Food & Restaurant Technology ในมุมมองของผู้บริหารรุ่นใหม่แห่ง MK Restaurant | Techsauce

Food & Restaurant Technology ในมุมมองของผู้บริหารรุ่นใหม่แห่ง MK Restaurant

คงไม่มีคนไทยคนไหนไม่รู้จัก MK เครือร้านอาหารสุกี้ชื่อดังที่ปัจจุบันมีสาขาทั่วประเทศมากถึง 600-700 สาขา ตลอดเวลาที่ผ่านมา เราเห็นความเติบโตของกลุ่ม MK มาอย่างต่อเนื่อง เมื่อไม่นานมานี้ยังได้เปิดตัว MK Live ร้านสุกี้ที่ผสมผสานแนวความคิดใหม่ๆ เน้นอาหารเพื่อสุขภาพและไลฟ์สไตล์แบบคนเมือง

นั่นจุดประกายให้ทีม Techsauce ได้เข้ามาร่วมพูดคุยกับคุณบุ๊ค ทานตะวัน ธีระโกเมน ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด และทายาทสาว Generation ที่ 3 ของกลุ่ม MK

สองธีมหลักที่เราจะมาคุยกันกับคุณบุ๊ค ได้แก่ บทบาทผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่เข้ามาสานต่อกิจการครอบครัว รวมถึง Digital Transformation ภายในธุรกิจขนาดใหญ่ของกลุ่ม MK

tantawan mk group

คุณบุ๊ค ทานตะวัน ธีระโกเมน

เส้นทางชีวิตก่อนจะมารับช่วงต่อที่ MK เป็นอย่างไรบ้างคะ

คุณบุ๊ค: จบการศึกษาจากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬา ภาคอินเตอร์ แล้วก็ไปทำงานที่บริษัท Unilever Thai Trading ค่ะ ที่เลือกทำงานก่อนเพราะคิดว่าถ้าเราออกไปทำงานข้างนอกน่าจะเห็นอะไรเพิ่มเติม ออกไปเรียนรู้ว่าคนอื่นเขาทำกันยังไง  ที่ไปทำที่บริษัท Unilever ก็เพราะว่าสนใจที่นี่อยู่แล้ว เป็นบริษัท International ด้วย คิดว่าระบบและแก่นข้างในดี และมีสินค้าค่อนข้างเยอะ มีทั้งสินค้า Retail (สินค้าขายส่ง) ทั้งผลิตภัณฑ์ Homecare และอาหาร

ตอนนั้นก็ดูในส่วนของการทำโซลูชันส์แบบ B2B (Business To Business) ค่ะ อยู่ที่นั่นประมาณ 2 ปี จากนั้นก็ไปเรียนต่อปริญญาโทที่ Imperial College London พอเรียนจบก็กลับมาอยู่ที่ MK เลยค่ะ

ตอนที่กลับมาดูแลกิจการที่บ้านต่อ อะไรที่คือสิ่งที่คุณบุ๊คนำมาปรับใช้เป็นอย่างแรก

คุณบุ๊ค: เรากลับเข้ามาเป็นผู้จัดการ แต่ก็มีหัวหน้าอยู่ เราก็ลองดูว่า Organization Chart (แผนผังองค์กร) จะพัฒนายังไงได้บ้าง แล้วก็ระบบและการทำงานหลายอย่างที่ตอนนั้นยัง Manual กันอยู่เลย ก็พยายามคิดว่าจะทำยังไงให้ประสิทธิภาพดีขึ้น แล้วก็พยายามเอาระบบที่เราเคยเห็นมาจัดการในแผนกที่เราอยู่ก่อน

อีกอย่างคือ ที่ Unilever จะทำ Research เยอะ ขุดคุ้ยหาให้ได้ว่าอะไรคือ Insight ของลูกค้าจริงๆ รวมไปถึงการตั้งวัตถุประสงค์ในสิ่งที่จะทำ บางทีองค์กรไทยจะเอาตามความรู้สึกหรือสัญชาตญาณ ซึ่งอาจจะไม่ตรงกับตลาดหรือที่ลูกค้าเป็นจริงๆ ก็ค่อยๆ เอาส่วนนี้เข้ามาประยุกต์และสอนให้กับน้องๆ ที่อยู่ในองค์กร

MK กับการนำเทคโนโลยีมาใช้ในองค์กร

ทาง Techsauce ได้ขอให้คุณบุ๊คเล่าถึงเรื่องราวของ MK กับโลกเทคโนโลยี โดยมีประเด็นหัวข้อต่างๆ ดังนี้

การอำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าและพนักงาน

คุณบุ๊ค: MK สนใจเรื่องเทคโนโลยีมาตั้งแต่สมัยก่อนแล้วค่ะ ตอนแรกเกิดจากที่เราอยากจะให้ลูกค้าปลอดภัยและพนักงานทำงานได้เร็วขึ้น เมื่อก่อนทำสุกี้บนเตาแก๊ส ซึ่งก็ไม่ค่อยปลอดภัยเวลาลูกค้าใช้งาน ก็เปลี่ยนเป็นหม้อไฟฟ้า เพื่อลดอุบัติเหตุ แถมร้อนเร็วเท่าเตาแก๊สเลย พนักงานก็ได้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพขึ้นและปลอดภัยด้วย

ถัดมาเป็นยุคที่เราใช้ PDA (Personal Digital Assistant : เป็นเครื่องเล็กๆ เอาไว้รับออเดอร์แล้วส่งรายการเข้าระบบได้ทันที) MK ก็เป็นเจ้าแรกที่เอามาประยุกต์ใช้ มาจากที่เราเห็นเวลาน้องเรา (พนักงาน) จดออเดอร์เสร็จ ก็ต้องเดินไปส่งออเดอร์ แต่ถ้ามีลูกค้าเรียกระหว่างเดินไปส่ง ก็จะทำให้ช้าไปทั้งระบบ จะไม่รับออเดอร์ก็ไม่ได้ เดี๋ยวรู้สึกว่าบริการบกพร่องอีก PDA ก็มาแก้ปัญหาจุดนี้ ซึ่งก็เป็นปัญหาของระบบการทำงานอีกเหมือนกัน

ยุคถัดมาก็จะเป็น Self-ordering Tablet (เป็นแท็บเล็ตที่มีตั้งอยู่ทุกโต๊ะ ที่ลูกค้าสามารถกดสั่งอาหารได้เอง โดยไม่ต้องเรียกพนักงาน) ตอนนี้ก็มีใช้เกือบร้อยสาขาแล้ว อันนี้มาจาก Insight ของลูกค้า โดยเฉพาะลูกค้าในกรุงเทพและหัวเมืองใหญ่ บางทีคนเราก็ไม่อยากจะมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นหรือกับพนักงานขนาดนั้น ก็ให้เขาสั่งเอง ดูเมนูเองได้เลย เร็วและย่นระยะเวลาด้วย แถมก็ทำให้ประสิทธิภาพของพนักงานดีขึ้นด้วย แทนที่จะต้องมาจดออเดอร์เอง ก็เอาเวลาไปทำอย่างอื่นได้มากขึ้น

เทคโนโลยีเพื่อการบริหารจัดการ

คุณบุ๊ค: MK ทำเรื่อง Restaurant 4.0 มาต่อเนื่อง 2-3 ปีแล้ว ทั้งใน Back Office ทั้งโรงงาน ทั้งหน้าร้าน เราเก็บข้อมูลของลูกค้า โดยเฉพาะสมาชิกมาตลอด พอรูดบัตรที เราก็จะรู้เลยว่าคนๆ นี้เป็นใคร อายุเท่าไหร่ เพศอะไร กินอะไรเป็นประจำ แล้วเราก็เอาข้อมูลเหล่านี้มาออกแบบประสบการณ์ของลูกค้าให้ดีขึ้น เหมาะกับแต่ละบุคคลมากขึ้น แต่ว่ามันก็ต้องใช้เวลาพอสมควร เพราะ IT ถือเป็นการลงทุนก้อนใหญ่เหมือนกัน ทำทีนึงจะปล่อยออกไปทั้ง 400 สาขาก็อาจจะยังไม่ได้ ตอนนี้เราก็ค่อยๆ พัฒนา แล้วก็ลองในสาขาหนึ่งก่อน ปรับจนมันนิ่ง แล้วค่อยปล่อยไปสู่สาขาอื่นๆ

นอกจากเทคโนโลยีเพื่อการบริการและการบริหารจัดการแล้ว ในแง่ของ Food Technology เป็นอย่างไรบ้าง 

คุณบุ๊ค: สุดท้ายสินค้าของเราก็คือ อาหาร ก็ต้องพัฒนาสินค้าของเราให้ดีที่สุด เราก็คอยติดตามทั้งเทรนด์เมืองนอกและไลฟ์สไตล์ของคนในที่ต่างๆ ว่ามันเปลี่ยนไปยังไงบ้าง ตอนนี้ที่ MK Live (เป็นสาขาใหม่ที่นำร่องเน้นไปที่การกินแบบมีสุขภาพดีและเหมาะกับไลฟ์สไตล์คนเมือง) ก็มีอาหารนึ่งออกมา

เทรนด์หลักๆ ของผู้บริโภคในยุคนี้จะเป็นมีเครื่องมือหรือวิธีการกินแบบใหม่ๆ และอาหารที่กินแล้วสุขภาพดี อย่างอเมริกา แม้แต่ตามร้านฟาสฟู้ด ก็ยังหันมาสนใจเทรนด์อาหารสุขภาพกันมากขึ้น ซึ่งอาจจะยังไม่เห็นในบ้านเราแบบครึกโครม แต่จะเริ่มเห็นพวกเซเลปและคนเมืองหันมาสนใจการออกกำลังกายมากขึ้น ก็เลยเอามาประยุกต์กับอาหารของเรา

จริงๆ การต้มธรรมดามันก็ค่อนข้างเฮลตี้พอสมควรแล้ว แต่เราเชื่อว่าคนเราต้องมองหาประสบการณ์ใหม่ๆ สำหรับการนึ่ง เราก็ไปเห็นมาจากที่ญี่ปุ่น ซึ่งการนึ่งจะได้คุณค่าทางอาหารที่เยอะกว่า วิตามินจากผักจะไม่ละลายไปกับน้ำเท่าเวลาต้ม

MK Live

แผนก IT หรือ Digital ภายใน MK เป็นอย่างไรบ้าง

คุณบุ๊ค: มีค่ะ หลังๆ ในช่วงปี 2-3 ปีมานี้ IT ภายในองค์กรเองก็พัฒนาขึ้นเยอะมาก ในแง่ของฟังก์ชันและจำนวนคน แต่ก่อน IT จะเป็นแผนกเล็กๆ แต่ตอนนี้เราให้ความสำคัญค่อนข้างมาก เพราะเป็นเครื่องมือที่จะทำให้ชีวิตการทำงานดีขึ้น มีประสิทธิภาพขึ้นและถูกต้องแม่นยำขึ้น และประกอบกับระบบหลายๆ อย่างในองค์กรก็ใหญ่ขึ้นตามเหมือนกัน

และนอกจากนี้เราก็มีทีม Food R&D (Research & Development) ที่ทำงานคิดค้นเรื่องอาหารใหม่ๆ เทคโนโลยีใหม่ๆ เกี่ยวกับอาหาร ทำงานเป็นพาร์ทเนอร์กับฝ่ายการตลาดว่ามีเทรนด์อะไรบ้างตอนนี้

ฝ่าย Food R&D นี่ทำงานอย่างไรบ้าง

คุณบุ๊ค: ก็ดูทั้งเทรนด์ของเมืองนอกและเมืองไทยว่ามีอะไรที่เป็นกระแสที่ผู้บริโภคอยากลองทานบ้าง แล้วก็รสชาติต่างๆ ที่คนไทยชอบ ลองเอาพวกนี้มาคิดเป็นคอนเซปต์ขึ้นมาว่ามีอะไรเหมาะบ้าง กว่าจะออกแต่ละตัวก็ใช้ระยะเวลานะ เพราะจะมี Innovation Pipeline (ขั้นตอนการทำนวัตกรรม) ว่าจะทดลองกี่สาขา ดูผล ปรับปรุงอะไรบ้าง

เทรนด์ Food Technology ของเมืองนอกตอนนี้เป็นไปทางไหนบ้าง 

คุณบุ๊ค: ถ้าตามหน้าร้าน เทรนด์กับเทคโนโลยีก็ไม่ได้หนีกันมากหรอก แต่จะแตกต่างตามหลังบ้านหรือโรงงานมากกว่า พอดีในเครือเรามี Yayoi (ร้านอาหารยาโยอิ) เลยได้พาร์ทเนอร์กับญี่ปุ่นด้วย

ที่โรงงานเขาแทบไม่เหลือคนแล้วนะ ส่วนใหญ่เป็นหุ่นยนต์หมด ซึ่งก็จะได้ประสิทธิภาพและมี Human Error น้อยมาก จะกะปริมาณการผลิตและค่าใช้จ่ายได้เลย

อย่างโรงงานเรา ก็มีเทคโนโลยีเป็น Machine อยู่หลังบ้านบ้างนะ น้ำจิ้ม MK ที่เป็น Signature เนี่ยจะบอกได้เลยว่าเปรี้ยว เค็ม หวานเท่าไหร่ เพื่อให้รสชาติของน้ำจิ้มคงที่ ตอนนี้เรามีสาขาเยอะมากในเมืองไทย ถ้ารวมทุก Chain ก็ 600-700 สาขาแล้ว ในญี่ปุ่นก็มี 30 สาขา แล้วก็มีขยายไปประเทศเพื่อนบ้านด้วย เทคโนโลยีทั้งหมดก็ควรจะซัพพอร์ตการขยายนี้ด้วย ก็ทำเพื่อควบคุมคุณภาพของสินค้าเราเอง

MK กับแนวคิดแบบ Startup

เมื่อถามถึงเรื่อง Startup คุณบุ๊คได้เล่ามุมมองที่น่าสนใจไว้สองมุมมอง ทั้งมุมมองของคุณบุ๊คที่มีต่อ Startup และมุมมองของการนำแนวคิดแบบ Prototype มาใช้กับสาขา MK Live

บทบาทสำคัญของ MK Live ในฐานะร้านแม่แบบ (Prototype)

คุณบุ๊ค: MK Live เป็นเหมือน Concept Store เป็น Flagship ของ MK ทั้งหมด นวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ จะมีอยู่ที่นี่เป็นที่แรก และจะสอดแทรกความคิดทุกอย่างที่เราไม่เคยบอกกับลูกค้าเลย เช่น จะมีเล่าว่ากว่าจะมาเป็นผักของ MK ต้องผ่านอะไรมาบ้าง

ที่นี่เป็นเหมือนแม่แบบหรือ Prototype พอพิมพ์เสร็จแล้ว ก็ค่อยๆ ขยายออกไปสู่สาขาอื่น อีกอย่างที่นี่จะทำหน้าที่ Inspire พนักงานหรือลูกค้า ให้เขาเฝ้ารอว่า MK จะออกอะไรใหม่

แล้วมันจะค่อยๆ นำออกไปสู่สาขาอื่นๆ ต่อไป ซึ่งมันก็จะเป็นแรงผลักดันให้เราด้วย เพราะว่าร้านนี้เป็นร้าน Concept Store ก็ต้องคิดอะไรใหม่ๆ ตลอดเวลา อนาคต MK Live ก็มีแผนว่าจะขยายสาขาเหมือนกัน

อยากทราบมุมมองของคุณบุ๊คกับเทรนด์ Tech Startup แล้วคิดว่ามีความเกี่ยวข้องอย่างไรกับ MK บ้าง

คุณบุ๊ค: น่าสนใจมากนะ ยิ่งในบ้านเราตอนนี้รู้สึกว่า Startup คึกคัก มีอะไรใหม่ๆ เกิดขึ้นทุกวัน จริงๆ ถ้ามีโอกาสก็อยากจะซัพพอร์ต เพราะเราเชื่อในไอเดียของคนรุ่นใหม่ ตอนที่เราที่เข้ามา MK ก็มีไอเดียตั้งมากมายที่เราอยากจะทำ แต่ยังทำไม่สำเร็จ เพราะฉะนั้นก็อยากสนับสนุนคนรุ่นใหม่ให้ทำไอเดียบางอย่างที่มันคลิ๊กแล้วเข้ากับไลฟ์สไตล์มากๆ เลย

ส่วนมีผลกระทบกับ MK ไหม ถ้าในเชิงของอาหารก็ยังไม่แน่ใจเหมือนกันนะ เรามั่นใจในเรื่องอาหารพอสมควร แต่เรื่องเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่สตาร์ทอัพอาจจะคิดขึ้นมาได้ เราก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจะเป็นยังไง

เราก็มองหา Startup ที่จะมาเป็นพาร์ทเนอร์กันอยู่เรื่อยๆ นะคะ ดูมาตลอดว่าจะมีอันไหนที่มันช่วยเหลือกันและกันได้ ที่เขาก็สามารถใช้ Expertise ของเราได้ แล้วเราก็สามารถแลกเปลี่ยน Know-how กันได้เช่นกัน

ในบริษัท นอกจากบุ๊คเองก็มีญาติพี่น้องและพนักงานรุ่นๆ เดียวกันอยู่ ทุกคนสนใจ Startup มากๆ ก็มีคุยกันว่าเราจะซัพพอร์ทเงินทุนให้ Startup ของคนไทยได้ไหม จริงๆ ก็มีเข้ามาคุยบ้าง แต่เป็นคนต่างชาติมากกว่า อาจจะเพราะคนไทยยังไม่เห็นว่าเราก็เป็น Investor ได้ล่ะมั้ง

หากต้องให้คำแนะนำกับผู้ที่กำลังจะสืบทอดกิจการของที่บ้าน คุณบุ๊คมีคำแนะนำอย่างไรบ้าง

จริงๆ มันก็แล้วแต่บ้านเนอะ โชคดีที่คนรุ่นก่อนของที่นี่เป็นคนที่เปิดมากๆ เขาเลยให้โอกาสในการทำงานค่อนข้างเยอะ แต่ว่าแน่นอนมันก็ต้องมีกระทบกระทั่งกันบ้าง แต่ละ Gen มันไม่เหมือนกัน ก็ต้องประนีประนอมกันไป

สิ่งที่เขาสร้างมาก็เป็น Learning ที่ดีมากสำหรับเรา เราจะไม่สนใจแล้วจะเอาแต่สิ่งที่เราอยากได้ ก็เป็นไปไม่ได้ ที่มันสำเร็จได้จนถึงวันนี้ มันจะต้องมี Key Success ของมันอยู่ เราต้องเปิดใจและยอมรับมัน ถึงมันจะช้าหรือไม่ตรงกับที่เราคิดไว้ เราก็ต้องเปิดใจ ยิ่งเป็นคนใกล้ชิด ก็ต้องยิ่งให้เกียรติเขา อย่าลืมว่าที่บ้านกับที่บริษัทไม่เหมือนกัน

เวลาเราจะเสนออะไรใหม่ๆ ก็หาข้อมูลให้ครบถ้วน ถ้ามัน Make Sense และมีข้อมูลครบจริงๆ มันก็เป็นไปได้พอสมควร ลงรายละเอียดให้เยอะๆ จะมาถึงแล้วใช้ตำแหน่งสูงๆ สั่งให้ทำอย่างนู้นอย่างนี้ไม่ได้ สิ่งที่เราจะให้ลูกน้องทำ เราต้องทำให้ได้ก่อน ถ้าวันนึงไม่มีลูกน้อง ก็ต้องทำแทนได้ ที่ร้านนี้ก็ทำมาหมดทุกตำแหน่งแล้ว ไม่ว่าจะล้างจาน เสิร์ฟ จัดสุกี้ ลองลงมาทำดู จะได้เห็นปัญหาจริงๆ แล้วค่อยคิดไอเดียไปพัฒนาต่อ

คำถามสุดท้าย สมมติว่าถ้าไม่ได้สืบทอดกิจการ MK อะไรคืองานที่คุณบุ๊คอยากทำที่สุดหรอคะ

เคยได้ไปอยู่ในสายงานการตลาด ชอบนะ คือ มันเปลี่ยนทุกวัน ไม่จำเจ การตลาดมันก็มี Platform ของมันแหละ แต่วิธีทำ วิธีเล่าบางอย่างมันเปลี่ยนไปเรื่อยๆ กลยุทธ์ของ 5 ปีที่แล้วกับของปีนี้ก็ไม่เหมือนกันเลย แล้วเราก็สนุกกับงานมาก ไม่ค่อยชอบอะไรที่จำเจๆ เท่าไหร่

เวลามีปัญหาใหม่ๆ หรือคู่แข่งใหม่ๆ ก็ไม่ได้รู้สึกว่ามันยากนะ แต่รู้สึกว่าเป็น Challenge ถ้าไม่มีเขา เราก็คงไม่ถีบตัวเองขึ้นมาหรอก เศรษฐศาสตร์จะบอกเลยว่า นวัตกรรมหรือคู่แข่งจะทำให้มาตรฐานของประเทศดีมากขึ้น ถ้าไม่มีคู่แข่ง คนเราจะพัฒนาตัวช้า

ถ้าไม่ได้ทำงานที่บ้าน ก็คงทำงานการตลาดที่บริษัทต่างชาติสักที่นึง ถ้าเป็นบริษัทเกี่ยวข้องกับอาหารได้ก็ดี เพราะว่ามี Passion ในการกินมากๆ (หัวเราะ) ชอบท่องเที่ยวไปหาอะไรใหม่ๆ มากิน มาทดลอง คิดว่าก็น่าจะเหมาะนะคะ

สรุป

ถือเป็นเกียรติของทีมงาน Techsauce ที่ได้สัมภาษณ์เกี่ยวกับมุมมองต่อโลกเทคโนโลยี กับผู้บริหารธุรกิจสายร้านอาหารดูบ้าง ทำให้ได้ทราบว่าธุรกิจร้านอาหารมีความสนใจในเทคโนโลยีและ Startup ไม่น้อยกว่าใคร เพราะมีพื้นที่ให้สร้างสีสันมากมายทั้งในส่วนของ การมอบประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้า, การบริหารจัดงานองค์กร, งาน R&D ในด้านเทคโนโลยีอาหาร เป็นต้น

เชื่อว่าอีกไม่นาน Food & Restaurant Technology ที่เข้ามาสร้างสีสันในส่วนต่างๆ เหล่านี้ได้ คงจะกลายเป็นอีกหนึ่ง Sector ที่น่าจับตามอง

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

เปิดกลยุทธ์ธุรกิจยุคใหม่ พลิกข้อมูล สู่ขุมทรัพย์ด้วย analyticX ด้วยพลัง Telco Data Insights และ GenAI

ยุคนี้ใคร ๆ ก็พูดถึง Data แต่จะใช้ Data อย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่างหากคือกุญแจสำคัญ! ในสัมมนาสุดเอ็กซ์คลูซีฟ "Unlocking Data-Driven Decisions with Telecom Data Insights" ที่จั...

Responsive image

‘UOB Sustainability Compass’ เครื่องมือออนไลน์ด้านความยั่งยืน หนุน SMEs เปลี่ยน Vision เป็น Action

บทสัมภาษณ์ คุณอัมพร ทรัพย์จินดาวงศ์ และคุณพณิตตรา เวชชาชีวะ เกี่ยวกับ ‘UOB Sustainability Compass’ เครื่องมือออนไลน์ที่เข้ามาช่วย SMEs เริ่มดำเนินการด้านความยั่งยืนอย่างเข้าใจและไม...

Responsive image

Intel พลาดอะไรไป ? ทำไมถึงต้องเปลี่ยน CEO กะทันหัน ? ถอดบทเรียนราคาแพงจากยุค Pat Gensinger

การ ‘เกษียณ’ อย่างกะทันหันของ Pat Gelsinger อดีตซีอีโอ Intel ในต้นเดือนธันวาคม สร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั่ววงการเทคโนโลยี หลายฝ่ายมองว่าเป็นการบีบให้ออกจากบอร์ดบริหาร อันเนื่องมาจากผล...