ส่องเทรนด์เทคโนโลยี, Startup และ Corporate Innovation ไทยปี 2018 จะเป็นอย่างไร? | Techsauce

ส่องเทรนด์เทคโนโลยี, Startup และ Corporate Innovation ไทยปี 2018 จะเป็นอย่างไร?

ก้าวเข้าสู่ปี 2018 แล้ว Techsauce ขอพาไปดูเทรนด์ของเทคโนโลยี, Startup และ Corporate Innovation จะเป็นอย่างไร? จะมีอะไรเกิดขึ้นมาบ้าง? เรารวม 9 เทรนด์ และอีก 1 สิ่งที่เราอยากเห็นไว้แล้ว ติดตามได้จากบทความนี้!

1. คำว่า Cryptocurrency และ Bitcoin กำลังผ่านช่วง Early Adopters

Bitcoin กลายเป็นคำที่คนไทยให้ความสนใจเป็นอย่างมากในช่วงปี 2017 โดยเฉพาะช่วงไตรมาสที่ 3 และ 4 ส่งท้ายปีทั้งช่วงที่ราคาพุ่งสูงขึ้นและราคาดิ่งลง

และแน่นอนว่าในปี 2018 คำว่า “Bitcoin” ยังคงเป็นคำยอดฮิตที่คนพูดถึง และอาจเริ่มสนใจ Coin ตัวอื่นๆ กันมากขึ้นด้วย โดยเฉพาะกลุ่มนักลงทุนที่สนใจในแง่ผลตอบแทน สื่อกระแสหลักในไทยก็เริ่มพูดถึงเรื่องนี้แล้วเช่นกัน

แต่น้อยคนนักที่จะเข้าใจและเห็นคุณค่าอันแท้จริงของโครงการต่างๆ เหล่านี้ที่นำเอาคุณสมบัติดีๆ ของเทคโนโลยี Blockchain มาใช้…

นอกจากนี้ในปี 2018 คุณจะเริ่มเห็นคอร์สเรียนการลงทุนด้วย Bitcoin ผุดขึ้นมากมาย สังเกตง่ายๆ เลยบน Facebook คุณเคยเห็นโฆษณาไหม? พร้อมมี Local Guru เกิดขึ้นอีกเช่นกัน เน้นพูดถึงเรื่องคุณจะทำเงินจากมันได้อย่างไร? คล้ายๆ กับยุคที่มี Local Guru สอนเรื่องการลงทุนในหุ้นตลอดช่วงสิบปีที่ผ่านมา

สำหรับผู้ประกอบการ การระดมทุนผ่าน ICO กำลังเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ ถ้าการพัฒนาผลิตภัณฑ์นั้นๆ สามารถดึงเอาคุณสมบัติดีๆ ของเทคโนโลยีอย่าง Blockchain มาช่วยแก้ปัญหาได้อย่างแท้จริง อย่างไรก็ตามเทคโนโลยีและเครื่องมือเปรียบเสมือนดาบ ถ้ามีคนเอาไปใช้ในทางที่ผิด ก็อันตรายมากเช่นเดียวกัน ปัจจุบันยังไม่มีหน่วยงานใดเข้ามากำกับดูแล ช่วงปี 2017 เราเริ่มเห็นผู้ประกอบการหลายรายในต่างประเทศที่ประสงค์ไม่ดีและใช้ช่องโหว่นี้ในการระดมทุน เป็นกลุ่ม ICO scam ดังนั้นถ้าจะสนับสนุนผู้ประกอบการเหล่านี้ต้องดูให้ดีๆ จุดสำคัญคือคุณควรตรวจสอบประวัติของทีมงาน กลุ่มที่ปรึกษา ความตั้งใจในการพัฒนาผลิตภัณฑ์นั้นๆ อย่าหลงเชื่อเพียงแค่ whitepaper อ่านแล้วน่าสนใจเพียงอย่างเดียว

สุดท้ายอย่าลืมว่า “การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุน”

2. องค์กรขนาดใหญ่เริ่มมีประสบการณ์มากขึ้น เริ่มรู้ว่าต้องทำอะไรต่อไป

เราคาดการณ์ว่าในปี 2018 เหล่า Corporate Accelerator ใหม่ในไทยอาจไม่ได้ผุดขึ้นเยอะเหมือนช่วงที่ผ่านมา โครงการต่างๆ ในไทยกำลังเข้าสู่ช่วงลองผิดลองถูก

องค์กรขนาดใหญ่เริ่มมองว่าทุกบริษัทไม่จำเป็นต้องมี Accerelator เสมอไป และถ้ามีก็อาจเป็น Accelerator ที่เจาะกลุ่มเฉพาะทางที่ต้องใช้ความรู้ในภาคธุรกิจนั้นๆ ไม่ก็เป็นโครงการที่มาจากระดับภูมิภาคกลุ่ม Multinational Corporation (MNC) ไปเลย แล้วมาดึง Startup ในประเทศต่างๆ เข้าร่วมโครงการ

เราจะเริ่มเห็นว่าองค์กรเริ่มตั้งคำถามและได้คำตอบที่ชัดเจนมากขึ้นว่าตัวเองต้องการอะไรจาก Startup กันแน่ การมีโครงการ Accelerator ปลายทางสุดท้ายให้อะไรกับองค์กรอย่างแท้จริงมากน้อยเพียงใด ซึ่งบางรายก็อาจทำได้ดีและสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่อยอดกับบริษัทแม่ได้ บางรายมองว่าเน้นเรื่องการลงทุนโดยตรงไปเลย มากกว่าการตั้ง Accelerator เป็นต้น

วิถีทางของการขับเคลื่อน Corporate Innovation นั้นมีหลายส่วนที่ต้องทำ ทั้งการเตรียมความพร้อมของบุคลากรภายใน และการค้นหานวัตกรรมใหม่ๆ จากภายนอก ปีนี้จะเป็นปีที่ไม่ใช่แค่องค์กรยักษ์ใหญ่เท่านั้นที่หันมาสนใจเรื่องนี้ แต่องค์กรระดับกลางที่กำลังตื่นตัวว่าจะมีผู้เล่นรายไหนเข้ามา Disrupt หรือไม่ แม่ทัพใหญ่ที่ตื่นตัวตลอดเวลาขององค์กรมีส่วนสำคัญที่สุด แต่ถ้าองค์กรไหนคิดว่าไม่มีอะไรจะมา Disrupt ได้และไม่ตื่นตัว อันนี้สิน่ากลัวอย่างแท้จริง

3. องค์กรขนาดใหญ่มองหา DeepTech ในต่างประเทศ

DeepTech กำลังได้รับความสนใจในหลายภาคธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่ม AI, Data Analytics เฉพาะทาง, IoT เป็นต้น หลายองค์กรในปี 2018 ค้นหาเทคโนโลยีจากต่างประเทศเพื่อมาเสริมทัพและพร้อมต่อการแข่งขันอันรุนแรงในภาคธุรกิจของตัวเอง

บ้านเรายังแทบไม่เห็น Startup ที่คิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ ขึ้นมาเองในเชิงของเทคโนโลยีแบบ 0 to 1 ได้ เราจึงเห็นองค์กรขนาดใหญ่ไปค้นหาเทคโนโลยีเหล่านี้จากต่างประเทศมากกว่า ซึ่งอาจเป็นการลงทุนในกองทุน (Fund) ที่เน้นเจาะด้าน DeepTech ก็เป็นได้ เพื่อเรียนรู้และนำมา Proof of Concept กับองค์กร

ส่วนใครอยากเห็น DeepTech ที่น่าสนใจในปีหน้า ต้องไม่พลาดงาน Techsauce Global Summit 2018 จัดขึ้นในวันที่ 22-23 มิถุนายน 2560 ที่ Centara Grand ณ Central World จองบัตรเข้างานราคาพิเศษได้ที่ https://summit.techsauce.co/

4. Startup ควบรวมกิจการเข้าด้วยกัน และ Corporate ซื้อ Startup เสริมทัพ

สายอีคอมเมิร์ซและโลจิสติกยังคงดุเดือด ปี 2018 เราอาจได้เห็น Startup รายเล็กรายย่อยที่ทำธุรกิจคล้ายๆ กันอาจจับมือกัน ในรูปแบบของควบรวมกิจการ เพื่อต่อสู้กับผู้เล่นรายใหญ่ที่มาจากต่างประเทศที่บุกเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ในอีกมุมหนึ่งองค์กรขนาดใหญ่ต่างชาติที่คิดเหยียบเข้ามาในตลาดนี้ กลยุทธ์การเข้าซื้อผู้เล่นที่มีศักยภาพอันดับต้นๆ ในภูมิภาคหรือประเทศนั้นๆ ยังคงมีให้เห็นอยู่ นอกจากเป็นวิธีการขยายธุรกิจที่รวดเร็ววิธีหนึ่งแล้ว ในขณะเดียวกันก็เป็นการตัดรายที่มีโอกาสเป็นคู่แข่งไปในตัว

5. จับตาจีนบุกไทย และเดต้าที่บอกพฤติกรรมผู้บริโภคตกในมือพวกเขา

แค่นี้ก็บุกหนักแล้ว! แต่จริงๆ การมาของพี่จีนไม่ใช่แค่บุกไทย แต่คือการแผ่ขยายสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEA - Southeast Asia) เราจะไม่ได้เห็นแค่ว่านี่คือผู้เล่นอีคอมเมิร์ซนะ นี่คือผู้เล่นด้าน FinTech นะ นี่คือผู้เล่นสายคอนเทนต์นะ แต่จริงๆ เขามาเป็นองคาพยพ ทุกๆ ธุรกรรมที่ผ่านแพลตฟอร์มพวกเขา ทั้งการซื้อขายต่างๆ เดต้าพฤติกรรมผู้บริโภคของคนในภูมิภาคนี้ก็ไปอยู่ที่นั่นด้วย ซึ่งจริงๆ เริ่มมาตั้งแต่ปีก่อนแล้ว แต่ปีนี้จะถึงช่วงเวลาที่คุณค่าของเดต้าจะทำงานอย่างจริงจัง เพื่อ Consumer Insight มาปรับปรุงบริการและนำเสนอบริการให้ตรงจุดลูกค้าในภูมิภาคนี้มากขึ้นไปอีก

นอกจากผู้เล่นรายใหญ่ที่มาแบบขนโซลูชั่นกันมาแทบครบวงจรอย่าง Alibaba, JD, Tencent ปีที่ผ่านมายังมีกลุ่มของ Bike Sharing อย่าง Ofo, Mobike ในปี 2018 คงต้องจับตาดูกันต่อว่าจะมีภาคธุรกิจไหนอีกบ้างที่จะเข้ามาในไทย เพราะส่งทั้งผลดี (ในบางกลุ่ม) และผลเสียกับธุรกิจในไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

6. Data นั้นสำคัญ แต่คุณค่าคือ Insight

องค์กรไทยต่างๆ รับรู้แล้วว่าเดต้าเป็นเรื่องสำคัญ แต่ในปี 2018 การหา Insight จากเดต้าเหล่านั้นยังคงเป็นความท้าทาย องค์กรขนาดใหญ่ยังคงควานหา Data Scientist โดยเฉพาะธุรกิจด้านการเงินการธนาคาร ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ธุรกิจพลังงาน เป็นต้น หลายที่ไปดึงตัวคนไทยเก่งๆ กันจากต่างประเทศ พอบุคลากรขาดแคลนขนาดนี้บางบริษัทถึงกับไปสร้างคอมมูนิตี้ตั้งแต่ระดับมหาวิทยาลัย พัฒนาเด็กที่ใกล้เรียนจบและมีแวว เสริมทักษะติดอาวุธให้กับพวกเขา เมื่อเรียนจบก็ดึงตัวเข้ามาปั้นกันต่อในองค์กร

แผนภาพแสดงทักษะที่ Modern Data Scientist ควรมีในปัจจุบัน (Photo: MarketingDistillery.com และ https://ciselab.jimdo.com/)

นอกจากนี้เครื่องมืออย่าง Data Visualization กำลังได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก เป็นเครื่องมือที่ช่วยหา Insight ได้ง่ายและรวดเร็วมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น Tableau, Nugit และ Google Data Studio เป็นต้น

7. คำถามที่ยังสงสัย AI จะเข้ามาแทนที่อาชีพตัวเองไหมนะ?

ความสงสัยของหลายอาชีพต่อการถูกแทนที่ของ AI หรือหุ่นยนต์ (Robot) งานที่ตัวเองทำอยู่จะถูกแทนที่โดยหุ่นยนต์ไหม? ถูกถามกันมาเยอะมาก และมากขึ้นเรื่อยๆ

จากที่ดูสถิติบางอาชีพที่เกี่ยวข้องกับ ตัวเลข และอะไรที่ต้องใช้ history มาวิเคราะห์ต่างๆ อาชีพนักบัญชีและผู้ตรวจสอบบัญชี (Accountants and Auditors) จะถูกแทนที่ด้วยหุ่นยนต์สูงถึง 94 เปอร์เซ็นต์ ส่วนอาชีพนักวิเคราะห์ด้านการตลาดและผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาด (Market Research Analysts and Marketing Specialists) จะถูกแทนที่ด้วยหุ่นยนต์ไป 61 เปอร์เซ็นต์ และอีกอาชีพอย่างนักเศรษฐศาสตร์ (Economist) จะถูกแทนที่ด้วยหุ่นยนต์ 43 เปอร์เซ็นต์

นอกจากนี้เรากลับพบว่าอาชีพที่เกี่ยวข้องกับด้านศิลปศาสตร์ งานวรรณกรรม หรืองานที่ต้องใช้ความปราณีตในการสรรค์สร้าง ยังจะไม่ได้รับผลกระทบจากการเข้ามาของ AI หรือหุ่นยนต์มากนัก เพราะงานที่กล่าวไปข้างต้นล้วนต้องใช้กระบวนการผลิตที่ซับซ้อนกว่าการคิดแบบเป็นระบบหรือขั้นตอน แต่ยังต้องมีการเสริมเรื่องความคิดสร้างสรรค์เฉพาะตัวบุคคลในการผลิตงานดังกล่าวด้วย

หากใครอยากรู้ว่าอาชีพตัวเอง จะถูกแทนที่ด้วยหุ่นยนต์คิดเป็นเปอร์เซ็นต์มากหรือน้อยแค่ไหน สามารถเข้าไปลองดูได้ที่เว็บไซต์ Will Robots Take My Job? ดูเอาขำๆ อย่าพึ่งเครียดกันนะ :)

8. VR เข้ามาช่วยในงาน Corporate Training

VR (Virtual Reality) เกิดขึ้นมาหลายปีแล้ว ในปี 2016 2017 ที่ผ่านมาก็มีหลายภาคธุรกิจเริ่มหยิบ VR ไปใช้งานบ้าง แต่ที่มักเห็นกันบ่อยๆ จนชินคือ สายอสังหาริมทรัพย์ โรงแรม การท่องเที่ยว และด้านความบันเทิง/เกม แต่หลายคนก็ยังมองว่าเทคโนโลยีนี้ยังยากที่จะแพร่หลายในมุมกว้าง ตราบใดที่ยังเป็นเสมือนอุปกรณ์ส่วนเกิดของร่างกาย ไม่กลมกลืนกับพฤติกรรมผู้บริโภคหรือเข้ามาแก้ปัญหาในภาคธุรกิจใดธุรกิจหนึ่งได้อย่างจริงจัง

แต่หนึ่งในสัญญาณที่น่าสนใจคือ สาย Corporate Training กับการนำเอา VR มาใช้ ด้วยเหตุผลของงาน Training บางอย่างที่มีข้อจำกัด เช่น

  • มีอัตราเสี่ยงต่ออันตรายสูง เช่น งานในโรงงานอุตสหกรรม พื้นที่ก่อสร้าง
  • งานที่ต้องเดินทางออกไปไกล และต้องการลดค่าใช้จ่ายในส่วนนี้

9. องค์กรจะเริ่มมีตำแหน่ง CDO

ตำแหน่งผู้บริหารอย่าง CDO บางคนอาจคิดว่าคือ Chief Data Officer (อันนั้นก็ใช่) แต่ที่เรากำลังจะพูดถึงนี้คือ Chief Disruption Officer ต่างหาก

องค์กรขนาดใหญ่ในต่างประเทศหลายแห่งเริ่มมีตำแหน่งอย่าง Chief Disruption Officer ที่มีหน้าที่คอยติดตามว่าธุรกิจอะไรกำลังมาแรง ธุรกิจอะไรอาจจะร่วง ธุรกิจอะไรอาจจะมาล้มธุรกิจตัวเอง รวมไปถึงการติดตามว่าเทคโนโลยีอะไรจะมาแทนที่หรือล้มองค์กรของเราอีกด้วย เพื่อเตรียมพร้อมรับศึกธุรกิจครั้งใหญ่

สะท้อนให้เห็นว่าหลายบริษัทเริ่มให้ความสำคัญในเรื่อง Disruption หรือการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจมากขึ้นนั่นเอง

ฝากไว้จากใจกองบรรณาธิการ : อยากเห็นคนไทยสร้างนวัตกรรมต่อยอดสิ่งที่เป็นอู่ข้าวอู่น้ำของประเทศไทย

ส่วนของภาคธุรกิจที่อยากให้จับตา

สิ่งที่เราอยากเห็นและอยากสนับสนุนองค์กรต่างๆ ในประเทศเรา คือสร้างนวัตกรรมต่อยอด และเพิ่มมูลค่าให้กับอู่ข้าวอู่น้ำของประเทศไทย อย่างสาย AgriTech และ FoodTech ที่ผ่านมาเชื่อว่าหลายคนแอบคิดลึกๆ ว่า นี่เป็นวัตถุดิบบ้านเรานี่ ต่างชาติเอาไปแปรรูปกลับมาเสร็จขายเสียแพงเลย!

เราอยากส่งเสริมและปลูกฝังให้ธุรกิจไทยหันมามองเทคโนโลยีที่ช่วยเหลือสังคมและเป็นรากฐานสำคัญของบ้านเราให้เกิดขึ้นอย่างแท้จริง

นอกจากนี้เราอยากเห็น HealthTech ในประเทศไทยเกิดการพัฒนามากขึ้น เพิ่มคุณภาพชีวิต และลดความเหลื่อมล้ำของสังคม ในการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ในรูปแบบต่างๆ

รู้เรื่องเทคโนโลยี พร้อมปรับตัว เริ่มจากเล็กๆ สู่ใหญ่ๆ

Photo: blog.prototypr.io

หากพูดถึงเทคโนโลยีในอนาคต (หรือในตอนนี้ที่คนพูดถึงกันเยอะๆ ก็เช่น Blockchain และอีกหลายคำที่ยังไม่คุ้นหูอย่าง Hashgraph, IOTA) คงหนีไม่พ้นการพูดถึง ‘ทฤษฎีการแพร่กระจายนวัตกรรม’ (Diffusion of Innovation) ควบคู่ไปด้วย เพื่อคาดการณ์ว่าช่วงเวลาใดสังคมจะเกิดการยอมรับนวัตกรรมนี้ ช่วงเวลาใดนวัตกรรมจะหมดความต้องการ

กลุ่ม Innovator (ผู้ชอบทดลองนวัตกรรมใหม่ๆ) ควรรู้เรื่องเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ เอาไว้นั้นเป็นเรื่องดี แต่ไม่ต้องกระโจนลงไปอิมพลีเม้นต์และเปิดตัวบริการที่ใช้นวัตกรรมใหม่ตลอด เพราะหลายเทคโนโลยีก็ไม่ก้าวข้ามผ่าน 'หุบเหว' (The Chasm) เพื่อเข้าสู่การเป็นที่ยอมรับในวงกว้าง

เชื่อว่าหลายองค์กรเริ่มต้นที่ Proof of Concept (PoC) คือแนวทางที่เหมาะสม หรือคอยมอนิเตอร์เทรนด์ก่อนเพื่อรอดูว่านวัตกรรมนี้มีโอกาสเติบโตมากน้อยแค่ไหน มีกรณีศึกษาไหนที่เกิดขึ้นจริงแล้วในโลกบ้าง และถึงแม้เกิดขึ้นที่ประเทศอื่นแล้ว ก็ใช่ว่าจะใช้ได้กับพฤติกรรมของคนในบ้านเราเสมอไป และถ้าเทคโนโลยีนั้นจำเป็นต้องมีและช่วยแก้ปัญหาได้จริงๆ ก็ควรเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคให้น้อยที่สุด การเริ่มต้นเล็กๆ ทดสอบก่อน แล้วเรียนรู้ก่อนอิมพลีเมนต์จริงๆ สเกลใหญ่ๆ ก็ยังไม่สาย

สวัสดีปีใหม่ 2018 ทุกท่านค่ะ

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

KBank x Orbix Technology x StraitsX สาธิตการชำระเงินข้ามพรมแดนด้วยบล็อกเชนที่ SG FinTech Festival 2024

ธนาคารกสิกรไทยร่วมกับ Orbix Technology และ StraitsX เปิดตัวนวัตกรรมชำระเงินข้ามพรมแดนด้วย e-Money on Blockchain ในงาน Singapore FinTech Festival 2024 ชูศักยภาพฟินเทคไทยบนเวทีโลก...

Responsive image

‘Yindee’ แชตบอตในแอป ttb Touch ใช้ Gen AI จับความรู้สึก ตอบเร็วและฉลาดกว่าที่เคย

Yindee แชตบอตที่อยู่บน Mobile Banking ของ ttb ทำงานผ่านแอป ttb Touch สามารถจับ Mood & Tone ของลูกค้าหรือผู้ใช้บริการ ว่าขณะแชตนั้น ลูกค้าอยู่ในอารมณ์ไหน ด้วย Generative AI โดย Azur...

Responsive image

คนอยากใช้พลังงานเยอะ แต่โลกอยากได้ปล่อยคาร์บอนน้อย บริษัทพลังงานแก้ไขความย้อนแย้งนี้อย่างไรดีในยุค AI

The Energy/Prosperity Paradox หรือภาวะย้อนแย้งแห่งพลังงาน และความเจริญ ถือเป็นความท้าทายระดับโลกที่บริษัทด้านพลังงานกำลังพบเจอ เพราะในตอนนี้โลกกำลังต้องการพลังงานเพิ่มขึ้นอย่างไม่เ...