ในที่สุด ครม. มีมติเห็นชอบให้ควบรวม CAT - TOT เป็นบริษัทเดียวกัน พร้อมเปลี่ยนชื่อเป็น 'โทรคมนาคมแห่งชาติ' หรือ NT โดยมีคลังถือหุ้น 100% และปรับรูปแบบเป็นบริษัทมหาชน ไม่ใช่รัฐวิสาหกิจ พร้อมมอบหมายให้กระทรวงดิจิทัลดูแล และดำเนินการควบรวมให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน และยังเห็นชอบให้ร่วมประมูลคลื่น 5G อีกด้วย
นับเป็นอีกหนึ่งข่าวใหญ่จากกรณีที่เมื่อวานนี้ (14 ม.ค. 63) นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีว่า ครม. มีมติเห็นชอบแผนการควบรวมบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (CAT) เป็นบริษัทเดียวกัน โดยใช้ชื่อว่า บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT โดยหลังจากการควบรวมแล้ว กระทรวงการคลังจะเป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมด 100% พร้อมทั้งปรับเปลี่ยนรูปแบบเป็นบริษัทมหาชน ไม่ใช่รัฐวิสาหกิจ รวมถึงกระบวนการควบรวมจะต้องแล้วเสร็จภายในระยะเวลา 6 เดือน นับตั้งแต่ ครม.อนุมัติแผนดังกล่าว
ทั้งนี้แผนดังกล่าวถือเป็นไปตามมติของคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ตั้งแต่ของรัฐบาลก่อนหน้า โดยเห็นว่าการควบรวมทั้ง 2 บริษัทเข้าด้วยกันจะทำให้มีความสามารถในการแข่งขัน และลดการทำงานซ้ำซ้อนของหน่วยงานรัฐได้ พร้อมกันนี้ยังได้มีการมอบหมายให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กำกับดูแลการดำเนินการข้างต้นให้เป็นไปตามเป้าหมายและกรอบระยะเวลาที่กำหนด และจะต้องรายงานความคืบหน้าให้กับทางคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ทราบทุกเดือน
ส่วนความกังวลด้านการปรับลดพนักงานนั้น ได้มีการยืนยันว่า จะไม่มีการปรับลดพนักงานระหว่างของ 2 รัฐวิสาหกิจ หลังจากควบรวมแน่นอน ส่วนอัตราเงินเดือน ค่าจ้าง ค่าตอบแทน และการจัดซื้อจัดจ้างแบบจีทูจีนั้น ให้ปฏิบัติตามขั้นตอนตามกฎหมายต่อไป
นอกจากนี้ยังให้ยกเลิกมติ ครม.เมื่อวันที่ 13มิถุนายน 2560 และให้ยุบเลิก บริษัท โครงข่าย บรอดแบนด์แห่งชาติ จำกัด (NBN) และ บริษัทโครงข่ายระหว่างประเทศและศูนย์ข้อมูลอินเทอร์เน็ต จำกัด (NGDC) โดยให้ ทีโอที และ กสท โทรคมนาคม รับพนักงานที่ลาออกไปทำงานที่ NBN และ NGDC ให้กลับเข้าทำงานใน ทีโอที และ กสท โทรคมนาคม ในระดับเดิม และได้สิทธิประโยชน์เท่าที่ได้อยู่เดิมในวันที่ลาออกไปอยู่ NBN และ NGDC และให้นับอายุงานต่อเนื่อง
สำหรับประเด็นของการปรับเปลี่ยนรูปแบบ ‘โทรคมนาคมแห่งชาติ’ จากรัฐวิสาหกิจมาดำเนินงานเป็นบริษัทมหาชน ถือว่าไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่แต่อย่างใด เพราะที่ผ่านมาก็มีหลายหน่วยงานที่แปรรูปแบบเช่นนี้ ไม่ว่าจะเป็น บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือแม้กระทั่งบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) โดยวัตถุประสงค์ส่วนใหญ่ คือ เพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้ ยกระดับมาตรฐานในการกำกับดูแลกิจการที่ดี และให้มีความโปร่งใส รวมถึงการปรับเปลี่ยนวิธีการทำงาน และการบริหารธุรกิจ ที่ทำให้สามารถพัฒนาองค์กรได้มากขึ้น
ขณะที่อีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่น่าจับตามอง คงหนีไม่พ้นการที่ ครม. ได้เห็นชอบหลักการให้ TOT และ CAT เข้าร่วมประมูลคลื่นความถี่ 700 MHz, 1800 MHz, 2600 MHz และ 26 GHz ตามเงื่อนไขประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ที่เกี่ยวข้องได้ด้วย
ด้านนายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เปิดเผยว่า "การควบรวมในครั้งนี้ว่าถือเป็นการช่วยให้เกิดการผสานศักยภาพสร้างความพร้อมให้กับรัฐวิสาหกิจด้านสื่อสารของประเทศไทย เพื่อรับมือการแข่งขันในอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว รวมถึงการสิ้นสุดสัมปทานถือครองคลื่นความถี่ในปี 2568 ซึ่งทั้งสองหน่วยงาน จะไม่เหลือคลื่นความถี่ในมือเลย อีกทั้ง เป็นการสร้างโอกาสของการไปสู่ธุรกิจในอนาคตร่วมกัน ซึ่งรวมถึงธุรกิจ 5G ซึ่ง กสทช. เตรียมเปิดประมูลคลื่นความถี่ในราวกลางเดือนกุมภาพันธ์นี้
โดยโครงสร้างหลังการควบรวม บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด แบ่งกลุ่มธุรกิจออกเป็น 5 สายงาน ได้แก่ ธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพ (Hard Infrastructure) ธุรกิจโครงข่ายโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (International) ธุรกิจบริการโทรศัพท์ประจำที่และบรอดแบนด์ (Fixed Line & Broadband) ธุรกิจโทรคมนาคมสื่อสารไร้สาย (Mobile) และธุรกิจ Digital Infrastructure And Services"จากการวางโครงสร้าง และวัตถุประสงค์ของการควบรวม ถือเป็นการบ่งบอกได้อย่างชัดเจน ถึงการเตรียมความพร้อมในเรื่องของโครงสร้างพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็น IoT , AI, Cloud , Big Data, AR/VR และ Robotics ที่จำเป็นต่อการเปลี่ยนประเทศไทยให้เข้าสู่ยุคเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม เพื่อยกระดับศักยภาพการแข่งขันในอนาคตที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในทุกด้าน พร้อมทั้งเพื่อรองรับการแข่งขันอย่างดุเดือดในด้านโทรคมนาคมด้วย
ดังนั้น 5G จึงถือเป็นหนึ่งในกุญแจสำคัญที่จะช่วยเชื่อมต่อจิ๊กซอว์ต่าง ๆ ให้เข้าด้วยกันได้ สร้างระบบนิเวศน์ (Ecosystem) ที่เอื้อต่อการพัฒนาของภาคอุตสาหกรรมและการบริการ เพราะถือเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่ทรงอิทธิพลเป็นอย่างมากในระยะต่อจากนี้ ซึ่งจะสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ทั้งระบบ ไม่ว่าจะเป็น เศษรฐกิจ อุตสาหกรรม สังคม และการดำเนินชีวิตประจำวัน ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถสร้างประโยชน์ให้ประเทศเป็นอย่างมาก
เมื่อ 5G เป็นสิ่งที่สำคัญต่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน จึงไม่น่าจะเป็นที่แปลกใจมากเท่าไหร่ ว่าทำไมจึงได้มีการสนับสนุนให้ TOT และ CAT ซึ่งถือเป็นหน่วยงานที่กำกับดูแลโดยรัฐบาลเข้ามาร่วมประมูลในครั้งนี้ด้วย รวมถึงการที่ ครม.สั่งให้ควบรวมให้เสร็จภายใน 6 เดือนนับจากนี้ ในช่วงที่ใกล้มีการประมูล ชวนให้สามารถคิดไปถึงการเตรียมพร้อมต่อการดำเนินการบางอย่าง ในช่วงเวลาที่ถูกมองว่าอาจจะเหมาะสม เพราะก่อนหน้านี้เรื่องของการควบรวมทั้งสองหน่วยงาน ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจด้านการสื่อสารของประเทศไทย ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดคุยกันหลายครั้ง แต่ยังไม่เคยสำเร็จเสียที
นอกจากประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจ อุตสาหกรรมต่าง ๆแล้ว ด้านการพัฒนาทางสังคม 5G ก็ถือว่ามีส่วนช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ห่างไกลได้เป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร การศึกษา ระบบสาธารณสุข ที่ประชาชนจะสามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้มากขึ้น กับการรักษาพยาบาลผ่านทางไกล ส่งผลต่อการลดความเหลื่อมล้ำของการใช้ชีวิตของประชาชนได้เป็นอย่างดี ซึ่งเหล่านี้ถ้ามองในอีกแง่มุมถือเป็นหน้าที่ ความรับผิดชอบของรัฐบาลที่จะต้องทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนดีขึ้น
ดังนั้นการถือครอง 5G ไว้ในหน่วยงานกันเอง จึงง่ายต่อการหยิบยกมาใช้งาน และควบคุมได้ดีกว่า เพราะที่ผ่านมาเรามักจะเห็นการตั้งคำถามถึงความพร้อมด้านการนำ 5G มาใช้งานจริงอยู่เสมอ ว่าเทคโนโลยีมา แต่การใช้งานในเชิงพาณิชย์ยังไม่ได้เอื้ออำนวย อาจจะไม่คุ้มต่อการใช้เม็ดเงินมหาศาลต่อการลงทุน
อีกหนึ่งคำถามที่ต้องคอยจับตาคำตอบหลังจากนี้ว่า หากรัฐเป็นฝ่ายชนะการประมูล ได้ถือครองคลื่นความถี่ไว้ในมือจริง ๆ และด้วยวัตถุประสงค์เป็นการวางโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ค่าครองชีพ หรือค่าใช้จ่ายในการใช้เทคโนโลยี คงจะลดลงเพื่อเอื้อให้ภาคประชาชนสามารถเข้าถึงอย่างแท้จริง...
ขอบคุณข้อมูลจาก mgronline
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด