Novavax วัคซีนโควิด-19 ตัวใหม่จากสหรัฐฯ ซึ่งปัจจุบันอยู่ในระหว่างการเจรจาร่วมกับองค์กรเภสัชกรรมเพื่อการนำเข้ามาสู่โรงพยาบาลเอกชนแห่งต่าง ๆ ในประเทศไทย โดยวัคซีน Novavax นี้ได้รับการคิดค้นและพัฒนาโดยบริษัท Novavax Inc หนึ่งในผู้ผลิตวัคซีนรายใหญ่ของสหรัฐอเมริกา
Novavax ใช้เทคโนโลยีการผลิตแบบใช้โปรตีน (Protein-nanoparticle Vaccine) กล่าวคือ เป็นวัคซีนที่ใช้ชิ้นส่วนโปรตีนของโคโรนาไวรัสมารวมกับสารกระตุ้นภูมิต้านทาน และฉีดเข้าไปในร่างกายเพื่อกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันเชื้อไวรัส โดยวิธีการผลิตในลักษณะนี้จะสามารถกระตุ้นภูมิต้านทานได้มากกว่า 3,000 ไตเตอร์ (Titer) เลยทีเดียว ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่มากที่สุดเมื่อเทียบกับเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนแบบไวรัลเวกเตอร์ที่ใช้ใน Astrazeneca และ Sputnik V รวมถึงเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนแบบ mRNA ที่ใช้ใน Pfizer และ Moderna ด้วย
Novavax เริ่มทดลองวัคซีนในระยะที่ 1 เมื่อเดือนพฤษภาคม 2020 ในสหรัฐฯ ก่อนจะทดลองในระยะที่ 2 และ 3 ตามมาในต่างประเทศ อย่างอังกฤษ ออสเตรเลีย แอฟริกาใต้ และเม็กซิโก โดยเมื่อวันที่ 28 มกราคมที่ผ่านมา Novavax ได้รายงานผลการทดลองเบื้องต้นในอังกฤษ พบว่า วัคซีนดังกล่าวมีประสิทธิภาพในการป้องกันโควิด-19 กว่า 89% ขณะที่ผลการทดลองในแอฟริกาใต้ซึ่งมีการระบาดของสายพันธุ์เบต้า มีประสิทธิภาพอยู่ที่ประมาณ 50-60%
จนกระทั่งเมื่อวันที่ 12 มีนาคม Novavax ได้เผยผลการทดลองอีกครั้งว่าตัววัคซีนชนิดนี้มีประสิทธิภาพในการป้องกันโควิด-19 สายพันธุ์ดั้งเดิมสูงถึง 90.4% ส่วนสายพันธุ์อื่น ๆ อย่างอัลฟาและเบต้า จะอยู่ที่ 86% และ 55% ตามลำดับ ทว่ามีประสิทธิภาพในการป้องกันอาการป่วยรุนแรงได้ 100% ทุกสายพันธุ์
ในส่วนของการใช้งาน วัคซีน Novavax นั้นเป็นวัคซีนที่มีลักษณะพร้อมใช้ ผู้เข้ารับวัคซีนจำเป็นต้องฉีดทั้งหมด 2 เข็ม โดยเข็มที่ 2 ต้องฉีดห่างจากเข็มที่ 1 ราว ๆ 3 สัปดาห์ สามารถฉีดได้ตั้งแต่ผู้ที่มีอายุ 18 ปี - 84 ปี และมีข้อห้ามเช่นเดียวกันกับวัคซีนชนิดอื่น ๆ ได้แก่
ห้ามฉีดในผู้ที่มีอาการแพ้รุนแรงจากการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในครั้งก่อน ๆ
ห้ามฉีดในผู้ที่มีอาการแพ้ส่วนประกอบของวัคซีน
ห้ามฉีดในผู้ที่มีอาการภูมิแพ้อย่างรุนแรง
ห้ามฉีดในสตรีมีครรภ์
อย่างไรก็ตาม ผลการเจรจานำเข้าวัคซีน Novavax นั้นยังไม่ได้มีการยืนยันอย่างเป็นทางการ ซึ่งหากบรรลุข้อตกลง ก็จะต้องมีการยื่นเอกสารขอรับการประเมินวัคซีนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ต่อไปเพื่อให้วัคซีนดังกล่าวได้ขึ้นทะเบียนเป็นวัคซีนโควิด-19 ที่ถูกต้องและสามารถให้ประชาชนฉีดได้อย่างปลอดภัย
อ้างอิง: verywellhealth
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด