ปฏิเสธไม่ได้ว่า โลกทุกวันนี้เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ ถูกสร้างขึ้น เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของมนุษย์ที่เพิ่มขึ้นอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ในแง่อุตสาหกรรมยานยนต์ก็เช่นกัน กระแสที่เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดของรถยนต์พลังงานไฟฟ้า หรือที่รู้จักกันในนามรถยนต์ EV ทั้งในไทยและทั่วโลก กำลังจะพลิกโฉมหน้าประวัติศาสตร์ยานยนต์ของมนุษย์ไปตลอดกาล
อย่างไรก็ตาม ด้วยโลกที่หมุนเร็วเกินไป อาจจะทำให้คนทั่วไปยังคงติดภาพกับรถยนต์ EV แบบเดิมๆ จนเกิดเป็นความเข้าใจผิดเกี่ยวกับรถยนต์พลังงานไฟฟ้าที่มีอยู่ ณ ปัจจุบัน ไม่มากก็น้อย
TS x Grand Prix Podcast EP2 จึงร่วมพูดคุยกับแขกรับเชิญคนพิเศษ คุณกฤษดา ธีรศุภลักษณ์ จากช่อง Welldone Guarantee ที่จะมาช่วยไขทุกความเข้าใจผิดเกี่ยวกับรถยนต์พลังงานไฟฟ้า รวมทุกเรื่องราวที่คุณต้องรู้ และเทรนด์ที่กำลังเกิดขึ้นอย่างคึกคักในตลาดรถยนต์เมืองไทยและทั่วโลก โดยเฉพาะเรื่องของรถ EV และเทคโนโลยีล้ำสมัยที่เราจะได้เห็นในอนาคตอันใกล้นี้
แรกเริ่มเดิมที รถยนต์พลังงานไฟฟ้า หรือที่รู้จักกันในนามรถยนต์ EV ได้รับการคิดค้นและพัฒนาขึ้นมาตั้งแต่ช่วงปี 1980 แล้ว แต่ทว่า ยังไม่เป็นที่นิยมในกลุ่มคนทั่วไป เนื่องจากสมรรถนะในการขับคลื่อนและระยะทางที่สามารถใช้งานได้ ยังไม่เหมาะสมต่อการนำรถยนต์พลังงานไฟฟ้ามาใช้ในชีวิตจริง อีกทั้งยังมีราคาแพงจนไม่สามารถจับต้องได้ในกลุ่มคนทั่วไป
อย่างไรก็ตาม จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญที่จุดกระแสเทรนด์ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าให้พุ่งสูงขึ้น จนกลายเป็นสิ่งที่ประเทศไทยและทั่วโลกต่างจับตามอง คือ การรุกเข้าลาดรถยนต์ในเอเชียของ Elon Musk เจ้าพ่อแห่งวงการเทคโนโลยีและนวัตกรรมโลก ด้วยรถยนต์พลังงานไฟฟ้า Tesla model 3 ซึ่งได้พัฒนาประสิทธิภาพการทำงานแบตเตอรี่ ให้สามารถใช้งานในระยะทางที่ไกลขึ้น และที่สำคัญ มีต้นทุนการผลิตที่ถูกลงอย่างมาก จากต้นทุนการผลิตแบตเตอรี่ที่ถูกลงอย่างมีนัยยะสำคัญ ส่งผลให้ราคารถยนต์พลังงานไฟฟ้าถูกลงตามไปด้วย จนกระทั่งมีราคาที่สามารถจับต้องได้ในสายตาของคนทั่วไป
จากนั้น เมื่อ Tesla model 3 เริ่มเป็นที่ถูกกล่าวถึงในวงกว้าง ค่ายรถยนต์อีกมากมาย ย่อมเล็งเห็นพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป รวมไปถึงโอกาสทางธุรกิจที่มีแนวโน้มจะเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว เป็นผลให้ค่ายรถยนต์ต่างๆ พากันพัฒนาและผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้าของตนเอง เพื่อช่วงชิงส่วนแบ่งทางการตลาด ซึ่งส่งเสริมให้กระแสของรถยนต์พลังงานไฟฟ้าพุ่งสูงขึ้นไปอีก ดังจะเห็นได้จากงาน The 42nd Bangkok International Motor show 2021 ที่ค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่ต่างเปิดตัวรถยนต์พลังงานไฟฟ้ากันอย่างคึกคัก
เพราะฉะนั้น แนวโน้มของเทรนด์ตลาดรถยนต์พลังงานไฟฟ้าในประเทศไทยและทั่วโลก จะเป็นที่นิยมในกลุ่มคนทั่วไปมากขึ้นอย่างแน่นอน ด้วยปัจจัยหลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ราคาของรถยนต์ที่ถูกลงอย่างเห็นได้ชัด คาดการณ์ว่า ภายในปี 2025 ราคารถยนต์พลังงานไฟฟ้าจะถูกลงจนเทียบเท่ากับ รถยนต์น้ำมันธรรมดาตามท้องตลาด ณ ปัจจุบันอย่างแน่นอน
รถยนต์พลังงานไฟฟ้าไม่สามารถใช้เดินทางระยะไกลได้ นับว่าเป็นภาพจำเลยทีเดียวสำหรับรถยนต์พลังงานไฟฟ้า ที่คนทั่วไปมักเข้าใจว่า สามารถวิ่งได้ในระยะทางสั้นๆ และจำเป็นต้องชาร์จพลังงานไฟฟ้าอยู่เสมอ อย่างไรก็ตาม ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย ทำให้รถยนต์พลังงานไฟฟ้าสามารถใช้งานในระยะทางที่ยาวขึ้น และใช้เวลาในการชาร์จพลังงานที่สั้นลงกว่าเดิมมาก
รถยนต์พลังงานไฟฟ้าอาจก่อให้เกิดไฟดูด เมื่อต้องขับเคลื่อนผ่านบริเวณที่มีน้ำขังหรือฝนตก คนส่วนใหญ่มักเข้าใจผิดว่า รถยนต์พลังงานไฟฟ้านั้น ใช้พลังงานไฟฟ้าในการขับเคลื่อนเครื่องยนต์ ซึ่งเมื่อเจอน้ำในปริมาณที่มาก จะทำให้เกิดไฟฟ้าลัดวงจร จนอาจก่อให้เกิดอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ ซึ่งในความเป็นจริงนั้น รถยนต์พลังงานไฟฟ้ามีระบบ safety หลายชั้น ที่ป้องกันปัญหาที่อาจเกิดจากการลัดวงจรได้อย่างมีประสิทธิภาพ และรถยนต์พลังงานไฟฟ้าก็สามารถขับเคลื่อนได้ทุกที่เหมือนกับรถยนต์ทั่วไปเลย
การดูแลรักษารถยนต์พลังงานไฟฟ้ามีค่าใช้จ่ายสูง โดยเฉพาะการเปลี่ยนถ่ายแบตเตอรี่ จริงๆแล้ว การดูแลรักษารถยนต์พลังงานไฟฟ้ามีค่าใช้จ่ายที่น้อยมาก เมื่อเทียบกับการดูแลรักษารถยนต์ทั่วไป เนื่องจากชิ้นส่วนของรถยนต์มีค่อนข้างน้อย อีกทั้งด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี ที่ช่วยให้ต้นทุนการผลิตแบตเตอรี่ลดลง ทำให้การเปลี่ยนถ่ายแบตเตอรี่มีค่าใช้จ่ายที่ถูกลงอย่างมาก ยิ่งกว่านั้น การเปลี่ยนถ่ายแบตเตอรี่ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนทั้งแผงในครั้งเดียว แต่สามารถเปลี่ยนเป็นเซลล์ได้อีกด้วย
อายุการใช้งานของแบตเตอรี่ค่อนข้างสั้น ไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน ปัจจุบัน เทคโนโลยีและนวัตกรรมทางยานยนต์ ได้พัฒนาให้แบตเตอรี่สำหรับรถยนต์พลังงานไฟฟ้ามีอายุการใช้งานที่นานขึ้นกว่าเดิมมาก โดยปัจจุบัน แบตเตอรี่ส่วนใหญ่ มีอายุการใช้งานเฉลี่ยอยู่ที่ 8-10 ปี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการใช้งานอย่างถูกต้องด้วย หากสามารถรักษาระดับพลังงานของรุยนต์ให้อยู่ที่ 20-80% อย่างสม่ำเสมอ ก็จะช่วยยืดอายุการใช้งานออกไปอีก
รถยนต์พลังงานไฟฟ้ามีราคาแพงเกินไป สำหรับความเข้าใจผิดในประเด็นเรื่องราคานั้น นับว่าเป็นประเด็นที่ทำให้คนส่วนใหญ่ลังเลที่จะเปลี่ยนมาใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้ามากที่สุด ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้ว ราคารถยนต์พลังงานไฟฟ้า ณ ปัจจุบัน ลดลงอย่างมาก จากการแข่งขันในตลาดและจำนวนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะฉะนั้น รถยนต์พลังงานไฟฟ้าไม่ใช่เพียงแค่ของเล่นคนรวยอีกต่อไป แต่เป็นยานพาหนะที่ทุกคนสามารถเป็นเจ้าของได้
หากจะกล่าวถึงผู้เล่นคนสำคัญของโลก ที่เป็นผู้พลิกโฉมวงการรถยนต์ EV ให้กลายเป็นที่รู้จักในวงกว้าง คงจะหนีไม่พ้น Tesla ของ Elon Musk ที่นับว่าเป็นผู้คุมเกมเบอร์หนึ่งในตลาดรถยนต์พลังงานไฟฟ้า ขณะที่ค่ายรถยักษ์ใหญ่อย่าง Volkswagen ที่มีค่ายรถยนต์ยิบย่อยมากมายในมือ ก็พัฒนาจนกลายเป็นคู่แข่งที่น่าจับตามองสำหรับ Tesla เช่นกัน
ยิ่งกว่านั้น ค่ายรถยักษ์ใหญ่ที่มีแนวโน้มว่าจะมาแรงในอนาคตอันใกล้ ยังประกอบไปด้วย Hyundai ที่ร่วมมือกับ KIA ในการผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้าออกสู่ท้องตลาด รวมไปถึงค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่จากจีนอย่าง Xpeng และ Wuling ที่ตบเท้าเข้าร่วมชิงส่วนแบ่งการตลาดรถยนต์พลังงานไฟฟ้าของโลกด้วย โดยเฉพาะ Wuling ที่หันมาจับตลาด Eco Car อย่างจริงจัง จนมียอดขายรถยนต์พลังงานไฟฟ้าแซง Tesla ในประเทศจีนไปเป็นที่เรียบร้อย
ขณะที่ผู้เล่นคนสำคัญในตลาดรถยนต์พลังงานไฟฟ้าของไทย โดยส่วนใหญ่มักจะเป็นค่ายรถยนต์ของจีน เนื่องจาก ปัจจุบัน ประเทศจีนมีการผลักดันการผลิตและส่งออกรถยนต์พลังงานไฟฟ้าเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภูมิภาค Southeast Asia ที่มีศักยภาพในการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับราคารถยนต์พลังงานไฟฟ้าที่ถูกกว่าผู้เล่นเจ้าอื่น ซึ่งเป็นผลจากการผลิตรถยนต์ระดับ Mass Production จึงเป็นผลให้ค่ายรถยนต์ของจีน มีแต้มต่อเหนือคู่แข่ง จนกระทั่งมีอิทธิพลมากที่สุดในตลาดรถยนต์พลังงานไฟฟ้าของไทย โดยค่ายรถยักษ์ใหญ่จากจีน ที่รุกตลาดรถยนต์ EV ของไทยอย่างเต็มตัว และเป็นที่น่าจับตามองในตอนนี้ คือ Great Wall Motor
สำหรับผู้เล่นกลุ่มรองลงมา ที่กำลังแข่งขันกับค่ายรถยนต์จากจีนในตลาดรถยนต์ EV ของไทยอย่างหนัก คือ กลุ่มผู้เล่นฝั่งยุโรปอย่าง Audi และ Porsche ที่ได้ขนกองทัพรถยนต์พลังงานไฟฟ้ารุ่นใหม่ล่าสุดมาให้คนไทยได้ยลโฉมกัน แต่ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่ม Premium Car ที่ยังไม่ได้เจาะตลาดกลุ่มคนทั่วไปมากนัก นอกจากนั้น อีกค่ายหนึ่งจากฝั่งยุโรป ที่จะไม่กล่าวถึงไปไม่ได้เลย คือ Volvo ค่ายรถยนต์แบรนด์ยุโรป ที่ถูกซื้อกิจการโดยค่ายรถยักษ์ใหญ่จากจีน เป็นผลให้มีการปรับ Brand Positioning จากเดิมที่เจาะกลุ่ม Premium Car ก็หันมาจับตลาดในกลุ่มคนทั่วไปมากขึ้น ซึ่งนับว่าเป็นความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ และต้องจับตามองกันต่อไป
อย่างไรก็ตาม ผู้เล่นที่ใครหลายคน คาดการณ์ว่าจะขึ้นมาเป็นผู้คุมเกมในตลาดรถยนต์ EV อย่างค่ายรถยักษ์ใหญ่จากญี่ปุ่น กลับออกตัวช้ากว่าที่คิด เนื่องจากค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นส่วนใหญ่ มักพึ่งพา Supplier ในการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ ซึ่งหากมีการเปลี่ยนการผลิตจากรถยนต์ธรรมดาไปสู่รถยนต์พลังงานไฟฟ้าอย่างเต็มตัว ย่อมส่งผลต่อความสัมพันธ์ทางธุรกิจระหว่างค่ายรถยนต์กับ Supplier อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น ค่ายรถยักษ์ใหญ่จากญี่ปุ่น ที่เป็นผู้ครองตลาดรถยนต์ในไทยมาอย่างยาวนาน จึงไม่สามารถเดินหน้าลุยตลาดรถยนต์พลังงานไฟฟ้าได้อย่างเต็มสูบ เหมือนกับค่ายรถยนต์จากจีนและยุโรป
แม้ว่ารถยนต์พลังงานไฟฟ้าจะได้รับการพัฒนาจนมีประสิทธิภาพมากแค่ไหน แต่ถ้าหากไม่มีสถานีชาร์จพลังงานไฟฟ้าที่เพียงพอต่อความต้องการของผู้ใช้รถยนต์ EV นั่นอาจกลายเป็นปัญหาสำคัญ ที่ส่งผลต่อการเติบโตของจำนวนผู้ใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้าในอนาคตได้ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน ประเทศไทยมีการตื่นตัวกับเทรนด์ตลาดรถยนต์พลังงานไฟฟ้าอย่างมาก และจำนวนผู้ใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้าก็เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นผลให้จำนวนสถานีชาร์จพลังงานไฟฟ้าแปรผันตามไปด้วย
โดยความน่าสนใจสำหรับปีนี้ คือ การเข้ามาลงทุนในกลุ่มธุรกิจสถานีอัดประจุไฟฟ้าของ การไฟฟ้าฝ่ายผลิต การไฟฟ้านครหลวง และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ที่เข้ามาเป็นผู้เล่นในตลาดอย่างเต็มตัว ด้วยความร่วมมือของกลุ่มธุรกิจบริการน้ำมัน ที่ต้องการสร้างกำไรจากการขยายธุรกิจกลุ่ม non-oil ให้มากขึ้นตามกระแสโลกที่เปลี่ยนไป
สำหรับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตนั้น เริ่มเข้ามาลงทุนในธุรกิจภายใต้แบรนด์ที่มีชื่อว่า EleX สถานีอัดประจุไฟฟ้า ที่ให้บริการชาร์จพลังงานไฟฟ้าสำหรับรถยนต์ EV ร่วมกับสถานีบริการน้ำมัน PT ในต่างจังหวัด โดยปัจจุบัน ได้ก่อสร้างเสร็จสิ้นแล้ว 5 จุด และมีแผนการที่จะก่อสร้างสถานีเพิ่มเป็น 30 จุด ภายในสิ้นปีนี้
ขณะที่การไฟฟ้านครหลวงก็มาพร้อมกับธุรกิจที่มีชื่อว่า EA anywhere โดยตั้งเป้าจะเป็นผู้ให้บริการชาร์จพลังงานไฟฟ้าสำหรับรถยนต์ EV รายสำคัญของประเทศ ซึ่ง ณ ปัจจุบัน มีการก่อสร้างสถานีอัดประจุไฟฟ้าไปแล้วกว่า 70 จุด โดยส่วนใหญ่จะอยู่ในเขตเมือง เพื่อตอบสนองต่อวิถีชีวิตคนเมืองที่เปลี่ยนไป
และท้ายสุดกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคที่ร่วมมือกับสถานีบริการน้ำมันบางจาก ในการก่อสร้างสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับรถยนต์ EV โดยมีเป้าหมายที่จะก่อสร้างสถานีให้ได้ 20 จุดภายในสิ้นปีนี้เช่นกัน
กล่าวโดยสรุป แม้ว่าปัจจุบันเทรนด์ตลาดรถยนต์พลังงานไฟฟ้า จะเป็นที่น่าจับตามองอย่างยิ่งสำหรับคนทั่วไปในประเทศ แต่สัดส่วนปริมาณการใช้รถยนต์พลังงาน EV ยังนับว่าน้อยมาก หากเทียบกับปริมาณการใช้รถยนต์ธรรมดา เพราะฉะนั้น หากประเทศไทย ต้องการจะผลักดันการใช้รถยนต์ EV ให้มากกว่าที่เป็นอยู่ ภาครัฐจำเป็นต้องเข้ามาช่วยเหลือและสนับสนุนการใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้ามากขึ้น โดยอาจเริ่มจากการนำรถยนต์พลังงานไฟฟ้าเข้ามาใช้ในระบบขนส่งมวลชน เพื่อกระตุ้นให้เกิดการผลิตในปริมาณที่มากขึ้น จนกระทั่งราคาของรถยนต์ลดลงมากพอที่คนส่วนใหญ่ของประเทศจะเข้าถึงได้ รวมไปถึงการพัฒนาระบบสาธารณูปโภค เช่น สถานีอัดประจุไฟฟ้า เพื่อรองรับจำนวนรถยนต์พลังงานไฟฟ้าที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคตอีกด้วย เพียงเท่านี้ การใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้าของประเทศไทย ก็จะได้รับการพัฒนาอย่างมีคุณภาพและยั่งยืน
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด