วิเคราะห์ดีล King Power กลับมาถือหุ้น RS ในยุคที่ Big Data กลายเป็นขุมทรัพย์ของโลกธุรกิจ | Techsauce

วิเคราะห์ดีล King Power กลับมาถือหุ้น RS ในยุคที่ Big Data กลายเป็นขุมทรัพย์ของโลกธุรกิจ

นับได้ว่าเป็นอีกหนึ่งข่าวคราวในวงการธุรกิจไทยที่น่าสนใจไม่น้อยเลยทีเดียว กับประเด็นของการขายหุ้นบนกระดานรายใหญ่ หรือ  Big Lot ของ ‘เฮียฮ้อ’ หรือ ‘คุณสุรชัย เชษฐโชติศักดิ์’ เจ้าของ บมจ.อาร์ เอส ให้กับกลุ่ม ‘ศรีวัฒนประภา’ หรือ  ‘กลุ่ม King Power’ ส่งผลทำให้ขึ้นแท่นเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ลำดับที่ 2 หลังจากที่ก่อนหน้านี้กลุ่ม King Power เคยถือหุ้นของ อาร์เอส อยู่ประมาณ 94 ล้านหุ้น และได้ขายออกเกือบหมดเมื่อปี 2558 ที่ผ่านมา

 ดังนั้นสิ่งที่น่าสนใจสำหรับดีลนี้ คือ การกลับมาของกลุ่ม King Powerใน RS อีกครั้ง มิหนำซ้ำยังเป็นการลงทุนในระยะยาว อีกด้วย  อีกทั้งยังมีสิ่งที่น่าสังเกตอีกว่า ก่อนหน้านี้กลุ่มทุนใหญ่อย่าง บีทีเอส กรุ๊ป ก็เข้ามาถือหุ้นอาร์เอส เพื่อทำการ Synergy ทางธุรกิจเช่นกัน ดังนั้นในครั้งนี้ จากการ Transform ตัวเองของอาร์เอส จะสร้างมูลค่าจากสิ่งใดให้ King Power กลับมาถือหุ้นกันแน่ ?

เมื่อวันที่ 27  พฤศจิกายน 2562 ที่ผ่านมา มีรายงานข่าวจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่าพบการซื้อขายหุ้นบนกระดานรายใหญ่ (Big Lot) ของบริษัท อาร์ เอส จำกัด (มหาชน) หรือ RS จำนวน 96 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 13.70 บาท มูลค่ารวมประมาณ  1,315 ล้านบาท ซึ่งจากรายงานเป็นการขายหุ้นของคุณสุรชัย  เชษฐโชติศักดิ์ หรือ เฮียฮ้อ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และประธานกรรมการของ RS โดยภายหลังได้มีการเปิดเผยว่า เป็นการขายให้กับกลุ่มศรีวัฒนประภา หรือ กลุ่มKing Power ในสัดส่วน 9.87% ส่งผลให้ขึ้นเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ลำดับที่ 2 ของ RS  

การเข้าถือหุ้นของกลุ่ม King Power ในครั้งนี้ไม่ได้เป็นการเข้ามาครั้งแรก แต่เป็นการกลับเข้ามาครั้งที่สองแล้ว เพราะก่อนหน้านี้กลุ่มดังกล่าวได้เป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นใหญ่ของ RS เช่นกัน โดยได้ทำการซื้อผ่าน Big Lot จากผู้บริหารของ RS เข้ามารวมทั้งสิ้น 94 ล้านหุ้น ในวันที่ 31 กรกฎาคม 2558  โดย ณ เวลานั้นเหตุผลที่เข้ามาลงทุน อาจจะเป็นเพราะการเล็งเห็นศักยภาพในการเติบโตของธุรกิจสื่อ ซึ่ง RS ได้มีการเติบโตอย่างรวดเร็วและทำกำไรได้ค่อนข้างดี 

อีกทั้งช่วงเวลาดังกล่าวธุรกิจสื่อ โดยเฉพาะทีวีดิจิทัลกำลังเป็นช่วงขาขึ้น แต่ด้วยการเติบโตอย่างรวดเร็วของสื่อออนไลน์ ส่งผลกระทบต่อทีวีดิจิทัลเป็นอย่างมาก และทำให้อาจเกิดความเปราะบางในฐานะของการเป็นผู้ลงทุน ทำให้ภายในระยะเวลาไม่กี่เดือนมีรายงานออกมาว่า คุณอัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา ได้ขายหุ้น RS ออกไปกว่า 4.36% และเหลือถือไว้แค่ 0.99% เมื่อช่วงต้นเดือนตุลาคม 2558 

สำหรับ RS ปัจจุบันไม่ได้เป็นธุรกิจในหมวดสื่อและสิ่งพิมพ์อีกต่อไป แต่ RS คือ ธุรกิจพาณิชย์ ซึ่งได้ทำการเปลี่ยนแปลงกับตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อให้สอดคล้องตามสัดส่วนโครงสร้างรายได้ และนโยบายการดำเนินธุรกิจ ที่ปัจจุบันมีสัดส่วนรายได้จากธุรกิจ Multi Platform Commerce ประมาณ 50% ส่วนรายได้จากสื่อเหลือเพียง 30% ธุรกิจดนตรีและอื่นๆ เหลือแค่ 20% เท่านั้น (ข้อมูลประมาณการล่าสุดจากรายงานผลประกอบการ RS ในไตรมาสที่ 3/2562) 

ในกรณีของ RS ถือเป็นหนึ่งในบริษัทที่ปรับโมเดลธุรกิจเพื่อรับมือกับ Digital Disruption ได้อย่างรวดเร็วและทันท่วงที โดยคุณสุระชัย หรือเฮียฮ้อ ได้ประกาศรุกในธุรกิจพาณิชย์อย่างเป็นทางการเมื่อต้นปี 2562 ที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นการสร้างมิติใหม่ของธุรกิจในการเชื่อมโยงธุรกิจสื่อและค้าปลีกได้อย่างน่าสนใจ จึงไม่เป็นที่แปลกใจเลยว่าทำไมในช่วงที่ผ่านมาเราถึงได้เห็นข่าวของการเข้ามาเป็นพันธมิตรธุรกิจกับ RS กันอย่างไม่ขาดสาย 

โดยก่อนหน้านี้ก็การเข้ามาของพันธมิตรที่เป็นกลุ่มทีวีดิจิทัล อย่าง ไทยรัฐ และ Workpoint เพื่อต่อยอดธุรกิจให้เกิดประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นการขยายช่องทางขายสินค้าของ RS ที่ปกติจะขายแค่บนช่อง 8 ไปสู่การขายในช่องทีวีอื่น ๆ มากขึ้น โดยช่องไทยรัฐทีวี ได้มีการเปิดเป็น T Shopping ส่งฟรีทุกที่ เก็บเงินปลายทาง

 ขณะที่การร่วมมือกับ Workpoint นั้น เปิดช่องทางขายสินค้าใหม่ ภายใต้ชื่อ Wellness Shop ซึ่งทั้งสองช่องทีวีนั้น จะเป็นการขายสินค้าและบริการ แบรนด์ของ บริษัท ไลฟ์สตาร์ จำกัด ของ RS เอง นอกจากเป็นการเพิ่มช่องทางการขายสินค้าแล้ว ยังมีอีกหนึ่งความร่วมมือคือ การเพิ่มศักยภาพการเข้าถึงฐานลูกค้าใหม่ ๆ และสร้าง database ให้แข็งแรงยิ่งขึ้นด้วย เพราะแต่ละช่องทีวีก็จะมีการเจาะกลุ่มและเข้าถึงฐานผู้ชมที่แตกต่างกัน ซึ่งสร้างความหลากลายของกลุ่มผู้บริโภคได้ไม่น้อยเลยทีเดียว

พร้อมกันนี้ยังมีการเข้ามาของอีกหนึ่งกลุ่มทุนใหญ่ อย่าง บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS  ที่ได้ทุ่มเงินกว่า 1,000 ล้านบาท เข้าถือหุ้น RS ประมาณ 7% ซึ่งถือเป็นการเข้าลงทุนเชิงกลยุทธ์ เพื่อเป็นการสร้างพันธมิตรทางธุรกิจในระยะยาว จากการที่ BTS มีแพลตฟอร์มที่สามารถเชื่อมและเพิ่มศักยภาพทางธุรกิจกับ RS ได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็น ธุรกิจสื่อนอกบ้าน และบัตร Rabbit อย่าง VGI หรือธุรกิจโลจิสติกส์อย่าง Kerry Express ที่มีแนวโน้มการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการร่วมมือกันระหว่าง BTS และ RS ถือเป็นดีลที่เรียกได้ว่าต่างฝ่ายต่างได้ประโยชน์อย่างเต็มที่ และสมน้ำสมเนื้อไม่น้อยเลยทีเดียว 

ล่าสุด RS ได้มีการประกาศวิสัยทัศน์ ในการดำเนินธุรกิจในปี 2563 ว่าจะมีการปรับโครงสร้างองค์กรครั้งใหม่อีกครั้งนับตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทมา 40 ปี เพื่อสร้างการเติบโตแบบ New S – Curve ให้กับองค์กร ด้วยการก้าวสู่การเป็นบริษัทที่ขับเคลื่อนธุรกิจด้วยฐานข้อมูล หรือ Data Driven โดยเฉพาะการนำระบบ AI และการวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analytic) และ Business Intelligence Tool เข้ามาประยุกต์ใช้วิเคราะห์ความต้องการของลูกค้าในทุกมิติ ปัจจุบันฐานข้อมูลลูกค้าเฉพาะของบริษัทมีประมาณ 1.3 ล้านราย

 ขณะที่จากความร่วมมือกับพันธมิตรในกลุ่มทีวีดิจิทัล ปัจจุบันมี 2 ช่อง ได้แก่ ไทยรัฐทีวี เวิร์คพอยท์ และจะประกาศความร่วมมือกับทีวีดิจิทัลอีก 1 ช่องในช่วงปลายปีนี้ เมื่อรวมกับช่อง 8 รวมเป็นทั้งหมด 4 ช่อง จะเข้าถึงผู้ชมประมาณ 40 ล้านคนต่อวัน โดยเป็นกลุ่มเป้าหมายที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไปนอกจากนี้ความร่วมมือกับกลุ่,บีทีเอสจะทำให้บริษัทเข้าถึงลูกค้าคนเมือง ประมาณ 10 ล้านคนต่อวัน ถือเป็นกลุ่มเป้าหมายที่มีกำลังซื้อ อายุ 25 ปีขึ้นไป รวมทั้งยังมีการขายผ่านพนักงานขายทางโทรศัพท์ หรือเทเลเซลล์ อีกจำนวน 500 คน ที่คอยให้บริการลูกค้าตลอด24 ชั่วโมง ถือเป็นจุดแข็งที่มีศักยภาพของ RS  (ข้อมูลเพิ่มเติมที่ http://www.rs.co.th/pressroom/frontend/press_room_detail/id/1861)

ดังนั้นสำหรับดีลล่าสุด ตามที่ได้กล่าวไปเมื่อตอนแรก ในกรณีที่ King Power กลับมาถือหุ้นใน RS อีกครั้ง หลายคนก็ได้ตั้งคำถามกันไม่น้อยว่า ดีลนี้จะเป็นการลงทุนแบบ Passive Investor หรือการเข้ามาลงทุนในฐานะผู้ลงทุนประเภทรอรับผลตอบแทนตามการจัดการของทีมงานมืออาชีพอีกหรือไม่ หรือว่าจริง ๆ แล้ว King Power มีวัตถุประสงค์บางอย่างที่มากกว่านั้น ในการที่จะมาทำธุรกิจร่วมกับ RS ก็มิอาจทราบได้  เพราะดูจากโมเดลธุรกิจที่มีการทรานส์ฟอร์มใหม่ปรับตัวจากธุรกิจสื่อมาเป็นธุรกิจพาณิชย์ก็มีความน่าสนใจไม่น้อย โดยเฉพาะในแง่ของ Database หรือ Big Data ทั้งในส่วนที่ RS มี และในส่วนที่ได้มาจากพันธมิตรอย่าง ไทยรัฐ workpoint และ BTS  ซึ่งก็นับว่าครอบคลุมผู้บริโภคแทบทุกกลุ่มเลยทีเดียว 

ไม่แน่ว่า การที่ King Powerกลับเข้ามาลงทุนใน RS ครั้งนี้ อาจจะเป็นการทุ่มเงิน 1,315 ล้านบาท ที่ได้อะไรมากกว่าที่เห็นก็เป็นไปได้ เพราะการขับเคลื่อนธุรกิจในยุคปัจจุบันที่นับจากนี้เป็นต้นไป เป็นการขับเคลื่อนด้วย  Big Data ซึ่งเปรียบดังขุมทรัพย์ที่ไม่ว่าใครก็มีความต้องการ... 


ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

Freshket ระดมทุนเพิ่ม กว่า 273 ล้านบาท เดินหน้าขยายแพลตฟอร์มสู่ Food Supply Chain ครบวงจร

เฟรชเก็ต (freshket) แพลตฟอร์มจัดการวัตถุดิบออนไลน์สำหรับร้านอาหารแบบครบวงจร (Food Supply Chain Platform) สัญชาติไทย เดินหน้าสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่อง พร้อมระดมทุนเพิ่มจากผู้ลงทุ...

Responsive image

Openspace กองทุนแห่ง SEA ตั้งเป้า 2 ปี ลงทุนสตาร์ทอัพไทยไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาท

โอเพ่นสเปซ (Openspace) กองทุนที่ลงทุนในบริษัทสตาร์ทอัพ SEA ประกาศแผนลงทุนในสตาร์ทอัพไทย ส่งเสริมระบบนิเวศสตาร์ทอัพไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาท ในช่วงปี พ.ศ. 2568 - 2569...

Responsive image

Wavemaker และ กรุงศรี ฟินโนเวต ลงทุน Series B ใน 24X เดินหน้ายกระดับตลาดซ่อมบำรุง

24X ประกาศความสำเร็จครั้งใหม่ในการระดมทุนรอบซีรีส์ บี โดยสองกลุ่มนักลงทุนระดับชั้นนำอย่าง เวฟเมคเกอร์ เวนเจอร์สและกรุงศรี ฟินโนเวต ในเครือกรุงศรี ตอกย้ำถึงความมุ่งมั่นของ 24X ในการ...