10 คำถามสัมภาษณ์งานที่ HR ชอบถาม พร้อมวิธีตอบให้ได้งาน | Techsauce
10 คำถามสัมภาษณ์งานที่ HR ชอบถาม พร้อมวิธีตอบให้ได้งาน

กันยายน 19, 2023 | By Chanapa Siricheevakesorn

ในการสัมภาษณ์งานอาจเต็มไปด้วยความกดดันและความรู้สึกประหม่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นการสัมภาษณ์งานครั้งแรกของคุณ ฉะนั้นการเตรียมความพร้อมและการฝึกพูดอาจทำให้สถานการณ์ในการสัมภาษณ์งานผ่อนคลายมากยิ่งขึ้น 

ConNEXT จึงได้มัดรวมคำถามสัมภาษณ์งานที่พบบ่อย พร้อมแนวทางในการตอบ HR ให้คุณกลายเป็นผู้สมัครที่โดดเด่น มาให้แล้วในบทความนี้จะมีคำถามอะไรบ้าง ไปดูกันเลย!

10 คำถามสัมภาษณ์งานที่ HR ชอบถาม พร้อมวิธีตอบให้ได้งาน

1. คุณช่วยเล่าเกี่ยวกับตัวคุณและประวัติการทำงานที่ผ่านมาหน่อยได้ไหม?

คำถามสุดฮิตที่จะทำให้ HR ได้รู้จักตัวตนของคุณมากขึ้นและเป็นการทราบถึงประวัติการทำงานของคุณแบบคร่าว ๆ ก่อนจะไปสู่คำถามอื่น ๆ ต่อไป

โดยการตอบคำถามควรพยายามแสดงถึงแพชชั่น ความเชี่ยวชาญ ในการทำงาน การผ่านการฝึกอบรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับตำแหน่งงานที่สมัคร รวมถึงประสบการณ์และผลงานที่ผ่านมาต่าง ๆ ว่าทำให้คุณเหมาะสมกับงานนี้อย่างไร? หรือหากคุณเป็นเด็กจบใหม่อาจตอบ HR ถึงโปรเจ็กต์ที่เคยทำระหว่างเรียนหรือการรับงานเสริมที่เกี่ยวข้องกับงานที่ไปสมัครก็ได้ เพราะการตอบในแนวทางนี้จะเป็นการผสมผสานทักษะ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ ทำให้ HR สามารถรับรู้ความสามารถของคุณว่าเหมาะสมกับตำแหน่งหรือไม่

ตัวอย่าง:  “ผมอาจจะไม่ได้เรียนมาตรงสายทำให้ไม่มีพื้นฐานทาง IT  แต่ด้วยแพชชั่นที่ผมมีจึงเริ่มเรียนรู้พื้นฐานการเขียนโค้ดทางออนไลน์ด้วยตนเอง จนได้รับประกาศนียบัตรเป็นโปรแกรมเมอร์คอมพิวเตอร์ หลังจากได้ทำงานแรกในตำแหน่ง Front-end coder ทุกวันผมไม่เคยหยุดพัฒนาตนเองจึงยังคงเรียนรู้อยู่ตลอดเวลาเพื่อพัฒนาความเชี่ยวชาญด้าน Front- and back-end languages เครื่องมือใหม่ ๆ และเฟรมเวิร์กอยู่เสมอครับ”

2. คุณทราบได้อย่างไรว่าองค์กรของเรามีการเปิดรับตำแหน่งนี้?

หากมีคนในองค์กรที่ไปสมัครงานแนะนำคุณสำหรับตำแหน่งนี้ อย่าลืมอ้างอิงชื่อคนที่แนะนำ เพื่อให้คุณมี เพราะการบอกเหตุผลว่าเพราะอะไรถึงเลือกสมัครงงานกับองค์กรนี้มากกว่าองค์กรอื่น ๆ หรือเพราะอะไรตำแหน่งงานและองค์กรนี้ถึงสอดคล้องกับ Career path ของคุณ จะทำให้คุณดูเป็นผู้สมัครที่ทำการบ้านและทำให้คุณกลายเป็นผู้สมัครที่โดดเด่นในการสัมภาษณ์งานอีกด้วย

ตัวอย่าง : “ดิฉันได้เจอตำแหน่งนี้ผ่านทาง LinkedIn และสมัครตำแหน่งนี้เพราะทักษะที่องค์กรต้องการสอดคล้องกับทักษะและประสบการณ์ของดิฉัน นอกจากนี้ดิฉันได้ติดตามเพจของทางบริษัทมาระยะหนึ่งแล้ว และรู้สึกสนใจในงานที่คุณกำลังทำในด้าน A, B และ C มาก ดังนั้นดิฉันจึงรู้สึกว่านี่เป็นโอกาสอันดีที่ได้ร่วมงานและมีส่วนร่วมในงานและองค์กรนี้ค่ะ”

3. คุณชอบสภาพแวดล้อมการทำงานแบบไหน?

อย่าลืม! ทำการบ้านเกี่ยวกับองค์กรและวัฒนธรรมขององค์กรก่อนการสัมภาษณ์ นอกจากการศึกษาวัฒนธรรมและรูปแบบการทำงานขององค์กรจะช่วยให้คุณตัดสินใจร่วมงานได้ง่ายมากขึ้นแล้วยังทำให้คุณสามารถตอบคำถามสัมภาษณ์งานได้อย่างมีชั้นเชิงอีกด้วย

ตัวอย่าง:  “ดิฉันชอบสภาพแวดล้อมการทำงานที่ท้าทายเพราะทำให้ฉันรู้สึกเหมือนกำลังเรียนรู้และพัฒนาอยู่เสมอ แต่ในงานที่ท้าทายจะมีประสิทธิภาพมากขึ้น หากได้แบ่งปันความคิดเห็นร่วมกันกับเพื่อนร่วมทีมเพราะจะทำให้งานสามารถดำเนินไปได้อย่างราบรื่นมากขึ้น ซึ่งตรงกับวัฒนธรรมองค์กรของที่นี่ที่ กล้าท้าทาย-ชอบเรียนรู้-ทำงานเป็นทีม ค่ะ”

4. คุณจัดการกับความกดดันหรือสถานการณ์ที่ตึงเครียดอย่างไร?

สิ่งที่ HR ต้องการทราบคือ คุณคุณมีวิธีการจัดการอย่างไร? และมีวุฒิภาวะทางอารมณ์ในสถานการณ์ที่ตึงเครียดและภายใต้แรงกดดันได้มากน้อยแค่ไหน? 

ตัวอย่าง:  “ดิฉันรู้ว่าในการทำงานสถานการณ์ตึงเครียดมักจะเกิดขึ้นเสมอ และแน่นอนว่าดิฉันเรียนรู้วิธีควบคุมสิ่งเหล่านี้มาตลอด ดิฉันคิดว่าจะเก่งขึ้นด้วยประสบการณ์ใหม่ทุกครั้ง เช่น จากงานอีเว้นท์เปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ล่าสุดของที่ทำงานเก่า สิ่งต่างๆ ไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้กับทีม สิ่งแรกที่ดิฉันทำคือ การคิดกลยุทธ์ที่จะแก้ไขปัญหาที่อยู่ตรงหน้า แทนที่จะจมอยู่กับการตื่นตระหนก ดังนั้นดิฉันจึงคิดว่าการมีสติและการควบคุมอารมณ์ช่วยให้ฉันแก้ไขปัญหาและสถานการณ์ต่าง ๆ ได้ค่ะ”

5. คุณชอบทำงานอิสระหรือเป็นทีมมากกว่ากัน?

หลายตำแหน่งกำหนดให้คุณต้องทำงานร่วมกับผู้อื่นทุกวัน ในขณะที่บางตำแหน่งกำหนดให้คุณต้องทำงานด้วยตัวเอง เมื่อคุณต้องตอบคำถามนี้ อาจตอบโดยกล่าวถึงข้อดีและข้อเสียของทั้งสองสถานการณ์

ตัวอย่าง: “ผมชอบการผสมผสานของทั้งสองอย่างเข้าด้วยกัน ชอบทำงานเป็นทีมเมื่อต้องแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อให้งานออกมาอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด แต่ก็ยินดีที่จะรับงานที่ต้องทำคนเดียวเพราะสามารถโฟกัสและมีสมาธิจดจ่อกับงานได้อย่างเต็มที่ครับ”

6. เมื่อคุณทำงานหลายโปรเจ็กต์ คุณจะมีวิธีจัดการอย่างไร?

ในข้อนี้ HR ต้องการทราบว่าคุณมีวิธีจัดการระหว่างงานกับเวลาอย่างไร? โดยแนวทางในการตอบคำถามนี้คือ คุณต้องอธิบายว่ามีวิธีการจัดลำดับความเร่งด่วนและความสำคัญของงานที่ทำ พร้อมทั้งจัดสรรเวลาอย่างเหมาะสมอย่างไรบ้าง

ตัวอย่าง:  “ผมคุ้นเคยกับการจัดการหลายโปรเจ็กต์พร้อมกันในงานปัจจุบัน โดยใช้เทคนิคไทม์บ็อกซ์ (Timeboxing technique) เพื่อให้แน่ใจว่าทุกอย่างเป็นไปตามแผน ผมพบว่ามันช่วยให้จัดลำดับความสำคัญของสิ่งที่ต้องทำให้เสร็จก่อนได้จริง ๆ และทำให้ผมทำงานได้ราบรื่นมากยิ่งขึ้น”  

7. คุณทำอะไรในปีที่แล้วเพื่อพัฒนาความรู้ของคุณ?

คำถามนี้อาจเป็นผลมาจากวิกฤตการแพร่ระบาด แต่คุณไม่จำเป็นต้องกลัวที่จะตอบคำถามนี้หากคุณไม่ได้เรียนหลักสูตรอะไรเพิ่มเติม เพราะเราสามารถเรียนรู้จากประสบการณ์จริงที่เราอาจเผชิญในชีวิตการทำงานได้

ตัวอย่าง:  “ในช่วงปีที่ผ่านมา ดิฉันได้มีโอกาสทำงานแบบ Work from home จึงทำให้มีเวลาเพิ่มพูนทักษะต่าง ๆ มากขึ้น ดิฉันอ่านวารสารมากมายเพื่อติดตามและอัปเดตข่าวสารในอุตสาหกรรมที่ดิฉันทำงาน และลงคอร์สเรียนเรื่อง Story telling และการพูด เพื่อนำทักษะที่ได้จากการเรียนเหล่านี้มาประยุกต์ใช้ในการทำงานด้าน Sales ของดิฉันค่ะ” 

8. คุณคาดหวังเงินเดือนเท่าไร?

ก่อนที่คุณจะเข้ารับการสัมภาษณ์ คุณควรรู้อยู่แล้วว่าตำแหน่งที่คุณสมัครนั้นมีฐานเงินเดือนอยู่ที่เท่าไร? โดยสามารถตรวจสอบจากเว็บไซต์หางานเช่น JobsDB, Jobthai, Glassdoor, Fishbowl หรือ Vault.com เพื่อดูระดับเงินเดือนมาตรฐาน หรือสามารถถามเพื่อน ๆ บน LinkedIn 

HR มักจะถามคำถามนี้เสมอเพราะทุกตำแหน่งมีงบประมาณที่ตั้งไว้แล้ว และพวกเขาต้องการให้แน่ใจว่าความคาดหวังของคุณสอดคล้องกับงบประมาณนั้นก่อนที่จะดำเนินการต่อในขั้นต่อไป

อ่านเพิ่มเติม แนวทางในการเจรจาต่อรองเงินเดือน: https://bit.ly/3sxvCUH

ตัวอย่าง:  “สาขา…ที่ดิฉันจบมาทำให้ดิฉันมีทักษะที่สอดคล้องกับการทำงานในตำแหน่งนี้ และจากการฝึกงานที่…ทำให้ดิฉันมีประสบการณ์ในการ… ซึ่งคนที่มีทักษะและความสามารถนี้สมควรที่จะได้รับเงินเดือนในช่วง 2x,xxx-3x,000 เมื่อเทียบกับช่วงเงินเดือนในตลาดงาน จากทักษะและประสบการณ์ทั้งหมดของดิฉันคาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะสามารถเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้บริษัทสามารถเติบโตได้เป็นอย่างดีค่ะ” 

อ่านเพิ่มเติม 3 สิ่งที่ไม่ควรพูดในการเจรจาต่อรองเงินเดือน: https://bit.ly/3sXaiIr 

9. คุณได้สมัครงานอื่นอยู่ด้วยหรือไม่?

การที่ HR ถามคำถามนี้เพราะอยากจะทราบว่าคุณสนใจตำแหน่งนี้จริง ๆ หรือเป็นเพียงหนึ่งในทางเลือกของคุณ เพราะฉะนั้นการพูดความจริงอาจจะดีที่สุด หากคุณกำลังสมัครงานที่อื่นด้วยก็สามารถพูดได้ แต่ไม่จำเป็นต้องระบุว่าสมัครที่ไหนไปบ้าง เว้นแต่ว่าพวกเขาต้องการทราบว่าคุณอยู่ในขั้นตอนไหนแล้วกับบริษัทอื่น แต่ถ้าคุณต้องการทำงานที่องค์กรนั้นจริง ๆ ก็ควรที่จะต้องทำให้พวกเขามั่นใจว่าองค์กรของพวกเขาเป็นอันดับหนึ่งในใจคุณ แม้คุณจะสมัครงานที่อื่นไว้ด้วย แต่ถ้าเขารับคุณ คุณก็จะเลือกองค์กรนี้อย่างแน่นอน

ตัวอย่าง:  “ดิฉันได้สมัครงานกับบริษัทอื่นมาสองสามแห่งแล้ว แต่ตำแหน่งนี้รวมถึงรูปแบบการทำงานและวัฒนธรรมองค์กรของที่นี่เป็นที่ที่ดิฉันตื่นเต้นและอยากร่วมงานด้วยมากที่สุดค่ะ เพราะ…”

10. คุณสามารถเล่าได้ไหมว่าช่วงที่เป็น Gap Year มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง?

แน่นอนว่าแต่ละคนมีเป้าหมายที่แตกต่างกัน บางคนอาจวางแผนอนาคตไว้แต่แรกแล้ว แต่ก็มีบางคนที่ยังเหนื่อยจากการเรียน และยังตัดสินใจเลือกอาชีพที่ตัวเองชอบไม่ได้ ฉะนั้นแนวทางในการตอบคือ ให้พูดถึงสาเหตุที่ทำให้คุณตัดสินใจในการทำ Gap Year จากนั้นมุ่งเน้นไปที่สิ่งที่ได้รับจากปีนั้นว่าได้สร้างความแตกต่างเชิงบวกให้กับความคิด Career path และอนาคตของคุณอย่างไรบ้าง

ตัวอย่าง: “ในช่วงปีเรียนจบใหม่ ๆ ผมรู้สึกไม่พร้อมที่เดินทางในเส้นทางการทำงาน เพราะยังไม่รู้ว่าตัวเองอยากทำอะไร ผมจึงใช้ช่วงเวลานั้นไปลองทำอะไรใหม่ ๆ ลองเรียนรู้ในสิ่งที่ไม่เคยทำ จึงทำให้ผมรู้ว่าผมอยากทำงานในด้านไอที จากนั้นผมได้ใช้เวลาในการเรียนรู้และพัฒนาทักษะที่จำเป็นในด้านไอที จนได้รับใบรับรองมากมาย ซึ่งจากความรู้และประสบการณ์ที่ผ่านมาได้ทำให้ผมเหมาะสมอย่างยิ่งกับตำแหน่งงานนี้ครับ”

เป็นอย่างไรกันบ้างกับ 10 คำถามสัมภาษณ์งานที่ ConNEXT ได้สรุปมาให้เพื่อน ๆ ในบทความนี้ เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าบทความนี้จะช่วยให้เพื่อน ๆ มั่นใจและสามารถเตรียมความพร้อมในการสมัครงานได้เป็นอย่างดี แล้วอย่าลืมแบ่งปันความรู้นี้ไปให้เพื่อน ๆ ของคุณด้วยนะ 


อ้างอิง :  HBR


No comment