รู้จัก F-NFTs การแบ่งกรรมสิทธิ์ถือครอง NFTs ที่ทุกคนเป็นเจ้าของร่วมกันได้ | Techsauce

รู้จัก F-NFTs การแบ่งกรรมสิทธิ์ถือครอง NFTs ที่ทุกคนเป็นเจ้าของร่วมกันได้

ในช่วงที่ผ่านมาถือว่ามีความร้อนแรงไม่น้อยเลยทีเดียว สำหรับ NFT ซึ่งเป็น Digital Asset ที่มีลักษณะเฉพาะตัว ไม่สามารถที่จะทำซ้ำได้ รวมถึงยังสามารถบ่งชี้ได้ว่าเราสามารถที่จะเป็นเจ้าของได้แต่เพียงผู้เดียว แต่ด้วยคุณสมบัติตรงนี้หลายคนจึงมองว่าทำให้มูลค่าการซื้อ-ขายมีราคาที่สูงเกินไป ดังนั้นจึงมีการคิดค้นการแก้ปัญหาเหล่านั้นด้วย Fractionalized NFTs หรือ F-NFTs ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่สามารถทำให้การถือครองกรรมสิทธิ์ของ  NFTs  สามารถแบ่งกรรมสิทธิ์เป็นเจ้าของร่วมกันได้

F-NFTs

F-NFTs หรือ Fractionalized NFTs คืออะไร ? แตกต่างจาก NFTs อย่างไร

แม้ว่าทั้ง NFT กับ F-NFT จะเป็นสินทรัพทย์ประเภท Non-Fungible Token เหมือนกัน แต่การทำงาน และความสำคัญของ Token ทั้งสองแตกต่างกัน โดยในที่นี้จะเปรียบให้เห็นภาพชัดกับการทำธุรกิจในโลกจริง กล่าวคือ 

NFT นั้นเป็นเหมือนกับธุรกิจที่มีเจ้าของกิจการเพียงคนเดียว มีการจดทะเบียนโดยชื่อ ๆ เดียว มีแห่งเดียวเท่านั้น ดังนั้นในโลกดิจิทัลผู้ครอบครองผลงาน NFT ก็จะมีได้แค่หนึ่งคน และไม่สามารถที่จะทำซ้ำ หรือทดแทนกันได้

F-NFT จะเปรียบเหมือนธุรกิจประเภทห้างหุ้นส่วนของกิจการมีแห่งเดียวในโลก มีผู้ร่วมลงทุนอย่างน้อย 2 คนขึ้นไป ทุกคนเป็นเจ้าของกิจการ มีอำนาจในการตัดสินใจร่วมกันในทุก ๆ เรื่อง ดังนั้น F-NFT จึงเป็นเพียงสัดส่วนของ NFT ทั้งหมดที่ถูกแบ่งออกเป็นส่วนย่อย ทำให้ผู้คนจำนวนมากสามารถอ้างสิทธิ์ความเป็นเจ้าของชิ้นส่วนของ NFT เดียวกันได้ ผ่านการใช้ Smart Contract สร้าง Token จำนวนหนึ่งมาเชื่อมโยงกับต้นฉบับของ NFT ดังกล่าว ทำให้ผู้ถือแต่ละรายมีสัดส่วนการเป็นเจ้าของ NFT และสามารถซื้อขายหรือแลกเปลี่ยนในตลาดรองได้

Fractionalized NFTs หรือ F-NFTs ทำงานอย่างไร?

โดยพื้นฐานแล้ว NFT เป็น  Token ที่ใช้มาตรฐาน ERC-721 ของ Ethereum ซึ่งก่อนที่จะกลายเป็น F-NFT ได้นั้น  อันดับแรกจะถูกล็อกใน Smart Contract ก่อน หลังจากนั้นจะมีการแบ่ง ERC-721 Token ออกเป็นหลายส่วนในรูปแบบของ  ERC-20 Token ตามที่เจ้าของผลงานกำหนดไว้ ซึ่งจะประกอบด้วยราคา metadata และคุณสมบัติอื่น ๆ จากนั้นจึงจะถูกนำไปขายในราคาที่คงที่ตามระยะเวลาที่กำหนด หรือจนกว่าของจะหมด โดยที่ ERC-20 Token จะแสดงถึงความเป็นเจ้าของผลงาน  NFT ในแต่ละส่วน

ลองนึกถึงผลงาน Triptych Inspired by the Oresteia of Aeschylus ของ Francis Bacon ที่มีมูลค่ากว่า 84.6 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นตัวแทนของงานศิลปะราคาสูง และถูกครอบครองโดยเจ้าของเพียงคนเดียว ถูกนำมาแปลงเป็น Digital Asset และแยกส่วนออกเป็น 10,000 ERC-20 Token โดยใช้ Smart Contract ซึ่งเท่ากับว่านักสะสมทุกคนก็จะสามารถเป็นเจ้าของงานศิลปะที่ทรงคุณค่าที่มีเพียงชิ้นเดียวบนโลกได้ในราคาเพียง 8,460 ดอลลาร์ต่อชิ้นเท่านั้น ซึ่งมีราคาไม่แพงมากและจะดึงดูดผู้ซื้อให้สนใจได้ง่ายขึ้น

แต่อย่างไรก็ตามสิ่งสำคัญคือทั้ง NFT และ F-NFT ไม่ได้มีจำกัดอยู่เพียง Ethereum Blockchain เท่านั้น แต่ยังสามารถทำงานบนเครือข่าย Blockchain ใด ๆก็ตาม ที่รองรับ Smart Contract รวมถึง  NFT เครือข่ายทางเลือก เช่น Polygon (MATIC), Cardano (ADA) และ Solana (SOL) ที่สามารถอำนวยความสะดวกในการสร้างและโอน NFT ได้อีกด้วย

Case Study ที่ใช้ประโยชน์จาก F-NFTs

Voice Life บริษัทเทคโนโลยีผู้พัฒนาโซลูชั่นการชาร์จไร้สาย ได้มีการนำ F-NFT มาสร้างรายได้โดยเปิดทางให้ผู้คนสามารถมาร่วมเป็นเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญาของบริษัทได้

โรเบิร์ต สมิธ  CEO ของ Voice Life ได้ค้นพบวิธีการใหม่ที่จะร่วมแบ่งปันการเป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์ของบริษัทให้กับทุกคนในรูปแบบของ Fractional Non-Fungible Token หรือ  F-NFT ที่อยู่ภายในอีโคซิสเต็มของ BNB Chain 

โดย F-NFT ของ Voice Life คือการนำทรัพย์สินทางปัญญามาแปลงให้อยู่ในรูปของ Token ซึ่งเป็นเครื่องมือใหม่ที่จะเปิดโอกาสให้ผู้ถือ Token F-NFT สามารถใช้เงินทำงาน และสร้างรายได้ให้กับ Voice Life ไปในเวลาเดียวกัน

สำหรับผู้ถือครอง F-NFT ของ Voice Life จะได้รับสิทธิประโยชน์จากทรัพย์สินทางปัญญาของบริษัท คือ จะถือครองกรรมสิทธิ์แบบสัดส่วน (fractional ownership) ในทรัพย์สินทางปัญญาของบริษัท และจะสามารถสร้างรายได้จากสิทธิบัตรที่ได้รับจากสหรัฐอเมริกา ตลอดจนสิทธิบัตรจากประเทศอื่น ๆ มากมาย

นอกจาากนี้ผู้ถือ F-NFT จะถือครองกรรมสิทธิ์แบบสัดส่วนในสิทธิบัตรระหว่างประเทศใด ๆ ที่จะมีการจดในอนาคต รวมถึงจะสามารถสร้างรายได้จากค่าลิขสิทธิ์ผลิตภัณฑ์สูงสุด 20 ปี อีกทั้งยังสามารถสร้างรายได้จากทุกการจำหน่ายใบอนุญาต

และผู้ถือ F-NFT จะได้รับสิทธิ์เข้าถึงแพลตฟอร์ม F-NFT ของบริษัท ซึ่งมีสภาพคล่องในการแลกเปลี่ยนซื้อขาย พร้อมได้รับประโยชน์จากการเติบโตในอนาคต และสร้างรายได้จากทรัพย์สินทางปัญญาของ Voice Life

ข้อจำกัดที่อาจจะเกิดขึ้นจากการถือครอง F-NFTs

การถือครอง Digital Asset อย่าง F-NFT นั้นก็มีความเสี่ยงสูงไม่ต่างไปจาก NFT  Bitcoin  Cryptocurrency และการแบ่งสัดส่วนในการถือครองกรรมสิทธิ์เองก็ต้องใช้ระบบที่มีความปลอดภัยมากกว่าการครอบครองผลงานแบบ NFT ซึ่งแนวทางทางกฎหมายและระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับ F-NFT ก็ยังไม่มีความชัดเจนมากนัก โดยยังมีประเด็นด้านทรัพย์สินทางปัญญา การจัดประเภททางการเงิน สิทธิในการเผยแพร่ และภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ที่ยังไม่ได้รับการยืนยันใด ๆ  รวมถึงสิทธิที่นักลงทุน F-NFT และผลประโยชน์ที่จะได้รับก็แตกต่างกันไปในแต่ละโครงการเช่นกัน

ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างมากที่จะศึกษาข้อมูลที่เกี่ยวข้อง เช่น การทำงานโดยละเอียด ข้อกฏหมาย สิทธิประโยชน์ รวมถึงระบบความปลอดภัย และความเสี่ยงต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นก่อนจะตัดสินใจถือครองกรรมสิทธิ์จาก F-NFT ใดๆ


อ้างอิง Business Insider , Bybit Learn 


ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

อินเดียทะยานสู่ $25 ล้านล้าน กับเส้นทางเศรษฐกิจดิจิทัล ที่ขับเคลื่อนด้วย Digital Supercycle

การเดินทางของอินเดียในฐานะเศรษฐกิจเกิดใหม่ กำลังมุ่งหน้าไปยังเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่กว่าเดิม จากเป้าหมายเศรษฐกิจมูลค่า 7 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ สู่วิสัยทัศน์ที่ชัดเจนในการบรรลุ 25 ล้านล้า...

Responsive image

ควอมตัมคอมพิวติ้งกับการปฏิวัติการเงิน โอกาสทอง หรือหายนะ ? ส่องแนวคิดจาก HSBC, Visa และผู้เชี่ยวชาญ

เทคโนโลยีควอนตัม (Quantum Computing) ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป เพราะในตอนนี้ควอนคัมกำลังมีบทบาทสำคัญในทุกวงการแม้กระทั่งวงการเงินที่มีการพูดถึงเรื่องนี้ผ่านงาน Singapore Fintech F...

Responsive image

เจาะลึก AI กับการเงินผ่านสายตาโปรแกรมเมอร์และผู้ใช้

บทความนี้จะพาคุณไปฟังทัศนะของ BlackRock ซึ่งเป็นผู้นำด้านการจัดการสินทรัพย์ระดับโลก และ GitHub แพลตฟอร์มที่นักพัฒนาทั่วโลกใช้ ในหัวข้อ Building tomorrow: Explaining the AI Tech Sta...