บุกศูนย์นวัตกรรม Blockchain ของ IBM ที่สิงคโปร์พร้อมกรณีศึกษาการใช้งานจริง | Techsauce

บุกศูนย์นวัตกรรม Blockchain ของ IBM ที่สิงคโปร์พร้อมกรณีศึกษาการใช้งานจริง

ในงาน Krungsri Consumer Innovation Press Trip ที่สิงคโปร์ จัดโดยบริษัท Krungsri Consumer  ทีมกองบรรณาธิการ techsauce มีโอกาสได้เยี่ยมชมบริษัทชั้นนำมากมายที่นั่น หนึ่งในบริษัทที่เราจะพูดถึงในวันนี้ก่อนเป็นรายแรก คือ IBM ยักษ์ใหญ่ด้านไอทีโซลูชั่น แม้อายุอานามจะเข้าสู่ปีที่ 106 เข้าไปแล้ว ฝ่าคลื่นกระแสการปฏิวัติด้านเทคโนโลยีมาหลายยุคหลายสมัย และถือเป็นบริษัทที่ต้องยอมรับว่าปรับตัวเก่งและก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำเทคโนโลยีมาโดยตลอด เมื่อยุคนี้ที่ใครๆ กำลังให้ความสนใจเรื่อง AI, Machine Learning และ Blockchain IBM ก็มีโซลูชั่นนำเสนอให้กับลูกค้าแทบทั้งสิ้น

ครั้งนี้เราไปเยี่ยมชมบริษัท IBM ที่ประเทศสิงคโปร์ และที่น่าสนใจคือ ที่นี่ถูกรับเลือกให้เป็นศูนย์ IBM Center for Blockchain Innovation: ICBI ตั้งอยู่ใกล้ๆ บ้านเราเอง และได้รับการสนับสนุนจากแบงค์ชาติของสิงคโปร์

เทคโนโลยี Blockchain ความสำคัญและประโยชน์

แม้ Blockchain จะถูกพูดถึงเป็นอย่างมากในบ้านเราตั้งแต่ปีก่อน แต่ก็ยังมีคนที่เข้าใจเรื่องนี้อยู่น้อยมาก ครั้งนี้ IBM จึงสรุปเนื้อหาสำคัญมาให้ผู้อ่านของเราได้ทำความรู้จักและชี้ให้เห็นถึงประโยชน์ของเทคโนโลยีตัวนี้กันอีกครั้ง

  • Blockchain เป็นเทคโนโลยีที่มีศักยภาพในการเปลี่ยนโลกอีกครั้งหนึ่ง เฉกเดียวกับเมื่อครั้งที่อินเตอร์เน็ตเข้ามาพลิกรูปแบบการทำธุรกิจในอดีต
  • จากรายงานของ Gartner มูลค่าเพิ่มที่ Blockchain จะก่อให้เกิดสำหรับธุรกิจทั่วโลกจะสูงถึงกว่า 6 ล้านล้าน บาท ($176 billion) ในปี พ.ศ. 2568 และสูงถึงกว่า 108 ล้านล้านบาท ($3.1 trillion) ภายในปี พ.ศ. 2573 ซึ่งการเติบโตลักษณะนี้เป็นแพทเทิร์นที่มักเกิดขึ้นกับเทคโนโลยีเกิดใหม่ (emerging technology) ที่สำคัญๆ แม้ตอนนี้อาจยังพิสูจน์ไม่ได้ว่าสิ่งที่นักคาดการณ์พูดถึงนั้นเป็นจริงแค่ไหน แต่ถ้ามันสร้างผลกระทบได้ขนาดนี้จริงๆ แล้วหล่ะก็ Blockchain จะกลายเป็นเทคโนโลยีที่เข้ามาปฏิวัติหลายภาคธุรกิจเลยทีเดียว

  • ปัจจุบันบริการ Blockchain ของไอบีเอ็มได้รับการจัดอันดับโดย Juniper Research ให้เป็นอันดับ 1 ของโลก และไอบีเอ็มยังสนับสนุนโครงการ Hyperledger เพื่อเร่งให้เกิดการนำ Blockchain มาใช้งานภายในองค์กรให้เร็วที่สุด
  • คุณประโยชน์หลักของเทคโนโลยี Blockchain ไม่ว่าจะสำหรับงานบริการทางการเงินหรืองานด้านอื่นๆ คือ  ข้อมูลที่อยู่บน Blockchain นั้น จะสามารถไว้ใจได้และตรวจสอบย้อนหลังได้เสมอ สามารถกำหนด privacy และ confidentiality ได้  Blockchain จะทำให้รูปแบบการทำธุรกรรมที่เราคุ้นเคยในทุกวันนี้เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง จากความยุ่งยากซับซ้อนอันเกิดจากการผู้มีส่วนเกี่ยวข้องหลายฝ่าย การส่งต่อข้อมูล เอกสารที่เป็นกระดาษ กระบวนการหลายขั้นตอน หรือระยะเวลาในการทำข้อตกลงที่มักจะยาวนานถึง   20 วันหรือมากกว่านั้น สู่การเก็บข้อมูลอ้างอิงแบบเรียลไทม์ มีการตรวจสอบ และแชร์ข้อมูลให้เฉพาะบุคคลหรือหน่วยงานที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น จึงเป็นระบบข้อมูลจริงที่มีความเป็นปัจจุบันอยู่เสมอ Blockchain  จะทำให้การดำเนินการที่กินเวลาและใช้ต้นทุนสูงหมดไป มีการตรวจสอบความถูกต้องหรือประวัติเครดิตและติดตามได้ในทันที สร้างความเชื่อถือและความโปร่งใสให้กับข้อมูลและธุรกรรมต่างๆ ซึ่งทำให้ธุรกรรมที่ผิดพลาดหรือการฉ้อโกงหมดไป พร้อมกับต้นทุนการทำธุรกรรมที่ลดลงเมื่อเทียบกับระบบการทำธุรกรรมแบบเดิม

  • เมื่อข้อมูลการทำธุรกรรมใหม่ๆ ที่ได้รับการจัดเก็บบนบล็อคเชนสามารถตรวจสอบได้ จึงเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในหลายแง่ อาทิ การระบุตัวตนและข้อมูลเกี่ยวกับลูกค้า (KYC) การเสริมประสิทธิภาพของ Ecosystem ด้านการขนส่ง การตรวจสอบเส้นทางของสินทรัพย์ต่างๆ เป็นต้น ตัวอย่างเช่นในขณะที่สินค้าระหว่างทางได้รับการตรวจผ่านที่ด่านศุลกากรและท่าเรือ องค์กรต่างๆ ก็จะทราบถึงสถานที่ของสินค้าของตนตามเวลาจริง หรือสามารถพิสูจน์แหล่งกำเนิดเพื่อป้องกันมิให้เซมิคอนดักเตอร์ปลอมหลั่งไหลเข้าสู่ตลาด ข้อดีเหล่านี้นำสู่การลดต้นทุนและเวลา การลดความเสี่ยง การเพิ่มความสามารถในการมองเห็นข้อมูลเดียวกันร่วมกันซึ่งจะช่วยให้องค์กรสามารถไว้วางใจในการทำธุรกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้น

11 กรณีศึกษาการนำ Blockchain มาใช้ในธุรกิจการเงิน ธนาคาร และธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในปัจจุบัน

  • China UnionPay E-payment Research Institute ได้ร่วมกับ IBM ในการพัฒนาระบบสำหรับการแลกเปลี่ยน Bonus Point ระหว่างธนาคารต่างๆ เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถแลก Point ที่มีกับธนาคารใดก็ได้ โดยรูปแบบบริการดังกล่าวถือเป็นเรื่องที่ท้าทายและมีต้นทุนสูงหากพัฒนาขึ้นโดยอาศัยเทคโนโลยีแบบเดิมๆ แต่การใช้ Blockchain ทำให้บริการดังกล่าวสามารถ integrate เข้ากับทั้งช่องทางออนไลน์และออฟไลน์ ซึ่งทำให้ผู้ใช้บัตร China UnionPay สามารถแลกเปลี่ยน Bonus Point เป็นสินค้าต่างๆ ได้ที่ซูเปอร์มาร์เก็ตหรือห้างต่างๆ ภายในไม่กี่ขั้นตอน โดยในอนาคตคาดว่าจะมีการผนวกรวมให้ผู้บริโภคสามารถแลกพอยท์จากไมล์สะสมจากการเดินทาง ค่าโทรศัพท์ ค่าแก๊ส หรือการซื้ออาหาร-เครื่องดื่มต่างๆ ได้ด้วย
  • ธนาคารชั้นนำ 6 แห่งในแคนาดาได้ร่วมมือกันสร้างบริการในการระบุตัวตน (identity service) ในโลกดิจิทัล ซึ่งลูกค้าของทางธนาคารสามารถใช้บริการนี้เพื่อเปิดบัญชีกับธุรกิจอื่นๆ เช่น ผู้ให้บริการมือถือ หรือระบบสาธารณูปโภค ธนาคารต่างๆ ได้ดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานกำกับดูแลเพื่ออนุญาตให้ผู้อื่นสามารถใช้คีย์ในการระบุตัวตน (identity key) เมื่อลูกค้าใช้งานข้อมูลระบุตัวตนในระบบดิจิทัลที่สถาบันต่างๆ นอกอุตสาหกรรม ทางธนาคารก็จะเรียกเก็บค่าธรรมเนียม แพลตฟอร์มนี้ให้ประโยชน์แก่ทุกฝ่าย กล่าวคือ สะดวกสำหรับการใช้งานโดยบุคคล สร้างกระแสรายได้ให้แก่ธนาคารที่เข้าร่วม และเป็นวิธีการยืนยันตัวตนและประวัติของลูกค้าใหม่หรือองค์กรอื่นๆ บนแพลตฟอร์มได้อย่างรวดเร็ว ทันทีที่บริการนี้ผ่านการทดสอบในปลายปี 2017 นี้ ผู้บริโภคชาวแคนาดาจะสามารถเลือกเข้าร่วมในเครือข่ายการระบุตัวตนบนพื้นฐานของบล็อกเชนโดยใช้แอปฯ บนมือถือ
  • ห้าง Walmart ในประเทศจีนได้ร่วมกับไอบีเอ็มในการนำ Blockchain มาใช้ในการบันทึกข้อมูล เช่น รายละเอียดของฟาร์มที่ผลิต อุณหภูมิการจัดเก็บ ข้อมูลขนส่ง วันหมดอายุ เป็นต้น เพื่อติดตามเนื้อหมูทั่วทั้งซัพพลายเชนจากฟาร์มสู่ผู้บริโภค และเพื่อให้สามารถติดตามที่มาของเนื้อหมูในกรณีที่เกิดปัญหาด้านความปลอดภัยของอาหาร

  • ล่าสุดบริษัทอาหารชั้นนำระดับโลก ประกอบด้วย Dole, Driscoll’s, Golden State Foods, Kroger, McCormick and Company, McLane Company, Nestlé, Tyson Foods, Unilever และ Walmart ยังได้ประกาศความร่วมมือกับ IBM ในการแสวงหาแนวทางใหม่ในการนำ Blockchain มาช่วยเพิ่มความปลอดภัยของระบบซัพพลายเชนอาหาร โดยเฉพาะการตรวจสอบที่มาของอาหาร
  • เจแปนเอ็กซ์เชนจ์กรุ๊ป (JPX) ได้ร่วมกับ IBM ในการทดสอบการนำ Blockchain มาใช้ในการซื้อขายหุ้นในกลุ่มบริษัทที่มีสภาพคล่องต่ำ เพื่อความปลอดภัยในการซื้อ-ขาย ลดต้นทุน ลดความซับซ้อน และเพิ่มความเร็วของกระบวนการในการซื้อ-ขาย
  • Postal Savings Bank of China (PSBC) ได้เปิดตัวบริการดูแลและเก็บรักษาทรัพย์สินบนเทคโนโลยี Blockchain ของ IBM ซึ่งช่วยให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องสามารถแชร์ข้อมูลกันได้แบบเรียลไทม์ ลดขั้นตอนซ้ำซ้อนในการตรวจสอบเครดิต และลดกระบวนการต่างๆ ลงได้ 60%-80%
  • Northern Trust จับมือ IBM พัฒนาเทคโนโลยี Blockchain สำหรับการลงทุนในหุ้นที่ไม่ได้จดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ (private equity) เพื่อเพิ่มความโปร่งใส ความปลอดภัย และประสิทธิภาพให้แก่การซื้อ-ขายหุ้นในกลุ่มดังกล่าว รวมถึงลดต้นทุนและระยะเวลาในการดำเนินงานที่ต้องผ่านกระบวนการทางกฎหมายและเอกสารมากมาย โดยถือเป็นระบบ Blockchain แบบคอมเมอร์เชียลระบบแรก

  • Everledger ร่วมกับ IBM ในการนำ Blockchain มาใช้กับระบบ global certification ที่ใช้ติดตามเพชร ชิ้นงานศิลปะ และสินค้าหรูหราต่างๆ ตลอดทั้งซัพพลายเชน เพื่อให้สามารถระบุที่มาของสินค้าเหล่านี้ และปกป้องซัพพลายเออร์ ผู้ซื้อ ตลอดจนผู้ให้บริการขนส่งจากการโจรกรรม ปลอมแปลง หรือการคอร์รัปชั่นรูปแบบต่างๆ  บันทึกการขนส่งเพชร
  • กลุ่มบริษัทมหินธรา ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทข้ามชาติที่ใหญ่ที่สุดในอินเดียได้เริ่มพัฒนาใช้ Blockchain กับกิจกรรมด้านการเงินในระบบซัพพลายเชน เพื่อร่นระยะเวลาการดำเนินการในส่วนของ invoice discounting ซึ่งถูกมองว่าเป็นกระบวนการที่ยาก ช้า และเสี่ยง โดยที่ผ่านมาแต่ละฝ่ายต้องเก็บข้อมูลบัญชีและอัพเดทข้อมูลต่างๆ แบบแมนวล และความผิดพลาดที่เกิดระหว่างกระบวนการมักนำไปสู่การชำระเงินล่าช้าและไม่สามารถคาดการณ์เงินทุนของบริษัทได้
  • ซีแอลเอสกรุ๊ป (CLS) ผู้ให้บริการด้านการบริหารความเสี่ยงและการปฏิบัติการเกี่ยวกับตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศระดับโลกได้ร่วมกับ IBM ในการพัฒนาบริการ payment netting service เพื่อลดปัญหาการขาดมาตรฐานของกระบวนการ payment netting ในการซื้อขายระหว่างสถาบันที่อยู่นอกเหนือ settlement service ของซีแอลเอส ที่มักนำสู่ต้นทุนที่สูงขึ้นและปริมาณความต้องการเงินสดระหว่างวันที่เพิ่มขึ้น โดยมีสถาบันการเงินชั้นนำต่างๆ ที่พร้อมเข้าร่วมใช้งานเมื่อบริการแล้วเสร็จ อาทิ Bank of America, Bank of China - Hong Kong, Bank of Tokyo-Mitsubishi UFJ, Citibank, Goldman Sachs, Goldman Sachs Asset Management, HSBC, JPMorgan Chase และ Morgan Stanley เป็นต้น
  • Maersk ผู้นำระดับโลกด้านการขนส่งและระบบลอจิสติกส์ ได้จับมือกับ IBM ในการเปิดตัวแพลตฟอร์ม Blockchain ที่เชื่อมต่อ Ecosystem ของซัพพลายเชนของตน ซึ่งประกอบด้วยบริษัทขนส่ง ตัวแทนผู้รับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ เรือสินค้า ท่าเรือ และหน่วยงานศุลกากร ผลที่ได้ไม่เพียงแค่ช่วยลดต้นทุนสินค้าสำหรับผู้บริโภคเท่านั้น แต่ยังช่วยให้ผู้ใช้จำนวนมากขึ้นสามารถเข้าถึงการซื้อขายทั่วโลกได้ ทั้งในประเทศเกิดใหม่และประเทศที่พัฒนาแล้ว

  • FreshTurf Startup จากสิงคโปร์ทำงานร่วมกับ IBM Bluemix Garage จนพัฒนาเป็นระบบที่ใช้ Blockchain ในการแทร็กการจัดส่งสินค้าแบบ last mile ในสิงคโปร์

ศูนย์นวัตกรรม Blockchain ของ IBM อยู่ไม่ใกล้ไม่ไกลที่สิงคโปร์นี่เอง

ในปี พ.ศ. 2559 IBM ได้ก่อตั้งศูนย์นวัตกรรมบล็อกเชนไอบีเอ็ม (IBM Center for Blockchain Innovation: ICBI) ขึ้นที่สิงคโปร์กลางปี 2016 โดยได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานผู้กำกับดูแลด้านการเงิน (Monetary Authority of Singapore: MAS) และคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติของสิงคโปร์ (Singapore Economic Development Board: EDB) โดยมีวัตถุประสงค์ในการทำงานร่วมกับภาครัฐ ภาคอุตสาหกรรม และภาคการศึกษาในการพัฒนาโซลูชั่นบนพื้นฐานของเทคโนโลยี Blockchain Cyber-Security Cognitive Computing  พร้อมสนับสนุนองค์กรขนาดกลางและเล็กโดยเฉพาะในด้านการค้าและการเงิน และร่วมสร้างทักษะในด้านที่เกี่ยวข้อง

ตัวอย่างความร่วมมือระหว่างศูนย์ฯ กับหน่วยงานต่างๆ ในปัจจุบัน อาทิ

  • ความร่วมมือกับหน่วยงานผู้กำกับดูแลด้านการเงินและธนาคารกลางแห่งสิงคโปร์ในการพัฒนาโซลูชั่นการค้าบนเทคโนโลยี Blockchain เพื่อเสริมศักยภาพกระบวนการและการทำธุรกรรมการค้าระหว่างประเทศ
  • การร่วมมือกับท่าเรือ PSA สิงคโปร์ ซึ่งเป็นท่าเรือการถ่ายลำคอนเทนเนอร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก เพื่อสร้างอิโคซิสเต็มและโมเดลธุรกิจใหม่ๆ ในด้านการค้าที่จะดึงดูดการลงทุนจากหน่วยงานด้านการค้าและการเงินระดับโลก
  • ความร่วมมือกับ National University of Singapore (NUS) ในสร้างคอร์สเรียนที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับเทคโนโลยี Blockchain และเทคโนโลยี Distributed Ledger ให้กับนักศึกษาด้านคอมพิวเตอร์ โดยหลักสูตรดังกล่าวจะถูกพัฒนาขึ้นจากความร่วมมือระหว่างคณาจารย์ในภาควิชาและนักวิจัยของศูนย์นวัตกรรมบล็อกเชนไอบีเอ็ม ด้วยเนื้อหาที่เน้นความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับเทคโนโลยีบล็อกเชนและการนำไปประยุกต์ใช้ในโอกาสต่างๆ ตั้งแต่การสร้างสกุลเงินดิจิทัล การจัดการซัพพลายเชน ไปจนถึงการนำไปใช้ในธนาคารโดยจะเริ่มเปิดให้ลงทะเบียนต้นปี พ.ศ. 2561 นี้

นอกจากนี้  IBM ยังได้จับมือกับ Baruch College, Fordham University, University of Arkansas, University at Buffalo และ University of British Columbia เพื่อสร้างหลักสูตรทางด้าน Blockchain พร้อมทั้งเปิดให้มหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วโลก รวมถึงในประเทศไทยนำไปใช้ในการเรียนการสอนได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายผ่านเว็บ IBM Academic Initiative  โดยผู้ที่ผ่านหลักสูตรจะได้รับ Badge รับรองอีกด้วย

ขอขอบคุณบริษัท Krungsri Consumer กับการพาเยี่ยมชมงานดีๆ ในครั้งนี้และเตรียมติดตามบทความความรู้จากการเยี่ยมชมบริษัทถัดไปได้ในตอนที่ 2 อย่าลืมติดตามกันเช่นเคย

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

‘UOB Sustainability Compass’ เครื่องมือออนไลน์ด้านความยั่งยืน หนุน SMEs เปลี่ยน Vision เป็น Action

บทสัมภาษณ์ คุณอัมพร ทรัพย์จินดาวงศ์ และคุณพณิตตรา เวชชาชีวะ เกี่ยวกับ ‘UOB Sustainability Compass’ เครื่องมือออนไลน์ที่เข้ามาช่วย SMEs เริ่มดำเนินการด้านความยั่งยืนอย่างเข้าใจและไม...

Responsive image

Intel พลาดอะไรไป ? ทำไมถึงต้องเปลี่ยน CEO กะทันหัน ? ถอดบทเรียนราคาแพงจากยุค Pat Gensinger

การ ‘เกษียณ’ อย่างกะทันหันของ Pat Gelsinger อดีตซีอีโอ Intel ในต้นเดือนธันวาคม สร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั่ววงการเทคโนโลยี หลายฝ่ายมองว่าเป็นการบีบให้ออกจากบอร์ดบริหาร อันเนื่องมาจากผล...

Responsive image

GAC รถแห่งเมืองกวางโจว ขวัญใจแท็กซี่ยุคใหม่ | Tech for Biz EP. 30

แบรนด์รถยนต์ที่เป็นความภูมิใจของคนกวางโจว สู่ขวัญใจแท็กซี่ยุคใหม่ คลิปนี้ Tech for Biz จะพาไปรู้จัก GAC ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าสัญชาติจีนอีกเจ้าที่กำลังบุกตลาดเมืองไทย...