ZmyHome - Startup ฝันใหญ่ อาสาแก้ปัญหาตลาดอสังหาไทย | Techsauce

ZmyHome - Startup ฝันใหญ่ อาสาแก้ปัญหาตลาดอสังหาไทย

วันนี้เราจะพามาทุกท่านมาทำความรู้จัก Startup ในวงการอสังหาริมทรัพย์กันดูบ้าง ZmyHome (ซีมายโฮม) เป็นอีกหนึ่ง Startup ที่น่าจับตามอง โดยสามารถเข้ารอบสุดท้ายของโครงการ dtac Accelerate 2015 แม้ว่าจะเพิ่งเริ่มใช้งานจริงได้ราว 6 เดือน แต่พวกเขามีประสบการณ์มาเล่าให้พวกเราฟังมากมาย

ทีมงาน Techsauce ได้มาพูดคุยกับ คุณณัฐพล อัศว์วิเศษศิวะกุล Co-Founder และ CEO ของ ZmyHome รับรองว่าระหว่างอ่านบทสัมภาษณ์ นอกจากจะได้ทำความรู้จักกับ Startup รายนี้แล้ว คุณจะได้รับทราบความรู้เรื่องวงการอสังหาริมทรัพย์เพิ่มเติมแบบเต็มอิ่มแน่นอน

ZmyHome Nut

Background ก่อนจะมาทำ Startup

Techsauce: ก่อนมาทำ ZmyHome ทำอะไรมาก่อนคะ

ณัฐพล : ก่อนทำ ZmyHome ทำงานวิจัยตลาดและเป็นที่ปรึกษาในการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ครับ โดยเริ่มทำงานในปี 2002 กับบริษัท CBRE Thailand อยู่ฝ่ายวิจัยและที่ปรึกษา ตำแหน่งสุดท้ายก่อนออกมาเปิดบริษัทที่ปรึกษาของตัวเองรับตำแหน่งเป็น Senior Manager และออกมาเปิดบริษัท Z Estate Ltd. ในปี 2009 โดยตลอด 14 ปีที่ผ่านมา น่าจะทำงานร่วมกับโครงการอสังหามากกว่า 100 โครงการ ทั้ง โครงการคอนโดมิเนียม โรงแรม ออฟฟิศ คอมมูนตี้มอลล์ เป็นต้น ครับ

บริษัท Z Estate ที่เปิดเองนี้ นอกจากจะเป็นบริษัทวิจัยและที่ปรึกษาแล้ว เราให้บริการนายหน้าในการปล่อยเช่าคอนโดมิเนียมให้กับชาวญี่ปุ่น และนายหน้าซื้อขายที่ดินและคอนโดมิเนียมด้วยครับ เราดูแลมาหลายโครงการ ขอยกตัวอย่างโครงการที่ใหญ่ที่สุด ทำให้ลูกค้าที่เป็นบริษัทน้ำมัน โดยเราเข้าไปช่วยวางแผนการพัฒนาพอร์ตที่ดิน 50 แปลง และการวางแผนพัฒนาโมเดลธุรกิจค้าปลีกในสถานีบริการน้ำมัน ถือเป็นความภาคภูมิใจของเราทีเดียวครับ

แรงบันดาลใจ หรือที่มาที่ไป

Techsauce: อะไรคือแรงบันดาลใจ หรือที่มาที่ไป ของการทำ ZmyHome

ณัฐพล : จริงๆ ไอเดียเว็บไซต์สำหรับเจ้าของลงประกาศเอง เราคิดมาตั้งแต่ก่อนตั้งบริษัท Z Estate ตอนปี 2009 เลยครับ เพราะตอนนั้นเราเชื่อว่าอินเตอร์เน็ตจะเป็นศูนย์รวมของข้อมูลที่คนที่ต้องการอะไรจะเข้ามาค้นหาก่อน  แต่เรายังไม่มีเงินทุนและประสบการณ์  คือ ตอนนั้นคิดว่าเรายังไม่พร้อม เลยตั้งบริษัท Z Estate เพื่อที่จะหาเงิน รวมถึงการเรียนรู้เรื่องที่จะช่วยให้เราทำ ZmyHome ในอนาคต คือ การเป็นนายหน้า และการทำเว็บไซต์

โดยหลังจากที่เราได้ทำงานเป็นนายหน้าและต้องใช้เว็บซื้อขายคอนโดมิเนียมต่างๆ เราก็พบว่า เว็บไซต์ที่มีในประเทศไทยส่วนใหญ่มีปัญหาเรื่องข้อมูล ประสบการณ์ที่ได้จากเว็บอสังหา ไม่เหมือนกับเว็บไซต์จองโรงแรม ซึ่งผู้ใช้สามารถค้นหาห้องพักได้สะดวกมากๆ

ปัญหาของเว็บอสังหา และตลาดอสังหาในไทย

ณัฐพล: เวลาเราจะจองโรงแรมเว็บไซต์ก็จะมีรูปภาพ มีรายละเอียดของสถานที่ครบถ้วน มีราคาห้องพักที่ถูกต้อง และรู้ได้ทันทีว่าห้องว่าในวันที่เราต้องการจะย้ายเข้าหรือไม่  แต่เว็บด้านอสังหาริมทรัพย์กลับไม่เป็นแบบนั้น หลายๆ ประกาศมีข้อมูลไม่ครบถ้วน บางประกาศถึงกับไม่มีราคา และส่วนใหญ่ไม่มีรูปภาพ ขายไปแล้วก็ไม่รู้  ลองจินตนาการดูนะครับว่า หากเราต้องโทรเช็คราคาห้องที่เราสนใจทุกห้องเมื่อจะจองโรงแรม และต้องสอบถามทุกครั้งว่าห้องว่างหรือไม่ว่าง หรือกระทั่งต้องขอรูปดู  การจองโรงแรมของเราจะลำบากขนาดไหน  ซึ่งการซื้อหรือเช่าคอนโด  ผู้ซื้อต้องการข้อมูลมากกว่าการจองโรงแรมมากๆ ทำให้เราอยากทำเว็บอสังหาที่ข้อมูลสำคัญครบถ้วนและให้ผู้ใช้ได้ประสบการณ์เหมือนการใช้เว็บไซต์จองโรงแรม

ประเทศที่พัฒนาแล้ว เว็บอสังหาจะไม่เหมือนเว็บในบ้านเรา แม้ว่าบ้านส่วนใหญ่จะถูกลงประกาศโดยนายหน้าเหมือนกัน แต่ก่อนที่นายหน้าของเขาจะลงประกาศ จะต้องมีการเซ็นสัญญาตัวแทนกับเจ้าของ เพื่อให้สิทธินายหน้าในการดำเนินการขายได้สมบูรณ์ตามช่วงเวลาที่ตกลงกัน ขายได้แล้วก็มาเอาประกาศออก  ดังนั้นข้อมูลต่างๆ บนเว็บก็จะครบถ้วน  และยังทำให้ประกาศบนเว็บไม่ซ้ำและสะท้อนสภาพตลาดตามความเป็นจริง  หมายถึงมีกี่หลังว่างหรือขายก็รู้ แต่ละหลังขายเท่าไหร่ คนซื้อคนขายก็จะตัดสินใจได้ง่าย

เราเคยเจอลูกค้าออสเตรเลีย วางเงินมัดจำ 3 ล้านเพื่อที่จะซื้อคอนโดมูลค่า 30 กว่าล้านในเมืองไทยภายใน 1 เดือน โดยตอนที่เค้าวางมัดจำยังมีเงินสดไม่พอ  แต่ลูกค้าสามารถขายคอนโดมูลค่า 5 ล้านเหรียญในซิดนีย์ได้ภายใน 1 เดือน และมีเงินมาโอนทัน  ซึ่งเหตุการณ์แบบนี้สำหรับเมืองไทยเกิดขึ้นได้ยากมาก  และแปลว่าลูกค้ารายนี้จะต้องมั่นใจกับระบบของเขามาก มั่นใจว่าจะขายได้ทัน

ในขณะที่กลไกต่างๆ ในตลาดอสังหาของเราไม่พร้อม ทั้งการขาดระบบฐานข้อมูลกลาง  การขาดราคาอ้างอิง  นายหน้าไม่ต้องมีใบอนุญาต  ทำให้คนไทยต้องใช้เวลาขายบ้านโดยเฉลี่ยเกือบ 1 ปี  (ตัวเลขนี้ได้มาจากการที่เราทำออนไลน์ Survey กับกลุ่มตัวอย่างที่ขายบ้านในปีที่ผ่านมา 500 ราย) โดยมี 20% ใช้เวลามากกว่า 2 ปี  ซึ่งประเทศที่พัฒนาแล้ว อย่าง อเมริกา อังกฤษ ญี่ปุ่น เค้าใช้เวลา 1-2 เดือนเท่านั้น ขึ้นอยู่กับการตั้งราคาที่เหมาะสม และความ Active ของตลาดนั้นๆ  ถ้าอยู่ในชนบทก็อาจจะใช้เวลานานหน่อย เพราะคนซื้อน้อยกว่า

Solution 1 - คัดกรองประกาศคุณภาพดี

ทีนี้ถ้าเราอยากจะทำให้เว็บอสังหาในเมืองไทยข้อมูลถูกต้องเหมือนกับในต่างประเทศ เราก็เลยคิดว่าต้องเริ่มจากการให้เจ้าของเท่านั้นเป็นผู้ลงประกาศ  เพราะนายหน้า (โดยเฉพาะนายหน้าที่ไม่ได้เป็นมืออาชีพ) ไม่มีแรงจูงใจในการอัพเดทสถานะกับเจ้าของห้องและการลบประกาศออกจากระบบ  เพราะการลบประกาศทำให้มีโอกาสได้ลูกค้าน้อยลง

เราไม่ได้เกลียดนายหน้า เหมือนเว็บที่ไม่ให้นายหน้าลงประกาศในต่างประเทศ เพราะเรารู้ว่าคนที่จะซื้อขายบ้าน ต้องการนายหน้ามืออาชีพในการให้คำปรึกษา และอำนวยความสะดวก  แต่เราทำเว็บนี้เพื่อสร้างฐานข้อมูลที่ใช้งานได้ง่าย  โดยนายหน้าสามารถมาหาทรัพย์สินบนเว็บของเรา ให้กับคนซื้อที่ไม่ต้องการค้นหาเองได้

Techsauce : จุดขายของเว็บ ZmyHome คืออะไรคะ

ณัฐพล : จุดขายอันดับแรกของเราคือความถูกต้องและการคัดกรองประกาศครับ เหมือนอย่างที่เราเล่าให้ฟังตอนต้นว่า คนซื้อหรือคนเช่าคอนโด จะพยายามหาข้อมูลอย่างดีก่อนจะตัดสินใจ  แต่ข้อมูลบนเว็บที่มีตอนนี้มักไม่สะท้อนจำนวนห้องที่มีอยู่ในตลาดตามความเป็นจริง และราคาก็ไม่ถูกอัพเดท ฟังดูเหมือนเรื่องง่ายๆ นะครับ แต่ทำจริงๆ เรื่องความถูกต้องของข้อมูลเป็นเรื่องไม่ง่ายเลย ต้องมีการตรวจสอบพอสมควร

Techsauce : แปลว่าข้อมูลบนเว็บส่วนใหญ่ กับที่เป็นอยู่จริงๆ ไม่ตรงกัน?

ณัฐพล : ใช่ครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องจำนวนห้องที่มีในตลาด  เวลาเราเข้าไปเว็บดังๆ แล้วเห็นว่ามีประกาศขายหรือให้เช่ามากๆ ในความเป็นจริงห้องที่มีจะน้อยกว่าจำนวนลิสต์มาก   เพราะเจ้าของมักฝากคอนโดไว้กับนายหน้าไว้หลายๆ คน  หรือบางทีเราเจอห้องที่ราคาถูกมากๆ คนซื้อส่วนใหญ่ก็จะตื่นเต้น  แต่ถ้าโทรไปถึงจะรู้ว่าส่วนใหญ่ห้องพวกนั้นก็ไม่มีอยู่จริงหรือขายไปแล้ว

เรื่องราคานี้ บางทีก็มีกรณีที่เจ้าของปรับราคาขึ้นเองเหมือนกัน เพราะพอมีนายหน้าหลายคนโทรหาก็คิดว่าตัวเองตั้งราคาไว้ต่ำเกินไป สุดท้ายดีลก็ไม่จบ  คนซื้อก็อดได้ห้องที่ตัวเองคาดหวัง แถมยังเหนื่อยอีกด้วย เพราะกว่าจะตามราคาครบ บางทีก็ใช้เวลาเป็นสัปดาห์  ทั้งๆ ที่มันจะง่ายกว่านี้มาก ถ้ามูลทุกอย่างสะท้อนความเป็นจริงเหมือนกับการจองโรงแรม

Solution 2 - ช่วยสร้างมาตรฐานในศึกษาเรื่องการตั้งราคา

Techsauce : แล้วนอกจากเรื่องความถูกต้องของข้อมูลแล้ว มีความต่างอื่นๆ ไหมคะ

ณัฐพล : ความต่างข้อที่สองของเรา คือ เรามีลิสต์ที่ขายและให้เช่าได้แล้ว ให้ทุกคนได้ศึกษาเรื่องราคา  ซึ่งการตั้งราคาให้เหมาะสมกับตลาดเป็นหนึ่งในเรื่องที่สำคัญที่สุดที่จะทำให้ขายทรัพย์สินได้ในเวลาที่ต้องการ

ในประเทศที่พัฒนาแล้วก่อนที่นายหน้าจะรับทำงานให้กับเจ้าของห้องหรือผู้ซื้อ นายหน้า (ต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ) จะเอาข้อมูลการซื้อขายจริงที่มีตลาดหรือที่เรียกว่า “Comp” ย่อมาจาก “Comparables” มาช่วยคนขายให้ตั้งราคา หรือคนซื้อตั้งงบประมาณในการซื้อได้อย่างถูกต้อง  โดยรัฐบาลจะบังคับให้นายหน้าที่มีใบอนุญาตต้องรายงานราคาซื้อขายจริงให้กับรัฐทันที (ประเทศญี่ปุ่นต้องรายงานภายใน 24 ชม.) เพื่อให้ผู้ซื้อ ผู้ขายในอนาคต ได้นำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ และยังมีหน่วยงานอื่นๆ อีกมาก ที่ต้องการใช้ข้อมูลราคาซื้อขาย หรือค่าเช่าของอสังหาริมทรัพย์ เช่นบริษัทประเมิน

ผู้ใช้เว็บไซต์ zmyhome.com สามารถดูประกาศที่ขายหรือเช่าได้แล้ว เพื่อศึกษาว่าลิสต์เหล่านี้เคยตั้งราคาขายไว้ที่เท่าไหร่ ขายไปได้เมื่อไหร่ และใช้เวลาในการขายกี่วัน  ส่วนใครที่สนใจลงทุนซื้อคอนโดสำหรับปล่อยเช่า ก็มีข้อมูลตลาดเช่าให้เจ้าของดูว่า คนเช่าสนใจห้องชุดแบบไหน ค่าเช่าอยู่ที่ประมาณเท่าไหร่  ผลตอบแทนการลงทุนจริงๆเป็นอย่างไร

Solution 3 – เสริมระบบข้อมูลทำเล

ณัฐพล :    ส่วนข้อแตกต่างอันดับสามของเว็บเรา ก็คือ ระบบการค้นหาประกาศด้วยแผนที่ครับ โดยคนซื้อหรือเช่า สามารถเลือกดูข้อมูลสำคัญของทรัพย์สินที่สนใจบนแผนที่ได้เลย เช่น ราคา  ราคาต่อตารางเมตร  ระยะทางจากรถไฟฟ้า  อายุตึก ทำให้สามารถกรองทรัพย์สินที่ตรงกับความต้องการได้ง่ายมากๆ   ถ้าค้นหาบนคอมพิวเตอร์ เรียกว่าค้นหาง่ายที่สุดในตลาดเลยก็ได้  ระบบนี้เราคิดขึ้นมาจากการที่เราเป็นวิเคราะห์ตลาดอส้งหาอยู่แล้ว  ซึ่งเรามักประเมินตลาดด้วยแผนที่เพราะจะเห็นข้อมูลในเชิง Locatoin ง่ายกว่า การวิเคราะห์จากตาราง

Techsauce : ถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงวิธีการซื้อขายของตลาดเลย

ณัฐพล : ครับ เพราะโดยส่วนตัวเคยซื้อขายคอนโดด้วยตัวเองมา 10 กว่าห้อง เคยใช้นายหน้าเพียง 2 ครั้งเท่านั้น และเพื่อนๆ รอบๆ ตัวหลายคนก็ทำได้โดยไม่ต้องใช้นายหน้า  โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนรุ่นใหม่ๆ ที่ชอบเรียนรู้และทำอะไรด้วยตัวเอง  ดังนั้นหามีความตั้งใจจริง การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ด้วยตัวเองก็ไม่ยากเกินไป

แชร์เรื่องราวการเข้ารอบโครงการบ่มเพาะ โดยเริ่มจากศูนย์

Techsauce : ตอนที่เข้าโครงการกับ Dtac Accelerate ถือว่าเป็นช่วงเริ่มต้นของเว็บเลยใช่ไหมคะ

ณัฐพล : ใช่ครับ ตอนเราเข้า Dtac ด้วย ตอนนั้นมีแต่ไอเดียเลยครับ  ก็ขอบคุณ Dtac มากๆ ที่มั่นใจและเลือกทีมเรา โดยหลังจากที่เข้าแคมป์แล้ว เราได้ปรับไอเดีย ออกแบบ UX & UI และเริ่มเขียนโปรแกรมใหม่หมดทุกอย่างเลย

Techsauce : แปลว่าเค้าน่าจะเห็นศักยภาพ เพราะทีมอื่นที่เข้ามาส่วนใหญ่มี MVP แล้ว

ณัฐพล : ครับ ผมเดาเอาว่า เขาคงชอบว่าถ้าไอเดียของเราหากทำสำเร็จ คนที่อยากจะซื้อขายบ้านหรือคอนโดด้วยเอง โดยที่ไม่อยากเสียค่าคอมมิชชั่นแพงๆ จะทำได้ง่ายขึ้น  “คงเจ๋งดีถ้าอนาคตจะซื้อขายบ้านได้เองง่ายๆ โดยไม่ต้องใช้นายหน้า”  และ Dtac ก็คงมั่นใจกับประสบการณ์ในตัวผม

การสร้างการเติบโต

Techsauce :  ตอนนี้มีคนมาลงประกาศแล้วเท่าไหร่ และมีคนมาใช้เว็บมากน้อยแค่ไหนคะ

ณัฐพล :  ตั้งแต่เราเปิดมาได้ 6 เดือน ตอนนี้เรามีประกาศขายและให้เช่าคอนโดแล้วประมาณ 3,000 กว่ารายการครับ และเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เรามีผู้ใช้ประมาณ 40,000 กว่าราย เติบโตเดือนละประมาณ 50% เดือนแรกเรามี User ประมาณ 3,000 รายเองครับ  และมิถุนายนนี้ เราน่าจะมีคนใช้ประมาณ 100,000 ราย/เดือน

Techsauce :  แล้วมีวิธีหาคนมาลงประกาศและใช้บริการยังไง

ณัฐพล : หลักๆ ผู้ใช้ของเรามาจากแฟนๆ คอนเทนท์ของเราบนเพจ ZmyHome บน เฟสบุ๊คครับ เนื้อหาที่เด่นๆ เลยของเราคือ การลงทุนสำหรับปล่อยเช่าให้กับชาวญี่ปุ่น เพราะคนไทยที่มีประสบการณ์ด้านนายหน้าให้กับตลาดญี่ปุ่นจะมีไม่มาก  นอกจากนี้ก็จะมีเรื่อง กฎหมายที่เกี่ยวกับการซื้อ ขาย เช่า คอนโด  รวมถึงการตกแต่งห้องชุดครับ  ตอนนี้เพจของเราก็มีแฟน 10,000 กว่าคน  แล้ว Dtac ก็ช่วยประชาสัมพันธ์ให้เราด้วย ทั้งทาง Facebook  Line และสื่อต่างๆ

Techsauce : แล้วเว็บหารายได้ได้หรือยังคะ

ณัฐพล : ตอนนี้ยังครับ  แต่เรากำลังจะเริ่มขายพื้นที่ Banner ให้กับเจ้าของโครงการ ธนาคาร หรือหน่วยงานอื่นๆ ที่ต้องการจะเข้าถึงผู้ซื้อผู้ขายบ้านครับ  เพราะเราอยากให้ทุกคนได้ใช้เว็บของเราฟรี  เราเพิ่งเริ่มคุยกับ Developer เมื่อต้นเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา เพราะช่วงแรกเราพยายามปรับปรุงส่วนต่างๆ ให้ใช้งานได้ดี และเพิ่มจำนวนผู้ใช้  ก็ถือว่าได้รับความสนใจพอสมควรครับ

Techsauce : ZmyHome จะ Scale หรือ ขยายไปต่างประเทศยังไง

ณัฐพล : คิดว่า Property Tech น่าจะสเกลด้วยการ Take over หรือ M&A เป็นหลักครับ  เพราะ Property มีความ Localize สูง  อาจจะแลกหุ้นกัน แล้วเราก็อาจจะแชร์ความรู้ และ Network กับ Partner ได้  ในการที่จะสร้าง Value ให้ลูกค้าได้มากขึ้น  อนาคต เราอาจจะทำการซื้อขาย Cross border ก็ได้

Techsauce : Goal ปีนี้ของ ZmyHome คืออะไร

ณัฐพล : ปีนี้เราอยากเป็นเว็บที่มีคอนโดที่มีเจ้าของตัวจริงมาลงประกาศมากที่สุดในตลาดครับ ตั้งใจจะให้มีสัก 20,000-40,000 ลิสต์ ซึ่งเราคิดว่ามากพอที่จะทำให้ “คนซื้อ คนเช่าทุกคน” แวะเข้ามาศึกษาราคาและเปรียบเทียบดีลบนเว็บของเราก่อนตัดสินใจ และดึงดูดให้ Sponsor อยากมาลงโฆษณากับเรา  ซึ่งเราต้องการที่จะมีรายได้เพียงพอที่จะให้อยู่ได้ด้วยตัวเองซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด   นอกจากนี้ ปีนี้เราต้องการระดมทุนให้เพียงพอที่จะทำให้เราสามารถสเกลได้เร็วยิ่งขึ้น  และพัฒนา Feature และฐานข้อมูลต่างๆ ให้ผู้ซื้อผู้ขาย ซื้อขายได้ง่ายที่สุด เพราะสิ่งนี้เป็น Mission ของ ZmyHome ครับ

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

‘UOB Sustainability Compass’ เครื่องมือออนไลน์ด้านความยั่งยืน หนุน SMEs เปลี่ยน Vision เป็น Action

บทสัมภาษณ์ คุณอัมพร ทรัพย์จินดาวงศ์ และคุณพณิตตรา เวชชาชีวะ เกี่ยวกับ ‘UOB Sustainability Compass’ เครื่องมือออนไลน์ที่เข้ามาช่วย SMEs เริ่มดำเนินการด้านความยั่งยืนอย่างเข้าใจและไม...

Responsive image

Intel พลาดอะไรไป ? ทำไมถึงต้องเปลี่ยน CEO กะทันหัน ? ถอดบทเรียนราคาแพงจากยุค Pat Gensinger

การ ‘เกษียณ’ อย่างกะทันหันของ Pat Gelsinger อดีตซีอีโอ Intel ในต้นเดือนธันวาคม สร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั่ววงการเทคโนโลยี หลายฝ่ายมองว่าเป็นการบีบให้ออกจากบอร์ดบริหาร อันเนื่องมาจากผล...

Responsive image

GAC รถแห่งเมืองกวางโจว ขวัญใจแท็กซี่ยุคใหม่ | Tech for Biz EP. 30

แบรนด์รถยนต์ที่เป็นความภูมิใจของคนกวางโจว สู่ขวัญใจแท็กซี่ยุคใหม่ คลิปนี้ Tech for Biz จะพาไปรู้จัก GAC ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าสัญชาติจีนอีกเจ้าที่กำลังบุกตลาดเมืองไทย...