ข้อมูลจากบทความใน
Harvard Business Review ที่แสดงให้เห็นข้อมูลที่น่าสนใจว่า บริษัทในครอบครัวมักจะลงทุนในด้านการค้นคว้าและวิจัย (R&D) น้อยกว่าบริษัทที่บริหารโดยมืออาชีพ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะปกติแล้วเจ้าของธุรกิจในครอบครัว (Family Business) มักมีสินทรัพย์ส่วนใหญ่เป็นหุ้นในบริษัทนั้นเอง ดังนั้นผู้บริหารจึงรู้สึกเหมือนเงินทุกบาททุกสตางค์เป็นของเขา จึงไม่อยากเสียเงินโดยไม่คุ้มค่า จึงระมัดระวังในการใช้จ่ายอย่างมาก โดยเฉพาะการลงทุนที่ไม่เห็นประโยชน์ชัดเจนอย่างงบ R&D แต่ด้วยความที่ผู้บริหารของธุรกิจในครอบครัวมักเป็นผู้ก่อตั้งกิจการเอง จึงมีความรู้ความเข้าใจในธุรกิจเป็นอย่างดี จึงทำให้ธุรกิจในครอบครัวเหล่านี้กลับมีนวัตกรรมที่ประสบความสำเร็จสูงกว่า โดยเฉพาะถ้าเปรียบเทียบต่อเงินลงทุนในด้านนี้ และความสัมพันธ์ที่ดีกับพนักงาน ลูกค้า และผู้จำหน่าย ยังช่วยทำให้มีโอกาสในการสร้างนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ได้ดี
สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจ ธุรกิจในครอบครัวบางแห่งก็ประสบปัญหาในการสร้างสรรค์นวัตกรรมเช่นกัน โดยเฉพาะธุรกิจที่ผู้ก่อตั้งยังบริหารงานอยู่ (first generation) ผู้ก่อตั้งมักมีความเชื่อมั่นในตัวเองสูง และมั่นใจในการตัดสินใจของตน มากกว่าเชื่อข้อมูล หรือเชื่อคนอื่น จึงมักไม่ค่อยให้ความสนใจกับสิ่งที่คนอื่นคิดขึ้นมา นวัตกรรมส่วนใหญ่จึงเป็นผลจากการลงทุนโดยอาศัยสัญชาติญาณของผู้ก่อตั้ง จึงมีอัตราการล้มเหลวสูงกว่า บริษัทในครอบครัวที่บริหารงานโดยลูกหลานของผู้ก่อตั้ง
คำแนะนำของบทความนี้คือ
Be a committed and informed owner เจ้าของควรให้ความสนใจและมีส่วนร่วมในนวัตกรรม และใช้เครือข่ายและความสัมพันธ์กับพนักงาน และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการสนับสนุนให้เกิดนวัตกรรม
Use the family firm’s culture to empower employees เนื่องจากครอบครัวมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพนักงานและบริษัท จึงมีโอกาสที่ดีในการปลูกฝังเรื่องการสรรค์สร้างนวัตกรรม อย่างบริษัท W. L. Gore and Associates เปิดโอกาสให้พนักงานคิดไอเดียในการปรับปรุงผลิตภัณฑ์และการทำงานมานำเสนอทุกๆ อาทิตย์ และมีหลักการว่า ถ้าพนักงานยังไม่ได้ทำอะไรผิดอาทิตย์นี้ แปลว่ายังคิดออกนอกกรอบไม่พอ
Leverage your trust-based external network พยายามสนทนา และติดต่อกับคนที่รู้จักเพื่อหาไอเดีย และรูปแบบธุรกิจใหม่ๆ
ส่วนผมคงฝากไว้ว่า เพื่อให้ธุรกิจในครอบครัวไม่ติดหล่มนวัตกรรม และไปถึงศักยภาพอย่างที่ควรจะเป็นเหมือนในบทความ ผู้บริหารโดยเฉพาะผู้ก่อตั้งควรย้อนกลับไปคิดถึงวันที่ตนเริ่มก่อสร้างบริษัทขึ้นมา วันนั้นท่านคงคิดไอเดียอะไรได้ แล้วทำเลย โดยไม่รู้ด้วยซ้ำว่า จะมีตลาดไหม กำไรขนาดไหน คุ้มไหม หากท่านต้องการให้บริษัทของท่านมีนวัตกรรม อย่าเพิ่งเอาเงื่อนไขเหล่านี้มาฆ่าไอเดียต่างๆ ลองหาวิธีที่จะทดลองว่านวัตกรรมนั้นได้ผลหรือไม่ โดยการลงทุนน้อยๆ ค่อยค้นหาตลาด และรูปแบบผลิตภัณฑ์/บริการที่ลูกค้าต้องการ อย่าลืมว่า "ไม่ลอง ไม่รู้" ถ้ามีลูกหลานที่เข้ามาบริหารงาน ก็เปิดโอกาสให้เขาให้ลองฝีมือบ้าง
และจำไว้ว่า นวัตกรรมส่วนใหญ่จริงๆ แล้วล้มเหลว อย่าหวังว่า จะทำนวัตกรรม แล้วจะแพ้ จะล้มเหลวไม่ได้ คิดไว้ก่อนว่าอาจจะล้มเหลว และไม่ลงทุนหมดหน้าตักในทีเดียว ถ้าพลาดจะได้ลองใหม่ได้
ตัวเองก็ไม่ควรทรนงว่าตัวเองเก่ง และถูกเสมอ ยุคสมัยมันเปลี่ยนไปแล้ว พึ่งข้อมูลให้เยอะขึ้น มากกว่าที่จะอาศัยสัญชาติญาณตนเพียงอย่างเดียว
ผู้บริหารที่เป็นลูกหลานก็เช่นกัน เวลาจะไปขอพ่อ แม่ ทำโครงการอะไร ขอทำโครงการแบบทดลอง อย่าได้ไปริอาจบอกเขาว่า มีไอเดียดีเลิศประเสริฐศรี และจัดเต็ม เพราะเวลาพลาดขึ้นมา ตัวเองจะเสียเครดิต และไม่มีโอกาสได้ลองง่ายๆ อีกต่อไป
บทความนี้เป็น Guest Post โดย ณัฐ เหลืองนฤมิตชัย