รศ. พญ. สุดารัตน์ ใหญ่สว่าง หัวหน้าศูนย์จักษุ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ เปิดเผยว่า โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ได้ตระหนักถึงการเกิดใหม่เกี่ยวกับโรคตาที่เพิ่มขึ้นในทุกๆ ปี รวมถึงสถิติการเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยที่มีมากขึ้น ด้วยเหตุนี้การยกระดับศูนย์จักษุและพัฒนาการรักษาด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ จึงเป็นอีกหนึ่งพัธกิจสำคัญที่เราได้ทำมาตลอด เพื่อให้มีการดูแลรักษาอย่างครอบคลุมในทุกปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพตาโดยการดำเนินงานของ Eye Excellence Center โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
ในแต่ละปีทางโรงพยาบาลได้จัดซื้ออุปกรณ์ใหม่ๆ เข้ามาเป็นระยะโดยแนวโน้มของเทคโนโลยีเครื่องมือทางการแพทย์ จะเน้นการรักษาผ่าตัดเปิดแผลเล็กและมีการนำเลเซอร์เข้ามาใช้ร่วมในการรักษา นวัตกรรมเหล่านี้จะช่วยให้ระยะเวลารักษาไม่นาน ผลการรักษามีความแม่นยำตามที่ต้องการมากยิ่งขึ้น โอกาสเกิดผลข้างเคียงหลังการผ่าตัดน้อยลง ผู้ป่วยหายเร็วขึ้น ระยะพักฟื้นสั้นลง ไม่ต้องนอนโรงพยาบาลซึ่งเป็นการลดค่าใช้จ่าย
ล่าสุดโรงพยาบาลได้นำเครื่อง ORA System ซึ่งเป็นนวัตกรรมในการช่วยผ่าตัดต้อกระจกให้มีความแม่นยำมากขึ้น เป็นเครื่องมือที่ช่วยเสริมในขั้นตอนการผ่าตัดต้อกระจกและฝังเลนส์เทียมโดยใช้เลเซอร์ (Femto) ให้เกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
โดย ORA เป็นนวัตกรรมที่สามารถตรวจวัดค่าสายตาผู้ป่วยระหว่างการผ่าตัดแบบ Real-time ช่วยลดความผิดพลาดที่เกิดจากการวัดแบบมาตรฐานเหมาะกับผู้ป่วยทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ป่วยที่เคยผ่าตัดทำเลสิกมาก่อนหรือการผ่าตัดใดๆของกระจกตา เช่น กรีดกระจกตามาก่อนซึ่งการวัดแบบมาตรฐานทำได้ไม่แม่นยำเท่าการวัดด้วยเครื่อง ORA
สำหรับนวัตกรรม ReLEx SMILE เป็นเทคโนโลยีการผ่าตัดแก้ไขสายตาด้วยเลเซอร์ที่ต่อยอดมาจากเลสิกเป็นเทคนิคการผ่าตัดแก้ไขสายตาสั้นและเอียงด้วยเลเซอร์ที่มีความแม่นยำสูง มีแผลเปิดที่กระจกตาเล็กมากประมาณ 2-4 มิลลิเมตร ทำให้รบกวนเส้นประสาทบริเวณกระจกตาน้อย เป็นผลให้อาการตาแห้งและระคายเคืองตาพบได้น้อย โดยที่ค่าสายตาหลังผ่าตัดคำนวณได้อย่างแม่นยำ ทำให้มองเห็นดีขึ้นและคงที่ในเวลาไม่นานสามารถกลับไปใช้ชีวิตปกติได้อย่างคล่องตัว
การผ่าตัดรักษาภาวะสายตาสั้นและเอียงด้วยวิธี ReLEx SMILE ขณะที่เลเซอร์ทำงานเครื่องมือจะแตะที่ผิวกระจกตาและใช้แรงกดน้อย ผู้ป่วยจึงรู้สึกสบายตาขณะผ่าตัด หลังผ่าตัดมักพบการระคายเคืองและตาแห้งน้อยเนื่องจากแผลที่กระจกตามีขนาดเล็กมากและหลังการรักษาจะได้ค่าสายตาที่มีความแม่นยำ
โดยวิธีนี้จะเหมาะกับผู้ที่ไม่อยากใส่แว่น ไม่อยากใส่คอนแทคเลนส์ และผู้ที่มีสายตาสั้นถึง 1000 (-10.00 D) และสายตาเอียง 500 (-5.00 D) โดยเบื้องต้นแพทย์จะต้องตรวจวินิจฉัยตาก่อนที่จะทำการรักษาว่าเหมาะที่จะรักษาด้วยวิธีนี้หรือไม่
เนื่องจากต้องคำนึงถึงความหนาของกระจกตา และภาวะอื่นๆ ของตาร่วมด้วย เช่น ภาวะตาแห้งหรือไม่ ผู้ที่ทำการรักษาควรมีอายุ 20 ปีขึ้นไป และมีค่าสายตาคงที่อย่างน้อย 1 ปี และต้องไม่มีโรคที่เป็นข้อห้ามในการรักษา เช่น โรคเบาหวานที่ควบคุมน้ำตาลยังไม่ดี สตรีมีครรภ์ หรืออยู่ในช่วงให้นมบุตร ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้ประเมินถึงความเหมาะสม”
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด