4 เสาหลักสู่นวัตกรรม ความสำเร็จที่ยั่งยืน ที่องค์กรขาดไม่ได้ | Techsauce

4 เสาหลักสู่นวัตกรรม ความสำเร็จที่ยั่งยืน ที่องค์กรขาดไม่ได้

ปัญหาใหญ่ขององค์กรในการสร้างนวัตกรรมมักไม่ใช่การขาดแคลนไอเดีย สิ่งที่เป็นปัญหาจริงคือ "คุณภาพ" ของไอเดียเหล่านั้น รวมถึงวิธีการ ”เลือก” ไอเดียที่เหมาะสมเพื่อนำไปพัฒนาเป็นนวัตกรรมที่สร้างคุณค่าได้จริง 

หลายองค์กรต้องสูญเสียทรัพยากรไปกับไอเดียที่ไม่ผ่านการคัดกรอง หรือเลือกลงทุนในไอเดียที่ตามกระแสมากเกินไปจนพลาดโอกาสสร้างความแตกต่างให้กับองค์กรของตน

จากการวิจัยของหนังสือ The Innovative Leader: Step-by-Step Lessons from Top Innovators for You and Your Organization ซึ่งอ้างอิงจากบทสัมภาษณ์ผู้นำกว่า 50 คนในอุตสาหกรรมต่าง ๆ พบว่าองค์กรที่ประสบความสำเร็จในด้านนวัตกรรมมักมี "เสาหลัก 4 ประการ" ที่ช่วยสนับสนุนให้เกิดนวัตกรรมอย่างต่อเนื่องดังต่อไปนี้

1. การตรวจจับเทรนด์ (Trend Sensing)

การจับเทรนด์เป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้องค์กรสามารถตอบสนองความเปลี่ยนแปลงได้ทันกระแส แต่ปัญหาคือหลายองค์กรมักจะรับรู้เทรนด์ช้าเกินไป หรืออาจวิเคราะห์เทรนด์ที่ได้ในลักษณะที่กว้างและไม่เจาะจง ทำให้พลาดโอกาสในการสร้างคุณค่าที่แท้จริง

หลายบริษัทมักกระโดดเข้าใส่เทรนด์ต่างๆ แต่ส่วนใหญ่มักทำเมื่อเทรนด์นั้นผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว ซึ่งอาจทำให้ต้นทุนยิ่งสูงขึ้นและมีความเสี่ยงมากขึ้น ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ Nestle ซึ่งซื้อกิจการ Jenny Craig ในปี 2006 เพื่อตอบสนองกระแสลดน้ำหนักในยุคนั้น แต่แนวโน้มได้เริ่มเปลี่ยนไปสู่การบริโภคอาหารที่คำนึงถึงโภชนาการด้านอื่น ๆ มากขึ้น ส่งผลให้ธุรกิจนี้ไม่ประสบความสำเร็จและต้องขายกิจการในราคาถูกในอีก 7 ปีต่อมา 

ในทางกลับกัน PepsiCo ใช้แคมเปญ “Do Us a Flavor” เพื่อสำรวจความต้องการรสชาติใหม่ของผู้บริโภค โดยใช้วิธีการที่ต้นทุนต่ำ ให้ผลลัพธ์ที่เฉพาะเจาะจง และมีความเป็นกลาง

องค์กรที่ต้องการประสบความสำเร็จในด้านนี้ควรมีเครื่องมือที่ช่วยตรวจสอบเทรนด์แบบเรียลไทม์ เช่น การสำรวจความคิดเห็น การจัดประกวด หรือการเข้าร่วมงานประชุมในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เพื่อค้นหาแนวทางที่ตอบโจทย์ตลาดได้อย่างรวดเร็ว

2. ความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ (Strategic Partnerships)

การสร้างนวัตกรรมไม่จำเป็นต้องทำคนเดียว ความร่วมมือเชิงกลยุทธ์คือกุญแจสำคัญ การร่วมมือกับพันธมิตรภายนอก ทั้งซัพพลายเออร์ ลูกค้า มหาวิทยาลัย สตาร์ทอัพ หรือแม้แต่บริษัทต่างอุตสาหกรรม เปิดโอกาสให้นวัตกรรมก้าวกระโดด เช่นเดียวกับ Levi's ที่ร่วมมือกับ Google พัฒนาเสื้อผ้าอัจฉริยะ สิ่งสำคัญคือการทุ่มเทสร้างสัมพันธ์ระยะยาว และมองหาศักยภาพของพันธมิตรที่ดูอาจจะดูไม่เกี่ยวข้องกันก็ตาม อย่าพลาดโอกาสเติบโตแบบ Yahoo! ที่เคยปฏิเสธ Google ในช่วงเริ่มต้น

นอกจากนี้ยังมี Johnson & Johnson ที่ประสบความสำเร็จในการสร้างเครือข่ายพันธมิตร โดยร่วมมือกับมหาวิทยาลัยและสตาร์ทอัพ ให้การสนับสนุนทั้งด้านเงินทุน ทรัพยากร และพื้นที่ โดยไม่จำเป็นต้องถือหุ้น ซึ่งทำให้ Johnson & Johnson ได้เปรียบในการสร้างความร่วมมือในอนาคต กลยุทธ์นี้ช่วยสร้างข้อตกลงและพันธมิตรทางธุรกิจมากมาย เป็นเครื่องพิสูจน์ถึงพลังของความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ที่ช่วยสร้างความสำเร็จอย่างยั่งยืน

องค์กรที่ประสบความสำเร็จในด้านนี้มักมีทีมผู้เชี่ยวชาญที่รับผิดชอบในการสร้างพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ และมุ่งมั่นในการสร้างเครือข่ายความร่วมมือที่ยั่งยืน

3. โครงการสำหรับผู้มีความคิดแบบผู้ประกอบการในองค์กร (Intrapreneur Programs)

พนักงานที่มีไอเดียใหม่ๆ มักเผชิญกับอุปสรรคภายในองค์กร บางครั้งพวกเขาอาจต้องปรับลดขนาดไอเดียเพื่อให้ผ่านการอนุมัติได้ง่ายขึ้น หรือถึงขั้นตัดสินใจลาออกเพื่อนำไอเดียไปพัฒนาภายนอก กรณีของ Steve Wozniak ผู้ร่วมก่อตั้ง Apple ที่เคยถูก HP ปฏิเสธไอเดียคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลถึง 5 ครั้ง เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของปัญหานี้

Google เป็นหนึ่งในตัวอย่างที่ดีในการจัดการเรื่องนี้ บริษัทมีโครงการที่อนุญาตให้พนักงานนำเสนอไอเดียและรับทุนสนับสนุนเพื่อพัฒนาต่อในช่วงเวลาที่กำหนด หากโครงการล้มเหลว พนักงานสามารถกลับไปทำงานเดิมได้โดยไม่มีผลกระทบ ตัวอย่างความสำเร็จที่เกิดจากโครงการนี้คือ Gmail

การสนับสนุนผู้ประกอบการภายในเป็นวิธีที่องค์กรสามารถรักษาไอเดียที่มีศักยภาพไว้ได้ โดยให้พนักงานมีพื้นที่ในการทดลองและพัฒนานวัตกรรมโดยที่ไม่ต้องกังวลเรื่องความล้มเหลว

4.การสร้างชุมชนนวัตกรรม (Innovation Communities)

นวัตกรรมมักเกิดขึ้นจากการผสมผสานความคิดหลากหลาย แต่องค์กรหลายแห่งยังขาดพื้นที่ให้ทีมนวัตกรรมได้เชื่อมต่อและแลกเปลี่ยนไอเดียกัน ซึ่งอาจทำให้นักสร้างสรรค์รู้สึกโดดเดี่ยวและขาดแรงบันดาลใจ 

การสร้างชุมชนนวัตกรรมไม่ต้องลงทุนสูง แต่ช่วยกระตุ้นให้เกิดความร่วมมือข้ามสายงาน และอาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ไม่เคยคาดคิดมาก่อน อย่าปล่อยให้ความคิดสร้างสรรค์สูญหายไปเหมือนบริษัท Atari ที่ Steve Jobs เลือกที่จะทิ้งไปเนื่องจากไม่มีพื้นที่สำหรับแลกเปลี่ยนไอเดียที่มากพอ

Bayer บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านชีววิทยาศาสตร์ สร้างชุมชนนวัตกรรมภายในองค์กรกว่า 700 คนทั่วโลก สมาชิกได้ใช้ทรัพยากรร่วมกัน แข่งขันกัน และส่งตัวแทนเข้าร่วมประชุมประจำปี สิ่งนี้ช่วยให้เกิดการแลกเปลี่ยนวิธีการทำงาน โมเดลธุรกิจ และความเชี่ยวชาญต่างๆ ตัวอย่างเช่น โปรแกรมนี้ช่วยให้เกิดนวัตกรรมทางการเงินการเกษตรที่ขยายไปทั่วโลก ซึ่งมีต้นกำเนิดจากไอเดียของทีมการเงินและการตลาดในกรีซ นี่คือตัวอย่างของพลังจากชุมชนนวัตกรรมที่ช่วยสร้างความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม

นวัตกรรมไม่ได้เกิดขึ้นจากโชคหรือความบังเอิญ แต่เป็นผลจากการสร้างกลไกที่ชัดเจนและยั่งยืน เสาหลัก 4 ประการที่กล่าวมานี้ช่วยให้องค์กรสามารถคัดกรองไอเดียที่มีคุณภาพ สนับสนุนการพัฒนาแนวคิดใหม่ และสร้างวัฒนธรรมที่เอื้อต่อการสร้างสรรค์นวัตกรรมอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน

อ้างอิง: hbr

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

ไขความลับ Gen AI โอกาส ข้อจำกัด และวิธีใช้ ในการวางกลยุทธ์สำหรับ CEO

เรากำลังประเมินความสามารถของ AI สูงเกินไปหรือไม่? และ AI จะสามารถช่วยเหลือในด้านใดของการวางแผนกลยุทธ์? บทความนี้จะตอบคำถามเหล่านี้ผ่านกรณีศึกษาสองกรณีเกี่ยวกับการใช้ gen AI ในการวา...

Responsive image

เมื่อพายุเศรษฐกิจโหมเข้า CFO จะขับเคลื่อนองค์กรอย่างไร? ดีลอยท์ชวรรู้จัก CFO Trilemma

CFO ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต้องรับมือกับความผันผวนทางเศรษฐกิจ โดยการสร้างสมดุลระหว่างการฟันฝ่าวิกฤต สร้างคุณค่าระยะยาว และพัฒนาขีดความสามารถของทีม เพื่อความยั่งยืนขององค์กร...

Responsive image

ทำไมองค์กรยุคใหม่ ต้อง AI Transformation องค์กร

Session AI Tranformation โดย ดร.ลิสา พัทธ์วิวัฒน์ศิริ Chief Digital Officer The King Power Corporation และ คุณอรนุช เลิศสุวรรณกิจ CEO & Co-Founder Techsauce ที่ได้ร่วมพูดคุยในหัวข...