คุยกับ SCG กับ Corporate Innovation ที่ไม่ได้เพิ่งเริ่มต้น | Techsauce

คุยกับ SCG กับ Corporate Innovation ที่ไม่ได้เพิ่งเริ่มต้น

กว่า 105 ปี ของ SCG หนึ่งในองค์กรขนาดใหญ่ของประเทศไทยที่มีวัฒนธรรมองค์กรที่แข็งแกร่งและอยู่มาอย่างยาวนาน แต่แน่นอนว่าการเข้ามาของยุค Disruption ย่อมสร้างผลกระทบให้กับบริษัทใหญ่เช่นกัน ซึ่งอย่างที่เราทราบกันดีว่า ตอนนี้ทุกบริษัทตื่นตัวกับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี เราเห็นตัวอย่างยักษ์ล้มของบริษัทระดับโลกอย่าง Nokia , Kodak ซึ่งทำให้ทุกบริษัทต่างกลัวว่า จะสามารถมีผลิตภัณฑ์และบริการต่อไปได้ยาวนานแค่ไหน เรื่องของ Corporate Innovation จึงเป็นสิ่งที่หลายบริษัทตื่นตัวในเวลานี้ ในขณะที่ SCG เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในตัวอย่างให้กับบริษัทอื่นๆ ทั้งการตื่นตัวในเรื่อง Innovation หรือแม้แต่ Startup รวมทั้งการสร้างคนของ SCG

ในบทความนี้ Techsauce ได้ร่วมพูดคุยกับคุณยุทธนา เจียมตระการ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่-การบริหารกลาง SCG และ ดร.จาชชัว แพส กรรมการผู้จัดการ AddVentures กับการทำ Corporate Innovation และการสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่แข็งแรง

ผู้บริหารในยุคปัจจุบันมองการสร้างวัฒนธรรมองค์กรอย่างไรที่ดึงดูดคนรุ่นใหม่เข้ามาร่วมงาน?

คุณยุทธนา : ย้อนกลับไปในยุคก่อนๆ SCG ก็ไม่ได้ต่างอะไรกับบริษัททั่วๆไป ในเรื่องเทคโนโลยีต่างๆ เราก็ซื้อจากเจ้าของเทคโนโลยี เช่น ธุรกิจเคมีภัณฑ์ก็มาจากญี่ปุ่น อเมริกาหรือยุโรป เป็นต้น จนกระทั่งปี 2005 เป็นปีที่เราลุกขึ้นมาทำและประกาศตัวว่าเรื่องการทำ Innovation จะเป็นกลยุทธ์หลักของเราในการเติบโตต่อไป

เมื่อพูดถึง Innovation ในช่วงนั้น แรงบันดาลใจ คือเรามองเห็นการแข่งขันที่เพิ่มมากขึ้น เราจึงเริ่มปรับทิศทางในการดำเนินกลยุทธ์ธุรกิจ พยายามเพิ่มคุณค่าให้กับลูกค้า มากกว่าแค่การผลิตและขายสินค้าเท่านั้น

นอกจากนี้ สิ่งที่เราให้ความสำคัญเป็นลำดับต้นๆคือเรื่องทรัพยากรบุคคล เราจึงเริ่มกำหนดวิธีการในการคัดเลือกคนและให้ผลตอบแทนที่แตกต่างไปจากเดิม

ถ้าย้อนไปในปี 2005 เราใช้งบวิจัยประมาณ 35 ล้านบาท มีนักวิจัยประมาณ 10 คน ในปี 2016 เราใช้งบวิจัยไปประมาณ 4,000 ล้านบาท คิดเป็น 1% ของยอดขายของ SCG ในตอนนั้น และมีนักวิจัย 1,800 คน จากพนักงานทั้งหมดที่มี 54,000 คน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เรามีการขับเคลื่อนเรื่องนวัตกรรมมาโดยตลอด โดยมียอดขายสินค้าเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จ

สิ่งที่เราพยายามทำในช่วงที่ผ่านมา คือสร้างการเปลี่ยนแปลงในจุดที่เราเห็นได้อย่างชัดเจนเพื่อรับมือกับ Technology Disruption ยกตัวอย่างเช่น  เมื่อ 6-7 ปีที่แล้วเรามีธุรกิจกระดาษขาวที่ขายสินค้าให้กับโรงพิมพ์เพื่อทำนิตยสาร แต่ด้วยพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป เริ่มอ่านทางออนไลน์มากขึ้น ทำให้โรงพิมพ์ต่างๆที่เป็นลูกค้าของ SCG ได้รับผลกระทบ เราจึงเริ่มมองเห็นภาพแล้วว่าผลกระทบเรื่องนี้เป็นเรื่องที่่ใกล้ตัวมาก จนกระทั่ง 4 ปีที่ผ่านมา เราเปลี่ยนจาก SCG Paper เป็น SCG Packaging มีการประกาศแนวทางการดำเนินธุรกิจใหม่ และนี่ก็เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนในการได้รับผลกระทบเรื่อง Technology Disruption ซึ่งเป็นผลมาจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป

เรามองว่าการทำ Product Innovation อย่างเดียวด้วยงบวิจัยและพัฒนาที่ทำมาอาจจะไม่เพียงพอ มันต้องมี Innovation ที่เกี่ยวข้องกับ Technology ที่ใช้เรื่อง Digital หรือ Business Model Innovation หรือ Service Innovation เข้ามา ทำให้เราเริ่มปรับกลยุทธ์ใหม่ในการทำ Innovation ของ SCG เราโฟกัสใน 2 มุมคือ การทำให้ธุรกิจเดิมดีขึ้น เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน อีกมุมคือการสร้าง Growth Platform ตัวใหม่ให้กับธุรกิจ จึงถือเป็นการพัฒนา  Innovation ทั้งสองมุมควบคู่กันไป

มีการกระตุ้นพนักงานอย่างไรให้พร้อมเปลี่ยนแปลงไปพร้อมกับองค์กร?

SCG เราพยายามพัฒนาคนในองค์กรมาโดยตลอด  เรามี Core Value 4 ตัวที่ยึดถือกันมา คือ

  1. ตั้งมั่นในความเป็นธรรม
  2. มุ่งมั่นในความเป็นเลิศ
  3. เชื่อมั่นในคุณค่าของคน
  4. ถือมั่นในความรับผิดชอบต่อสังคม

เราเริ่มปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรมาตั้งแต่ 10 ปีที่แล้ว และมีการเพิ่มส่วนสำคัญเข้ามาอีก 2 ตัว คือ Open & Challenge หรือการเปิดใจรับฟังผู้อื่นและพร้อมรับความท้าทาย ไม่ยึดติดกับความสำเร็จแบบเดิมๆ

เมื่อเราเริ่มโปรแกรมที่เกี่ยวข้องกับดิจิทัล เราค้นพบว่าในบริบทหนึ่งมันสอดคล้องกันกับ Generation เช่น Gen Y หรือ Gen Z ที่กำลังเข้าสู่ตลาดแรงงาน คนรุ่นนี้อยากเห็นผลตอบแทนเร็วๆ ทำแล้วอยากเห็นผล หรือทำแล้วเห็นภาพชัดเจน ต้องการมีอิสระและมีส่วนร่วมในการคิด

เพราะฉะนั้นหน้าที่ของบริษัทก็คือเราพัฒนาโปรแกรมขึ้นมา เพื่อให้คนกลุ่มนี้เข้ามามีส่วนร่วม สื่อสารให้คนกลุ่มนี้รู้ว่าเรามีโครงการลักษณะแบบนี้ เราสร้างสภาพแวดล้อม สร้างกลไกเพื่อให้เขาดึงศักยภาพของเขาออกมาทำให้เต็มที่ มี Passion ที่อยากจะทำเรื่องนี้อยู่แล้ว หน้าที่ของบริษัทก็คือจัดหาโอกาส สร้างสภาวะแวดล้อม หรืออะไรก็ตามที่เป็นปัญหา อุปสรรค ก็พยายามทำให้มันลดลง

โครงการ Accelerator ปีที่แล้ว ก็ถือเป็นหนึ่งกิจกรรมที่ทำอยู่?

ดร.จาชชัว : จริงๆ เริ่มได้มาปีกว่าแล้ว เราก็รู้เลยว่าวิธีการทำงานแบบนี้เราไม่เก่ง อันดับแรกก็คือต้องหา Mentor จากข้างนอก หา VC เพื่อมาสอนเรื่องพวกนี้ ก็จะมีการเอาน้องหลายๆ ทีมเข้ามาและเราพยายามนำกระบวนการนี้ไปเสริมกับ Core ให้ได้

พนักงานมีความกระตือรือร้นแม้ว่าในช่วงวันหยุดก็ยังมาร่วมกิจกรรม ทำอย่างไรให้พนักงานรู้สึกว่าอยากจะมา?

ดร.จาชชัว : ต้องบอกว่า SCG เราคัดเลือกคนที่มีความสามารถเข้ามาในองค์กรได้เยอะ ไม่ว่าจะเป็นคนที่จบใหม่ๆ ก็อยากจะเข้ามาทำงานร่วมกับเรา คนกลุ่มนี้ก็ยังมีศักยภาพ ต้องการที่จะแสดงออก เพียงแต่ไม่มีเวทีให้เขาแสดงออก เมื่อบริษัทจัดหาเวทีให้ เขาก็อยากทำ เมื่อทำแล้วมันช่วยยกระดับชีวิตเขาหรือช่วยยกระดับองค์กรให้ดีขึ้น และสร้างความเชื่อมโยงได้ว่าสิ่งที่เขาเปลี่ยนมันสร้างคุณค่าให้องค์กรได้อย่างไร และองค์กรนำสิ่งที่เขาทำมาใช้อย่างไร มันต้องเป็นวงจรของการยกระดับ เพราะฉะนั้นโปรแกรมนี้ก็เป็นการพูดคุยกันว่าต้องลงทุนทั้ง 2 ฝั่งเพื่อให้เกิดกระบวนการในการคัดกรอง บริษัทเองก็ยินดีให้เวลา เพราะเขาต้องสละเวลา 1 วันในวันทำงานปกติเพื่อมาทำ ก็เกิดเป็นโปรแกรมนี้ขึ้นมา ซึ่งหัวหน้างานก็ต้องสนับสนุน โปรแกรม 1 วันคือมาคิดริเริ่ม แต่ถ้ามันเวิร์คก็จะทำแบบ full time ต่อไป

มีวิธีเลือกคนเข้ามาร่วมโครงการอย่างไร?

คุณยุทธนา : จะเห็นได้ว่ามีโจทย์อยู่ 2 แบบ คือโจทย์ธุรกิจ เป็นสิ่งที่บริษัทต้องทำอยู่แล้ว โจทย์ลักษณะแบบนี้ก็แค่ต้องหาคนที่มีความสามารถ (Capability) แต่โจทย์อีกลักษณะหนึ่งก็คือ Bottom up เขาต้องคิดโจทย์ขึ้นมาเอง และโจทย์นั้นต้องเชื่อมได้ว่าในอนาคตสามารถมาเชื่อมกับธุรกิจได้อย่างไร เพราะฉะนั้นโจทย์ลักษณะแบบนี้ก็ดูทั้งโจทย์และทีมงาน ทั้งนี้คนที่เข้ามาก็ต้องมี passion ซึ่งมันเป็นคำที่สะกดง่าย แต่จะบอกได้ว่าใครมี passion จริงๆ มันยาก กติกาที่เราบอกเขาตั้งแต่ต้นว่าต้องสละเวลา วันหยุดเสาร์-อาทิตย์ก็อาจจะไม่ได้อยู่กับครอบครัว ไม่ได้เที่ยว อันนี้ก็จะเป็นตัววัดว่าเขาอาจจะยังไม่เหมาะกับโปรแกรมแบบนี้ ไม่ใช่ว่าในช่วงต้นทั้ง SCG จะมาทำแบบนี้ มันก็เป็นแค่คนกลุ่มหนึ่งที่อยากจะมีวิธีการทำงานที่แตกต่าง อยากสร้างชื่อว่าเขาสามารถสร้างสิ่งที่ตอบสนองต่อลูกค้าได้ สร้างคุณค่าให้กับองค์กรได้อย่างไร เขาก็มีความภูมิใจ ถ้าทำสำเร็จก็สามารถต่อยอดได้

ความท้าทายของการดำเนินโครงการนี้ คืออะไร?

คุณยุทธนา: ถ้าเป็นช่วงเริ่มต้น ก็คือการจัดการ (Management) เราก็ทำความเข้าใจกัน เพราะเนื่องด้วยสภาพแวดล้อมของธุรกิจมันเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม สิ่งที่เราอยากจะได้คือ การเข้าสู่ตลาดที่เร็วขึ้น มันไม่สามารถใช้วิธีการทำงานแบบเดิมๆ ได้

ดร.จาชชัว :  Enterprise Program มีคนสมัครเข้ามากกว่า 400 คนใน 2 batch ซึ่งพี่ๆน้องๆที่สมัครเข้ามานั้นมาจากหลากหลายหน่วยงาน เมื่อทุกคนเข้ามาแล้วก็ต้องมา pitch เหมือนสตาร์ทอัพ จะมีคนกลุ่มหนึ่ง โดยมีพี่ๆเป็น VC หากมีศักยภาพก็จะเลือกเข้าโปรแกรม ซึ่งในตอนนี้มีรวมแล้วทั้งหมด 30  ทีม โดยมาโฟกัสเรื่อง problem-solution fit

โดยในแต่ละเดือนทีมจะมีการเข้า coaching session ว่าที่ผ่านมาทำอันนี้มา เวิร์ค ไม่เวิร์ค ติดปัญหาอะไร จะทำอะไรต่อ จะมาขอ ต้องใช้เงินเพิ่มหรือไ่ม่

คุณยุทธนา: ตอนนี้ SCG พยายามสร้างกลไกสตาร์ทอัพภายในกลไกใหญ่ (Internal Startup) เปรียบเทียบก็เหมือนกับสปีดโบ๊ท เพื่อให้มั่นใจว่า Innovation ของเรามันจะออกมาได้เร็ว เพราะทุกวันนี้เราต้องแข่งด้วยความรวดเร็ว

มีการตั้ง KPI หรือวัดผลอย่างไร?

ดร.จาชชัว : KPI เราจะวัดผลแบบสั้นๆ  ดูว่าอาทิตย์นี้จะต้องทำอะไรแต่มีที่เพิ่มเข้ามาคือ Test & Learn ทำมาแล้วเวิร์คหรือไม่ ถ้าไม่เวิร์คก็ไม่เป็นอะไร แต่สำคัญคือได้เรียนรู้อะไรบ้าง เมื่อเรียนรู้แล้วว่าไม่เวิร์คครั้งหน้าก็ต้องปรับเปลี่ยนกันไป

ตอนทำแรกๆ หัวหน้างานระดับกลางที่เขารู้สึกว่าต้องเสียเวลางาน 1 วัน เขามีประเด็นหรือมีข้อขัดแย้งกันไหม?

คุณยุทธยา: ช่วงแรกๆ ก็มี ซึ่งมันเป็นความรู้สึกของเขาจริงๆ แต่ก็ต้องบอกว่าเป็นเรื่องประสานงานกันภายในมากกว่า ทุกทีมที่ผ่านเข้ารอบแล้วเราบอกให้เขามาทำงานเลยมันก็ไม่ได้ ก็ต้องมีเวลาในการประสานงานภายใน เช่น ทีมที่ผ่านเข้ามา หน่วยงานภายในต้องปล่อยให้มาทำภายในเวลาเท่าไร ก็ขึ้นอยู่กับเขา

ช่วงการสร้างทีม หัวหน้าก็ต้องให้เวลาและสนับสนุน เช่น ขอเบิกค่าใช้จ่ายในการไปหาลูกค้าเพื่อทดสอบไอเดีย เป็นต้น ตราบใดที่หัวหน้ารับรู้ว่าสิ่งที่ทำอยู่มันเกี่ยวข้องกับธุรกิจ ทุกคนพร้อมที่จะสนับสนุน ซึ่งในช่วงแรกอาจจะดูไม่ราบรื่น แต่เมื่อเริ่มเข้าใจมากขึ้นก็จะไปในทิศทางที่ดีขึ้น และวัฒนธรรมเป็นตัวที่สำคัญที่สุด

หน้าที่ของบริษัทคือดึงศักยภาพของพนักงานออกมา เพราะที่เราบอกว่าเรารับคนเก่งเข้ามา หน้าที่บริษัทคือเราพัฒนาเขา ถ้าการพัฒนาตามสูตรที่เราใช้ คือ 10 : 20 : 70 โดย  10 คือการเรียนในห้องเรียน 20 คือเรื่องของการ coaching และ 70 คือการลงมือทำ กระบวนการในการ Test & Learn ซึ่งอยู่ในส่วนของการลงมือทำที่ช่วยยกระดับพนักงาน เพื่อสอดคล้องกับ Core Value ของ SCG อย่างเต็มที่ ให้พนักงานได้ลองเล่นกับมันจริงๆ ให้เขาเข้าใจความต้องการของลูกค้า การเข้าใจลูกค้าแบบไหนที่เรียกว่า Empathy

มี Startup ทีมไหนจากโปรแกรมนี้ที่ดูแล้วมีโอกาสจะโตไหม?

คุณยุทธนา : ผมคิดว่าทุกทีมมีโอกาสโต แต่ก็ขึ้นอยู่กับเขา ตอนที่เขาเข้ามาในโปรแกรมนี้เรามองศักยภาพ เพราะโจทย์ที่เขาตั้งมันมีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จได้ไหม  แต่จะไปต่อได้หรือไม่ก็ต้องขึ้นอยู่กับทีมเขาเอง เค้าสามารถเรียนรู้และยกระดับได้เร็วแค่ไหน สามารถสร้างการเติบโตของไอเดียได้เร็วแค่ไหน

ดร.จาชชัว : batch ที่ 1 เพิ่งจบไปเมื่อกลางปีที่แล้ว และ batch ที่ 2 เพิ่งเริ่ม ระหว่างทางมันก็จะมีคนที่ออกไปและเข้ามาใหม่ ตอนนี้คนที่ยังอยู่ก็เป็นคนที่เราเห็นศักยภาพแต่เมื่อถึงจุดหนึ่ง ก็ต้องให้ตลาดที่เป็นตัวพิสูจน์ business model นี้

Project ของแต่ละทีมจำเป็นต้องเป็น Digital Base ไหม?

คุณยุทธนา : เราบอกว่าเราต้องชนะใจลูกค้า ถ้าถามว่าตอนนี้ลูกค้าอยากได้อะไร ลูกค้าอยากได้อะไรที่มันสะดวกขึ้น ดีขึ้น ถูกลง เพราะฉะนั้นการนำเทคโนโลยีมาใช้มันเป็นส่วนหนึ่งแล้ว ถ้าไม่มีตัวนี้ก็ก้าวข้ามได้ลำบากเหมือนกัน เพราะถ้าทำแบบเดิมๆ เราก็ทำอยู่แล้ว มันก็คือการเอาองค์ประกอบของเทคโนโลยีในเรื่องของ Digital Technology เข้ามาช่วย

เราไม่ได้ใช้คำว่าดิจิทัลเพราะมันต้องดิจิทัล เทคโนโลยีเป็นสิ่งที่ต้องตามมาตลอด ถ้าเทคโนโลยีนำเมื่อไรก็ไม่ตรงกับที่เราต้องการแล้ว

มีคำแนะนำอะไรสำหรับองค์กรอื่นๆ ที่กำลังจะเริ่มต้นเข้าสู่การ Transform บ้าง?

ผมคิดว่าเรื่องแบบนี้มันเป็นเรื่องเฉพาะตัว เป็นเรื่องขององค์กร ด้วยความที่ SCG เรามีความเห็นว่าเราต้องยกระดับตัวเองตลอดเวลา เรา launch โปรแกรม Passion for Better หรือ Brand Promise อันใหม่ในปีนี้ ซึ่งในองค์ประกอบของ Passion for Better  ก็มีเรื่อง Customer Centric, Solution First, Advancing Community และ Leading the Way หมายความว่าถ้าเราทำให้เรื่องของ digital อยู่ใน 4 บริบทนี้ได้นั้น จะช่วยให้เราประสบความสำเร็จ ในการส่งต่อสินค้าและบริการที่ดีขึ้นให้กับลูกค้าได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญที่บอกให้กับพนักงานเราไปในทิศทางเดียวกัน เป็นการนำทางเรื่องการสร้างวัฒนธรรมและ พฤติกรรมภายในองค์กรว่า องค์กรอย่าง SCG “Why we exist?”

Secret Sauce ที่ทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จมาถึงจุดนี้ได้?

คุณยุทธยา : ‘คน วัฒนธรรม Passion’ ส่วนตัวผมคิดว่าเราเชื่อในคนเก่งและคนดี และเป็นส่วนหนึ่งของสังคม โดยเฉพาะเรื่องการทำ Startup ผมว่ามันเป็นสิ่งที่ Open มากๆ ทั้ง Open Collaboration, Open Innovation ซึ่งเป็นแนวทางหนึ่งที่ทาง SCG คิดว่าจะเป็นตัวช่วยและเป็นกลไกในการทำเรื่อง Innovation ให้เร็วขึ้น เพราะฉะนั้นไม่ว่าเราช่วยเขาหรือข้างนอกมาช่วยกัน อันนี้ก็เป็นอีกจุดหนึ่งที่ผมคิดว่าจะเป็นบริบทใหม่ของการทำงาน ที่มาช่วยยกระดับ ไม่ใช่แค่ SCG แต่รวมไปถึงสังคมหรือประเทศมาร่วมแรงร่วมใจกันทำสิ่งนี้ สร้าง Ecosystem นี้ให้แข็งแรง และช่วยยกระดับประเทศนี้ไปพร้อมๆ กัน

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

เปิดกลยุทธ์ธุรกิจยุคใหม่ พลิกข้อมูล สู่ขุมทรัพย์ด้วย analyticX ด้วยพลัง Telco Data Insights และ GenAI

ยุคนี้ใคร ๆ ก็พูดถึง Data แต่จะใช้ Data อย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่างหากคือกุญแจสำคัญ! ในสัมมนาสุดเอ็กซ์คลูซีฟ "Unlocking Data-Driven Decisions with Telecom Data Insights" ที่จั...

Responsive image

‘UOB Sustainability Compass’ เครื่องมือออนไลน์ด้านความยั่งยืน หนุน SMEs เปลี่ยน Vision เป็น Action

บทสัมภาษณ์ คุณอัมพร ทรัพย์จินดาวงศ์ และคุณพณิตตรา เวชชาชีวะ เกี่ยวกับ ‘UOB Sustainability Compass’ เครื่องมือออนไลน์ที่เข้ามาช่วย SMEs เริ่มดำเนินการด้านความยั่งยืนอย่างเข้าใจและไม...

Responsive image

Intel พลาดอะไรไป ? ทำไมถึงต้องเปลี่ยน CEO กะทันหัน ? ถอดบทเรียนราคาแพงจากยุค Pat Gensinger

การ ‘เกษียณ’ อย่างกะทันหันของ Pat Gelsinger อดีตซีอีโอ Intel ในต้นเดือนธันวาคม สร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั่ววงการเทคโนโลยี หลายฝ่ายมองว่าเป็นการบีบให้ออกจากบอร์ดบริหาร อันเนื่องมาจากผล...