SpaceX : ทำไม Starship และ Europa Clipper ถึงเป็นภารกิจสำคัญที่อาจเปลี่ยนโลกอวกาศ ? | Techsauce

SpaceX : ทำไม Starship และ Europa Clipper ถึงเป็นภารกิจสำคัญที่อาจเปลี่ยนโลกอวกาศ ?

SpaceX บริษัทด้านอวกาศของ Elon Musk กำลังสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้กับวงการสำรวจอวกาศ ด้วยโครงการ Starship แขนกล Mechazilla และการมีส่วนร่วมในภารกิจ Europa Clipper สองโครงการที่เปี่ยมไปด้วยความทะเยอทะยาน และนวัตกรรมที่จะพลิกโฉมการเดินทางในอวกาศของมนุษย์ 

ทำไมสองภารกิจนี้ทั่วโลกจึงให้ความสนใจ ? และทำไมถึงอาจเป็นอนาคตของมนุษย์ชาติ ? 

ก่อนอื่นเราต้องไปทำความเข้าใจในสองภารกิจกันก่อน

Starship: การเดินทางสู่อวกาศที่อาจเป็นไปได้สำหรับทุกคน

เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2024 จรวด Starship ของ SpaceX ประสบความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่ในการทดสอบบินครั้งที่ 5 แต่สิ่งที่น่าทึ่งคือส่วนล่างของจรวด หรือ Super Heavy booster สามารถกลับสู่ฐานปล่อยได้อย่างปลอดภัย โดยใช้แขนกลขนาดยักษ์ที่ชื่อว่า ‘Mechazilla’ 

ความสำเร็จนี้ทำให้ SpaceX ใกล้บรรลุเป้าหมายในการพัฒนาจรวดที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้อย่างรวดเร็ว ไปจนถึงการผลักดันให้เกิดการเดินทางในอวกาศที่มีต้นทุนต่ำ รวมถึงเป้าหมายในการเดินทางระหว่างดาวเคราะห์ที่ Elon Musk มีความฝันในการพามนุษย์ไปตั้งรกรากบนดาวเคราะห์ดวงอื่นนอกจากโลก

Mechazilla คืออะไร ?

'Mechazilla' คือชื่อเล่นที่ตั้งให้กับแขนกลขนาดใหญ่ที่ติดตั้งอยู่บนหอปล่อยจรวดของ SpaceX ซึ่งออกแบบมาเพื่อจับจรวด Super Heavy ระหว่างที่จรวดกำลังตกลงมาหลังจากแยกตัวออกจาก Starship เทคโนโลยีนี้ไม่เพียงช่วยป้องกันความเสียหายของจรวด แต่ยังช่วยลดเวลาในการเตรียมจรวดสำหรับการปล่อยตัวครั้งต่อไป ทำให้กระบวนการนำกลับมาใช้ใหม่เป็นไปอย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้น

ภารกิจนี้เริ่มต้นจากฐานปล่อยจรวด Starbase ของ SpaceX ใน Boca Chica รัฐเท็กซัส เวลา 7:25 น. ตามเวลาท้องถิ่น หลังจากแยกตัวออกจาก Starship ที่ระดับความสูง 65 กิโลเมตร จรวด Super Heavy ก็เริ่มลดระดับลงกลับมายังฐานปล่อยจรวด ในขณะที่จรวดกำลังกลับเข้าสู่ชั้นบรรยากาศ จรวดได้จุดเครื่องยนต์ Raptor สามตัวเพื่อชะลอความเร็วและนำทางไปยังพื้นที่รับของ Mechazilla 

เมื่อจรวดเข้าใกล้แขนกล Mechazilla วิศวกรก็ได้เข้าควบคุมเพื่อจับจรวดขนาดใหญ่ไว้ได้อย่างปลอดภัยและนำกลับมายังหอปล่อยจรวด ซึ่งสร้างความตื่นเต้นไปทั่วโลกรวมถึง Elon Musk ที่โพสต์ผ่านโซเชียลทันทีว่า “หอคอยจับจรวดได้แล้ว!!”

จรวด Super Heavy ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ Starship เป็นหนึ่งในจรวดที่ทรงพลังที่สุดเท่าที่เคยสร้างมา จรวดนี้ได้รับการออกแบบมาเพื่อขนส่งสัมภาระขนาดใหญ่ไปสู่อวกาศ ทำให้สามารถปฏิบัติภารกิจไปยังดวงจันทร์ ดาวอังคาร และอื่นๆ ได้ 

Europa Clipper สำรวจดวงจันทร์ยูโรปา ส่องหาสิ่งมีชีวิตนอกโลก!

อีกหนึ่งภารกิจสำคัญของ SpaceX ที่เพิ่งลุล่วงไปคือการปล่อย ‘Europa Clipper’

ซึ่งเป็นยานอวกาศของ NASA ถูกออกแบบมาเพื่อสำรวจดวงจันทร์ยูโรปาของดาวพฤหัสบดี ได้รับการปล่อยขึ้นสู่อวกาศด้วยจรวด SpaceX Falcon Heavy โดย Europa Clipper จะทำหน้าที่เป็นยานอวกาศลำแรกของ NASA ที่ศึกษาโลกมหาสมุทรที่ปกคลุมด้วยน้ำแข็งในระบบสุริยะของเรา และมีเป้าหมายเพื่อตรวจสอบว่าดวงจันทร์ดวงนี้อาจมีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ได้หรือไม่

สำหรับยาน Europa Clipper เดินทางเป็นระยะทาง 2.9 พันล้านกิโลเมตรหลังถูกปล่อยตัว และคาดว่าจะไปถึงดาวพฤหัสบดีในเดือนเมษายน 2030 ระหว่างทาง ยานอวกาศจะบินผ่านดาวอังคารแล้วจึงบินผ่านโลก โดยใช้แรงโน้มถ่วงของดาวเคราะห์แต่ละดวงเพื่อช่วยให้ยานอวกาศใช้น้ำมันเชื้อเพลิงน้อยลง และเพิ่มความเร็วในการเดินทางไปยังดาวพฤหัสบดี 

โดยในขณะนี้ยานอวกาศได้เข้าสู่วงโคจรเรียบร้อยแล้ว และ NASA ได้รับสัญญาณจาก Europa Clipper ประมาณ 1.10 ชั่วโมงหลังจากการปล่อยตัว ซึ่งหมายความว่าศูนย์ควบคุมสามารถสื่อสารกับยานอวกาศได้ และหลังจากปล่อยตัวไป 3 ชั่วโมง แผงโซลาร์เซลล์ขนาดใหญ่ของยาน Europa Clipper ก็ได้กางออกเพื่อช่วยจ่ายไฟระหว่างการเดินทาง

Europa Clipper เป็นยานอวกาศที่ใหญ่ที่สุดที่ NASA เคยสร้างขึ้นสำหรับภารกิจสำรวจดาวเคราะห์ มีขนาด 100 ฟุต (30.5 เมตร) ซึ่งยาวกว่าสนามบาสเก็ตบอลเพื่อติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ ซึ่งจะช่วยดูดซับแสงแดดได้มากพอที่จะจ่ายไฟให้กับเครื่องมือและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ของยานอวกาศระหว่างสำรวจดวงจันทร์ยูโรปา ซึ่งอยู่ไกลจากดวงอาทิตย์มากกว่าโลกถึงห้าเท่า

และเมื่อยานอวกาศลำนี้ไปถึง จะใช้เวลาในการปฏิบัติภารกิจโดยบินผ่านยูโรปา 49 ครั้ง ไม่มีการลงจอดบนพื้นผิวของดวงจันทร์แต่อย่างใด โดยนักดาราศาสตร์เชื่อว่าดวงจันทร์ยูโรปามีส่วนประกอบของสิ่งมีชีวิต รวมถึงน้ำ พลังงาน และเคมีที่เหมาะสม แต่ต้องตรวจสอบความเป็นไปได้ว่าจะเอื้อต่อการอยู่อาศัยหรือไม่ 

หลังเสร็จสิ้นภารกิจ คาดว่า Europa Clipper อาจสิ้นสุดลงด้วยการพุ่งชนพื้นผิวของดวงจันทร์แกมีนีด ซึ่งเป็นดวงจันทร์ที่ใหญ่ที่สุดของดาวพฤหัสบดี

ทำไมภารกิจ Starship และ Europa Clipper ของ SpaceX ถึงสำคัญต่อโลก ?

ภารกิจ Starship และ Europa Clipper ของ SpaceX ในครั้งนี้ไม่เพียงแต่เป็นความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอวกาศ แต่ยังมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อโลกในหลายแง่มุม ดังนี้

เทคโนโลยีเพื่อการเดินทางแห่งอนาคต

SpaceX มีเป้าหมายที่จะทำให้ Starship สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้อย่างสมบูรณ์ ลดต้นทุนและเวลาในการเตรียมจรวด ด้วยความสำเร็จของ Mechazilla จึงทำให้ SpaceX เข้าใกล้เป้าหมายของการนำจรวดกลับมาใช้ใหม่ได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งสามารถลดเวลาเตรียมการระหว่างการปล่อยตัวจากหลายเดือนเหลือเพียงไม่กี่วัน ซึ่งจะทำให้ SpaceX สามารถปล่อยจรวดได้บ่อยขึ้นและมีประสิทธิภาพมากขึ้น สอดคล้องกับแผนการอันทะเยอทะยานของ Musk กับภารกิจระหว่างดาวเคราะห์ รวมถึงการตั้งถิ่นฐานบนดาวอังคาร

นอกจากนี้ Starship ยังเป็นการจุดประกายแห่งการเดินทางท่องเที่ยวบนอวกาศ ก่อนหน้านี้บริษัทเอกชนหลายแห่งได้เปิดให้บริการทัวร์อวกาศเชิงพาณิชย์ เช่น Blue Origin ของ Jeff Bezos แต่ราคาค่าตั๋วยังถือว่าสูงระดับสิบล้านบาท มีค่าใช้จ่ายอื่นๆ ในการปล่อยตัว รวมทั้งยังพาผู้โดยสารไปได้จำกัด จึงทำให้การท่องเที่ยวอวกาศเป็นเรื่องสำหรับมหาเศรษฐีเท่านั้น 

แต่ความสำเร็จของ Mechazilla และ Starship จะทำให้จรวดกลับมาใช้ซ้ำได้ ซึ่งอาจส่งผลไปถึงต้นทุนการเดินทางที่ถูกลงด้วยนั่นเอง

การที่ยาน Starship สามารถเดินทางในอวกาศได้บ่อยขึ้นด้วยต้นทุนที่ถูกลง ทำให้มนุษย์มีโอกาสสำรวจดาวเคราะห์เพื่อค้นหาทรัพยากรใหม่ๆ 

ขณะที่ภารกิจ Europa Clipper จะช่วยให้เราเข้าใจถึงความเป็นไปได้ของสิ่งมีชีวิตนอกโลก และขยายขอบเขตความรู้ของมนุษย์เกี่ยวกับจักรวาล 

SpaceX จะทำอะไรต่อ ?

ด้วยความสำเร็จของ Mechazilla ก้าวต่อไปของ SpaceX คือการมุ่งเน้นพัฒนาระบบ Starship ให้สมบูรณ์แบบสำหรับภารกิจแบบระยะยาว เช่น การสำรวจดาวอังคาร การส่งสินค้าไปยังอวกาศ การปล่อยดาวเทียม หรือแม้กระทั่งการใช้จรวดเพื่อเดินทางข้ามซีกโลก


อ้างอิง : CNN, Yourstory, BBC

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

‘Yindee’ แชตบอตในแอป ttb Touch ใช้ Gen AI จับความรู้สึก ตอบเร็วและฉลาดกว่าที่เคย

Yindee แชตบอตที่อยู่บน Mobile Banking ของ ttb ทำงานผ่านแอป ttb Touch สามารถจับ Mood & Tone ของลูกค้าหรือผู้ใช้บริการ ว่าขณะแชตนั้น ลูกค้าอยู่ในอารมณ์ไหน ด้วย Generative AI โดย Azur...

Responsive image

คนอยากใช้พลังงานเยอะ แต่โลกอยากได้ปล่อยคาร์บอนน้อย บริษัทพลังงานแก้ไขความย้อนแย้งนี้อย่างไรดีในยุค AI

The Energy/Prosperity Paradox หรือภาวะย้อนแย้งแห่งพลังงาน และความเจริญ ถือเป็นความท้าทายระดับโลกที่บริษัทด้านพลังงานกำลังพบเจอ เพราะในตอนนี้โลกกำลังต้องการพลังงานเพิ่มขึ้นอย่างไม่เ...

Responsive image

เศรษฐกิจไทย ‘ฟื้นตัว’ แล้วหรือยัง ? ฟังความเห็นจาก 3 ผู้นำธุรกิจยักษ์ใหญ่ไทย

ค้นพบศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงไทย จีน สิงคโปร์ อินโดนีเซีย เวียดนาม และกัมพูชา พร้อมโอกาสการลงทุนที่น่าสนใจในภาคอุตสาหกรรม การเงิน และเทคโนโลยี...