ความลับไม่มีในโลก(บล็อกเชน) จริงหรือ? | Techsauce

ความลับไม่มีในโลก(บล็อกเชน) จริงหรือ?

ข้อดีอันหนึ่งของระบบ Blockchain คือ เป็นที่เก็บข้อมูลชั้นเยี่ยม ข้อมูลที่เก็บอยู่บน Blockchain นั้นจะเก็บอยู่ตลอดไป ไม่มีสูญหาย ไม่สามารถแก้ไขได้ ตราบเท่าที่ยังมีผู้ที่คอย Run ระบบ Blockchain นั้นอยู่ 

Does Blockchain have privacy

โดยข้อมูลที่ถูกส่งไปเก็บใน Blockchain นั้นจะอยู่ในรูปแบบของ Transaction ซึ่ง Transaction ทั้งหมด ก่อนที่จะถูกบันทึกลงไปบน Blockchain จะต้องถูกยืนยันความถูกต้องด้วย Node ต่าง ๆ ที่เป็นหน่วยประมวลผลแบบกระจายศูนย์ที่ทำงานเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่าย แต่มันเป็นเรื่องที่เหมาะสมรึเปล่า ที่จะเอาข้อมูลต่างๆลงไปเก็บอยู่บน Blockchain ?

ถ้าถามถึงการประยุกต์ใช้งาน Blockchain ในวงการต่าง ๆ เช่น ในวงการแพทย์ มักจะมีคนยกตัวอย่างเคส การใช้ Blockchain ในการเก็บข้อมูลประวัติการรักษาของคนไข้ โดยอ้างถึงข้อดีของ Blockchain ว่าข้อมูลประวัติการรักษาไม่มีการสูญหาย สามารถแชร์กันระหว่างโรงพยาบาลได้เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินโดยที่ไม่ต้องส่งเรื่องไปขอข้อมูลที่โรงพยาบาลที่คนไข้ไปตรวจอยู่เป็นประจำ 

แต่ถ้าเหตุไม่ฉุกเฉินล่ะ ? คนไข้ของโรงพยาบาลแต่ละคนโอเคมั้ยกับการเก็บข้อมูลประวัติการรักษาบนระบบ Blockchain ที่ใคร ๆ ก็เข้าถึงได้โดยไม่ต้องขออนุญาต ข้อมูลในการรักษาบางอย่างควรจะถูกเก็บเป็นความลับ คงไม่มีใครอยากจะเปิดเผยว่าเป็นโรคอะไรอยู่บ้างกับสาธารณะถูกมั้ย ? ถ้าไม่โอเค เราจะมีวิธีการอย่างไรบ้างที่จะเก็บข้อมูลบน Blockchain โดยได้ทั้งความคงทนถาวรของข้อมูล และการไม่สูญเสียความเป็นส่วนตัวไป 

วันนี้ทาง Token X ในฐานะผู้ให้บริการเกี่ยวกับธุรกิจโทเคนดิจิทัลแบบครบวงจร และผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี Blockchain ได้รวบรวมวิธีต่าง ๆ ที่จะสามารถนำเทคโนโลยี Blockchain มาประยุกต์ใช้ได้ใน Use-case ของคุณให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

Private Blockchain

เราสามารถใช้ Private Blockchain Solution ได้ถ้าต้องการการเก็บข้อมูลที่เป็นความลับเฉพาะในกลุ่ม ตัว Private Blockchain มีลักษณะที่น่าสนใจคือการ Verify ข้อมูลจะถูกทำอยู่ที่ Node ที่จำกัดจำนวน และเลือกเฉพาะคนที่เชื่อถือได้เท่านั้นมาเป็น Validator Node หรือ Notary เช่น ถ้าเป็นกรณีของข้อมูลประวัติการรักษาจากโรงพยาบาล เราสามารถพัฒนาระบบ Private Blockchain ที่อนุญาติให้เฉพาะโรงพยาบาลต่าง ๆ เท่านั้นที่จะสามารถเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของระบบเครือข่าย และสามารถดึงข้อมูลจาก Blockchain ได้ จะเห็นว่าการใช้งาน Private Chain เหมาะกับ Use-case ที่มีลักษณะเป็น Close-loop ซึ่งก็อาจจะดีสำหรับธุรกิจหรือกิจกรรมที่ต้องมีการรักษาความลับ แต่ก็จะเสียความ Decentralized ไป โดยต้องอาศัยความเชื่อใจของสมาชิกในกลุ่มในการตรวจสอบและแชร์ข้อมูลกัน

Off-chain Data Verified On-chain

คุณสามารถให้นักพัฒนาระบบทำ Custom Solution ที่ใช้การเก็บข้อมูลนอก Blockchain เช่น การเก็บข้อมูลอยู่ในระบบฐานข้อมูล (Database) แต่มีการสร้าง Hash ของข้อมูล (อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Hash function ได้ที่: Link ) เพื่อใช้ในการยืนยันความถูกต้องและเก็บ Hash ของข้อมูลต้นฉบับบน Blockchain 

ตัวข้อดีของ Solution นี้ก็คือง่ายสำหรับการพัฒนาและเก็บข้อมูลและสามารถป้องกันการแก้ไขได้จากการตรวจสอบกับ Hash ที่อยู่บน Blockchain แต่ข้อเสียคือการจะยืนยันว่าข้อมูลที่อยู่บนฐานข้อมูลนอก Blockchain นั้นถูกต้องจริง ๆ จะต้องมีการ เปิดเผยข้อมูลต้นทางในฐานข้อมูล เพื่อใช้ในการคำนวณซ้ำว่า Hash นั้นมีค่าเป็นอะไร และถ้าค่า Hash ที่คำนวณจากข้อมูลในฐานข้อมูล ตรงกับค่า Hash ที่อยู่ใน Chain ถือว่าข้อมูลต้นทางนั้นถูกต้อง และไม่มีการแก้ไขเทคนิคนี้สามารถนำมาใช้กับข้อมูลที่ต้องการปกปิดชั่วคราวเพื่อให้ตรวจสอบได้ในภายหลัง

Zero-Knowledge-Proof

ถ้าหากต้องการจะสร้างระบบที่สามารถตรวจสอบข้อมูลที่อยู่นอก Blockchain ได้โดยไม่ต้องเปิดเผยข้อมูลต้นฉบับ เราสามารถใช้หลักการของ Zero-knowledge Proof ในการสร้างข้อมูลที่ใช้ในการตรวจสอบ Zero-knowledge Proof เป็นการใช้วิธีการในการตรวจสอบว่าข้อมูลที่ฝ่ายหนึ่งถืออยู่นั้นถูกต้องโดยไม่จำเป็นต้องเปิดเผยข้อมูลทั้งหมด เช่น ในภาพนี้ ถ้าเราจะช่วยน้องผู้หญิงหาว่าในภาพนี้มีกล้องดูดาวอยู่มั้ย โดยจำเป็นจะต้องไม่เปิดเผยตำแหน่งที่แน่นอนของกล้องดูดาว เราอาจจะใช้วิธีการตัดภาพ มาเฉพาะจุดที่เป็นกล้องดูดาว

ภาพที่ตัดนี้แสดงให้เห็นว่า มีกล้องดูดาวอยู่ในรูปจริง อาจจะมีการเปิดเผยข้อมูลรอบข้างเพียงเล็กน้อย แต่ไม่ได้เปิดเผยตำแหน่งพิกัดที่ชัดเจนบนภาพใหญ่ ลักษณะนี้ก็ถือว่าเป็น Zero-knowledge Proof แบบหนึ่ง

                                               

Zero-Knowledge Proof มี 2 ประเภทคือแบบ Interactive และ Non-interactive หลักการของตัว Interactive คือ จะต้องมีการทำ Action บางอย่างหลาย ๆ ครั้งเพื่อยืนยันความถูกต้อง เช่น ถ้าจะพิสูจน์ว่านักเรียนคนหนึ่งเข้าใจวิชา Calculus โดยที่ไม่จำเป็นต้องให้นักเรียนคนนั้นอธิบายทฤษฎีของ Calculus ทั้งหมด ก็คือการตั้งโจทย์วิชา Calculus มาจำนวนหนึ่ง ให้นักเรียนแก้ปัญหาและนำคำตอบมาตรวจ ถ้านักเรียนทำโจทย์ได้ผลถูกต้องตรงกับคำตอบหลาย ๆ ครั้ง ก็จะยิ่งมั่นใจว่านักเรียนเข้าใจวิชา Calculus จริง ๆ โดยไม่จำเป็นต้องให้นักเรียนมาอธิบาย ยิ่งทำถูกเยอะยิ่งหมายความว่าเชื่อถือได้มากว่านักเรียนคนนั้นเข้าใจ Calculus อย่างถ่องแท้

ส่วน Zero-Knowledge Proof แบบ Non-interactive นั้น เหมาะกับการนำมาใช้งานจริงร่วมกับระบบ Blockchain เพราะใช้หลักการของสูตรคำนวณทางคณิตศาสตร์มาคำนวณหาความถูกต้องของข้อมูลต้นทางโดยที่ไม่จำเป็นต้องเปิดเผยข้อมูลต้นทาง และไม่จำเป็นต้องใช้การทำ Action ของการทดสอบจำนวนหลาย ๆ ครั้ง ทำให้กระบวนการตรวจสอบสามารถทำได้แบบกระจายศูนย์จากที่ใดก็ได้ 

หลักการของ Zero-Knowledge Proof แบบ Non-interactive มี Protocol หนึ่งที่ได้รับความนิยมชื่อว่า zk-SNARK ย่อมาจาก Zero-knowledge Succinct Non-Interactive Argument of Knowledge โดยใน zk-SNARK จะมีผู้ที่เกี่ยวข้องอยู่ 2 ส่วนคือ Prover และ Verifier โดย Prover จะต้องสามารถทำให้ Verifier เชื่อได้ในเวลาอันรวดเร็ว (ด้วยหลักการทางคณิตศาสตร์) ว่าข้อมูลนั้นถูกต้องโดยไม่จำเป็นต้องเห็นข้อมูลต้นทาง

การนำหลักการของ Zero-Knowledge Proof มาใช้นั้น สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับ Blockchain Solution ที่หลากหลาย ยกตัวอย่างเช่นการทำระบบการประมูลแบบ Blind ซึ่งผู้ส่งราคาประมูลแต่ละคนจะไม่สามารถเห็นข้อมูลการประมูลของคนอื่นๆ ซึ่งการนำ Blockchain มาใช้ย่อมเพิ่มความโปร่งใส แต่ด้วยเทคนิคของ Zero-Knowledge Proof ทำให้สามารถปกปิดราคาประมูลได้ เป็นต้น

บทความโดย : นายพนิต เวชศิลป์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยี (CTO) บริษัท โทเคน เอกซ์ จำกัด

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

Translucia เผยแผนพัฒนา Metaverse โลกเสมือนที่ใช้ Gen AI ขยายตลาดและการเติบโต

บทสัมภาษณ์ คุณพิมสาย ชี้เจริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Translucia (ทรานส์ลูเซีย) ทั้งในด้านมุมมอง โอกาส ความท้าทาย ไปจนถึงแผนพัฒนาแพลตฟอร์มเมตาเวิร์ส (Metaverse) ในยุค Generative AI...

Responsive image

เชื่อมทุกช่องทางสื่อสารกับลูกค้า ต่อยอดข้อมูลธุรกิจด้วย MarTech

ทำความรู้จัก True CPaaS แพลตฟอร์มที่เชื่อมต่อทุกแอปพลิเคชันการสื่อสารไว้ในที่เดียว เพื่อรองรับการตลาดแบบ Omni-channel และสามารถเก็บข้อมูล (Data) ลูกค้า เพิ่มยอดขายได้ในแบบ MarTech...

Responsive image

รู้จัก “AI ผู้ช่วยด้านการเงิน” งานที่ AI agents จะเข้ามาช่วยทำในอนาคต

พบกับอนาคตของ AI Agents ที่ช่วยจัดการชีวิตการเงิน ตั้งแต่การชำระเงิน จองตั๋ว ไปจนถึงการค้าอัตโนมัติ พร้อมความเชื่อมั่นด้วยเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย เช่น Blockchain และ Authentication Too...