เมื่อโลกของน้ำมันจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ปตท. วางหมากเดินเกมต่ออย่างไร ? กับ 'ชาญศิลป์ ตรีนุชกร' | Techsauce

เมื่อโลกของน้ำมันจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ปตท. วางหมากเดินเกมต่ออย่างไร ? กับ 'ชาญศิลป์ ตรีนุชกร'

ในระยะหลังมานี้น้ำมัน ถือเป็นพลังงานที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก จากโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเช่นนี้ โดยได้กลายเป็นพลังงานที่มีความต้องการใช้ของผู้บริโภคลดน้อยลงอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ความต้องการขายของผู้ผลิต กลับมีการผลิตกันออกมาอย่างต่อเนื่องเช่นกัน จนกระทั่งเกิดภาวะที่เรียกว่า oversupply และส่งผลต่อราคาที่ปรับตัวลดลง จนถึงขั้นทำให้ผู้ประกอบการน้ำมันบางรายถึงกับต้องล้มละลาย โดยเฉพาะในช่วงที่มีโรคระบาดใหญ่ทั่วโลกอย่าง COVID-19  เข้ามา ยิ่งทำให้ความต้องการใช้น้ำมันมีน้อยมากจากมาตรการปิดเมืองของหลายประเทศทั่วโลก 

สำหรับประเทศไทย ผู้ดำเนินธุรกิจพลังงานที่ใหญ่ที่สุดก็คือ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) โดยที่ผ่านมา ปตท. ถือว่าได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความผันผวนของราคาน้ำมันโลกเช่นกัน โดย Techsauce ได้พูดคุยกับ คุณชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่คนที่ 9 ของ ปตท. ถึงประเด็นดังกล่าว ซึ่งได้มีการอธิบายถึงที่มาที่ไปของน้ำมันในประเทศไทย รวมถึงการปรับตัว และการนำนวัตกรรม มาใช้ในการดำเนินธุรกิจ ที่ถือว่าเป็นหนึ่งในกุญแจสำคัญที่ทำให้ธุรกิจสามารถดำเนินต่อไปได้อย่างมั่นคง และยั่งยืน

ที่มาที่ไปของการเดินทางของน้ำมันดิบในประเทศไทย 

คุณชาญศิลป์อธิบายว่า ...พื้นฐานการใช้พลังงานในประเทศไทย โดยเฉพาะน้ำมัน เช่น น้ำมันดิบ ประมาณวันละ 1 ล้านบาร์เรล ซึ่งมาจากการนำเข้าประมาณ 80-90% ขณะเดียวเราสามารถผลิตได้เองประมาณ 10-20% เท่านั้น โดยการนำเข้าน้ำมันดิบส่วนใหญ่นำเข้ามาจากประเทศในตะวันออกกลาง และในภาคพื้นอื่น ๆ เช่น เอเชีย ตะวันออกกลาง รวมทั้งแอฟริกาและอเมริกา ส่วนราคาของน้ำมันจะขึ้นอยู่กับราคาฐานที่ดูไบ ซึ่งเชื่อมโยงกับน้ำมันดิบ Brent ที่ทะเลเหนือ และเชื่อมโยงกับน้ำมันดิบที่ WTI (West Texas Intermediate) ทางฝั่งสหรัฐอเมริกา

เดิมทีน้ำมันดิบเกิดขึ้นมาเป็น 100 ปีแล้ว  โดยเกิดขึ้นที่ทะเลเหนือและอเมริกาก่อน จากนั้นมาที่เอเชีย ดังนั้นราคาน้ำมันดิบอ้างอิงจากแหล่งที่มีกำลังการผลิตสูง แต่เมื่อประมาณ 30 ปีที่แล้ว กลุ่มตะวันออกกลาง หรือที่เรียกว่ากลุ่ม OPEC มีสมาชิก 10 ประเทศ มีกำลังผลิต 60-70% ของโลก หลังจากนั้นเมื่อมีเทคโนโลยี มีการผลิต และการแสวงหาแหลางน้ำมันไปเรื่อย ๆ ก็มีกลุ่ม Non-OPEC (โดยเฉพาะรัสเซียและอเมริกา)เกิดมากขึ้น ฉะนั้นจึงทำให้ทุกวันนี้กลุ่ม OPEC มีกำลังการผลิตประมาณ 30-40% ของการผลิตน้ำมันดิบของโลกเท่านั้น 

ก่อนหน้านี้อเมริกาบริโภคน้ำมันและนำเข้าน้ำมันจากตะวันออกกลางและอเมริกาใต้ แต่ตอนนี้อเมริกาสามารถผลิตน้ำมันเองได้ เข้าโรงกลั่นเอง อีกทั้งยังส่งออกได้ด้วย ดังนั้นเมื่อความต้องการลดลงอย่างรวดเร็วและรุนแรง โดยตั้งแต่เกิดเหตุการณ์การแพร่ระบาดของ Covid-19 เป็นต้นมา ทำให้ความต้องการน้ำมันสำเร็จรูปลดลงรวดเร็ว 

ไม่ว่าจะเป็นน้ำมันดีเซล ที่ใช้สำหรับรถบรรทุก รถยนต์ต่างๆ หรือในโรงงาน ก็จะลดลงประมาณ 30-40% ส่วนน้ำมันแก๊สโซลีน ที่ใช้สำหรับรถยนต์ส่วนตัว จะลดลงไปประมาณ 40-50% เพราะบางประเทศมีการ lockdown และเคอร์ฟิว ไม่ให้คนเดินทาง ส่วนน้ำมันเครื่องบิน ลดลงไปประมาณ 70-90% เพราะมีข้อห้ามไม่ให้มีคนต่างชาติเดินทางเข้าประเทศ ฉะนั้นน้ำมันเครื่องบินจะกระทบมากที่สุด 

สำหรับการกลั่นน้ำมันดิบมาเป็นน้ำมันสำเร็จรูปจะขึ้นอยู่กับโครงสร้างและกระบวนการของโรงกลั่น โดยส่วนใหญ่จะกลั่นได้แก๊ส LPG ก่อน 5-10% แก๊สโซลีนหรือน้ำมันเบนซิน 15-20% น้ำมันดีเซล น้ำมันเครื่องบิน 40-45% ส่วนที่เหลือก็จะเป็นน้ำมันเตา เช่น ยางมะตอยและน้ำมันหล่อลื่นพื้นฐาน 

การปรับตัวของผู้ค้าน้ำมัน เมื่อดีมานด์ลดลงอย่างรวดเร็ว

ปัจจุบันประเทศไทยมีโรงกลั่น 6 แห่ง ได้แก่ 1. โรงกลั่นไทยออยล์ 2. โรงกลั่น Global Chemical GC 3. โรงกลั่น IRPC 4. โรงกลั่น ESSO 5. โรงกลั่นบางจาก 6. โรงกลั่น SPRC โดยจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ทุกโรงกลั่นมีการปรับตัวโดยการลดกำลังการผลิตตามความต้องการใช้ภายในประเทศ

สำหรับกลุ่มปตท. ได้มีการดูแลพนักงานซึ่งเป็นทรัพยากรที่สำคัญที่สุด ให้มีการทำงาน จากที่บ้านตามมาตรการของรัฐบาล และสามารถดำเนินธุรกิจในเรื่องการสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงานและเศรษฐกิจไปได้อย่างต่อเนื่อง เพราะพลังงานมีส่วนสำคัญในเศรษฐกิจอย่างมาก 

จากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ในกลุ่มของปตท.ทั้งหมด ธุรกิจที่กระทบน้อยมาก คือ ธุรกิจการผลิตไฟฟ้า (GPSC) อย่างที่ทราบว่าเรามีเชื้อเพลิง ไม่ว่าจะเป็นเชื้อเพลิงแก๊สธรรมชาติที่มาใช้กับการผลิตไฟฟ้า 40-50% โดยที่เรานำเข้ามาจากอ่าวไทย พม่า และต่างประเทศ ที่ทำให้ต้นทุนถูกลง และราคาในต่างประเทศลดลง เราก็นำเข้ามามากขึ้น 

นอกจากนี้ปตท.ยังมีการทำน้ำมัน Bio ไม่ว่าจะเป็น Bio Diesel ที่ช่วยน้ำมันปาล์ม หรือแม้กระทั่งเอทานอล ที่ช่วยธุรกิจอ้อยและมันสำปะหลัง ซึ่งเป็นการส่งเสริมนโยบายที่ช่วยเกษตรกร และช่วยสิ่งแวดล้อมด้วยเช่นกัน

ปตท.

การบริหารความเสี่ยงท่ามกลางวิกฤต

ในการเกิดวิกฤตในแต่ละครั้ง ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่าเหตุและผลของวิกฤตมีความแตกต่างกัน บางครั้งก็กระทบแรง บางครั้งก็กระทบไม่แรง อย่างที่ผ่านมากลุ่ม  ปตท.  เจอกับช่วงที่รุนแรงมากก็คือในปี 1997 ในเรื่องวิกฤตต้มยำกุ้ง ที่บริษัทต่าง ๆ ต้องล้มกันไป มีหนี้ที่เพิ่มขึ้นมาเท่าตัวจากค่าเงินบาทที่ลดลง ปตท. ก็ต้องเริ่มขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์เพื่อระดมทุนในปี 2544 หลังจากนั้นทำให้รัฐบาลถือหุ้นแค่ 51% และหลังจากนั้นเราก็ได้มีขยายปตท. สผ ซึ่งเป็นบริษัทสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในอ่าวไทย ทั้งมาเลเซีย พม่าออกมา 

ส่วนในประเทศเราก็มี  Global Chemical ที่ทำเคมีจากแก๊สธรรมชาติ ทำให้เรามีอุตสาหกรรมที่ต่อเนื่องมากมาย ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรม Packaging อุตสาหกรรมพลาสติก อุตสาหกรรมการทำอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ อุตสาหกรรมรถยนต์ก็ใช้พลาสติกของไทย จากที่เคยนำเข้า เราก็ส่งออก นอกเหนือจากนั้นเรามี ไทยออยล์ โรงกลั่นที่ทันสมัยที่สุด ขนาดใหญ่ที่สุดและแข่งขันได้ นี่จะทำให้ความมั่นคงทางด้านพลังงาน ทั้งด้านน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องบิน รถยนต์และน้ำมันหล่อลื่น 

นอกจากนี้ยังมี IRPC ที่ทำปิโตรเคมีจากน้ำมัน เราสามารถมีน้ำมันที่ทำปิโตรเคมีที่เป็น Petrochemical engineering plastic ต่างๆ สุดท้ายคือ GPSC ที่ทำไฟฟ้า ที่เพิ่งจะ เข้าซื้อกิจการบริษัทหนึ่งมา ทำให้ GPSC เติบโตขึ้นโดยมีส่วนแบ่งตลาดอยู่ในหนึ่งในสี่ของประเทศ  และตอนนี้กลุ่มปตท.กำลังทำ Oil Retail (OR) 

กลุ่มปตท.ได้ปรับปรุงและ diversify ธุรกิจมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยงและกระจายรายได้ไปในด้านต่าง ๆ ที่ในอนาคตจะมีอยู่ทั้งหมดมีอยู่ 7 เรือธง

นับตั้งแต่วิกฤติต้มยำกุ้งในปี  1997 ที่เราเจอแล้ว กว่าเราจะฟื้นตัวได้ใช้เวลาหลายปี หลังจากนั้นเราก็เจอ Hamburger Crisis ที่เจอการเปลี่ยนแปลงของราคาน้ำมันที่ลดลงจาก 100 กว่าเหรียญเหลือ 20 กว่าเหรียญ โดยมันเกี่ยวข้องกับเรื่องของ supply ซึ่งก็คล้ายกับวิกฤต COVID-19 ในครั้งนี้ แต่ครั้งนี้เกี่ยวข้องกับ demand และเป็นปัญหาเรื่องพฤติกรรมของคน ดังนั้น critical ของจุดนี้คือเมื่อไรจะหาวัคซีนมารักษาได้ ประเทศต่างๆ สามารถคุมการแพร่เชื้อได้มากน้อยแค่ไหน ...

ปตท.

นวัตกรรม กุญแจสำคัญของการดำเนินธุรกิจ

กลุ่ม ปตท. เราให้ความสำคัญกับเรื่องนวัตกรรมมาก เพราะตั้งแต่ 5 ปีที่ผ่านมาเราเห็นว่าอนาคตของ Fossil Fuel มีคนยอมรับน้อยลง แต่ขณะเดียวกัน supply ตรงนี้จะมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะเทคโนโลยีในการขุดเจาะมากขึ้น อีกทั้งความต้องการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงที่สะอาดจะน้อยลง ดังนั้นมีวิธีที่เราทำได้มี 2 วิธี คือ 

  1. เราจะทำอย่างไรเพื่อจะปรับกระบวนการกลั่นเพื่อให้น้ำมันเชื้อเพลิงเรามี impurity น้อยลง และเพื่อให้ได้ตามมาตรฐานโลก
  2. เราส่งเสริมการใช้ Bio ซึ่งได้จากการจ้างงานภาคการเกษตรด้วย เราส่งเสริมร่วมกับกระทรวงพลังงาน ซึ่งได้ดำเนินการมาตลอดกว่า 20 ปี แล้ว นี่คือสิ่งที่เราดำเนินการสำหรับน้ำมันเชื้อเพลิง 

สำหรับแก๊สธรรมชาติ เดิมเมื่อหลายปีก่อนประเทศไทยมีการใช้แก๊สธรรมชาติอยู่ที่ประมาณ 135 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน แต่ปัจจุบันเราใช้แก๊สธรรมชาติวันละ 4,700 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ฉะนั้นแก๊สธรรมชาติจึงเป็นเทคโนโลยีที่หลายประเทศในอาเซียนยังไม่ได้ใช้ ยกเว้นญี่ปุ่นและจีน ดังนั้นพลังงานนี้ในประเทศไทยจึงเป็นสิ่งที่ก้าวหน้าและทันสมัย และในส่วนนี้เราทำให้เกิด sourcing ทั่วโลกและเกิดทางเลือกเป็นความมั่นคง อีกทั้งยังสามารถเลือกราคาที่เราคุ้มค่าได้มากขึ้นด้วย 

นอกจากนี้แล้ว กลุ่มปตท.ได้ทำ Predictive Maintenance ร่วมกับบริษัทเทคโนโลยีระดับโลกในการทำอัลกอริทึมมาตรวจสอบความเสื่อมสภาพของอุปกรณ์ต่าง ๆ  โดยเฉพาะโรงแยกแก๊สและโรงงานอุตสาหกรรม รวมถึงเราได้มีบริษัทในเครือตั้งบริษัททำโดรนขึ้นมา โดยนำโดรนนั้นมาทำเรื่องการดูแลเรื่อง maintenance เพราะเรามีโครงสร้างที่อยู่ในที่สูงจำนวนมาก 

ขณะเดียวกันเราก็ทำโดรนใต้น้ำ เพื่อดูแลเรื่อง maintenance ใต้น้ำด้วย และเรายังร่วมกับบริษัทที่ทำเรื่องอินเทอร์เน็ตมือถือ ในการดูแลเรื่องท่อแก๊สและท่อน้ำมันที่ป้องกันการเกิดสนิม 

ขณะเดียวกันกลุ่ม ปตท. ยังมีสถาบันทางวิทยาศาตร์ชั้นนำ เรียกว่า VISTECH มี 4 คณะ คือ คณะ Bio Technology, Material Sci, Renewal Energy, Digital และมีหลายพันธมิตรที่ร่วมกัน เช่น ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกสิกรไทย โรงกลั่นบางจาก บริษัทมิตรผล และบริษัทต่างๆ ในเครือที่ช่วยกันทำนวัตกรรมให้กับประเทศ ตั้งอยู่ที่วังจันทร์ วัลเล่ย์ จังหวัดระยอง ซึ่งจะเห็นผลงานมากขึ้นเรื่อย ๆ ในอีก 5-10 ปีข้างหน้า 

นอกจากนี้ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการค้าต่าง ๆ เราได้ร่วมมือกับ 9 ธนาคารของไทย และได้มีการร่วมมือกันในการนำแอปพลิเคชั่นของแต่ละธนาคารมาใช้ในการค้าขาย ไม่ว่าจะเป็น E-Wallet, Blockchain, Supply Chain ต่างๆ นี่คือสิ่งที่เราได้ดำเนินการในทุกๆ ด้าน ทำให้เราสามารถปรับตัวในเรื่องดิจิทัลและใช้ให้เกิดประโยชน์ได้  

สำหรับการปรับวัฒนธรรมองค์กรที่จะทำให้ทุกคนสามารถขับเคลื่อนธุรกิจไปด้วยนวัตกรรมนั้น สิ่งสำคัญคงหนีไม่พ้นเรื่องของ คน  ดังนั้น คนที่จะต้องเปลี่ยนเรื่องวัฒนธรรมองค์กรก่อนไม่ใช่พนักงาน แต่เป็นผู้บริหารระดับสูงก่อน 

เพราะพนักงานของเราส่วนใหญ่เป็น Gen Y เกิดมาก็เห็นดิจิทัลและเทคโนโลยีต่างๆ แล้ว ยุคผมต่างหากที่ไม่เคยเห็นและไม่เข้าใจ ผมเป็น CTO แม้กระทั่ง Unicorn, CVC, Venture Capital หรือการทำแอปพลิเคชั่น คนที่เกิดมาแล้วไม่เคยได้เห็นก็ไม่เข้าใจ โครงการการลงทุนต่างๆ ค่อนข้างยากในการขออนุมัติการลงทุนจากผู้บริหาร ส่วนใหญ่คนที่ขึ้นมาเป็นผู้บริหารระดับสูงก็ไม่ค่อยมีเทคโนโลยี มันเป็นไปในทางตรงข้ามกัน

เดิมที core value ของเราคือ SPIRIT (SPI : Synergy, Performance Excellence, Innovation / RIT : Responsibility for Society, Integrity & Ethics, Trust & Respect ) ดังนั้นในการเปลี่ยนวัฒนธรรม ต้องเติม D เข้าไปอีกตัว คือ Digitalization ให้ทุกคนคุ้นชินกับการใช้ Digital เพราะเป็นสิ่งที่เราปฏิเสธไม่ได้ ถ้าเราไม่มี อนาคตก็อาจจะไม่สามารถปรับตัวได้

อีกทั้งเราส่งเสริมพนักงานโดยเราทำการประกวดเรื่อง Tech Savvy Innovation ใครเก่งเรื่องอะไรก็เข้ามาทำ เพราะเรามีโจทย์ให้ทำและสามารถตั้งหลักเป็นเรือลำเล็กได้ เราให้พนักงาน flexible เรื่องเวลา เข้างานตั้งแต่ 7 โมงก็ได้ นับชั่วโมงการทำงาน 8 ชั่วโมง สามารถมา check in ที่บริษัทโดยไม่ต้องแตะบัตร สามารถ WFH ได้ ก็สามารถทำให้เราใช้ทรัพยากรที่จำกัดและแออัด เช่น ที่จอดรถ ออฟฟิศ ห้องประชุม เราสามารถทำงานได้โดยไม่ต้องเพิ่มห้องประชุม ไม่ต้องเพิ่มที่จอดรถ นี่คือพฤติกรรมที่เราได้ปรับเปลี่ยนไป...



ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

เจาะลึกทิศทางประกันภัยในยุคดิจิทัล | Exec Insight EP.74

Techsauce ได้พูดคุยกับ ดร.สุทธิพล อดีตเลขาธิการคปภ. ถึงการปรับตัวของธุรกิจประกันภัยในการนำเทคโนโลยีมาใช้...

Responsive image

นวัตกรรม อีกหนึ่งความหวังในการเติบโตของประเทศไทย | Exec Insight EP.73

Techsauce ได้รับโอกาสพิเศษในการพูดคุยกับ ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการ NIA พูดคุยถึงแนวทางและภารกิจหลักในการผลักดันนวัตกรรม รวมถึงการทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางในการขยายเข้าไปใน...

Responsive image

ไปรษณีย์ไทย 140 ปี สู้สมรภูมิโลจิสติกส์อย่างไร ?

จากบริษัทที่เริ่มต้นจากการสื่อสารเมื่อ 140 ปีก่อน สู่บริษัทโลจิสติกส์ และเตรียมต่อยอดสู่ Tech Company ที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลมหาศาล ไปรษณีย์ไทย สู้ศึกโลจิสติกส์อย่างไร สงครามราคาจะ...