มองอนาคตเศรษฐกิจและเทคโนโลยีปี 2025 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ญี่ปุ่น และตะวันออกกลาง | Techsauce

มองอนาคตเศรษฐกิจและเทคโนโลยีปี 2025 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ญี่ปุ่น และตะวันออกกลาง

ปีนี้เป็นปีที่มีการเลือกตั้งมากมาย และเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในบางจุด แม้ว่ายังคงมีความท้าทายที่ต้องเผชิญอยู่ก็ตาม ขณะที่เรามุ่งหน้าสู่ปี 2025 คำถามสำคัญคือ นวัตกรรมจะก้าวหน้าไปในทิศทางใด ธนาคารจะให้ความสำคัญกับประเด็นใด และจะเลือกลงทุนในด้านไหน เทคโนโลยีใหม่ๆ แบบใดจะเป็นจุดเด่น และกลุ่มสตาร์ทอัพใดกำลังได้รับความสนใจเป็นพิเศษ

ในงาน Singapore Fintech Festival 2024 คุณอรนุช เลิศสุวรรณกิจ ซีอีโอของ Techsauce ได้ร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองกับผู้นำองค์กรการเงินระดับโลก อาทิ Keiji Matsunaga ผู้จัดการทั่วไปฝ่ายกลยุทธ์ดิจิทัลจากธนาคาร SMBC ประเทศญี่ปุ่น และ Hatem Hachicha หัวหน้าฝ่ายนวัตกรรมของ QNB Group ในหัวข้อ "The Curious Case of Growth and Innovation in 2025" ที่จะพาคุณมองภาพรวมเศรษฐกิจและเทคโนโลยีปี 2025

แนวโน้มเศรษฐกิจปี 2025: ปัจจัยสำคัญระดับประเทศและภูมิภาค

มุมมองจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

คุณอรนุช เลิศสุวรรณกิจ ได้กล่าวถึงศักยภาพที่น่าจับตามองของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และ AI ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนนวัตกรรมระดับโลกในอนาคต เนื่องจากปัจจุบันการพัฒนา AI ต้องการพลังประมวลผลที่สูงขึ้นและซับซ้อนมากขึ้น ทำให้การผลิตชิปเซมิคอนดักเตอร์กลายเป็นหัวใจหลัก และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็ได้รับความสนใจจากนักลงทุนทั่วโลก

เดิมทีบริษัทผลิตชิปมักจะทำทุกอย่างเองตั้งแต่การออกแบบจนถึงการผลิต แต่ปัจจุบัน ด้วยปัญหาต่างๆ ทั่วโลก เช่น ความขัดแย้งระหว่างประเทศและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้การผลิตชิปเซมิคอนดักเตอร์กลายเป็นหัวใจหลัก และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็ได้รับความสนใจจากนักลงทุนทั่วโลกบริษัทเหล่านี้ต้องการกระจายความเสี่ยง จึงเริ่มย้ายฐานการผลิตบางส่วนมาที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้

นอกจากเซมิคอนดักเตอร์แล้ว ยังมีการลงทุนในดาต้าเซ็นเตอร์และกลุ่มของ Application layer ด้าน AI เพิ่มขึ้นด้วย เห็นได้จาก OpenAI ที่มาเปิดสำนักงานในสิงคโปร์ ซึ่งคุณอรนุชชี้ว่า ‘เทคโนโลยี โดยเฉพาะเซมิคอนดักเตอร์’ จะเป็นหนึ่งในตัวขับเคลื่อนสำคัญและรากฐานแห่งโอกาสหลายๆ อย่างในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

มุมมองจากประเทศญี่ปุ่น

Keiji Matsunaga จาก SMBC (ธนาคารใหญ่ของญี่ปุ่น) เชื่อว่า AI โดยเฉพาะ Generative AI จะเป็นกุญแจสำคัญของการเติบโตและสร้างนวัตกรรมในปี 2025 โดยเฉพาะการเปลี่ยนผ่านจากการทดลอง (PoC) ไปสู่การใช้งานจริง เพราะเขาเห็นว่าการนำ AI มาใช้ยังคงมีท้าทาย เนื่องจากหลายบริษัทยังไม่แน่ใจในประสิทธิภาพของ AI มีโครงการ AI หลายโครงการที่ล้มเหลว และส่วนใหญ่มักตั้งความคาดหวังไว้สูงเกินจริง

ดังนั้น ในปี 2025 เราต้องก้าวข้ามขั้นตอนการทดลอง และหันมาใช้ AI เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงในธุรกิจอย่างจริงจัง SMBC ในฐานะธนาคารพร้อมที่จะสนับสนุนความร่วมมือระหว่างบริษัทใหญ่และสตาร์ทอัพเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน

มุมมองจากตะวันออกกลาง

Hatem Hachicha ชี้ว่าเศรษฐกิจโลกกำลังฟื้นตัวดีขึ้นมาก โดยการเติบโตที่เคยคาดไว้ 2% เพิ่มเป็น 3% และอาจสูงถึง 3.5% ในปี 2025 เขายังมองว่าตะวันออกกลางกำลังอยู่ในช่วง "โมเมนตัมแห่งความก้าวหน้า" โดยมีโอกาสเติบโตในด้านนวัตกรรม เทคโนโลยี และการลงทุนขนาดใหญ่

จุดเปลี่ยนสำคัญของภูมิภาคนี้เริ่มขึ้นเมื่อสองปีก่อน ตัวอย่างเช่น กาตาร์หลังจากฟุตบอลโลก 2022 ได้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ระบบถนน รถไฟฟ้าใต้ดิน และเปิดวิทยาเขตมหาวิทยาลัยชั้นนำจากต่างประเทศ มุ่งสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยความรู้และนวัตกรรม

ฟินเทคและเทคโนโลยีอื่นๆ ก็กำลังเติบโตในภูมิภาคนี้ เช่น Microsoft และ Google ที่ลงทุนสร้างดาต้าเซ็นเตอร์ในกาตาร์ ด้านการลงทุน Qatar Investment Authority ได้ประกาศแผนลงทุน 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อดึงดูดนักลงทุนและสตาร์ทอัพให้เข้ามาร่วมพัฒนาระบบนิเวศนวัตกรรมที่กำลังเติบโต

นอกจากนี้ ประเทศเพื่อนบ้านอย่าง ดูไบ อาบูดาบี และซาอุดีอาระเบีย ก็กลายเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมเช่นกัน โดยดูไบกำลังพัฒนาสนามบินที่ใหญ่ที่สุดในโลก ด้วยงบลงทุนกว่า 35 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ รองรับผู้โดยสารได้กว่า 250 ล้านคนต่อปี ส่วนซาอุดีอาระเบียมีโครงการใหญ่กว่า 20 โครงการ เช่น "Neom" แผนพัฒนา 8 เมืองใหญ่ด้วยงบมหาศาล เพื่อสร้างศูนย์นวัตกรรมและเทคโนโลยีระดับโลก

ค้นหาการเติบโตและการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในอนาคต

การเติบโตของ AI และการขยายธุรกิจญี่ปุ่น

Keiji กล่าวว่าในปัจจุบันบริษัทและสตาร์ทอัพญี่ปุ่นกำลังขยายตลาดไปสู่ระดับโลก โดยเฉพาะการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อสร้างความเติบโตให้กับธุรกิจ ตัวอย่างเช่น สตาร์ทอัพบางรายในญี่ปุ่นเริ่มต้นธุรกิจด้วยการขยายสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และสหรัฐอเมริกา แทนที่จะเน้นตลาดภายในประเทศเท่านั้น 

ซึ่งแสดงถึงความพร้อมในการเติบโตระดับสากล นอกจากนี้ ธนาคาร SMBC ยังมีส่วนร่วมในการส่งเสริมสตาร์ทอัพเช่น SMBC Travel Sign ซึ่งทำงานร่วมกับสตาร์ทอัพจากอินเดียในการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อขยายตลาดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และอินเดีย การเปลี่ยนแปลงนี้สะท้อนถึงวิธีคิดขององค์กรญี่ปุ่นที่เริ่มให้ความสำคัญกับการขยายธุรกิจและสร้างความร่วมมือกับพันธมิตรต่างชาติ

AI ในปี 2025 

คุณอรนุช อธิบายว่าองค์กรต่างๆ กำลังตื่นตัวในการนำ AI Agent หรือ “Agentic AI” มาใช้ ซึ่งเป็น AI ที่ไม่เพียงแค่ให้ข้อมูลเชิงลึก แต่สามารถดำเนินการ (Take action) แทนมนุษย์ได้จริง บริษัทชั้นนำอย่าง Salesforce, Google, และ Microsoft ต่างก็เริ่มพัฒนา AI Agent ของตัวเองในด้านที่พวกเขาถนัด 

ขณะเดียวกันสตาร์ทอัพก็พัฒนาแพลตฟอร์ม AI Agent เพื่อช่วยองค์กรขนาดใหญ่สร้าง AI ที่เหมาะสมกับความต้องการเฉพาะของตนเอง นอกจากนี้ การกำกับดูแล AI ยังเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ภาครัฐและเอกชนจึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบที่โปร่งใส มีจริยธรรม เพื่อให้แน่ใจว่า AI ที่ใช้งานเป็นไปตามมาตรฐานที่เหมาะสม 

อีกหนึ่งตัวอย่างที่น่าตื่นเต้นคือการใช้ AI ในการทำนายโครงสร้างโปรตีน 3 มิติ ซึ่งจะช่วยให้อุตสาหกรรมการแพทย์สามารถพัฒนายาและการรักษาที่แม่นยำมากขึ้นได้อย่างรวดเร็วอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน และยังส่งผลดีไปถึงภาคุธรกิจอื่นๆ ทั้งวงการอาหาร พลังงานที่มีความเกี่ยวข้องกับภาคชีววิทยาอีกด้วย

โอกาสของ Tokenization ในภาคการเงินและสินทรัพย์ดิจิทัล

Hatem เน้นว่าถึงแม้เทคโนโลยีใหม่ๆ จะสร้างความตื่นเต้น แต่สิ่งสำคัญคือการปรับเปลี่ยนกระบวนการและเทคโนโลยีพื้นฐานให้พร้อมรับกับนวัตกรรมในอนาคต สำหรับเทคโนโลยี “Tokenization” หรือการแปลงสินทรัพย์เป็นโทเค็น เขาคาดว่าจะกลายเป็นส่วนสำคัญของภาคการเงินในปี 2025 

โดยการคาดการณ์จาก World Economic Forum ระบุว่าในปี 2027 GDP กว่า 10% ของโลกจะถูกเก็บไว้ในรูปแบบโทเค็นบนบล็อกเชน การเปลี่ยนแปลงนี้จะช่วยให้ธนาคารเปลี่ยนบทบาทจากผู้ให้บริการการเงินไปเป็น “ผู้ให้บริการโครงสร้างพื้นฐานที่เชื่อถือได้” และสร้างแพลตฟอร์มการลงทุนส่วนบุคคลที่ใช้ AI และบล็อกเชนในการจับคู่ระหว่างผู้กู้และผู้ให้กู้ ซึ่งช่วยให้เกิดการเจรจาและประมวลผลข้อเสนอที่ดีที่สุดโดยอัตโนมัติในบล็อกเชน ทั้งนี้ Fintech จะมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีและโครงสร้างพื้นฐานสำหรับระบบเหล่านี้

ดังนั้น ในปี 2025 มีแนวโน้มสดใสในด้านการลงทุน โดยเฉพาะในฟินเทคและนวัตกรรมใหม่ในตะวันออกกลาง ซึ่งการสนับสนุนจาก VC และนักลงทุนในภูมิภาคนี้จะช่วยเติมเชื้อเพลิงให้ระบบนิเวศนวัตกรรมเติบโตอย่างต่อเนื่อง

โอกาสที่มองเห็นในปี 2025

เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คุณอรนุชมองว่าในปีหน้า หวังว่ามีการเริ่มฟื้นตัวในการลงทุนของ Venture Capital ในบางอุตสาหกรรมแต่คงไม่ใช่ทั้งหมด อย่างการลงทุนในภาคธุรกิจพลังงานและเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อม (Climate Tech) ที่เกี่ยวข้องกับ ESG (สิ่งแวดล้อม สังคม ธรรมาภิบาล) เป็นสิ่งที่น่าจับตา 
เราเห็นการส่งสัญญาณของกองทุนขนาดใหญ่ด้าน Climate Tech ว่าจะมีเข้ามาลงทุนในภูมิภาคนี้เพื่อสนับสนุนโครงการเกี่ยวกับพลังงานสะอาดและการรักษาสิ่งแวดล้อม 

ในขณะเดียวกัน ด้านสังคม เช่น การดูแลสุขภาพและการศึกษา ยังมีความต้องการการลงทุนเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ยังเน้นว่า ESG เป็นประเด็นที่ทุกองค์กรต้องบูรณาการเข้ากับกลยุทธ์ทางธุรกิจเพื่อสร้างผลกระทบที่ยั่งยืน

ญี่ปุ่น: Keiji กล่าวถึงการลงทุนในญี่ปุ่นและเอเชีย ซึ่งกำลังให้ความสำคัญกับการเติบโตที่มีคุณภาพ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมห่วงโซ่อุปทานและการเงินการค้า การเปลี่ยนแปลงภูมิรัฐศาสตร์ส่งผลให้เส้นทางการค้าหลักต้องถูกกระจายออกจากเส้นทางเดิม ทำให้มีโอกาสใหม่ในการลงทุนในแพลตฟอร์มห่วงโซ่อุปทาน การขนส่งโลจิสติกส์ และการชำระเงินข้ามพรมแดน นอกจากนี้ เขายังย้ำว่า SMBC พร้อมที่จะเป็นตัวเชื่อมในการสร้างความร่วมมือระหว่างองค์กรใหญ่และสตาร์ทอัพ เพื่อสนับสนุนการเติบโตและนวัตกรรมในภูมิภาค

ตะวันออกกลาง: Hatem เน้นว่าถึงแม้เทคโนโลยีจะมีบทบาทสำคัญ แต่สิ่งที่น่าประทับใจที่สุดคือ “ปัญญามนุษย์” เขาเชื่อว่าความสำเร็จไม่ได้ขึ้นอยู่กับ AI หรือเทคโนโลยีเพียงอย่างเดียว แต่รวมถึงสติปัญญารวมของมนุษย์ที่เกิดจากการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและความคิดสร้างสรรค์ ในมุมมองของเขา การใช้ความสามารถและปัญญาของมนุษย์เป็นรากฐานสำคัญที่จะขับเคลื่อนนวัตกรรมในภูมิภาค

ข้อมูลจากงาน Singapore Fintech Festival 2024 ในหัวข้อ The Curious Case of Growth and Innovation in 2025

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

ยิบอินซอย ทำอย่างไรถึงเป็นบริษัทไอทีที่อยู่มาเกือบ 100 ปี กับเป้าหมายใหม่โตต่อเนื่องไปอีกศตวรรษ

‘ยิบอินซอย’ (Yip In Tsoi) ชื่อของบริษัทเก่าแก่ที่อยู่คู่คนไทยมากว่า 100 ปี ทำมาหลายอย่างหลายอุตสาหกรรมจนทำให้คนอาจรู้จักกันไปในคนละมุม แต่แท้จริงแล้ว ยิบอินซอย ถือเป็น ‘บริษัทไอที...

Responsive image

KBTG Kampus ผนึก ลาดกระบัง ธรรมศาสตร์ มหิดล ดีไซน์ 3 หลักสูตร ป.โท สร้าง Tech Talent เก่งเชิงลึก

สำรวจหลักสูตร ป.โท Co-Master's Degree ที่ KBTG Kampus ร่วมกับ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง, มหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดสอน มีสาขาวิชาอะไรให้เรี...

Responsive image

Ingram Micro ร่วมกับ Microsoft นำเสนอ ‘CAN Innovation’ ผู้ช่วย SMEs และองค์กร เก็บ Data ครบทุกการขาย ควบคุมได้ตลอดการกระจายสินค้า

Ingram Micro ร่วมกับ Microsoft นำเสนอ CAN Innovation ผู้ช่วยให้ธุรกิจของคุณทำงานได้ง่ายขึ้นและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ด้วยเครื่องมือจัดการงานขายที่ครบครัน ช่วยให้คุณลดต้นทุน เพิ่มยอดข...