เวที Thailand Economic Monitor 2025 ที่เต็มไปด้วยนักเศรษฐศาสตร์ นักธุรกิจ และสตาร์ทอัพ ผู้ฟังอาจคาดหวังโมเดลธุรกิจที่เต็มไปด้วยตัวเลขและทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ แต่ ดร. มูฮัมมัดฟาห์มี ตาเละ (CEO, De Forest Group) กลับเริ่มต้นเรื่องราวของเขาด้วยอาหารอย่าง โรตี ขนมแผ่นบางๆ ที่เป็นสัญลักษณ์ของอาหารฮาลาลในสามจังหวัดชายแดนใต้
"ผมไม่ได้เริ่มต้นจากการเป็นนักธุรกิจ" ดร. ฟาห์มี เกริ่นขึ้น "ผมเป็นนักวิจัยด้านสาธารณสุข ทำงานเกี่ยวกับปัญหาความยากจน สุขภาพแม่และเด็ก โภชนาการต่ำ และผลกระทบของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่ไม่ว่าผมจะวิจัยไปกี่ปี คนก็ยังจนเหมือนเดิม"
คำถามสำคัญเกิดขึ้นในใจเขา "แล้วเราหลุดพ้นจากความยากจนหรือยัง?" คำตอบคือยัง และนี่คือจุดเริ่มต้นของ De Forest Group ธุรกิจอาหารที่ไม่เพียงเติบโตในพื้นที่ที่ท้าทายทางเศรษฐกิจ แต่ยังสร้างโมเดลให้ SMEs ไทยสามารถเรียนรู้ได้
ดร. ฟาห์มี เติบโตในสามจังหวัดชายแดนใต้ พื้นที่ที่มีโครงสร้างทางเศรษฐกิจเฉพาะตัว จากปัจจัยด้านกำลังซื้อ การศึกษา และโอกาสในการพัฒนาอุตสาหกรรม
โมเดลของ De Forest Group คือการ เพิ่มมูลค่า (Value Creation) ให้กับสินค้าที่มีอยู่แล้ว แทนที่จะพยายามแข่งกับสินค้าที่มีราคาถูกในตลาด
"แม่ค้าทำ 'นาซิดาแก' ตั้งแต่ตีสาม ใช้ข้าวสามชนิด หุงด้วยกะทิ ขายห่อละ 25 บาท กำไรเพียง 3-5 บาท ทำเพื่ออยู่รอด ไม่ใช่เพื่อเติบโต" ดร. ฟาห์มี ตั้งคำถามว่า "ถ้าคนทำอาหารพื้นถิ่นไม่สามารถสร้างรายได้ที่ยั่งยืน พวกเขาจะอยู่รอดได้อย่างไร?"
การแก้ปัญหาของ De Forest Group ไม่ใช่การขายของถูกให้มากขึ้น แต่คือการ พัฒนาโมเดลธุรกิจที่ทำให้สินค้าเดิมมีมูลค่าสูงขึ้น
ดร. ฟาห์มี และทีมไม่ได้มองแค่เรื่องของรสชาติอาหาร แต่พัฒนา "Brand Positioning" ที่แตกต่างจากร้านอาหารท้องถิ่นทั่วไป
นั่นทำให้จากร้านโรตีร้านเดียว กลายเป็นธุรกิจที่มี 14 สาขา ภายใต้ 3 แบรนด์ สร้างงานกว่า 450 ตำแหน่ง ยอดขายรวมแตะ 200 ล้านบาทต่อปี และกลายเป็นแรงผลักดันให้กับเศรษฐกิจการท่องเที่ยวของปัตตานี
"สิ่งที่เราพิสูจน์คือ ธุรกิจที่อยู่ในพื้นที่เศรษฐกิจเปราะบางก็สามารถโตได้ ถ้ามันถูกพัฒนาในวิธีที่เหมาะสม" ดร. ฟาห์มี กล่าว
หนึ่งในหลักการสำคัญของ De Forest Group คือ "เครดิตสำคัญกว่าเงินสด" ดร. ฟาห์มี อธิบายว่า ความสำเร็จของ SMEs ไม่ได้ขึ้นอยู่กับเงินทุนเพียงอย่างเดียว แต่ขึ้นอยู่กับ ความเชื่อมั่นในธุรกิจ
ดร. ฟาห์มี ไม่ได้เป็นแค่เจ้าของร้านอาหาร แต่เป็นตัวอย่างของการใช้ เศรษฐศาสตร์เชิงปฏิบัติ ในการสร้างธุรกิจที่มีผลกระทบจริง ดังนั้น SMEs ไม่จำเป็นต้องเป็นธุรกิจขนาดเล็กตลอดไป ถ้าสามารถเพิ่มมูลค่า สร้างแบรนด์ และพัฒนาโมเดลที่ยั่งยืน และสุดท้าย ดร. ฟาห์มี ทิ้งท้ายไว้ว่า
ธุรกิจที่ดี ไม่ใช่แค่สร้างรายได้ แต่ต้องสร้างโอกาสให้กับคนรอบข้างด้วย
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด