่องที่กล่าวไปข้างต้นได้ อีกทั้งยังสามารถทำให้เกิดความสามารถในการสับเปลี่ยนคะแนนระหว่างกันได้โดยสะดวกและรวดเร็วกว่า

หากย้อนกลับไปที่ตัวอย่างตั้งแต่ตันนั้น Singapore Airline ได้มีการออกเหรียญดิจิทัลของตนเองชื่อ KrisPay ที่ใช้บน Kris+ Platform ในการแทนจำนวนไมล์ที่ผู้โดยสารได้สะสมไว้ และสามารถนำเหรียญโทเคนดิจิทัล KrisPay ไปใช้ในการแลกสินค้าและบริการได้ภายใน Platform รวมถึงนำไปสับเปลี่ยนกับ Loyalty Point อื่น ๆ ได้เช่นเดียวกัน

การสร้างความโปร่งใสในการบริหารจัดการ (Good Governance)

ความชัดเจน โปร่งใส และตรวจสอบได้เป็นคุณสมบัติที่พึงมีในการบริหารจัดการธุรกิจหรือประเทศชาติ จากจุดนี้สามารถนำเหรียญโทเคนดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ในการให้ผู้ถือเหรียญนั้นมีสิทธิ์ มีส่วนร่วมในการช่วยกำหนดทิศทางในการดำเนินธุรกิจ, โปรเจค, หรือบริหารประเทศชาติได้เช่นเดียวกัน เนื่องจากเทคโนโลยี Blockchain มีคุณสมบัติพิเศษอย่างหนึ่งคือข้อมูลที่ถูกบันทึกไว้นั้นสามารถนำมาตรวจสอบได้ตลอดเวลา และข้อมูลดังกล่าวนั้นจะถูกเปลี่ยนแปลงภายหลังได้ยากมาก

เหรียญโทเคนดิจิทัล BNK ที่ออกโดยบริษัท iAM ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์และแก้ไขปัญหาเรื่องความโปร่งใสในการโหวตหา Senbatsu General Election หรือการโหวตใน Campaign อื่น ๆ ของทางวง BNK48 และ CGM48 ซึ่งได้ผลตอบรับที่ดีจากกลุ่มผู้ชื่นชอบในศิลปินวงดังกล่าวอย่างท่วมท้น อีกทั้งยังมาพร้อมกันกับ Utility อื่น ๆ เช่น นำเหรียญโทเคนดิจิทัล BNK เพื่อมาแลกสินค้าและบริการได้โดยตรงภายใน Platform ของทาง BNK เอง

จากคุณประโยชน์ต่าง ๆ ที่ผู้เขียนยกมาอธิบายพร้อมตัวอย่างประกอบข้างต้นนั้น จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมหลาย ๆ องค์กรในโลกถึงกำลังพยายามพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ บนเทคโนโลยี Blockchain รวมถึงพยายามที่จะสร้างเหรียญโทเคนดิจิทัลเป็นของตนเอง อย่างไรก็ตามการออกเหรียญโทเคนดิจิทัลอาจจะดูเหมือนง่าย แต่จริง ๆ แล้วมีอะไรหลาย ๆ อย่างที่องค์กรผู้ออกเหรียญจะต้องทำการพัฒนาและวางแผนทั้งในเชิงการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและเชิงธุรกิจอย่างรอบคอบ

เพราะฉะนั้นหากผู้อ่านเกิดความสนใจและอยากหาที่ปรึกษาที่สามารถให้คำปรึกษาในส่วนของเทคโนโลยีบล็อกเชนและ Tokenization ไม่ว่าจะเป็น Investment Token, Utility Token หรือ NFT ซึ่งอาจถือว่าเป็นเทคโนโลยีพื้นฐานของเศรษฐกิจดิจิทัล สามารถติดต่อ Token X ได้ที่อีเมล  [email protected]

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

AI จะเป็น ‘ผู้กอบกู้’ หรือ ‘ผู้ทำลาย’ การ์ตูนญี่ปุ่น

เมื่อประตูสู่วัฒนธรรมและเสาหลักทางเศรษฐกิจของประเทศญี่ปุ่นอย่าง อนิเมะและมังงะกำลังถูก AI แทรกแซง อนาคตของวงการนี้จะเป็นยังไง ?...

Responsive image

เจาะลึกเทรนด์ Spatial Computing จุดเปลี่ยนสำคัญสำหรับองค์กรยุคใหม่

Spatial Computing คือเทคโนโลยีที่ผสานโลกเสมือนจริงและโลกจริงเข้าด้วยกัน ซึ่งมีศักยภาพในการเปลี่ยนแปลงวิธีการทำงานขององค์กรในยุคดิจิทัล ตั้งแต่การออกแบบผลิตภัณฑ์ไปจนถึงการฝึกอบรมและ...

Responsive image

ถอดกลยุทธ์ ‘ttb spark academy’ ปั้น Intern เพิ่มคนสายเทคและดาต้า Co-create การศึกษาคู่การทำงานจริง

ทีเอ็มบีธนชาต หรือ ทีทีบี (ttb) เห็น Pain Point ว่าประเทศไทยขาดกำลังคนด้านดิจิทัล (Digital Workforce) และธนาคารก็ต้องการคนเก่ง Tech & Data จึงจัดตั้ง ‘ttb spark academy’ เพื่อปั้น ...