มธ. เผยผลโพลล์คนไทย 92.3% หนุนเรียกรถผ่านแอปถูกกฎหมาย 83% เชื่อมั่นรัฐบาลผลักดันสำเร็จในปีนี้ | Techsauce

มธ. เผยผลโพลล์คนไทย 92.3% หนุนเรียกรถผ่านแอปถูกกฎหมาย 83% เชื่อมั่นรัฐบาลผลักดันสำเร็จในปีนี้

ศูนย์ให้คำปรึกษาและพัฒนาผู้บริหารทางธุรกิจ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดย ผศ. ดร. สุทธิกร กิ่งเเก้ว หัวหน้าโครงการวิจัย ได้เผยผลสำรวจความคิดเห็น (โพลล์) ของคนไทยที่มีต่อนโยบายของกระทรวงคมนาคมที่ได้ส่งเสริมและผลักดันให้การนำรถยนต์ส่วนบุคคลมาให้บริการรับ-ส่งผู้โดยสารผ่านแอปพลิเคชัน หรือบริการ “เรียกรถผ่านแอป” สามารถดำเนินการได้อย่างถูกกฎหมาย 

โดยได้สำรวจความคิดเห็นในประเด็นต่างๆ จากกลุ่มเป้าหมายทั้งสิ้นจำนวน 3,914 คน ครอบคลุมทั้งประชาชนทั่วไป คนขับรถยนต์ส่วนบุคคลที่ให้บริการเรียกรถผ่านแอป รวมถึงคนขับแท็กซี่ โดยผลการสำรวจระบุว่า

  • 92.3% ของกลุ่มตัวอย่าง ทั้งประชาชนทั่วไปและคนขับรถยนต์ที่ให้บริการผ่านแอป ต่างเห็นด้วยกับการส่งเสริมให้มีการนำรถยนต์ส่วนบุคคลมาใช้ให้บริการรับส่งผู้โดยสารสาธารณะผ่านแอปพลิเคชันอย่างถูกกฎหมาย ขณะที่มีเพียง 7.7% เท่านั้นที่ไม่เห็นด้วย ทั้งนี้ กลุ่มตัวอย่างยังได้ระบุว่า การส่งเสริมให้บริการดังกล่าวถูกกฎหมายจะเป็นประโยชน์ในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น
  • 78.1% เห็นว่าบริการดังกล่าวช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้บริโภค เนื่องจากใช้งานง่าย มีบริการตลอด 24 ชั่วโมง
  • 77.7% เห็นว่าช่วยยกระดับมาตรฐานด้านความปลอดภัยในการเดินทาง เพราะมีข้อมูลคนขับและทะเบียนรถเป็นหลักฐาน มีเทคโนโลยีติดตามการเดินทาง
  • 71.8% บอกว่าบริการดังกล่าวมีความโปร่งใส เนื่องจากมีการแจ้งราคาค่าบริการให้ผู้โดยสารทราบล่วงหน้า
  • 71% มองว่าบริการดังกล่าวเป็นช่องทางในการสร้างอาชีพเสริมให้คนไทย โดยเฉพาะในช่วงวิกฤติโควิด
  • ขณะที่ 69% เห็นว่าบริการดังกล่าวช่วยส่งเสริมให้นำสินทรัพย์ที่มีอยู่ (เช่น รถยนต์) มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
  • และ 66.8% เชื่อว่าจะลดปัญหาคนขับรถปฏิเสธผู้โดยสาร
  • ในด้านความคาดหวังที่มีต่อรัฐบาลในการผลักดันการออกกฎหมายดังกล่าว ประชาชนทั่วไปกว่า 83% อยากให้บริการเรียกรถผ่านแอปถูกกฎหมายภายในปีนี้ โดย 44.8% ของคนกลุ่มนี้อยากเห็นกฎหมายดังกล่าวถูกประกาศใช้อย่างเป็นทางการภายในไตรมาสแรก ซึ่งสอดคล้องกับความคิดเห็นของกลุ่มคนขับรถยนต์ที่ให้บริการเรียกรถผ่านเเอป อย่างไรก็ดี มีคนขับจำนวนถึงเกือบ 30% ที่ไม่เชื่อมั่นว่ารัฐบาลจะสามารถผลักดันกฎหมายนี้ได้สำเร็จ

  • ต่อประเด็นที่ภาครัฐอาจจะมีการจำกัดจำนวนรถยนต์หรือจำนวนคนขับที่จะมาให้บริการดังกล่าว 64.3% ของกลุ่มตัวอย่างไม่เห็นด้วยกับกำหนดโควต้า 
  • โดย 69.4% ของกลุ่มคนขับที่ไม่เห็นด้วยให้เหตุผลว่า การจำกัดจำนวนรถหรือคนขับนั้นเป็นการปิดกั้นโอกาสการทำมาหากินหรือการหารายได้เสริมของคนไทย ขณะที่ 22.1% มองว่าการมีโควต้าอาจนำไปสู่ปัญหาอื่นๆ ตามมา เช่น การซื้อขายใบอนุญาต หรือการระบบมาเฟียเหมือนการซื้อขายเสื้อวินมอเตอไซค์ เป็นต้น
  • ในขณะที่กลุ่มประชาชนทั่วไปมองประเด็นการซื้อขายใบอนุญาตหรือระบบมาเฟียว่าเป็นปัญหาหลักสูงถึง 40.5% นอกจากนี้ ยังมีความกังวลต่อปัญหาเรื่องจำนวนรถที่อาจไม่เพียงกับความต้องการถึง 23.6% 
  • ส่วนกลุ่มผู้ที่เห็นด้วยกับการกำหนดโควต้านั้น 74.4% บอกว่าต้องการจำกัดจำนวนผู้ที่จะเข้ามาทำอาชีพนี้ไม่ให้มีมากจนเกินไป ขณะที่ 11.2% ต้องการสงวนอาชีพนี้ให้กับคนขับแท็กซี่แบบดั้งเดิมเท่านั้น
  • สำหรับประเด็นอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับข้อกำหนดหรือเงื่อนไขของการนำรถยนต์ส่วนบุคคลมาให้บริการ พบว่า
  • 97.1% คาดหวังว่ารถยนต์ที่จะให้บริการดังกล่าวต้องแสดงราคาผ่านแอปพลิเคชันให้ผู้ใช้บริการทราบล่วงหน้าก่อนใช้บริการ 
  • 80% ของประชาชนทั่วไปเห็นด้วยกับการติดป้ายหรือสัญลักษณ์ที่ตัวรถเพื่อแสดงว่าเป็นรถให้บริการทางเลือก ขณะที่กลุ่มคนขับรถที่ให้บริการผ่านแอปกว่า 65% กลับไม่เห็นด้วย 
  • ในประเด็นด้านอายุของรถยนต์ที่จะนำมาให้บริการ 75.1% ระบุว่าต้องการให้ภาครัฐอนุญาตให้มีอายุได้ถึง 12 ปีเช่นเดียวกับรถแท็กซี่
  • นอกจากนี้ 55.6% เห็นด้วยกับการจำกัดให้นำรถยนต์มาจดทะเบียนเพื่อให้บริการได้เพียง 1 คันต่อคนเท่านั้น ขณะที่ 44.4% ไม่เห็นด้วย

นอกจากประชาชนทั่วไปและคนขับรถยนต์ที่ให้บริการเรียกรถผ่านแอปแล้ว ศูนย์ให้คำปรึกษาและพัฒนาผู้บริหารทางธุรกิจ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยังได้ทำการสำรวจความคิดเห็นเพิ่มเติมเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวในกลุ่มคนขับแท็กซี่จำนวน 2,436 คนด้วย โดยพบว่า

  • มากกว่าครึ่งของกลุ่มตัวอย่างที่เป็นคนขับแท็กซี่ (56.3%) เห็นด้วยกับการส่งเสริมให้นำรถยนต์ส่วนบุคคลมาใช้ให้บริการรับส่งผู้โดยสารสาธารณะผ่านแอปพลิเคชันอย่างถูกกฎหมาย ขณะที่ 43.7% ยังคงไม่เห็นด้วย ทั้งนี้ ประเด็นหลักที่คนขับแท็กซี่มีความกังวลมากที่สุด คือ ต้นทุนการประกอบอาชีพซึ่งปัจจุบันคนขับรถแท็กซี่มีต้นทุนในการให้บริการที่สูงกว่าคนขับรถยนต์ส่วนบุคคล (62.6%) รวมถึงข้อกำหนดในการให้บริการของคนขับแท็กซี่ซึ่งมีความเข้มงวดมากกว่า (53.6%) 
  • ในด้านความคาดหวังที่มีต่อภาครัฐในการให้ความช่วยเหลือคนขับแท็กซี่เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันนั้น 
  • 39.3% ต้องการให้ช่วยลดต้นทุนจากภาระที่ไม่จำเป็น เช่น การติดตั้งอุปกรณ์ต่างๆ เเละค่าบริการรายเดือนของระบบเเท็กซี่ที่ภาครัฐกำหนดไว้ รวมทั้งช่วยควบคุมราคาเชื้อเพลิง อาทิ น้ำมัน หรือก๊าซ NGV, LPG เป็นต้น
  • 33.5% คาดหวังให้มีการปรับราคามิเตอร์ให้สูงขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับต้นทุนและสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน
  • 20.3% อยากให้ปรับลดหรือผ่อนผันข้อกำหนดต่างๆ ของรถแท็กซี่ เช่น การขยายอายุรถ การอนุญาตให้ใช้รถต่ำกว่า 1600 ซีซี ได้ เป็นต้น
  • ขณะที่มีเพียง 4% เท่านั้นที่อยากให้มีการกำหนดโควต้าของผู้ที่จะนำรถยนต์ส่วนบุคคลมาให้บริการเรียกรถผ่านแอป

 ผศ. ดร. สุทธิกร กิ่งเเก้ว หัวหน้าโครงการวิจัย

นอกจากนี้ ผศ. ดร. สุทธิกร กิ่งเเก้ว ยังได้แสดงความคิดเห็นที่มีต่อ ร่างกฎกระทรวงว่าด้วยรถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกินเจ็ดคนแบบบริการทางเลือก ซึ่งประกาศโดยกรมการขนส่งทางบก ว่า

 “นับเป็นเรื่องที่ดีที่ภาครัฐจะทำให้การเรียกรถส่วนบุคคลผ่านเเอปถูกกฎหมาย ซึ่งกฎหมายนี้นับว่าเป็นกฎหมายเเรกที่รัฐจะออกมารับรองรูปเเบบการให้บริการของธุรกิจดิจิทัลบนพื้นฐานเศรษฐกิจเเบ่งปัน (Sharing Economy) ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญของภาคเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศไทย ทั้งยังช่วยตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็น ด้านความสะดวก ความปลอดภัย ความโปร่งใสในการแสดงราคา ซึ่งสะท้อนผ่านความคิดเห็นของประชาชนทั่วไป เเต่อย่างไรก็ตาม ยังมีบางประเด็นที่น่าเป็นห่วงในกฎหมายฉบับนี้ โดยเฉพาะเรื่องโควต้า ซึ่งถือเป็นเรื่องล้าหลังที่ไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์กับใคร เเม้เเต่คนขับเเท็กซี่เเบบดั้งเดิมเองก็ไม่ได้ต้องการให้รัฐใช้การกำหนดโควต้าเพื่อช่วยในการเเข่งขันกับกลุ่มรถส่วนบุคคลที่ให้บริการผ่านเเอป หากเเต่คนขับเเท็กซี่เหล่านั้นกลับต้องการให้ภาครัฐช่วยในการลดต้นทุนและแก้ไขกฎระเบียบที่เข้มงวดโดยไม่จำเป็น รวมทั้งเพิ่มรายได้จากการปรับอัตราการคิดค่าบริการของมิเตอร์ให้สอดคล้องกับค่าครองชีพในปัจจุบัน”


ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

เปิดกลยุทธ์ธุรกิจยุคใหม่ พลิกข้อมูล สู่ขุมทรัพย์ด้วย analyticX ด้วยพลัง Telco Data Insights และ GenAI

ยุคนี้ใคร ๆ ก็พูดถึง Data แต่จะใช้ Data อย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่างหากคือกุญแจสำคัญ! ในสัมมนาสุดเอ็กซ์คลูซีฟ "Unlocking Data-Driven Decisions with Telecom Data Insights" ที่จั...

Responsive image

‘UOB Sustainability Compass’ เครื่องมือออนไลน์ด้านความยั่งยืน หนุน SMEs เปลี่ยน Vision เป็น Action

บทสัมภาษณ์ คุณอัมพร ทรัพย์จินดาวงศ์ และคุณพณิตตรา เวชชาชีวะ เกี่ยวกับ ‘UOB Sustainability Compass’ เครื่องมือออนไลน์ที่เข้ามาช่วย SMEs เริ่มดำเนินการด้านความยั่งยืนอย่างเข้าใจและไม...

Responsive image

Intel พลาดอะไรไป ? ทำไมถึงต้องเปลี่ยน CEO กะทันหัน ? ถอดบทเรียนราคาแพงจากยุค Pat Gensinger

การ ‘เกษียณ’ อย่างกะทันหันของ Pat Gelsinger อดีตซีอีโอ Intel ในต้นเดือนธันวาคม สร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั่ววงการเทคโนโลยี หลายฝ่ายมองว่าเป็นการบีบให้ออกจากบอร์ดบริหาร อันเนื่องมาจากผล...