SPAC คืออะไร เหตุใดบริษัทยุคใหม่นิยมใช้ แทนการระดมทุนผ่าน IPO? | Techsauce

SPAC คืออะไร เหตุใดบริษัทยุคใหม่นิยมใช้ แทนการระดมทุนผ่าน IPO?

ไม่นานมานี้ เราได้เห็นปรากฏการณ์สำคัญในแวดวงการลงทุนในไทย จะเป็นนักลงทุนก็ดี หรือคนทั่วไปต่างแห่กันจองซื้อหุ้นบริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ ‘OR’ ซึ่งเป็นหุ้น IPO (Initial Public Offering) ไหลทะลักจนธนาคารที่เปิดให้บริการล่มกันเลยทีเดียว แน่นอนว่าการ IPO ก็เป็นวิธีหนึ่งที่บริษัทขายหุ้นให้สาธารณะเป็นครั้งแรกเพื่อระดมเงินทุนในการสร้างผลผลิตจนเติบโตและได้กำไร

spac

แต่หันไปมองต่างประเทศ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า (EV) เมื่อปี 2020 ที่ผ่านมา Startup หรือบริษัทอื่น ๆ เริ่มหันมาเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ผ่านวิธี SPAC (Special Purpose Acquisition Companies) ดังที่เห็นจากกรณี Nikola บริษัทผลิตรถบรรทุกพลังงานไฟฟ้า ได้เข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ Nasdaq ของสหรัฐผ่านการเสนอขายหุ้นแก่บริษัท SPAC ที่มีชื่อว่า VectoIQ Acquisition Corp. และยังไม่รวมไปถึงข่าวลือการเข้าตลาดหลักทรัพย์ผ่านวิธี SPAC ของ Lucid Motors หรือ Faraday ซึ่งเป็น Startup ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น

แล้วเหตุใดบริษัทจำนวนมาก ถึงเลือกเข้าตลาดหลักทรัพย์ผ่านวิธี SPAC มากกว่าการ IPO แบบดั้งเดิม และเป็นเทรนด์ใหม่ที่จะเข้ามาแทนที่วิธี IPO หรือไม่ ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นประเด็นน่าสนใจในวงการธุรกิจไม่น้อยเลยทีเดียว

SPAC ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่มีมากว่า 20 ปีแล้ว

รายงานผลวิเคราะห์จาก PwC กล่าวว่า SPACs (Special Purpose Acquisition Companies) คือบริษัทที่จดทะเบียนเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ และระดมเงินจากนักลงทุนแล้ว แต่ไม่มีแผนธุรกิจแน่ชัด (Blank check) อาจจะเป็นบริษัทที่ตั้งขึ้นเพื่อลงทุนในธุรกิจอื่นโดยเฉพาะ หรือมีความตั้งใจจะควบรวมหรือเข้าซื้อกิจการอื่น ทั้งนี้ บริษัท SPAC จะมีเวลา 2 ปีในการค้นหาธุรกิจที่น่าสนใจจะตกลงดีล มิฉะนั้น บริษัทดังกล่าวจะต้องคืนทุนให้แก่นักลงทุน

โดยธุรกิจที่ได้ควบรวมกิจการกับบริษัท SPAC ก็จะสามารถระดมเงินทุนผ่านตลาดหลักทรัพย์ได้ภายใต้ชื่อของธุรกิจนั้นเลย และได้รับความช่วยเหลือจากบริษัท SPACs ผ่านเงินทุนและทรัพยากร 

ข้อตกลง SPAC เกิดขึ้นครั้งแรกในทศวรรษ 1990 แต่ยังไม่เป็นนิยมเท่าการ IPO จนกระทั่งในปี 2020 จะเห็นว่าดีล SPAC เพิ่มขึ้นถึง 204 ครั้ง และระดมทุนได้รวมกันกว่า 7 หมื่นล้านเหรียญ (ข้อมูล ณ เดือนธ.ค. 2020) สืบเนื่องจากบริษัทเอกชนระดับบลูชิพ ธนาคาร และผู้ประกอบการรายใหญ่เริ่มก่อตั้งบริษัทรูปแบบ SPAC มากขึ้น ดึงดูดบริษัทขนาดเล็กและสตาร์ทอัพที่สนใจจะระดมทุนผ่านตลาดหลักทรัพย์

ตัวอย่างบริษัทรายใหญ่ที่เข้ามาเป็นบริษัท SPAC ได้แก่ Pershing Square Capital Management, Goldman Sachs, Deutsche Bank, Credit Suisse ฯลฯ

SPAC แตกต่างจาก IPO อย่างไร

อย่างที่ทราบกันว่าทั้ง SPAC และ IPO ล้วนเป็นวิธีที่บริษัทใช้ระดมทุนจากสาธารณะเพื่อนำมาใช้ในการดำเนินธุรกิจ แต่ทำไมหลัง ๆ มานี้บริษัทเลือกจะขายหุ้น หรือควบรวมกิจการกับบริษัท SPAC มากขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ ส่วนหนึ่งมาจาก กระบวนการควบรวมกิจการกับบริษัท SPAC ‘ไม่ซับซ้อน’ และ ‘เสี่ยงน้อยกว่า’ เมื่อเทียบกับการนำบริษัทจดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์ด้วยการ IPO 

ด้วยเหตุที่บริษัท SPAC ได้เข้าสู่กระบวนการ IPO เรียบร้อยแล้ว การควบรวมกิจการกับบริษัท SPAC จึงลัดไปสู่ขั้นตอนที่กิจการจะลงนามกับบริษัท SPAC ในมูลค่าที่ตกลงไว้เลย หลังจากที่ลงนามแล้วก็เผยแพร่ประกาศดีลการควบรวมกิจการให้สาธารณะทราบก็เป็นอันเสร็จสิ้น ทั้งหมดนี้จะใช้เวลาเพียง 2-4 เดือนเท่านั้น ในส่วนของบริษัทที่จะ IPO จะต้องเตรียมตัวถึง 1-2 ปี ก่อนจะเข้ากระบวนการ IPO และจะต้องผ่านการตรวจสอบจากคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์อย่างเคร่งครัด นอกจากนี้จะต้องยื่นเอกสารทั้ง คำขออนุญาต ข้อมูลต่าง ๆ ของกิจการ คำขอจดทะเบียนต่อตลาดหลักทรัพย์ และเปิดเผยงบการเงิน ถึงจะเข้าสู่ขั้นตอนการเสนอขายในที่สุด

ยิ่งไปกว่านั้น ในปี 2020 โควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อการ IPO ทำให้บริษัทหลายแห่งต้องเลื่อนการนำเสนอข้อมูลนักลงทุน (Roadshow) ในสถานที่ต่าง ๆ ก่อนการเสนอขายหุ้นในวันจริง อีกทั้งได้รับความเสี่ยงจากประเด็นด้านสังคมและการเมือง ทำให้บริษัทเล็งการลงทุนแบบ 1 บริษัท ต่อ 1 บริษัทในรูปแบบของ SPAC มากกว่า เพราะบริษัท SPAC จะรับความเสี่ยงด้านเงินทุนและกำไรขาดทุนแทน

อนาคตของ SPAC : จะรุ่งหรือจะร่วง

Paul Dellaquila จากกองทุน Defiance Next Gen SPAC Derived ETF ได้กล่าวกับสำนักข่าว CNBC ว่าการเสนอขายหุ้น หรือการควบรวมกิจการกับบริษัท SPAC จะเพิ่มขึ้นพอ ๆ กันกับการ IPO และบริษัทที่ทำข้อตกลงส่วนใหญ่จะไม่ได้มาจากกิจการขนาดเล็กอีกต่อไป หากแต่เป็นบริษัทที่มีขนาดใหญ่ หรือสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์น นอกจากนี้ บริษัทในแวดวงเทคโนโลยี และยานยนต์ไฟฟ้าจะหันมาทำข้อตกลงแบบ SPAC กันมากขึ้น

เช่นเดียวกันกับ แบรดลีย์ ทัสก์ นักลงทุน Venture Capitalist ที่ตั้งบริษัท SPAC เพื่อลงทุนในอุตสาหกรรมเกม และสาธารณะสุข มองว่าในปี 2021 ตัวเลขดีล SPAC อาจลดลง แต่ยังคงได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง ดังที่เขาได้มีการเจรจากับสถาบันการลงทุนหลายแห่งในการก่อตั้งเป็นบริษัท SPAC

ทั้งนี้ ปัจจัยที่จะกำหนดความเป็นไปของการ SPAC จะขึ้นอยู่กับกฎระเบียบของหน่วยงานกำกับดูแลของตลาดหลักทรัพย์ สภาวการณ์ของตลาดหลักทรัพย์ และสภาพเศรษฐกิจ ณ เวลานั้น

อ้างอิงจาก :

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

สำรวจ orbix เมืองหลวงแห่งโอกาสของคริปโตเนียนและจักรวาล Digital Asset ของ Unita Capital

ทำความรู้จักแพลตฟอร์ม orbix กระดานเทรดนี้ต่างจากที่อื่นตรงไหน หัวใจสำคัญของการเปิด ‘เมืองหลวงแห่งโอกาสของคริปโตเนียน (The Capital of Kryptonian)’ คืออะไร รวมไว้ในบทความนี้แล้ว...

Responsive image

นับถอยหลัง Bitcoin Halving Month พร้อมแนวคิดการลงทุนของคนรุ่นใหม่ ในงาน Bitkub Meetup 2024: The Halving Month

กลับมาอีกครั้งกับงาน Bitkub Meetup 2024 ครั้งที่ 2 ในหัวข้อ: The Halving Month ร่วมนับถอยหลังสู่เดือนแห่ง Bitcoin Halving บทความนี้จะพาไปเจาะลึกถึงประวัติศาสตร์ของ Cryptocurrency แ...

Responsive image

6 เทรนด์ Gen AI ฉบับเข้าใจง่าย จาก Accenture พร้อมเคสการใช้งานจริงในภาคธุรกิจ

รวมประเด็นน่ารู้จาก Accenture ที่จะทำให้ผู้บริหารและพนักงานเข้าใจการนำ Generative AI ไปใช้ประโยชน์มากขึ้น เช่น 6 เทรนด์ Gen AI พร้อมเคสการใช้งานจริงในภาคธุรกิจ, ผู้บริหารระดับ C-su...