เลือกบริษัทก่อนเลือกงาน อีกหนึ่งวิธีหางานที่ใช่และอยู่ได้นาน ฉบับเด็กจบใหม่ | Techsauce
เลือกบริษัทก่อนเลือกงาน อีกหนึ่งวิธีหางานที่ใช่และอยู่ได้นาน ฉบับเด็กจบใหม่

มีนาคม 24, 2022 | By Siramol Jiraporn

การใช้วิธี Company First หรือการเลือกบริษัทก่อนเป็นอย่างแรก จะช่วยให้เราสามารถระบุสิ่งที่ต้องการได้มากขึ้น ทำให้หางานที่ใช่ได้โดยไม่ต้องเสียเวลาหลายชั่วโมงในการเลื่อนดูเว็บหางานไปเรื่อยๆ หางานที่ใช่

ทำไมต้องเลือกบริษัทก่อน?

การหางานจากการเลือกบริษัทก่อน จะช่วยให้เรามีโอกาสได้งานที่ชอบ และสามารถอยู่ที่บริษัทนั้นได้เป็นเวลานาน สิ่งนี้มีความสำคัญกับผู้ที่มองหาอาชีพที่สามารถเติมเต็มตัวเองได้ 

“คนส่วนใหญ่ลาออกจากงานเพราะวัฒนธรรมองค์กรหรือเพื่อนร่วมงาน” Jena Viviano โค้ชด้านอาชีพของ Muse กล่าว “การเลือกบริษัทก่อนเป็นอันดับแรก จะทำให้มีโอกาสทำงานได้นานกว่าเดิมหากมองในระยะยาว”

เมื่อเรามองหาบริษัทก่อนงาน จะทำให้เราสนใจทั้งความรับผิดชอบที่ต้องทำในแต่ละวัน เบื้องหลังการทำงานของบริษัท ความก้าวหน้าทางอาชีพในบริษัท Work-life balance และอื่นๆ สิ่งนี้จะทำให้เรามีความสุขและประสบความสำเร็จในอาชีพการงานมากขึ้น 

อีกทั้งยังทำให้เราเตรียมตัวสมัครงานและสัมภาษณ์งานได้ตรงจุด เพราะเราเรียนรู้และหาข้อมูลบริษัทมาแล้ว ทำให้มีแนวโน้มที่บริษัทจะจ้างเรามากขึ้นด้วย

นอกจากนี้ ปัจจุบันหลายบริษัทใช้ชื่อตำแหน่งงานและการแยกประเภทงานที่มีความแตกต่างกันไป เราไม่สามารถพิมพ์คำว่า ‘HR generalist’ แล้วจะเจอตำแหน่ง HR ทั้งหมดได้อีกต่อไป เช่น บางบริษัทเรียกว่า Culture, People หรือ Happiness department 

ดังนั้น สิ่งแรกที่ควรทำมื่อเริ่มหางานคือ ดูว่ามีบริษัทไหนบ้างที่สอดคล้องกับเป้าหมายของเรา แล้วค่อยเจาะลึกเข้าไปดูตำแหน่งงานในบริษัทนั้นๆ เพื่อที่จะรู้ได้ว่าเรากำลังสมัครงานในตำแหน่งและบริษัทที่ใช่จริงๆ

วิธีเลือกบริษัท

การใช้วิธี Company First ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องใช้ความรู้สึกข้างในของตัวเองจริงๆ และต้องใช้เวลาในการดึงความรู้สึกนี้ออกมา แต่เนื่องจากวิธีนี้ให้ผลลัพธ์ในการหางานระยะยาว จึงคุ้มค่าที่จะลอง

1. ค้นหาสิ่งที่สนใจมากที่สุด

เป้าหมายของการใช้วิธีนี้คือการหางานที่รัก ซึ่งการจะทำอย่างนั้นได้ ต้องรู้ก่อนว่าอะไรเป็นสิ่งสำคัญสำหรับเรา ให้ลองทบทวนจากประสบการณ์ที่ผ่านมา หากเป็นเด็กจบใหม่อาจลองทบทวนจากประสบการณ์อาสาสมัครหรือการฝึกงานดูว่า อะไรเป็นสิ่งที่ชอบและไม่ชอบในตำแหน่งและบริษัทที่เคยทำ

ตัวอย่างสิ่งที่ควรพิจารณา:

2. สร้างลิสต์บริษัทที่สนใจ

เมื่อหาสิ่งที่สนใจมากที่สุดแล้ว ขั้นตอนต่อมาคือการหาบริษัทที่ต้องการ สามารถทำได้ดังนี้

3. ประเมินว่าตรงตามเกณฑ์หรือไม่

เมื่อสร้างลิสต์บริษัทที่น่าสนใจ 10-20 บริษัทแล้ว ให้ลองพิจารณาดูอีกครั้งว่าสอดคล้องกับความต้องการในข้อแรกหรือไม่ ด้วยการค้นคว้าหาข้อมูลของแต่ละบริษัทเพิ่มผ่านเว็บไซต์บริษัท โซเชียลมีเดีย และข่าวต่างๆ อย่างไรก็ตาม การถามความเห็นคนที่ทำงานที่บริษัทนั้นว่า จริงๆ แล้วการทำงานที่นั่นเป็นอย่างไร ย่อมมีประโยชน์และน่าเชื่อถือมากกว่า

สิ่งสำคัญคือ อย่าเสียดายหากมีบริษัทไหนไม่ถูกใจ แม้ว่าการปล่อยมือจากแบรนด์ที่มีชื่อเสียงจะเป็นเรื่องยากก็ตาม แต่ชื่อเสียงของบริษัทไม่สามารถทดแทนสภาพแวดล้อมการทำงานที่ไม่เหมาะกับตัวเองได้หากเข้าไปทำงานจริงๆ

4. จับตาดูตำแหน่งว่าง

เมื่อจำกัดขอบเขตบริษัทลงได้แล้ว ควรเช็คตำแหน่งว่างของบริษัทนั้นๆ อยู่เสมอ เพราะบริษัทที่เราสนใจอาจจะยังไม่เปิดรับสมัครตำแหน่งที่ต้องการ แต่จำไว้ว่าบริษัทจะมีการจ้างงานอยู่เรื่อยๆ เมื่อบริษัทเปิดรับสมัครก็สามารถสมัครได้ทันที 

เคล็ดลับของการสมัครงานอย่างหนึ่งคือ อย่าพรีเซนต์มากเกินไปว่าเราดีเลิศและเหมาะกับตำแหน่งนี้ขนาดไหน ให้พูดถึงความหลงใหลในบริษัทและสิ่งที่บริษัทกำลังทำอยู่แทน

5. ทำความรู้จักคนที่ทำงานอยู่ในบริษัท

การสร้างเครือข่ายหรือคอนเนคชันเป็นสิ่งสำคัญมาก อย่ารอให้คนอื่นเข้าหาเรา แต่ให้เรารุกเข้าไปแทน เพราะการมีคนรู้จักในบริษัทนั้นช่วยให้เรารู้ข้อมูลจากบริษัทนั้นๆ มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรมองค์กร กระบวนการจ้างงาน หรือบางทีอาจจะรู้ว่ามีตำแหน่งว่างแต่ยังไม่ประกาศรับสมัครก็ได้

นอกจากนี้ ยังอาจทำให้ผ่านเข้าสู่รอบต่อไปได้ง่ายขึ้น เพราะมีแนวโน้มที่เราจะมีความโดดเด่นกว่าผู้อื่น หากยื่นใบสมัครงานที่ได้รับการอ้างอิงจากผู้ที่อยู่ในบริษัท ถ้าไม่มีคนรู้จักทำงานในบริษัทที่สนใจ เราก็สามารถสร้างความสัมพันธ์ได้ง่ายๆ ผ่าน LinkedIn

แน่นอนว่าการใช้วิธี Company First อาจไม่ใช่เรื่องง่ายเสมอไป อีกทั้งยังต้องใช้เวลาและความอดทนเป็นอย่างมาก แต่ก็ถือว่าคุ้มหากมองเป็นความสำเร็จในระยะยาวว่าเราจะได้งานและบริษัทที่ใช่จริงๆ

อ้างอิง The Muse

No comment