ถอดกลยุทธ์ทุนจีน ‘Temu’ โอกาสและความท้าทายที่ต้องจับตาในตลาด E-commerce ไทย | Techsauce

ถอดกลยุทธ์ทุนจีน ‘Temu’ โอกาสและความท้าทายที่ต้องจับตาในตลาด E-commerce ไทย

เปิดตัวในไทยได้ไม่นาน แต่ชื่อของ "Temu" แอปฯ บ้านส้มสัญชาติจีนก็กลายเป็นที่พูดถึงอย่างรวดเร็ว ด้วยกลยุทธ์ “สินค้าถูก” กว่าเจ้าอื่นๆ แบบเห็นได้ชัด แม้แต่ Amazon เจ้าใหญ่ในตลาดโลกยังต้องร้อนๆ หนาวๆ แล้ว Temu ทำได้อย่างไร? 

มาร่วมไขความลับเบื้องหลังความสำเร็จของแอปส้มที่กำลังมาแรง พร้อมเจาะลึกกลยุทธ์เด็ดที่ทำให้ Temu ครองใจนักช็อปทั่วโลกได้ในเวลาอันรวดเร็ว! แล้วผู้ประกอบการในไทยควรปรับตัวอย่างไร?

Temu แพลตฟอร์ม E-commerce ภายใต้ PDD Holdings บริษัทค้าปลีกสัญชาติจีน เปิดให้บริการในไทยอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2024 ที่ผ่านมา โดยประเทศไทยเป็นประเทศที่ 3 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ Temu ขยายตลาดเข้ามา รองจากมาเลเซียและฟิลิปปินส์ ด้วยเหตุผลที่ว่าผู้บริโภคชาวไทยมีการใช้งานสื่อออนไลน์และเปิดรับ E-commerce ในระดับสูง

ซึ่งที่ผ่านมาหลังจาก Temu เปิดตัวที่สหรัฐฯ ในเดือนกันยายน 2022 เพียงแค่ปีเดียวก็ได้สร้างปรากฎการณ์เขย่าวงการ E-commerce โดยมียอดผู้ใช้งานกว่า 100 ล้านคนทั่วโลกและกวาดรายได้ถึง 9 พันล้านดอลลาร์ในปี 2023 อีกทั้งแอปพลิเคชัน Temu ก็ติดอันดับต้นๆ ของการดาวน์โหลดทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง

ซึ่งได้สร้างปรากฎการณ์ท้าทายผู้ครองตลาดเดิมอย่าง Amazon, Shein และ Etsy ด้วยโมเดลธุรกิจที่เน้น "สินค้าราคาถูก" และ "กลยุทธ์การตลาดเชิงรุก" ผลักดันให้ Temu ก้าวขึ้นมาเป็นผู้เล่นรายสำคัญที่ทั่วโลกจับตามอง

กลยุทธ์เด็ดที่ทำให้ Temu เติบโตอย่างรวดเร็ว

1. ใช้ Data ขับเคลื่อนทุกอย่าง: ใช้โมเดลธุรกิจที่คล้ายกับ Shein คือการวางโมเดลธุรกิจบน “Data” เก็บข้อมูลจากพฤติกรรมผู้ใช้ ตั้งแต่การค้นหาสินค้า การคลิก ไปจนถึงการซื้อ ควบคู่กับการใช้อัลกอริทึมวิเคราะห์และสร้างประสบการณ์การช็อปปิ้งแบบ “เฉพาะบุคคล” นอกจากนี้ยังใช้ Data เพื่อคาดการณ์ความต้องการของตลาด ผลิตสินค้าให้ตรงกับความต้องการของลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว และยังมีอำนาจในการต่อรองราคากับผู้ผลิต ด้วยเหตุที่ว่าเป็นแพลตฟอร์มขนาดใหญ่ที่มีปริมาณการสั่งซื้อจำนวนมาก ส่งผลให้ได้สินค้าในราคาถูกลงอีกด้วย

2. สร้างประสบการณ์ช็อปปิ้งแบบ Interactive: Temu มีการออกแบบที่ทันสมัย ใช้งานง่าย และมีฟีเจอร์ที่น่าสนใจมากมาย เช่น วิดีโอสั้น ๆ, เกมให้เล่นเพื่อรับรางวัล และระบบสะสมแต้ม เพื่อสร้างประสบการณ์การช้อปปิ้งที่สนุกสนาน ทำให้ผู้ใช้ใช้เวลาในแอปนานขึ้นและดึงดูดให้ผู้ใช้กลับมาซื้อซ้ำ

3. ตั้งราคาให้ถูกที่สุด: Temu ใช้หลายกลยุทธ์ผสมผสานกัน ทำให้ราคาสินค้าถูกกว่า Amazon ถึง 60-70%  เช่น

  • Reverse-manufacturing โดยผลิตสินค้าจำนวนน้อยๆ ออกมาทดลองตลาดก่อน ถ้าขายดีก็ผลิตเพิ่ม ถ้าขายไม่ดีก็เลิกผลิต 
  • Consumer-to-Manufacturer โดยการตัดพ่อค้าคนกลางออกไป ทำให้สามารถลดต้นทุนและส่งต่อราคาที่ถูกให้ผู้บริโภคได้โดยตรง ทำให้ลดต้นทุนและเสนอราคาที่ถูกกว่าคู่แข่งได้
  • Group Buying ใช้กลยุทธ์นี้ร่วมกับกลยุทธ์อื่นๆ เช่น การเก็บค่าธรรมเนียมจากผู้ขายต่ำ และการสนับสนุนด้านโลจิสติกส์ ทำให้สามารถเสนอราคาสินค้าที่ถูกกว่าคู่แข่งได้อย่างมากและดึงดูดผู้บริโภคจำนวนมากเข้ามาใช้บริการ แต่อย่างไรก็ตาม Group Buying ก็มีข้อจำกัดเช่นกัน เพราะผู้ซื้ออาจต้องรอนานกว่าจะได้รับสินค้า เนื่องจากต้องรอให้มีผู้ซื้อครบจำนวนที่กำหนดก่อนจึงจะทำการสั่งซื้อได้

4. กลยุทธ์การตลาดเชิงรุก: อีกหนึ่งหัวใจสำคัญที่ทำให้ Temu ประสบความสำเร็จคือ “การตลาดเชิงรุก”  Temu เคยทุ่มเงินมหาศาลในการโฆษณาซึ่งซื้อโฆษณาถึง 6 ช่วง ในการแข่งขันซูเปอร์โบวล์ ซึ่งแต่ละช่วงราคาประมาณ 7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 240 ล้านบาท ส่งผลให้ยอดดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน Temu พุ่งสูงขึ้น และมีผู้เข้าชมแพลตฟอร์มเพิ่มขึ้นเกือบ 1 ใน 4 หรือราว 8.2 ล้านคน ในวันที่มีการแข่งขัน นอกจากนี้ Temu ยังใช้งบประมาณจำนวนมากในการทำการตลาดผ่าน Micro-Influencer เพื่อโปรโมทสินค้าและกระตุ้นให้เกิดการซื้อบนแพลตฟอร์มผ่านโซเชียลมีเดียต่างๆ อย่าง TikTok และ YouTube เป็นต้น

ผลกระทบของ TEMU ต่อ E-commerce ในประเทศไทย

อย่างที่ทราบกันว่า Temu ได้เข้ามาเปิดตลาด E-commerce ในประเทศไทยเรียบร้อยแล้ว ในเดือนกรกฎาคม 2024 ที่ผ่านมา 

คำถามสำคัญที่เกิดขึ้นคือการเข้ามาของ Temu จะส่งผลกระทบต่อตลาด E-commerce ในไทยอย่างไร ในเมื่อประเทศไทยมีผู้เล่นหลักอย่าง Shopee, Lazada, และ TikTok Shop อยู่แล้ว?

คำตอบคือการเข้ามาของ Temu ในตลาดไทยจะสร้างแรงสั่นสะเทือนต่อวงการ E-commerce  ส่งผลกระทบต่อผู้เล่นหลักอย่าง Shopee, Lazada, และ TikTok Shop อย่างแน่นอน กลยุทธ์การขายสินค้าในราคาที่ถูก(มาก) ของ Temu อาจทำให้เกิดสงครามด้านราคาที่อาจส่งผลกระทบต่อผู้ค้าปลีกและผู้ผลิตในประเทศ

สินค้าต่างๆ ของ Temu ได้สร้างความกังวลให้กับธุรกิจไทย โดยเฉพาะ SMEs ที่ต้องต้องเผชิญกับแรงกดดันด้านราคา และอาจต้องลดราคาสินค้าลงเพื่อแข่งขัน ซึ่งอาจส่งผลต่อกำไรของธุรกิจ รัฐบาลได้แก้สถานการณ์นี้ด้วยการเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% สำหรับสินค้านำเข้าที่มีมูลค่าต่ำกว่า 1,500 บาท อย่างไรก็ตามผลกระทบต่อธุรกิจท้องถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคการผลิต ยังคงเป็นความท้าทายสำคัญที่ต้องได้รับการแก้ไข

ในทางกลับการการเข้ามาของ Temu ก็ได้กระตุ้นให้ผู้เล่นหลักในประเทศไทยอย่าง Shopee และ Lazada ต้องเร่งพัฒนานวัตกรรมเพื่อรักษาส่วนแบ่งการตลาด เพราะฉะนั้นนี่อาจะเป็นสัญญาณในการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ใหม่ๆ เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับแบรนด์ โดยภาพรวมถึงแม้ว่า Temu จะนำเสนอทางเลือกสินค้าราคาประหยัดให้กับผู้บริโภคไทย แต่ก็สร้างความท้าทายที่สำคัญต่อตลาดในประเทศเช่นเดียวกัน  

คนไทยต้องปรับตัวอย่างไรในสถานการณ์นี้?

  1. ปรับกลยุทธ์การตลาด: ธุรกิจไทยโดยเฉพาะ SME ต้องเน้นการสร้างแบรนด์ที่ไม่สามารถหาได้จากสินค้าของ Temu เช่น การเน้นคุณภาพ ความเป็นเอกลักษณ์หรือบริการหลังการขายที่ดี เพื่อสร้างความแตกต่าง
  2. ขยายตลาดใหม่: ลองหาช่องทางตลาดใหม่ๆ หรือการพัฒนาสินค้าให้ตรงกับความต้องการเฉพาะกลุ่มมากขึ้นวิธีนี้จะช่วยให้รอดจากการแข่งขันที่ท้าทายนี้ได้  
  3. ใช้ Data ให้เป็นประโยชน์: เก็บรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลลูกค้าเพื่อนำเสนอประสบการณ์การช็อปปิ้งที่ตรงใจ
  4. ใช้เทคโนโลยี: ธุรกิจไทยสามารถปรับตัวโดยการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจและลดต้นทุนได้ เช่น การใช้เทคโนโลยีให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าที่เฉพาะเจาะจงกับแบรนด์มากขึ้นหรือการช่วยสร้างตัวตนให้แบรนด์เป็นที่รู้จัก 

การเข้ามาของ TEMU ในประเทศไทยอาจสร้างแรงกระเพื่อมครั้งใหญ่ในตลาด E-commerce โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแข่งขันด้านราคา ทำให้ผู้เล่นเดิมอย่าง Shopee และ Lazada ต้องปรับตัวและพัฒนากลยุทธ์เพื่อรักษาส่วนแบ่งการตลาด ในขณะเดียวกัน ผู้บริโภคก็ได้รับประโยชน์จากการมีทางเลือกที่มากขึ้นและราคาสินค้าที่ถูกลง 

อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จในระยะยาวจะขึ้นอยู่กับความสามารถในการรักษาคุณภาพสินค้าและบริการ รวมถึงการปรับตัวให้เข้ากับตลาดและพฤติกรรมผู้บริโภคในประเทศไทย เพราะตลาด E-commerce ในประเทศไทยกำลังเข้าสู่ยุคใหม่ของการแข่งขันที่ท้าทายมากขึ้น ผู้เล่นทุกคนต้องปรับตัวและพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่ออยู่รอดและเติบโตในตลาดนี้ได้

อ้างอิง: ditp.go.th, bbc, techwireasia, alphabridge, newdigitalage, thethaiger, thaitimes, en.moneyandbanking, bangkokpost 

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

รู้จัก LLMs’ Explainability การเข้าใจกลไกสมอง AI หนึ่งใน Tech Trends 2025 ที่จะมาเปลี่ยนโลกเอไอ

เจาะลึกเบื้องหลัง Large Language Models (LLMs) และเทคโนโลยี LLMs’ Explainability ที่ช่วยเปิดเผยกระบวนการทำงานของ AI จากกล่องดำสู่ความโปร่งใส ความก้าวหน้าที่เปลี่ยนโลก AI ในอนาคต!...

Responsive image

รู้จัก AI Product Management สายงานที่ Andrew Ng ชี้มาแรง

สำรวจบทบาท AI Product Management และเหตุผลที่ Andrew Ng ยกให้เป็นตำแหน่งสำคัญในการขับเคลื่อนผลิตภัณฑ์ AI ตั้งแต่การพัฒนาแนวคิดจนถึงการนำไปใช้งานจริง...

Responsive image

เปิดกลยุทธ์ธุรกิจยุคใหม่ พลิกข้อมูล สู่ขุมทรัพย์ด้วย analyticX ด้วยพลัง Telco Data Insights และ GenAI

ยุคนี้ใคร ๆ ก็พูดถึง Data แต่จะใช้ Data อย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่างหากคือกุญแจสำคัญ! ในสัมมนาสุดเอ็กซ์คลูซีฟ "Unlocking Data-Driven Decisions with Telecom Data Insights" ที่จั...