นวัตกรรมบะหมี่เปลี่ยนประเทศ กับกรณีศึกษา Indomie | Techsauce

นวัตกรรมบะหมี่เปลี่ยนประเทศ กับกรณีศึกษา Indomie

Tolaram Group เป็นบริษัทอินโดนีเซียที่ก่อตั้งในปี ค.ศ. 1948 เริ่มต้นจากธุรกิจสิ่งทอ และขยายไปทำธุรกิจอื่นๆ เช่น การผลิต พลังงาน อสังหาริมทรัพย์ ค้าปลีก ธนาคาร เป็นต้น ในปี ค.ศ. 1988 Tolaram เริ่มที่จะขายบะหมี่ไปยังประเทศไนจีเรีย ซึ่งในขณะนั้นเป็นประเทศที่ไม่น่าไปลงทุนอย่างแรง เพราะประเทศยังอยู่ภายใต้เผด็จการทหาร ประชากร 91 ล้านคนมีอายุเฉลี่ยเพียง 46 ปี รายได้ต่อหัวอยู่ที่ 256 เหรียญสหรัฐ 1% ของประชากรมีโทรศัพท์ และประชากรน้อยกว่าครึ่งมีน้ำสะอาดใช้ แต่ผู้บริหารก็เล็งเห็นโอกาสที่จะไปลงทุนในประเทศนี้ เขาเริ่มจากคิดว่า Indomie สามารถที่จะปรุงสำเร็จได้ภายใน 3 นาที และถ้าเติมไข่ลงไปด้วย ก็จะได้อาหารที่ราคาไม่แพงที่มีคุณค่าอาหารพอสมควร แต่คนไนจีเรียในเวลานั้นแทบไม่มีใครกินบะหมี่เลย อย่าเพิ่งนึกถึงบะหมี่สำเร็จรูป คนส่วนใหญ่ยังบริโภคข้าว มัน เผือก ขนมปัง ชาวบ้านในเวลานั้นคิดว่าบริษัทจะพยายามขายหนอนหรือพยาธิให้กินเสียด้วยซ้ำ แต่บริษัทก็ยังพยายามโดยใช้จุดขายว่าสามารถทำอาหารได้เร็ว ได้ทั้งเป็นอาหารว่าง และเป็นมื้ออาหารจริง และมุ่งขายแม่บ้านชาวไนจีเรีย ซึ่งมักมีลูกจำนวนมาก (เฉลี่ย 5-6 คน) ซึ่งมักต้องเสียเวลาเตรียมอาหารเป็นอันมาก โดยตั้งขายที่ราคาประมาณ 0.10 เหรียญสหรัฐอเมริกา

ในที่สุด Indomie ก็เริ่มติดตลาด และหลังจากรัฐบาลทหารหมดอำนาจไปในปี 1999 เศรษฐกิจของประเทศก็โตขึ้นอย่างรวดเร็ว และส่งผลให้ยอดขายของบริษัทสูงขึ้นเป็นอันมากเช่นกัน จนมีรายได้รวมกว่า 600 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี และมีส่วนแบ่งการตลาด 60-70% เลยทีเดียว ฟังดูเหมือนไม่มีอะไรใช่มั้ยครับ แต่จริงๆ แล้วหลายๆ คนเชื่อว่า อาจจะเป็นเพราะ Indomie นี่แหล่ะมีส่วนทำให้เศรษฐกิจของไนจีเรียเติบโตแบบก้าวกระโดดแบบนี้ มาดูกันว่าทำไม

เนื่องจากราคาขายที่ต่ำมาก บริษัทจึงร่วมกับ Salim Group ตั้งโรงงานผลิตบะหมี่ (Dufil Prima Foods) ในไนจีเรียในปี 1995 แต่ก็ค้นพบว่า ต้นทุนของสาธารณูปโภคสูงมาก แถมยังไม่ค่อยมีเสถียรภาพ บริษัทจึงต้องหาวิธีลดต้นทุน และเนื่องจากบริษัทเองมีประสบการณ์ในอุตสาหกรรมอื่น รวมทั้งธุรกิจพลังงาน บริษัทจึงคิดว่าจะสร้างโรงงานผลิตไฟฟ้า และน้ำประปาเอง แต่บริษัทก็ประสบปัญหาขาดแคลนพนักงานที่มีความรู้ความสารถ บริษัทจึงลงทุนตั้งสถานศึกษาขึ้นมาอบรมสอนคนท้องถิ่นให้มีความรู้เพียงพอที่จะทำงาน โดยเฉพาะด้านวิศวกรไฟฟ้า เครื่องกล และการเงิน พอไปถึงจุดหนึ่ง บริษัทก็ค้นพบอีกว่า ระบบขนส่งในไนจีเรียเองไม่ดีเลย บริษัทไม่สามารถส่งของไปขายในทุกภูมิภาคได้ง่าย แถมต้นทุนยังสูงอีกด้วย บริษัทจึงลงทุนสร้างถนน ซื้อรถบรรทุก บริหารระบบลอจิสติกของตัวเอง และยังขยายไปทำธุรกิจต้นน้ำเช่น โรงงานแป้ง โรงงานเครื่องปรุง รวมไปถึงโรงงานน้ำมันปาล์มอีกด้วย ทำให้เกิดการจ้างงานโดยตรงนับหมื่นคน และโดยอ้อมหลายแสนคน  และมีผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างเห็นได้ชัด เช่น การให้การศึกษา และจ้างงานเด็กจบใหม่ ทำให้เด็กมีงานทำ การว่างงานต่ำลง อัตราการก่ออาชญากรรมต่ำลง มีการสร้างงานทำให้ประชาชนมีรายได้มากขึ้น มีเงินที่จะมาซื้อผลิตภัณฑ์ของบริษัทตามไปด้วย

Clayton Christensen ได้กล่าวถึงเคสนี้ในหนังสือ Prosperity Paradox ไว้ว่าเป็นนวัตกรรมแบบ Market creation innovation คือเป็นนวัตกรรมในลักษณะที่สร้างความต้องการของลูกค้าในผลิตภัณฑ์ที่ลูกค้าไม่เคยมีความต้องการมาก่อน (Non-consumption) เขาเชื่อว่านวัตกรรมแบบนี้เป็นนวัตกรรมที่จะสร้างให้เกิดความเติบโตทางเศรษฐกิจ เนื่องจากมันจะช่วยสร้างให้เกิดการใช้จ่ายของลูกค้าที่สูงขึ้นมาก ซึ่งหากดูตามนี้ เราก็จะเห็นได้ว่านวัตกรรมที่เราเห็นกันอยู่ทุกวันนี้ที่ประสบความสำเร็จ ก็เป็นนวัตกรรมในรูปแบบนี้เสียเป็นส่วนใหญ่ไม่ว่าจะเป็น Apple iPod, iPhone, Tesla, Google, Facebook เป็นต้น 
จนถึงวันนี้คงแทบจะเรียกได้ว่า หากไม่มี Indomie ก็คงไม่มี Nigeria ในวันนี้ และสะท้อนให้เห็นความสามารถของภาคเอกชนในการที่จะแก้ไขปัญหาของตนเอง โดยไม่จำเป็นต้องงอมืองอเท้ารอคอยการสนับสนุนหรือการพัฒนาจากภาครัฐ

ที่มา: Clayton Christensen

บทความนี้เป็น Guest Post โดย ณัฐ เหลืองนฤมิตชัย


ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

มรดกแนวคิด Steve Jobs ที่ส่งต่อถึง Tim Cook เบื้องหลังความยิ่งใหญ่ของ Apple

Tim Cook ยกหนึ่งคำสอนล้ำค่าในการทำงานจาก Steve Job ที่ทำให้ Apple เป็นหนึ่งในบริษัทชั้นนำของโลก ในด้านการส่งเสริมนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ภายในองค์กร นั่นก็คือ ‘ทุกคนสามารถสร้าง...

Responsive image

ทำไมองค์กรต้องมี ‘Innovation Culture’ พื้นฐานที่ขาดไม่ได้ถ้าอยากสร้างนวัตกรรม

ในบทความนี้ Techsauce ขอพาผู้อ่านไปรู้จักคำว่า Innovation Culture หรือ วัฒนธรรมนวัตกรรม อีกฟันเฟืองสำคัญของการสร้างนวัตกรรมองค์กรที่ขาดไปไม่ได้...

Responsive image

เจาะกลยุทธ์ ‘ปรับแต่ไม่เปลี่ยน’ ที่ IKEA ร้านเฟอร์นิเจอร์เก่าแก่เอาตัวรอดในยุคดิจิทัล

กลยุทธสำคัญอย่าง ‘ปรับแต่ไม่เปลี่ยน’ ที่ทำให้ IKEA สามารถรักษาเอกลักษณ์อันโดดเด่นของบริษัท ไปพร้อมกับการปรับตัวท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง...