หนึ่งในไฮไลต์สำคัญของงาน CES 2025 คือการที่ Jensen Huang ซีอีโอของ NVIDIA ได้มีการพูดถึงยุคต่อไปของ AI นั่นก็คือ ‘Physical AI’ ซึ่งนับเป็นความก้าวหน้าครั้งสำคัญยิ่งที่ AI กำลังจะเข้ามามีบทบาทในโลกแห่งความเป็นจริงมากขึ้น
ว่าแต่ Physical AI ที่ Jensen Huang กล่าวถึงคืออะไร ทำอะไรได้ และสำคัญอย่างไร ?
Physical AI หรือ ปัญญาประดิษฐ์เชิงกายภาพ หรือบางครั้งอาจถูกเรียนว่า Generative Physical AI เป็น AI ที่ผสานความสามารถของปัญญาประดิษฐ์เข้ากับข้อมูลแห่งโลกความเป็นจริง ช่วยให้ AI สามารถรับรู้ เข้าใจ ให้เหตุผลกับโลกทางกายภาพแบบเรียลไทม์
หรือกล่าวอีกมุมหนึ่งคือเป็น AI ที่ช่วยให้เครื่องจักรอัตโนมัติ เช่น หุ่นยนต์ หรือรถยนต์ไร้คนขับ สามารถทำงานบนโลกความเป็นจริงอันแสนซับซ้อนนี้ได้
อย่างที่กล่าวไปว่า Physical AI อาศัยการทำงานของปัญญาประดิษฐ์ ร่วมกับข้อมูลแห่งโลกความเป็นจริง หากโมเดลภาษาขนาดใหญ่ (LLM) ทำงานโดยใช้ข้อมูลมหาศาลที่ถูกฝึกฝนมาจากโลกอินเทอร์เน็ต Physical AI ก็จะต้องเรียนรู้โครงสร้างพื้นฐานของโลกทางกายภาพ วัตถุ ไปจนถึงพฤติกรรมต่างๆ เพื่อให้ทำงานได้คล้ายกับมนุษย์นั่นเอง
โดยข้อมูลที่ใช้ฝึก Physical AI มาจากหลายแหล่ง ยกตัวอย่างเช่น การสร้างแบบจำลองของพื้นที่บนโลกใบนี้ขึ้นมาโดยอ้างอิงตามหลักฟิสิกส์จริง เช่น การสร้างโรงงานจำลองด้วยคอมพิวเตอร์เหมือนกับสร้างเกม แล้วใส่เซ็นเซอร์เสมือนกับหุ่นยนต์เสมือนลงไป จากนั้นก็จำลองเหตุการณ์ต่างๆ เหมือนที่เกิดขึ้นจริงในโรงงาน
เช่น ให้หุ่นยนต์ขยับไปมา เซ็นเซอร์พวกนี้ก็จะบันทึกทุกอย่างที่เกิดขึ้นไว้ รวมถึงพวกการเคลื่อนที่ของวัตถุ การชนกัน หรือแม้แต่แสงตกกระทบในโรงงานจำลองด้วย ทั้งหมดนี้เพื่อให้มั่นใจได้ว่าข้อมูลที่ถูกฝึกมานั้นจะทำให้ Physical AI สามารถทำงานบนโลกจริงได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
อีกวิธีหนึ่งคือ การใช้เซ็นเซอร์ (เช่น เซ็นเซอร์อุณหภูมิ เรเดาร์ ไลดาร์ อินฟราเรด) รวมถึงกล้อง และไมโครโฟน เพื่อบันทึกคุณสมบัติเชิงพื้นที่ เชิงเวลา และเชิงวัตถุ จากนั้นนำไปเข้ากระบวนการแปลงข้อมูล เพื่อประมวลผลให้เป็นภาพเดียวกัน
จุดประสงค์ของ Physical AI คือการนำพลังของ AI มาใช้กับเครื่องจักรต่างๆ บนโลกความเป็นจริง เช่น การนำไปใช้กับหุ่นยนต์ที่สามารถเดิน คิด ตัดสินใจได้เอง ซึ่งจะเป็นอนาคตของแรงงานรูปแบบใหม่อย่างในปัจจุบันที่ Tesla มีการเปิดตัว และทดลองใช้งานหุ่นยนต์ฮิวแมนนอยด์ Optimus ภายในโรงงานรถยนต์แล้ว
ประโยชน์อีกรูปแบบหนึ่งคือ การนำมาเป็นผู้ช่วยในงานบางอย่างที่มีมนุษบ์มีข้อจำกัด ยกตัวอย่างเช่น สมมติคุณเป็นช่างดูแลกังหันลมหรือแผงโซลาร์เซลล์ ปกติต้องคอยตรวจเช็คตามตารางเวลา หรือไม่ก็รอจนกว่ามันจะพังก่อนถึงจะซ่อม ซึ่งอาจทำให้เสียเวลาซ่อมโดยใช่เหตุ หรือเกิดปัญหากะทันหันที่ไม่ได้เตรียมตัวไว้ก่อน
แต่ถ้าใช้ Physical AI มันจะช่วยตรวจสอบข้อมูลจากเซ็นเซอร์ต่างๆ ในแผงหรือกังหันแบบเรียลไทม์ แล้วคาดการณ์ล่วงหน้าได้เลยว่าส่วนไหนใกล้จะพัง ทำให้คุณซ่อมบำรุงได้ถูกจุดและตรงเวลา ลดเวลาที่ระบบหยุดทำงาน แถมยังช่วยยืดอายุการใช้งานของอุปกรณ์ได้อีกด้วย
หุ่นยนต์
เช่น หุ่นยนต์เคลื่อนที่อัตโนมัติในคลังสินค้าที่สามารถเคลื่อนที่ในสภาพแวดล้อมที่ซับซ้อน เดินหลบสิ่งกีดขวางได้ราวกับมนุษย์ รวมไปถึงหุ่นยนต์ผ่าตัด และหุ่นยนต์ฮิวแมนนอยด์ที่สามารถรับรู้ เข้าใจ และโต้ตอบกับโลกความเป็นจริงได้ในทุกๆ งานที่ถูกมอบหมาย
ยานยนต์ไร้คนขับ
ที่จะทำการเก็บข้อมูลผ่านเซ็นเซอร์รอบตัวรถ เพื่อนำมาประมวลผลถึงสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นบนท้องถนนแบบเรียลไทม์ เพื่อให้รถยนต์สามารถตัดสินใจการขับขี่ด้วยตนเองโดยที่ไม่จำเป็นต้องมีมนุษย์ควบคุม
พื้นที่อัจฉริยะ
หรือพื้นที่ที่ใช้เทคโนโลยีต่างๆ ทั้งเซ็นเซอร์ กล้องวรจรปิด และ AI เพื่อทำให้พื้นที่เหล่านั้นสามารถทำงานได้เองอัตโนมัติ เช่น โรงงานหรือคลังสินค้าขนาดใหญ่ที่มีคน รถยก และหุ่นยนต์ วิ่งกันขวักไขว่ Physical AI จะใช้กล้องวงจรปิดและระบบคอมพิวเตอร์วิเคราะห์ภาพขั้นสูง ช่วยวางแผนเส้นทางการเคลื่อนที่ของทุกอย่างในโรงงานได้แบบเรียลไทม์ ทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น แถมยังช่วยเพิ่มความปลอดภัยด้วย เพราะระบบจะเข้าใจสภาพแวดล้อมที่ซับซ้อนในโรงงาน และสามารถแจ้งเตือนหรือป้องกันอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นได้
อ้างอิง : NVIDIA, arcetypeai
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด