NFT คืออะไร แตกต่างกับ Cryptocurrency อย่างไร ทำความเข้าใจทุกมิติใน 5 นาที | Techsauce

NFT คืออะไร แตกต่างกับ Cryptocurrency อย่างไร ทำความเข้าใจทุกมิติใน 5 นาที

NFT หรือ Non-Fungible Token สินทรัพย์ดิจิทัลที่มีลักษณะเฉพาะตัว ไม่สามารถทำซ้ำได้ ยกตัวอย่างจากการที่ Jack Dosey ประกาศประมูลทวีตแรกของเขา “Just set up my twittr” ในรูปแบบ ‘สินทรัพย์ดิจิทัล NFT’ และปิดการประมูลที่ราคา 2.9 ล้านเหรียญ โดยผู้ชนะการประมูลคือ Sina Estavi นักธุรกิจในประเทศมาเลเซีย  โดยให้เหตุผลว่าทวีตแรกนั้นมีมูลค่ามหาศาลเปรียบเสมือนรูปโมนา ลิซ่าของศิลปิน ลีโอนาร์โด เดอ ดาวินชีเลยทีเดียว

NFT

NFT คืออะไร แตกต่างกับ Cryptocurrency อย่างไร 

ในช่วงเวลาไม่กี่เดือนมานี้ เชื่อว่าหลาย ๆ คน ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ได้ยินคนพูดถึง Bitcoin Cryptocurrency DeFi บ่อยจนเริ่มทำความรู้จักกับสิ่งเหล่านี้และค่อย ๆ เข้าใจไม่มากก็น้อย แต่พอคราวนี้ NFT ก็เป็นอีกสินทรัพย์ดิจิทัลที่เริ่มเป็นกระแสในวงกว้าง มีการนำมาใช้ซื้อขายในวงการเกม ศิลปะ และกีฬา ก็คงมีคำถามเพิ่มเติมอีกว่าแล้วมันแตกต่างจากสินทรัพย์ก่อนหน้าอย่างไร 

เพื่อเปรียบเทียบให้เห็นภาพชัดเจนมากขึ้น  Cryptocurrency คือสินทรัพย์หรือเหรียญดิจิทัลประเภท Fungible Token ที่ไม่สามารถแยกความแตกต่าง แต่สามารถแลกเปลี่ยนหรือทดแทนกันได้ ตัวอย่างเช่น เราซื้อรถ Tesla ด้วยจำนวนบิทคอยน์ 2 BTC อีลอน มัสก์ก็สามารถนำเหรียญ 2 BTC ของเราไปแลกกับสถาบันการเงินได้ต่อ 

ขณะที่ NFT จะเป็นสินทรัพย์หรือเหรียญดิจิทัลแบบ ‘Non-Fungible Token’ กล่าวคือ มีลักษณะเฉพาะตัว ไม่สามารถทำซ้ำ หรือทดแทนกันได้ ถ้าในโลกความเป็นจริงก็อาจสังเกตได้จาก หนังสือการ์ตูนโดราเอมอนผลิตขึ้นเล่มแรกที่มีลายเซ็นนักเขียน ที่ดินในเขตหนึ่งของกรุงเทพฯ แต่ในโลกดิจิทัลอาจเทียบได้ว่าเป็นรูปศิลปะแบบ digital painting ของศิลปินชื่อดังที่เซ็นกำกับไว้แล้ว มีรูปเดียวในโลก จึงกล่าวได้ว่า NFT เป็นนวัตกรรมที่บ่งชี้ว่าเราสามารถเป็นเจ้าของสินทรัพย์ดิจิทัลนั้นได้แต่เพียงผู้เดียว

NFT ช่องทางสร้างรายได้ผลงานบนโลกดิจิทัล

ด้วยความที่ NFT เป็นสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีอยู่หนึ่งเดียว จึงเป็นที่ชื่นชอบของกลุ่มนักสะสมของอย่างมาก เพราะให้ความรู้สึกว่าตนมีสิทธิพิเศษที่ได้ครอบครองของที่มีจำกัดและหายาก จึงไม่แปลกใจเลยว่าทำไมคนนิยมประมูลสินทรัพย์ NFT มักอยู่ในวงการรูปภาพศิลปะ (หรือที่เรียกว่า Crypto Art) วิดีโอเกม กีฬา หรือแม้กระทั่ง ใน Twitter 

ดังที่เห็นจากผู้คนเข้าประมูลรูปภาพประเภทคอลลาจ “Everydays -- The First 5000 days” ที่ไม่มีอะไรหวือหวา เป็นเพียงแค่การปะติดปะต่อรูปภาพในชีวิตประจำวันของศิลปิน Beeple ติดต่อกัน 5,000 วัน แต่ก็ได้รับความสนใจล้นหลาม และได้รับเงินประมูลสูงถึง 69 ล้านดอลลาร์ เพราะคนให้คุณค่ากับความตั้งใจของศิลปิน หรือมองว่าไม่มีใครถ่ายรูปได้เหมือนกับศิลปินคนนี้ 

นอกจากนี้ ยังมีศิลปินจำนวนหนึ่งที่ได้แจ้งเกิดในตลาดซื้อขาย NFT อาทิ Cryptopunk, CryptoKitties, BLACKSNEAKERS โดยส่วนใหญ่จะซื้อขายในตลาดที่ชื่อว่า Nifty Gateway, Rarible, OpenSea, MakersPlace, Known Origin ทั้งนี้ งานทั้งหมดจะซื้อขายผ่านสกุลเงินดิจิทัลผ่านระบบของ Ethereum

NFT

มองมุมกลับ : กรณีงานศิลปะโดนขโมยในตลาด NFT 

จะสังเกตได้ว่ามีศิลปินหลายคนที่พลิกชีวิตจากหลังมือเป็นหน้ามือ เพราะขายผลงานในตลาด NFT ได้หลายร้อยล้านดอลลาร์ อย่างไรก็ดี ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่่ผ่านมา กลับพบว่ามีผู้สร้างผลงานและนักสะสมหลายรายตกเป็นเหยื่อของตลาด NFT สูญเสียทั้งรายได้และความเป็นเจ้าของผลงาน แม้ว่าตัว NFT จะคล้ายกับบิทคอยน์ตรงที่มีความปลอดภัย เพราะสามารถตรวจสอบช้อมูลและธุรกรรมการเงินในระบบบล็อกเชนได้ก็ตาม

โดยบทความใน Business Insider ได้รายงานว่า Michael J. Miraflor หนึ่งในนักสะสมผลงาน NFT ที่มีบัญชีผู้ใช้ในตลาดซื้อขาย Nifty Gateway ออกมาเผยว่าบัญชีตนโดนแฮกเกอร์หลอกขโมยผลงานทั้งหมดและใช้เงินในบัตรเครดิตไปกว่า 1 หมื่นดอลลาร์สหรัฐ 

ยังไม่เพียงเท่านั้น ก่อนหน้านี้ในเดือนกุมภาพันธ์ มีผู้ใช้หลายรายที่เป็นศิลปินได้ออกมาเตือนใน Twitter ว่ามีแฮกเกอร์รายหนึ่ง ได้สวมรอยเป็นผู้ใช้ Twitter ที่ชื่อว่า @tokenizedtweets ขโมยผลงานศิลปะในแพลตฟอร์มไปขายเป็นผลงาน NFT และปล่อยให้คนที่ซื้อผลงานในตลาดอ้างสิทธิ์เป็นเจ้าของใต้ผลงานนั้น ๆ ด้วยข้อความรหัสบล็อกเชน แม้ว่าผู้ใช้ @tokenizedtweets จะโดน Twitter แบนบัญชีผู้ใช้ถาวรแล้ว แต่ก็แสดงให้เห็นว่า NFT ไม่ได้รับประกันความปลอดภัยของผลงานนั้นเท่าไรนัก ต่อให้มีระบบบล็อกเชนและกฎหมายคุ้มครองลิขสิทธิ์ผู้สร้างสรรค์ผลงานไว้ มิจฉาชีพก็สามารถเสาะหาวิธีขโมยผลงานศิลปินและนักสะสมได้

NFT สามารถสร้างมูลค่าได้ในระยะยาวหรือไม่

แท้จริงแล้ว NFT พึ่งได้รับความนิยมและได้รับการยอมรับในบางวงการเท่านั้น แต่เราก็ได้เห็นมูลค่าเงินหมุนเวียนอยู่เป็นมหาศาล เริ่มมีตลาดซื้อขายเกิดขึ้นรองรับ มีผู้ซื้อที่มีกำลังเงิน และผู้ขายที่มีผลงาน 

ในอนาคต มีแนวโน้มอย่างสูงว่าวงการอื่นนอกเหนือจากศิลปะ เกมส์ กีฬา ก็อาจนำนวัตกรรม NFT ไปพิจารณาสร้างเป็นตลาดซื้อขายได้ เช่น การซื้อขายโฉนดที่ดิน บ้าน หรือรีสอร์ทในรูปแบบสินทรัพย์ดิจิทัล NFT จนกระทั่งเข้าไปอยู่ในกระแสหลักได้เหมือนการซื้อขายสกุลเงินคริปโตเคอร์เรนซีอย่างบิทคอยน์ 

ขณะเดียวกัน เหมือนกับตลาดสินทรัพย์อื่นทั่วไป วันไหนที่ราคา NFT ขึ้นหลายล้านดอลลาร์ ก็ต้องมีสักวันหนึ่งที่ราคาตกได้เช่นกัน เป็นสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง และมีโอกาสที่คนจะไม่เชื่อในมูลค่าของผลงานได้ ขึ้นอยู่กับว่าในอนาคตคนเชื่อในสินทรัพย์ NFT มากเพียงใด

อ้างอิงจาก CNBC , BBC , business insider , technologyreview ,theverge

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

ท่องเที่ยวไทยมีดี แต่ SME ยังไม่พร้อม ?

ธุรกิจท่องเที่ยวจะปรับตัวยังไง เมื่อเจอความท้าทายรุมล้อม ไม่ว่าจะเป็นการปรับใช้เทคโนโลยีในธุรกิจ การรับมือธุรกิจจีนที่เข้ามารุกตลาด และการสร้างบริการท่องเที่ยวให้ตอบโจทย์นักเดินทาง...

Responsive image

อินโดนีเซีย เปิดรับเทคโนโลยีอย่างไร เพื่อสร้างเศรษฐกิจยุคใหม่ ถอดบทเรียนจากงาน Bali International Airshow

อินโดนีเซีย กลายเป็นประเทศเนื้อหอมที่บิ๊กเทคฯ ต่างประเทศแห่เข้าไปลงทุนมากมาย ซึ่งหากนับแค่ช่วงครึ่งแรกของปี 2023 เพียงปีเดียวอินโดนีเซียสามารถสร้างมูลค่าถึง 34,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ...

Responsive image

รู้จัก “Phygital” การตลาดยุคใหม่แห่งอนาคต ผ่านเทคโนโลยี Immersive Experience ของ Translucia

Techsauce จึงอยากพาไปทำความรู้จักกับเทคโนโลยี ‘โลกเสมือน’ ผ่านหนึ่งในผู้เล่นคนสำคัญอย่าง Translucia บริษัทเทคโนโลยีที่พัฒนา Immersive Experience ซึ่งเป็นแนวคิดที่จะเปลี่ยนวิธีการเ...