ทำไม VC ถึงมักจะเร่งให้สตาร์ทอัพผลาญเงินเร็วนัก | Techsauce

ทำไม VC ถึงมักจะเร่งให้สตาร์ทอัพผลาญเงินเร็วนัก

บางคนอาจจะไม่เข้าใจเวลาที่ VC (Venture Capital) ซึ่งหมายถึงนักลงทุนที่ลงทุนให้กับบริษัทสตาร์ทอัพในรูปแบบขององค์กร มักจะเร่งให้สตาร์ทอัพเอาเงินไปทำนู่นทำนี่ เร่งให้ใช้เงินออกไปเร็วๆ จนรู้ตัวอีกที ตัวเลขในบัญชีของสตาร์ทอัพก็กลายเป็นศูนย์แล้ว ซึ่งก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้สตาร์ทอัพหลายรายไปไม่รอด  ถ้าพูดในมุมมองของผู้ก่อตั้งบริษัทสตาร์ทอัพ พวกเขาอาจรู้สึกแปลกใจกับพฤติกรรมเหล่านี้ของ VC แต่ความจริงแล้วมันมีเหตุผลและแรงกระตุ้นที่ลึกซึ้งอยู่เบื้องหลัง

burn-feature

VC กับแรงกระตุ้น (หรือแรงกดดัน) ที่ผิดที่ผิดทาง

VC มักจะดูเหมือนเชื่อหมดใจว่าเขากำลังจะช่วยให้สตาร์ทอัพไปได้สวย แต่ความไม่แน่นอนและข้อจำกัดด้านเวลา อาจเป็นตัวกระตุ้นให้ VC กดดันบริษัทสตาร์ทอัพให้ใช้เงินจนหมด เนื่องจาก VC รู้ว่าผลตอบแทนส่วนใหญ่เป็นเหมือนการเดิมพัน ได้กลับคืนมาจากการเหวี่ยงเบ็ดออกไปจำนวนมาก พวกเขาต้องใช้พาร์ทเนอร์ในกองทุน ทุ่มเทเวลากับอยู่บริษัทที่พวกเขาลงทุนไป เพื่อการช่วยเหลือสตาร์ทอัพก็ส่วนหนึ่ง แต่อีกส่วนคือการดูและพิจารณาว่าเบ็ดที่เดิมพันในครั้งนี้คุ้มค่าไหมที่จะลงทุนเงินและเวลาในรอบต่อๆ ไป 

ถ้าเป็นโลกในอุดมคติ VC ก็คงสามารถมีพาร์ทเนอร์จำนวนไม่สิ้นสุด มีเงินลงทุนในกองทุนเพิ่มขึ้นเมื่อไหร่ก็ได้ที่พวกเขาต้องการ แน่นอนว่าในโลกของความเป็นจริง เงินมันมีขีดจำกัด และการมีพาร์ทเนอร์มากๆ ก็ทำให้ยากต่อการจัดการ

กองทุนยังถูกกดดันให้สร้างผลตอบแทนให้ได้ภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ เพราะนั่นจะแสดงให้เห็นถึงคุณภาพในการระดมทุนครั้งต่อๆ ไป ซึ่งการระดมทุนนี้ก็สำคัญมากเพราะ VC จะได้เงินจากค่าธรรมเนียมการจัดการมากกว่าเงินที่ได้จากการลงทุนที่ไปได้สวยเสียอีก การเก็บค่าธรรมเนียมได้มากๆ นี่ถือเป็นความสำเร็จระยะสั้นไปจนถึงระยะปานกลางที่สำคัญอย่างหนึ่งของบริษัท  

ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น

ด้วยอายุเฉลี่ยของเงินระดมทุนสำหรับนักลงทุนในช่วงเริ่มต้นหรือ Early stage ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 10 ปี ประกอบกับรูปแบบการระดมทุนครั้งใหม่ทุกๆ 2-4 ปี ทำให้ VC ต้องแสดงให้เห็นว่ามีความก้าวหน้าอะไรบ้าง เพราะมีเวลาเหลือไม่มากนักในการที่บริษัทจะคืนทุนให้กับ LP (Limited partner) หรือผู้ลงทุนในกองทุนนั้นๆ ก่อนที่จะเริ่มระดมทุนในรอบถัดไป  ดังนั้น VC จะต้องคิดมูลค่าบริษัท (Valuation) เองว่าบริษัทใน Portfolio ตัวไหนสูงขึ้นหรือต่ำลง ถ้ากองทุนทำให้เห็นว่าสามารถบวกกำไรส่วนเพิ่มหรือ Markup ที่เป็นรูปเป็นร่างได้ VC ก็จะทุ่มงบมาร์เก็ตติ้งให้กับการระดมทุน ในทางกลับกัน ถ้ากองทุนไม่สามารถสร้างผลตอบแทนที่เป็นที่น่าพอใจให้กับนักลงทุนได้ ภายในเวลาไม่นานกองทุนนั้นก็จะล้มหายตายจากไป

จากตัวกระตุ้นทั้งสองที่กล่าวมาทำให้เกิดสถานการณ์ที่ VC มักจะกดดันสตาร์ทอัพให้รีบแสดงออกมาให้เห็นโดยไวว่าจะสำเร็จหรือล้มเหลว ดีกว่ารอให้ค่อยๆ โต บริษัทที่ได้ไปต่อคือบริษัทที่ลดความไม่แน่นอนของการลงทุนในบริษัทนั้นๆ และประเมินระยะเวลาที่พาร์ทเนอร์แต่ละคนใช้ในการลงทุน ถ้าบริษัททำได้สำเร็จก็จะดึงดูดการลงทุนใหม่ๆ เข้ามาด้วยมูลค่าบริษัทที่สูงขึ้น ทำให้ VC สามารถเพิ่มเงินลงทุนได้

ในทางกลับกัน ถ้าบริษัทไม่สามารถทำตามข้อผูกมัดด้านเวลาที่พาร์ทเนอร์กำหนดไว้  VC ก็อาจจะหันไปมองบริษัทอื่นที่ทำได้ดีกว่า หรือหาบริษัทใหม่ที่จะมีมูลค่าบริษัทที่ทดแทนมูลค่าที่เสียไปจากความล้มเหลวของสตาร์ทอัพรายใดรายหนึ่งใน Portfolio ซึ่งในมุมของนักลงทุนแล้ว กระบวนการนี้ยิ่งเกิดขึ้นเร็วเท่าไรยิ่งดี

สถานการณ์ที่แย่ที่สุดในมุม VC ก็คือการลงทุนจำนวนมากไปกับบริษัทที่ดำเนินไปเรื่อยๆ ดูไม่รู้ว่าจะหมู่หรือจ่าเสียที บริษัทแบบนี้ต้องการเวลาและพลังจำนวนมากเพื่อหาคำตอบว่าจะสำเร็จหรือไม่ กลายเป็นเรื่องดราม่าในทีมที่บางทีนักลงทุนต้องเข้ามาไกล่เกลี่ย สตาร์ทอัพมักจะเริ่มถามคำถามยากๆ เกี่ยวกับการกู้ยืมเงินระยะสั้นในเวลาที่การเงินไม่ค่อยมั่นคงหรือ Bridge Finance แถมบริษัทเหล่านี้ยังไม่ค่อยมีส่วนช่วยด้านมาร์เก็ตติ้งมากเท่าไหร่นัก

แล้วฝั่งสตาร์ทอัพควรรับมืออย่างไรเมื่อเริ่ม “เข้ากันไม่ได้”

การหาทางรับมือกับความกดดันเป็นเรื่องสำคัญ และจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ของสตาร์ทอัพกับผู้ลงทุน จำไว้ว่า CEO ของบริษัทสตาร์ทอัพต่างหากที่เป็นคนควบคุมบัญชีบริษัท ดังนั้นนักลงทุนทำได้แค่ “กดดัน” สตาร์ทอัพให้รีบๆ ใช้เงิน แต่ไม่สามารถ “บังคับ” หรือจับมือ CEO ให้หยิบเงินออกไปใช้ได้จริงๆ เสียหน่อย ดังนั้นผู้ก่อตั้งต้องเข้าใจธุรกิจของตัวเองว่าจะใช้เงินเมื่อไร อย่างไร ถึงจะสมเหตุสมผล

อีกอย่างคือ อย่าลืมว่าหากบริษัทกำลังไปได้สวย แล้วมีคนมาสัญญาว่าจะลงทุนเพิ่มให้อีก คำสัญญานั้นอาจไม่ได้มีค่ามากมายอะไรนัก เพราะสิ่งที่สำคัญจริงๆ คือยอดเงินในบัญชีของคุณในปัจจุบันนี้ต่างหาก ความจริงแล้ว ในช่วงที่บริษัทมีเงิน มันอาจจะดูง่ายที่จะตัดสินใจว่าจะเอาเงินไปใช้กับอะไรบ้าง ลองดูตัวอย่างจากประสบการณ์ตรงของผู้ก่อตั้งสตาร์ทอัพ พวกเขามักจะพูดว่าเขาต้องจ้างทีมเพิ่มเพื่อพัฒนาฟีเจอร์รองรับลูกค้าใหม่ๆ บ้างก็บอกว่าต้องเอาเงินไปทำโฆษณาเพื่อเพิ่มลูกค้า แล้วก็มักจะพูดต่อว่า นักลงทุนคนนั้นคนนี้บอกว่าพวกเขาพิเศษไม่เหมือนใคร และสัญญาจะลงทุนให้ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม ความจริงก็คือพวกนักลงทุนมักจะยกตัวอย่างบริษัทที่ประสบความสำเร็จในการเอาเงินไปผลาญอย่าง Uber เพื่อชี้ให้เห็นว่าสตาร์ทอัพควรรีบๆ ใช้เงิน แล้ว Founder ก็มักจะรับคำแนะนำแบบนี้มาโดยที่ไม่ได้คิดลงไปให้ลึกๆ ว่าตัวอย่างที่ว่ามันใช้ได้กับสถานการณ์ของบริษัทตัวเองหรือไม่ ถ้าทำตามแล้วโตจริงก็ดีไป แต่ถ้าไม่… การใช้เงินนี่แหละที่จะกลายมาเป็นปัญหา ยิ่งบริษัทเข้าใกล้สถานะว่า “ไม่น่าจะให้ผลตอบแทนที่สำคัญกับกองทุนมากนัก” เท่าไร เงินทุนจาก Investor ยิ่งหายไปเร็วเท่านั้นไม่ว่าก่อนหน้านี้จะสัญญาไว้ดิบดีแค่ไหนก็ตาม ยิ่งนักลงทุนมั่นใจว่าบริษัทไม่รอดแน่ๆ พวกเขาก็จะยิ่งถอย ในขณะเดียวกัน Founder ที่เข้าใกล้คำว่า ล้มเหลว กลับยิ่งต้องการการผูกมัดและความช่วยเหลือ ซึ่งจุดนี้แหละ จะเป็นจุดที่สตาร์ทอัพและ VC เริ่ม “เข้ากันไม่ได้” และเป็นจุดที่ฆ่าสตาร์ทอัพและทำลายความสัมพันธ์ระหว่างสตาร์ทอัพและนักลงทุนมานักต่อนัก

ไม่ต้องแปลกใจเลยที่ยิ่งเงินในบัญชีของ Founder มีมากเท่าไร พวกเขาก็ยิ่งอยู่ในตำแหน่งที่แข็งแกร่งในการระดมทุนมากขึ้นเท่านั้น ความจริงแล้วเราก็เห็นสตาร์ทอัพเพียงไม่กี่เจ้าในบริษัท Y Combinator ที่ระดมทุนในรอบขอเงินโดยไม่ได้ใช้เงินจากรอบก่อนเลย พวกเขาต้องทำก็เพื่อให้ได้รับข้อเสนอดีๆ จากนักลงทุน หรือพวกเขาอาจจะหาทางออกได้แล้วว่าจะโตได้อย่างไรโดยไม่ต้องใช้เงินจำนวนมากเกินไป

สถานการณ์เลวร้ายจากแรงกดดันของ VC

ด้วยแรงกดดันจาก VC ที่กล่าวมา สถานการณ์มีแนวโน้มจะเป็นไปได้อยู่ 2 ทาง ทางแรกอาจจะไม่ดีต่อ Founder นัก คือเมื่อ VC รู้ว่าบริษัทนี้กำลังแย่ แต่เล็งเห็นว่ายังพอจะมีทางสำเร็จได้ VC ก็อาจจะลงทุนเพิ่มให้แต่เพื่อแลกกับเงื่อนไขบางอย่างที่เป็นประโยชน์ต่อฝ่ายนักลงทุนมากกว่า ผลก็คือ Founder จะเสียการควบคุมรวมถึงหุ้นในบริษัท และอาจจะถึงขั้น Founder โดนเปลี่ยนตัวเลยก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่า Founder เหลือ Leverage อยู่มากแค่ไหน และเมื่อตัวเลขในบัญชีกลายเป็นศูนย์ Leverage ก็จะลดลงเช่นเดียวกันอย่างไม่ต้องสงสัย แต่ว่ากรณีนี้... บริษัทอาจจะอยู่รอดต่อไปก็เป็นได้

สถานการณ์เลวร้ายขั้นสุด

คงนึกภาพออกและไม่ต้องอธิบายอะไรมาก เพราะสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดสำหรับเรื่องนี้ก็คือ การที่บริษัทไม่มีเงินเหลือเลยนั่นเอง

ที่มา: blog.ycombinator.com

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

17 เรื่อง AI ต้องรู้ จากรายงาน AI Index 2024

Techsauce ได้สรุป 17 ประเด็นสำคัญจากรายงาน AI Index Report 2024 ซึ่งจัดทำโดย Stanford Institute for Human-Centered Artificial Intelligence (HAI) ที่รวบรวมประเด็นต่างๆ ของปัญญาประดิ...

Responsive image

แนะเทรนด์ลงทุนในสตาร์ทอัพปี 2024 พร้อมช่องทางใหม่ในการระดมทุนจากงาน KATALYST TALK MEETUP #3

บทความที่เอสเอ็มอี สตาร์ทอัพควรอ่านเพื่อเป็นไกด์ไลน์ในการเผชิญความท้าทายในปีนี้ จากการรับฟังภายในงาน KATALYST TALK MEETUP #3 ‘Navigating the Startup Challenges in 2024 and Beyond’...

Responsive image

เตรียมพบกับงาน SEA Blockchain Week 2024 (SEABW) ยกขบวนกูรูผู้เชี่ยวชาญด้านบล็อกเชน และ Web 3 ระดับโลกกว่า 100 คน มาร่วมพูดคุยแบ่งปันประสบการณ์ที่เมืองไทย

Southeast Asia Blockchain Week หรือ SEABW งานด้านบล็อกเชนสุดยิ่งใหญ่ระดับภูมิภาค ที่เตรียมจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ในวันที่ 24-25 เมษายน 2567 ซึ่งจะจัดขึ้น ณ True ICON HALL ช...