ถอดบทเรียนเตรียมรับ Digital Disruption จากองค์กรชั้นนำไทย

ถอดบทเรียนเตรียมรับ Digital Disruption จากองค์กรชั้นนำไทย

เป็นเวลากว่า 3 ปีที่ AIS ได้เตรียมความพร้อมและตื่นตัวกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี และจัดตั้ง AIS Academy ให้เป็นศูนย์กลางด้านการเรียนรู้เทคโนโลยี นวัตกรรมต่างๆ จากทั่วโลก รวมถึงการปฏิวัติองค์กรเพื่อรับความพร้อมในโลกแห่งการเปลี่ยนแปลง

งานสัมมนา AIS ACADEMY for THAIs ที่เกิดขึ้นด้วยความร่วมมือจากหลายองค์กรชั้นนำทั้งในและต่างประเทศ ได้แก่ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย, ธนาคารกสิกรไทย, บริษัทเมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) และ Minor International งานในครั้งนี้ได้มีวิทยากรมาร่วมถกประเด็น Digital Disruption กันอย่างน่าสนใจ โดยมีผู้ร่วมวงสนทนาได้แก่ คุณขัตติยา อินทรวิชัย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน), คุณสาระ ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด, คุณกานติมา เลอเลิศยุติธรรม หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านทรัพยากรบุคคล บริษัท เอไอเอส, คุณปัทมาวลัย รัตนพล ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายทรัพยากรบุคคล ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล

แต่ละท่านมีมุมมองเรื่อง Digital Disruption อย่างไร สิ่งนี้ได้เข้ามามีผลกระทบในธุรกิจอย่างไรบ้าง

คุณกานติมา : เมื่อมีการเกิด Digital disruption สิ่งแรกที่จะได้รับผลกระทบคือธุรกิจคมนาคม Digital disruption อาจเป็นภาษาที่ฟังแล้วดูดี สิ่งที่ท้าทายคือ เราไม่รู้ว่าเราจะไปในทิศทางไหน ผลสุดท้ายจะเป็นอย่างไร นี่คือสิ่งที่น่ากลัว แต่สิ่งที่เกิดแน่นอนใน Digital disruption จะเป็นเรื่อง ongoing หมายความว่าในสมัยก่อน เราอาจจะได้ยินคำว่า Change ซึ่งหมายถึงการเปลี่ยนแปลง แต่เมื่อพูดถึงการ  Transform นั่นคือการเปลี่ยนเผ่าพันธ์ นอกจากนี้คือเรื่องของ Speed มันจะมาเร็วมากขึ้น หากวันนี้เราไม่เตรียมความพร้อม อันตรายแน่นอน

เราไม่ได้บอกว่าอย่าไปกลัว กลัวได้แต่อย่าวิตกจริต แล้วเตรียมความพร้อม อย่าพยายามทำเหมือนใคร เพราะว่าการที่เราบอกว่า Digital disruption ในภาคธุรกิจนั้นมีบริบทที่แตกต่างกัน แม้กระทั่งในภาคธุรกิจเดียวกัน บริบทของแต่ละบริษัทก็ไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นเวลาที่เกิดผลกระทบก็จะเกิด momentum ที่ต่างกัน มันจะเกิดขึ้นเรื่อยๆ อาจมีผลกระทบแรงบ้าง เบาบ้าง ผู้ที่ทำการควบคุมชะตาคือคู่แข่งที่คุณอาจไม่ได้รู้จักมาก่อน เราไม่รู้ว่า AI ในอนาคตจะทำอะไรได้บ้าง จริงอยู่ที่ว่าเราเป็นคนสร้าง AI แต่สิ่งที่สำคัญคือ อย่าทำได้เท่า AI เพราะมันไม่มีประโยชน์ในการที่จะไปทำสิ่งที่ AI สามารถทำแทนบุคลากรได้ สิ่งที่เราต้องทำก็คือ เราจะใช้จุดแข็งของเราอย่างไร ในการที่จะเข้าไปควบคุมจัดการการทำงานของ AI สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่อยากเชิญชวนคนไทยให้เตรียมพร้อมในเรื่องนี้

คุณกานติมา เลอเลิศยุติธรรม หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านทรัพยากรบุคคล บริษัท เอไอเอส

คุณสาระ: สำหรับผลกระทบในภาคประกันชีวิตจะเป็นในด้านของพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ประกอบกับเจเนอเรชั่นใหม่ๆ ที่เข้ามา ในขณะเดียวกัน เมื่อดิจิตัลได้เข้ามา ทำให้เกิดแพลตฟอร์มที่ทุกคนสามารถเชื่อมโยงถึงกัน เมื่อวันหนึ่งโลกได้เปลี่ยนไปเป็นอย่างมาก เป็นโลกของลูกค้า (outside in) นอกจากนี้ยังมีในเรื่องของ Big Data การวิเคราะห์ Analytics ต่างๆ ส่วนตัวเชื่อว่าทำให้เกิดความเฉพาะตัวเกิดขึ้นกับลูกค้าในแต่ละกลุ่ม ในขณะเดียวกันก็ได้เกิดเสียง หรือ voice ที่เป็นผลตอบรับจากลูกค้า สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่องค์กรได้รับผลกระทบทั้งสิ้น

คุณสาระ ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด

คุณขัตติยา : การเปลี่ยนแปลงนั้นเกิดขึ้นกับทุกอุตสาหกรรมอยู่ตลอดเวลา การมีความตื่นตระหนกกับเรื่องเทคโนโลยีหรือสิ่งที่เข้ามาทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงว่ามันจะส่งผลกระทบอะไรกับเรานั้น เป็นความท้าทายระดับแรก ความท้าทายจริงๆ คือ เราจะมอง Digital Transformation ให้เป็นเรื่องเชิงบวก แล้วนำมันไปสร้างประโยชน์ ช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตได้อย่างไรบ้าง หากมองในมุมการเงิน การธนาคาร เทคโนโลยีทำให้เราสามารถมอบบริการที่ดีขึ้น ในราคาที่เอื้อมถึง อีกทั้งสามารถเข้าถึงคนที่เดิมนั้น เขาไม่เคยเข้าถึงบริการทางการเงิน ในตอนนี้เขาสามารถเข้าถึงบริการได้ 

คุณขัตติยา อินทรวิชัย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)

การเข้ามาของ AI เปิดโอกาสให้เราสามารถนำเวลาไปทำเรื่องที่ฉลาดมากขึ้น ใช้สมองในเรื่องที่ยากมากขึ้น นอกจากนี้ เทคโนโลยี 5G ทำให้เราสามารถสื่อสาร เชื่อมต่อกับทุกคนได้ เราสามารถหาข้อมูล สามารถรู้ข้อมูลที่เราไม่เคยรู้มาก่อนได้ อีกทั้งเมื่อมีการบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทำให้เราสามารถดูแลธุรกิจ ในขณะเดียวกันก็สามารถทำให้คนในโลกมีชีวิตที่ดีขึ้นได้

ดิจิตัลทำให้เกิดสิ่งที่ไร้พรมแดน เส้นแบ่งธุรกิจธนาคาร ขอบเขตการแข่งขันเริ่มเลือนลาง ธนาคารเริ่มมีทั้งคู่แข่งที่เป็นต่างชาติและไม่ใช่ธนาคารเข้ามาจำนวนมาก เพราะฉะนั้นในฐานะที่เป็นธนาคารของประเทศ เราจะตอบสนองความต้องการของลูกค้าในทุกๆ จังหวะของชีวิตของพวกเขาได้อย่างไร นี่เป็นความท้าทาย

คุณปัทมาวลัย : Digital Disruption เป็นเรื่องของเรา เป็นเรื่องรอบตัว เป็นมิติใหม่ในชีวิตของเรา ถ้าเราเข้าใจ เราจะใส่ใจ สิ่งนี้ทำให้เกิดการเชื่อมต่อในสิ่งที่ไม่เคยเชื่อมต่อกันมาก่อน นอกจากนี้สิ่งที่เชื่อมโยงกันอีกอย่างหนึ่งที่มีผลต่อธุรกิจ คือเรื่องของ Demand และ Supply ในอดีตเมื่อเราทำธุรกิจ หากสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ ก็นับว่าเป็นเรื่องที่เยี่ยมแล้ว แต่ในสมัยนี้ Demand ถูกสร้างด้วยดิจิตัลและเทคโนโลยี ทำให้ฝั่ง Supply สูงกว่า Demand เพราะฉะนั้นสิ่งที่ลูกค้าเคยอยากได้ วันนี้เขาได้แล้ว ทำให้การแข่งขันทางธุรกิจในทุกวันนี้เปลี่ยนไป นอกจากนี้คือเรื่องข่าวสาร เรื่องที่อยากจะรู้ เราได้รู้ เรื่องที่เราไม่เคยคาดหวังว่าจะเกิด ก็ได้เกิด เพราะฉะนั้น ทั้งสามอย่างนี้ Digital Disruption เป็นอิทธิพลใหม่ในชีวิตของพวกเราทุกคน เป็นเรื่องใกล้ตัว ไม่เข้าใจ ไม่ใส่ใจไม่ได้แล้ว

คุณปัทมาวลัย รัตนพล ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายทรัพยากรบุคคล ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล

Minor เป็นธุรกิจในด้าน Hospitality เราเป็น Low Tech, High Touch เราอยู่มา 50 ปี มีเป้าหมายการทำงานอย่างเดียวคือ Customer satisfaction แต่วันนี้มีเพียงเท่านี้ไม่เพียงพออีกต่อไป เราต้องเป็น Customer obsession ต้องก้าวออกไป ต้องเข้าใจลูกค้ามากขึ้น Technology และ Digital Disruption ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในการทำธุรกิจอย่างมาก แน่นอนว่าหนึ่งในนั้นคือพฤติกรรมของลูกค้าที่เปลี่ยน นอกจากนี้สนามการแข่งขันก็เปลี่ยน ถ้าเรายังมองคนเดิม แบบเดิม และทำการแข่งขันแบบเดิม อยู่ใน comfort zone เราจะอยู่ในสนามได้ไม่นาน ในเรื่องคู่แข่งที่เปลี่ยน เราไม่มองว่านี่คือ Direct competitor หรือ Indirect competitor อีกต่อไป ในปัจจุบัน ทุกสิ่งทุกอย่างสามารถเข้ามาชิงส่วนแบ่งทางการตลาดของเราได้หมด ไม่ว่าจะทำธุรกิจอะไรก็ตาม เพราะฉะนั้นเมื่อสนามการแข่งขันเปลี่ยน คู่แข่งเปลี่ยน เราต้องมองภาพรวมด้วย อย่ามองเพียงแค่เทคโนโลยีกับเทคโนโลยี แต่ต้องมองถึงเกมการแข่งขันที่เปลี่ยนไป

มีการเตรียมพร้อมรับ Digital Disruption อย่างไร

คุณกานติมา : อันดับแรกต้องมีความเป็นตัวของตัวเอง เพราะในตอนนี้สนามแข่งขันได้เปลี่ยนไปแล้ว สิ่งที่สำคัญคือ อย่าติดกับกรอบเดิมๆ อะไรที่เคยเป็นโจทย์ที่ทำให้เราสำเร็จในอดีต อาจไม่ได้เป็นคำตอบในอนาคต ก้าวที่ยากที่สุดคือ การเปลี่ยนผ่านจากตัวเอง นั่นคือเรื่องของ comfort zone เป็น barrier ที่สำคัญ ซึ่งเราพบว่าสิ่งนี้ทำให้หลายองค์กรไม่สามารถไปต่อได้ เพราะยังติดในสิ่งที่เคยทำ และเชื่ออยู่ในสิ่งที่เคยเชื่อ เราไม่ได้บอกว่าสิ่งที่ผ่านมาเป็นสิ่งไม่ดี แต่วันนี้สนามการแข่งขันต่าง คู่แข่งต่าง บริบทรอบๆ เปลี่ยนไป สิ่งที่ยากที่สุดคือการแข่งกับตัวเอง แข่งกับความสำเร็จในอดีตของตัวเอง ความท้าทายของทาง AIS ที่สำคัญคือ การเปลี่ยนผ่านจากการเป็น Operator เป็น Digital service provider

การเตรียมความพร้อมของเราคือการเตรียม skill set ของพนักงาน เพราะเราเชื่อว่า คน นั้นจะเป็นสิ่งที่ช่วยทำให้องค์กรประสบความสำเร็จได้ แต่ต้องมี skill set ที่ถูกต้อง เพราะฉะนั้น AIS นอกจากจะทำธุรกิจภาคธุรกิจและบริการแล้วยังต้องเข้าใจว่าลูกค้ามีความต้องการที่เปลี่ยนไป รวมถึงเมื่อลูกค้าได้มีศักยภาพที่จะเติบโตขึ้นมาในอนาคต อาจจะมีบริบทที่ต่างจากในแบบที่พวกเราเคยเข้าใจ เมื่อความต้องการเปลี่ยน สิ่งที่สำคัญคือการเพิ่ม skill set ให้กับคน

การเตรียมความพร้อมของเราคือการเตรียม skill set ของพนักงาน เพราะเราเชื่อว่า “คน” นั้นจะเป็นสิ่งที่ช่วยทำให้องค์กรประสบความสำเร็จได้ แต่ต้องมี skill set ที่ถูกต้อง

นอกจากนี้คือเรื่องการเข้าใจพฤติกรรมลูกค้า ในกลุ่ม segmentation แต่ก่อนเราอาจจะมองเป็นภาพรวม แต่ในปัจจุบันนั้นได้มี niche market ขึ้นมาอีก เพราะฉะนั้นจึงเป็นความสำคัญของบริษัทที่จะเข้าใจในเรื่อง Data หรือ Big Data เราจะใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่มีในการช่วยให้เข้าใจพฤติกรรมของลูกค้าได้อย่างไร

คุณสาระ : เราพยายามมองภาพของปัจจุบัน ในขณะเดียวกัน การมองไปข้างหน้าก็สำคัญ แม้ว่าจะมีไอเดียมากแค่ไหน ที่สำคัญต้องมี execution นี่เป็นความท้าทายอย่างหนึ่งว่า เราจะมีการจัดการมี governance structure อย่างไร หากทดลองทำสิ่งไหนแล้วไม่ใช่ให้ถอยออกออกมา แล้วมาโฟกัสในสิ่งที่ต้องทำ

อีกหนึ่งมุมที่ต้องยอมรับคือ องค์กรใหญ่ที่มีความเป็น traditional ยังมีปัญหาในเรื่องของการมีมุมมองที่เป็น vertical อยู่ แม้จะพยายามพูดเรื่อง customer centric อย่างไร สิ่งที่ต้องใส่ใจจริงๆ คือเรื่องของ execution เพราะฉะนั้นถ้าจะมองในมุม customer centric จริงๆ องค์กรต้องมีมุมมองแบบ horizontal มองจากมุมมองลูกค้า มองแบบ outside in อาจเป็นในรูปแบบของ business partner ผู้อื่นที่อยู่ใน ecosystem ของเรา ในมุมของลูกค้า เขาสนใจเพียงว่า experience ของเขาเป็นอย่างไร customer journey ของเขามันแย่แค่ไหน เพราะฉะนั้นสิ่งเหล่านี้ เป็นสิ่งที่เราต้องวางโครงสร้างขององค์กรให้ชัดเจน ว่าสิ่งไหนที่ควรให้ความสำคัญก่อนเป็นอันดับแรก ใครคือ current world ในขณะเดียวกันก็ดูว่า ใครคือ tomorrow world

Outcome คืออะไร จะเติบโตอย่างไร revenue ที่มาจากตัว basic จะเพิ่มมากแค่ไหน margine เป็นอย่างไร ในขณะเดียวกันเราใส่ในเรื่องของ AI เข้าไป เราได้อะไรกลับมา เพราะฉะนั้นใครก็ตามที่คิด จะต้องคิดเป็น horizontal outcome มีตัวชี้วัดที่สามารถบอกได้ว่าอะไรใช่ หรือไม่ใช่ และทำการ agile แต่สิ่งเหล่านี้พูดอย่างเดียวไม่ได้ ต้องมี governance structure ด้วย และที่สำคัญที่สุด ต้องคุยกันเรื่อง mind set เพราะทุกวันนี้สิ่งที่ท้าทายที่สุดคือ คน ที่ยังคงเห็นเป็นภาพ vertical อยู่ เพราะฉะนั้นนี่เป็นสิ่งที่ต้องปรับ ทุกคนต้องลงมาทำด้วยกัน

คุณปัทมาวลัย : ความรับผิดชอบของเราคือ Grow customer, Attract talent, และ Increase return to shareholder ซึ่งในการที่จะทำการ transform ได้นั้น ต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจน ทาง Minor เองมองว่า เราไม่ได้ต้องการที่จะเป็น the biggest organisation แต่เราต้องการเป็น the best organisation ที่มอบประสบการณ์ที่ดีที่สุดให้แก่ลูกค้า และหาบุคลากรที่ดีที่สุด ซึ่งจะต้องทำการดูตั้งแต่เริ่มต้นตั้งแต่การเตรียมองค์กร

ก่อนหน้านี้บอกว่าเราเป็น Low tech, High touch เราต้องเปลี่ยนเป็น High Tech, High Touch, High Trust นั่นคือสิ่งที่เราต้องเตรียมพร้อม สิ่งที่เราได้ทำการเตรียมได้เริ่มจาก Leadership, People & Culture, Organisation สำหรับ Leadership นั้น เราเริ่มจากการ Build awareness ได้มีการนำทีมคณะผู้บริหารเดินทางไปยัง Stanford เพื่อทำความเข้าใจว่า Disruption จริงๆ แล้วคืออะไร เราได้เครื่องมือใหม่ที่จะเข้ามาช่วยเปลี่ยนวัฒนธรรมในการทำงาน นั่นคือเรื่อง Design thinking ที่ได้เข้ามาเป็นอีกหนึ่งในการช่วย approach ในทุกๆ ธุรกิจ นั่นคือการเริ่มจาก Leader ซึ่ง competency ของผู้นำนั้นถูกเปลี่ยนใหม่หมด เราพูดถึง agility และ innovation และที่สำคัญที่สุดคือเรื่องของ Mental complexity ในยุค disruption แบบนี้ หากเรายังทำงานแบบ vertical จะทำงานลำบาก

ในเรื่องคนและวัฒนธรรมนั้น เราจะทำอย่างไรให้คนของเรามีความพร้อม สำหรับเทคโนโลยีเราจะต้องทำการรื้อใหม่หมด ตั้งแต่การรับคนเข้าทำงาน การเตรียมในเรื่อง Learning & Developement และ Performance management ทุกอย่างต้องพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง ถ้าเราจะไป technology สุดกู่ แต่เรายังไม่มี customer ที่นิยมในรูปแบบ High Touch ทางองค์กรจะแก้ปัญหาตรงนี้ได้อย่างไร

ในเรื่องเทคโนโลยี เรามองว่าเทคโนโลยีนั้นไม่สามารถอยู่ได้ด้วยตัวของมันเอง มันจะต้องเข้ามาช่วยเพิ่มในเรื่อง productivity ต้องเข้ามาทำให้เกิดความสะดวกในเรื่องต่างๆ และก่อให้เกิด return เพราะฉะนั้นในการที่จะทำเทคโนโลยี จะต้องมี KPI ที่ชัดเจน ในหลายครั้งเทคโนโลยีเป็น cost ด้วยซ้ำ people cost ไม่ได้ลดลง เพราะเมื่อออกแบบเทคโนโลยี หากเราไม่ได้ออกแบบให้คนเข้าไปอยู่ในส่วนของการสร้าง เทคโนโลยีด้วย คนที่จะได้รับผลกระทบคือลูกค้า

High tech จะต้องมี High touch เมื่อเพิ่ม Human touch เข้าไป จะช่วยเพิ่มประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้า ในที่สุดแล้วจะกลับมาที่ประสิทธิภาพในการผลิต เพราะว่าท้ายที่สุดแล้วองค์กรจะต้องมีผลกำไร คุณไม่สามารถแยกระหว่าง เทคโนโลยีและคนได้ แน่นอนว่า AI จะต้องถูกพัฒนาไปเรื่อยๆ แต่ในที่สุดแล้วคนจะเป็นตัวเชื่อมจากเทคโนโลยีไปสู่คน แล้วจะนำไปสู่ประสบการณ์ของลูกค้าที่ดีขึ้นได้

คุณขัตติยา: เราโฟกัสที่ลูกค้าเป็นสำคัญ เนื่องจากธนาคารไม่ได้เก่งทุกเรื่อง เราต้องงานร่วมกับพาร์ทเนอร์ที่จะช่วยเราในการตอบโจทย์ลูกค้าได้มากขึ้น ซึ่งเขาจะเป็นทั้งพาร์ทเนอร์และลูกค้า อีกทั้งยังเป็นคู่แข่งด้วยเช่นกัน เพราะฉะนั้นจะมีในเรื่อง Business model ที่ต้องทำการดูเพิ่มเติม

บทเรียนจาก Standford ในมุม Leadership นั้นได้มีตัวอย่างที่น่าสนใจ เมื่อ Steve Jobs ได้เริ่มทำ Apple ตอนแรก เขาไม่ได้รู้ว่าในที่สุดแล้วผลลัพธ์ของผลิตภัณฑ์จะเป็นอะไร จะไปถึงจุดไหน เขาได้มีการทดลองทำไปเรื่อยๆ หากไม่ใช่ ก็ถอยกลับมา เริ่มใหม่ ทำจนกระทั่งรู้ว่าอันไหนเป็น Business model ที่ใช่มากที่สุด จากบทเรียนนี้องค์กรจะทำอย่างไรพนักงานสามารถคิดไอเดียใหม่ๆ ขึ้นมา แล้วนำไอเดียเหล่านั้นมาทดสอบกับตลาด หากไม่สำเร็จก็ให้ล้มเหลวไป เรียนรู้จากมันแล้วไปใหม่ fail fast และ fail cheap สร้างสปิริตเหล่านี้ให้เกิดขึ้นในองค์กร ในด้านการเตรียมความพร้อมในองค์กร เราพยายามสร้างให้พนักงานสามารถ Think digital, Live digital, Execute digital, Lead digital ได้

หากมองไปภาพรวมในภายภาคหน้าเกี่ยวกับบทบาทของธนาคารภายใต้โจทย์ของประเทศไทย เมื่อเรามีสังคมสูงวัยเพิ่มขึ้น เราจะทำอย่างไรให้ทุกคนมีวินัยทางการเงินและพร้อมรับในสิ่งที่จะเกิดขึ้น ในอนาคตเราอยากเห็นผู้สูงวัยเป็นผู้ที่มีประโยชน์กับประเทศชาติ เพราะฉะนั้นการปลูกฝังวินัยทางการเงินตั้งแต่ตอนนี้ เป็นสิ่งสำคัญมาก เทคโนโลยีจะช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิต เพราะฉะนั้นจะทำอย่างไรให้เรื่องดิจิตัลเข้าถึงทุกคนได้นี่เป็นโจทย์ที่พวกเรากำลังแก้

องค์กรจะเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยประเทศไทยในการขับเคลื่อนต่อไปข้างหน้าได้อย่างไร

คุณปัทมาวลัย ​: ในฐานะที่เป็นองค์กร เรามีความรับผิดชอบในการเพิ่มพูนศักยภาพให้กับคนไทย ซึ่งในที่นี้คือพนักงานของเรา เราต้องให้สิ่งที่ถูกกับเขา จะเห็นว่าในช่วงนี้ จะมีคำที่ใช้มากคือ Startup เพราะเสน่ห์ ของมันคือความเป็น Entreprenuer นั่นคือคุณสมบัติที่เรามองว่า จะทำอย่างไรในการที่จะพัฒนาคนไทยให้ต่อสู้กับสนามสากลได้ ทำให้คนของเรามีความแกร่ง มุ่งมั่น พยายาม และอดทน

คนเรามีแค่สองวันเท่านั้นคือ Good Day และ Bad Day ถ้าวันไหนที่เราไปนั่งประชุมแล้วรู้สึกหนักใจ ยาก เป็นไปไม่ได้ รู้สึกเหนื่อย วันนั้นคือวันที่ดี กลับกัน วันไหนที่เราไปทำงาน นั่งประชุม สัมนาแล้วรู้สึกสบาย รู้สึกว่า อันนี้ก็ได้นะ มันก็ใช่นะ อย่าไปทำมันเลย มันเป็นไปไม่ได้ วันนั้นคือ Bad day เราจะสร้าง Culture ในองค์กรที่ถูกต้องได้อย่างไร องค์กรจะสร้างบุคลากรที่มีศักยภาพที่ถูกต้อง เหมาะสมกับการแข่งขันได้อย่างไร ทาง Minor เรามีความต้องการที่จะสร้างองค์กรสู่ความเป็นสากล เมื่อเราพัฒนาคนของเราไปข้างนอก จะเป็นการเพิ่มโอกาส เพิ่มความสำเร็จให้กับคนไทย ไปสู่สนามแข่งขันสากล เพื่อเป็นการสร้างความมั่งคั่งให้กับคนไทยและประเทศไทย

คุณสาระ ​: จะทำอย่างไรให้คนไทยอยู่ในวัฒนธรรมชอบที่จะเรียนรู้ สิ่งเหล่านี้ไม่เคยหายไป ต้องยอมรับว่าสิ่งนี้เป็นความท้าทายของคนไทย มีคอนเทนต์มากมายเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นจะทำอย่างไรให้คนไทย อยากที่จะเรียนรู้ ในแง่วัฒนธรรมองค์กร ก็สามารถที่จะสร้าง culture ที่เป็น Learning culture ได้ หากมีเครื่องมือแต่ไม่ใช่ ก็ไม่มีประโยชน์อยู่ดี ในขณะเดียวกันเรื่องเบสิกที่ควรทำได้ เรื่องของ vocation เองนั้นก็เป็นตัวเลือกที่ดี คือการเห็นภาพเป็น holistic ขึ้นมา ทำให้ lift skills ของเขาขึ้นมา escalate ออกไป

ในอีกมุมหนึ่งในแง่ของธุรกิจ ในด้านประกันเอง สิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน จะเป็นเรื่องของโรคร้ายบางโรคที่เป็นโรคใหม่ ประเด็นก็คือ เราจะทำอย่างไรที่จะเป็นการสร้างสิ่งเหล่านี้ให้เกิดขึ้น หากองค์กรสามารถทำได้ องค์กรจะต้องสามารถแชร์ประสบการณ์ และ Success story ระหว่างองค์กรด้วยกันเองได้ ทุกภาคส่วนต้องทำงานร่วมกัน cost saving ที่ทางภาครัฐสามารถทำให้ได้ ในการที่จะทำให้คนอยู่ได้ อายุยืน อย่างมีความสุข นั่นคือความยั่งยืนอย่างแท้จริง

คุณขัตติยา : เมื่อเกิด Globalization แล้ว สินค้าจากทั่วโลกสามารถเข้ามาขายในไทยได้หมด ความท้าทายคือ เราจะสู้กับข้างนอกได้อย่างไร ในฐานะที่กสิกรมีฐานลูกค้า SME ที่ค่อนข้างใหญ่ และมี mobile banking ที่ใหญ่ที่สุดที่มี market share เกิน 50 เปอร์เซ็น เรากำลังเจอกับโจทย์ที่ท้าทายที่ว่า เราจะทำอีคอมเมิร์ชแพลตฟอร์มที่จะช่วยเหล่า SME ให้สามารถแข่งขันและสามารถเข้าถึงลูกค้ามากกว่าเดิมได้อย่างไร จะเห็นได้ว่า Digital disruption ส่งผลให้บางอาชีพมีงานทำมากขึ้น บางตำแหน่งลดความสำคัญลง ในมุมของกสิกร สิ่งที่เราทำคือการ Reskill พนักงาน เราจะพาทุกคนไปด้วยกัน หากเขาต้องการไปกับเรา หากมองในภาพใหญ่ ภาครัฐและภาคเอกชนจะต้องทำงานร่วมกัน ช่วยกันกำหนดทักษะใหม่สำหรับโลกข้างหน้า และเริ่มพัฒนาคนของเราตั้งแต่ตอนนี้ เพื่อที่เราจะมีความพร้อมรับกับโลกในอนาคต

เราไม่ควรทำงานคนเดียว ควรร่วมมือกัน สร้างความเจริญให้กับประเทศ เพราะจริงๆ แล้วคู่แข่งของเราไม่ใช่คนไทย อีกทั้งคู่แข่งของกสิกรก็ไม่ใช่ธนาคาร เพราะฉะนั้นเป็นสิ่งสำคัญที่ทุกคนจะต้องร่วมมือกัน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน

ในมุมการเงิน หากทุกคนใช้ Mobile banking กันมากขึ้น ในอีก 5 ปี ข้างหน้า เราจะสามารถลดขั้นตอนการทำงานและสามารถประหยัดเงินได้มากกว่า 900 ร้อยล้านบาท หากเรานำเงินค่าธรรมเนียมที่คิดจากการโอนเงินในแต่ละครั้ง มารวมกัน ภายใน 5 ปี เราจะมีเงิน 7 หมื่นล้านบาท เพราะฉะนั้นหากระบบการเงินได้เข้าถึงคนหมู่มากขึ้นไปเรื่อยๆ จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของคนทั้งประเทศได้ทั้งหมด

ในเรื่องของ Payment และ Ecommerce ธนาคารเห็นว่าร้านค้านี้ บนอีคอมเมิร์ชนี้ มีการซื้อขายเป็นอย่างไร มี transaction มากน้อยแค่ไหน สินเชื่อที่ทางธนาคารไม่เคยเข้าไปปล่อยสินเชื่อ ในตอนนี้สามารถทำได้ เพราะเราจะเห็นได้ว่า มีรายได้โดยไม่ต้องมีสลิปเงินเดือน ส่งผลให้สามารถมีการทำ micro loaning ได้มากขึ้น

คุณกานติมา : หากมองในมุมประเทศ AIS เราคิดว่าทุกวันนี้เราทำเผื่อ ไม่ได้ทำเพิ่ม เราทำในสิ่งที่เราทำอยู่แล้ว เราเชื่อในการร่วมมือการทำงานร่วมกัน เราเชื่อว่าทุกคนมีจุดเด่น จุดแข็งของตัวเอง เพราะฉะนั้นไม่มีประโยชน์ที่แต่ละคนจะไปทำในสิ่งที่อื่นมีจุดแข็งอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นความร่วมมือกันคือจุดเริ่มต้นที่ภาคเอกชนควรมองให้ชัดเจน หากพูดในแง่ของภาพรวม ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนจะต้องร่วมมือกัน นอกจากนี้คือเรื่องสำนึกความเป็นไทย การที่องค์กรจะเติบโตได้นั้นสังคมในประเทศจะต้องไปด้วยกัน

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

‘UOB Sustainability Compass’ เครื่องมือออนไลน์ด้านความยั่งยืน หนุน SMEs เปลี่ยน Vision เป็น Action

บทสัมภาษณ์ คุณอัมพร ทรัพย์จินดาวงศ์ และคุณพณิตตรา เวชชาชีวะ เกี่ยวกับ ‘UOB Sustainability Compass’ เครื่องมือออนไลน์ที่เข้ามาช่วย SMEs เริ่มดำเนินการด้านความยั่งยืนอย่างเข้าใจและไม...

Responsive image

Intel พลาดอะไรไป ? ทำไมถึงต้องเปลี่ยน CEO กะทันหัน ? ถอดบทเรียนราคาแพงจากยุค Pat Gensinger

การ ‘เกษียณ’ อย่างกะทันหันของ Pat Gelsinger อดีตซีอีโอ Intel ในต้นเดือนธันวาคม สร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั่ววงการเทคโนโลยี หลายฝ่ายมองว่าเป็นการบีบให้ออกจากบอร์ดบริหาร อันเนื่องมาจากผล...

Responsive image

GAC รถแห่งเมืองกวางโจว ขวัญใจแท็กซี่ยุคใหม่ | Tech for Biz EP. 30

แบรนด์รถยนต์ที่เป็นความภูมิใจของคนกวางโจว สู่ขวัญใจแท็กซี่ยุคใหม่ คลิปนี้ Tech for Biz จะพาไปรู้จัก GAC ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าสัญชาติจีนอีกเจ้าที่กำลังบุกตลาดเมืองไทย...