Joe Biden ได้เข้าสาบานตนตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 46 ไปเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2021 ที่ผ่านมา ท่ามกลางการแพร่ระบาด COVID-19 และภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่สุดในประวัติการณ์ ยังไม่รวมไปถึงวิกฤตสังคมด้านเชื้อชาติ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และเรื่องราวที่เกิดขึ้นจากโดนัลด์ ทรัมป์ ทั้งหมดนี้นับเป็นความท้าทายที่ถาโถมเข้ามา ดังนั้นเพื่อการปกครองในยุคสมัยของเขาได้อย่างราบรื่น Biden จึงต้องรีบสะสางปัญหาทั้งหมด
เพื่อสร้างนิยาม “ประธานาธิบดีสหรัฐฯ“ ใหม่หลังยุคทรัมป์ โดยภารกิจทั้ง 6 ที่ Biden ให้คำมั่นว่าจะทำให้เสร็จสิ้นภายใน 100 วันแรก ได้แก่ ปัญหา COVID-19,ปัญหาเศรษฐกิจ,วิกฤตสภาพภูมิอากาศ, ความเท่าเทียมทางเชื้อชาติ, การย้ายเข้าประเทศจากกลุ่มผู้อพยพ และการปรับจุดยืนอเมริกาที่มีต่อประชาคมโลก (นโยบายการต่างประเทศ) และเมื่อ 20 เมษายนที่ผ่านมาก็ครบ 100 วันแล้ว มาดูกันว่าภารกิจที่ Joe Biden ให้ความสำคัญนั้น มีความคืบหน้าอย่างไรบ้าง
จัดตั้งทีมเฉพาะกิจด้านความเสมอภาคทางสุขภาพในยุค COVID-19
ย้อนกลับไปในช่วงการหาเสียง Joe Biden ได้ให้คำมั่นว่าจะจัดตั้งทีมเฉพาะกิจด้านความเสมอภาคทางสุขภาพในยุค COVID-19 (COVID-19 Health Equity Task Force) เพื่อรับมือกับวิกฤตโรคระบาดที่เกิดขึ้น เมื่อผ่านไป 100 วันพบว่า Biden สามารถทำได้สำเร็จ
โดยเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2021 ทำเนียบขาวได้ประกาศรายชื่อทีมงานมืออาชีพที่จะคอยให้ความช่วยเหลือทีมบริหาร Biden ในการดูแลเรื่องความไม่เท่าเทียมด้านสุขภาพและสังคมอันเกิดจากผลกระทบจาก COVID-19 ซึ่งสมาชิกทั้งหมด 13 คน มาจากวัย ชาติพันธุ์ เพศ สาขาวิชาที่หลากหลาย ภายใต้การนำของ Dr. Marcella Nunez-SMith แพทย์ระบาดวิทยาจากมหาวิทยาลัยเยล
ผลักดันกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับ COVID-19 โดยทันที
ในการแก้ไขปัญหาด้านแรงงานอันยืดเยื้อมานานตั้งแต่สมัยรัฐบาลทรัมป์ เมื่อ Joe Biden เข้าดำรงตำแหน่งได้ไม่นาน เขาก็ได้ลงนามร่างกฎหมายเยียวยาเศรษฐกิจจาก COVID-19 มูลค่า 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ การจ่ายเช็คช่วยเหลือชาวอเมริกัน 1,400 ดอลลาร์จนสำเร็จ แต่อย่างไรก็ตามนโยบายการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 15 ดอลลาร์ต่อชั่วโมงยังไม่ถูกบังคับใช้ เนื่องจากวุฒิสภาพรรคริพับลิกันยังไม่โหวตรับรอง
แจกจ่ายวัคซีนชาวอเมริกันให้ครบ 100 ล้าน Dose ภายใน 100 วัน
นี่ถือว่าเป็นความสำเร็จที่จับต้องได้อย่างแท้จริง โดยไบเดนพยายามส่งเสริมให้ประชาชนชาวอเมริกันได้รับวัคซีนโดยเร็วและทั่วถึง เช่นการจัดพื้นที่ฉีดวัคซีนแบบ drive-through จัดซื้อวัคซีนจากผู้ผลิตหลายแห่ง จนทำให้ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นเมื่อผ่านไป 100 วัน มีชาวอเมริกันได้รับวัคซีนทั้งหมด 215 ล้านโด๊ส คิดเป็น 40% จากประชากรทั้งหมด และมีประชากรกว่า 27% ได้รับวัคซีนครบทุก Dose
กลับเข้าร่วมเป็นสมาชิกใน WHO
หลังจากที่ประธานาธิบดีทรัมป์ได้ดำเนินการถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิกองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ไม่นาน ทันทีที่ประธานาธิบดี Biden ดำรงตำแหน่งวันแรก ก็ลงนามคำสั่งพิเศษประธานาธิบดีเพื่อให้สหรัฐฯ กลับเข้าร่วมเป็นสมาชิก WHO มีผลทันที
การขึ้นอัตราภาษีเพื่อนำงบประมาณมาใช้ลงทุนในแผน Build Back Better
ภายใต้แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ชื่อว่า Build Back Better ที่ต้องการจะฟื้นฟูสหรัฐให้ก้าวทันตามคู่แข่ง หนึ่งในนั้นก็เน้นเรื่องการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ มูลค่า 2 ล้านล้านดอลลาร์ ประธานาธิบดี Joe Biden ต้องการจะขึ้นอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีนิติบุคคลเพื่อนำมาเป็นงบประมาณพัฒนาในโครงการดังกล่าว
กระทั่งผ่านไป 100 วันแรก นโยบายการขึ้นภาษียังอยู่ระหว่างการดำเนินการ ซึ่งคาดว่า Biden จะปรับขึ้นอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากเดิม 37% เป็น 39% และภาษีนิติบุคคลจากเดิม 21% เป็น 28% อย่างไรก็ตามต้องได้รับการโหวตรับรองจากสภาคองเกรสสหรัฐก่อนนำบังคับใช้นโยบายนี้
จัดงานประชุมสุดยอดผู้นำด้านสภาพภูมิอากาศ (Climate Change Summit)
เมื่อวันที่ 22-23 เมษายนที่ผ่านมา ประธานาธิบดี Biden ได้เชิญ 40 ผู้นำโลกเข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำด้านสภาพภูมิอากาศ ซึ่งระหว่างการประชุม สหรัฐได้ตั้งเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปี 2030 โดยตั้งใจว่าจะลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศภายใต้ข้อตกลงปารีส (Paris Agreement)
ผลักดันให้สหรัฐฯ เป็นผู้นำระดับโลกในด้านสภาพภูมิอากาศ
ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการดำเนินการและยังไม่เห็นผลสำเร็จเป็นรูปธรรม แต่เบื้องต้นแผนการณ์ลดปริมาณก๊าซคาร์บอนภายในปี 2030 และการลงทุนวิจัยในด้านสิ่งแวดล้อมก็ได้แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจที่จะปรับปรุงสภาพอากาศให้ดีขึ้น
ขยายขอบเขตกฎหมายสิทธิการเลือกตั้ง (Voting Rights Act)
ในช่วงการเลือกตั้งสหรัฐฯ ปี 2020 อดีตประธานาธิบดีทรัมป์และผู้นำพรรคริพับลิกันหลายรัฐ ได้กีดกันสิทธิการเลือกตั้งของพลเมือง ทำให้พรรคเดโมแครตต้องการจะปฏิรูปกฎหมายสิทธิการเลือกตั้งโดยต้องการปกป้องสิทธิการโหวตของประชาชนไม่ให้โดนริดรอน และปรับปรุงกฎหมายการใช้งบประมาณในการหาเสียง อย่างไรก็ตามก็มีเสียงคัดค้านจากวุฒิสภาพรรคริพับลิกัน มองว่าควรให้อิสระแต่ละรัฐในการจัดการกฎหมายเลือกตั้ง
เรียกร้องให้สภาคองเกรสผ่านร่างกฎหมายปฏิรูปตำรวจ
ประธานาธิบดีไบเดนพยายามที่จะให้สภาคองเกรสสหรัฐผ่านร่างกฎหมายปฏิรูปให้แล้วเสร็จภายในเดือนพฤษภาคม นี้ ซึ่งจะตรงกับวันครบรอบ 1 ปีที่นายจอร์จ ฟลอยด์ ชายผิวดำเสียชีวิตเพราะถูกตำรวจใช้เข่ากดคอขณะจับกุม เนื้อหาในกฏหมายจะเกี่ยวข้องกับการตรวจสอบวิถีปฏิบัติตำรวจ และห้ามวิธีการลงโทษด้วยการใช้เข่ากดคอ
อย่างไรก็ตามทำเนียบขาวได้ประกาศไม่ได้ดำเนินการเกี่ยวกับร่างกฎหมายดังกล่าวต่อ ซึ่งร่างกฎหมายผ่านการรับรองจากสภาผู้แทนราษฎรก็จริง แต่วุฒิสภามีมติไม่รับรอง
ผลักดันให้สภาคองเกรสผ่านพรบ. ความยุติธรรมที่ปลอดภัย (SAFE Justice Act)
พระราชบัญญัติความยุติธรรมที่ปลอดภัย เป็นกฎหมายที่อาศัยความร่วมมือทั้งพรรคเดโมแครต และอดีตตัวแทนจากพรรครีพับลิกัน ที่ต้องการเปลี่ยนขั้นตอนการพิจารณาคดี รวมไปถึงการลดการบังคับจำนวนปีจำคุกขั้นต่ำสำหรับการกระทำความผิดที่ไม่รุนแรง อีกทั้งตั้งนโยบายมุ่งลดการกระทำผิดซ้ำ แม้ว่าพระราชบัญญัติดังกล่าวจะถูกปัดตกในปี 2017 แต่มีแนวโน้มว่ารัฐบาลภายใต้การนำของ Joe Biden จะผลักดันกฎหมายดังกล่าวให้กับสภาภายในเดือนหน้า
เสนอกฎหมายที่เปิดทางให้กลุ่มผู้อพยพที่เข้ามาอย่างผิดกฎหมายให้ได้สัญชาติอเมริกัน
เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2021 Joe Biden ได้เสนอกฎหมายการย้ายถิ่นฐานเข้าสหรัฐฉบับใหม่เพื่อปรับปรุงระบบตรวจคนเข้าเมืองของสหรัฐให้มีความทันสมัยขึ้นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว อย่างไรก็ตามหนทางที่กฎหมายจะผ่านมติรับรองในสภาทั้งสองแห่งของสหรัฐฯ ยังไม่เห็นท่าทีที่สดใสนัก โดยเฉพาะในฝั่งของฝ่ายค้าน พรรคริพับลิกัน
ปรับปรุงโครงการ DACA (Deferred Action for Childhood Arrivals) ให้ถาวร
จุดประสงค์ของโครงการ DACA คือการผ่อนผันลูกของกลุ่มอพยพให้อยู่ประเทศได้ชั่วคราวและสามารถทำงานได้ เบื้องต้นประธานาธิบดีไบเดนได้ลงนามคำสั่งพิเศษประธานาธิบดีรับรองโครงการดังกล่าวแล้ว อย่างไรก็ตามการบังคับใช้คำสั่งในโครงการต่างปฏิบัติแตกต่างกันในแต่ละรัฐ รวมถึงมีผู้พิพากษารัฐบาลกลางบางส่วนไม่ยอมรับความชอบธรรมในโครงการดังกล่าว
ยกเลิกนโยบายจับแยกเด็กออกจากครอบครัวผู้อพยพจากเม็กซิโก
ในสมัยอดีตประธานาธิบดีทรัมป์ได้ใช้นโยบายควบคุมพรมแดนมาบังคับใช้อย่างเข้มงวดมากขึ้น ส่งผลให้เด็กหลายพันคนต้องถุกจับแยกออกจากครอบครัวผู้อพยพจากเม็กซิโก
แม้ว่าประธานาธิบดี Joe Biden ได้ลงนามคำสั่งพิเศษของประธานาธิบดียกเลิกนโยบายดังกล่าวไปแล้วและพยายามทำให้ครอบครัวผู้อพยพกลับมารวมตัวอีกครั้ง แต่แล้วครอบครัวหลายกลุ่มยังคงแยกตัวกันเอง ทำให้จำนวนเด็กและเยาวชนที่เดินทางเข้าพรมแดนสหรัฐฯ ยังคงเพิ่มสูงขึ้น
ยกเลิกคำสั่งแบนห้ามการเดินทางของผู้คนจากประเทศมุสลิม
ประธานาธิบดี Joe Biden ตัดสินใจลงนามยุติคำสั่งพิเศษดังกล่าวเป็นที่เรียบร้อย และอนุญาตให้ชาวมุสลิมเดินทางเข้าประเทศได้อย่างเป็นอิสระ
ยุตินโยบาย Migrant Protection Protocols ของทรัมป์
ประธานาธิบดีไบเดนให้คำมั่นว่าจะยุตินโยบาย Migrant Protection Protocols (MPP) ที่ให้ผู้อพยพย้ายถิ่นในเม็กซิโกอยู่ในระหว่างการพิจารณาคดี กล่าวคือไม่ให้ผู้อพยพอยู่ในอันตรายอีกต่อไป อีกทั้งอนุมัติให้ผู้ลี้ภัยจากเม็กซิโกสามารถเข้าสู่สหรัฐฯ ได้
นอกจากนี้ไบเดนสัญญาอีกว่าจะยุติการใช้ข้อจำกัดจำนวนผู้อพยพที่สามารถขอลี้ภัยได้ แต่อย่างไรก็ตามฝ่ายบริหารยังไม่ได้ดำเนินตามมาตรการดังกล่าวอย่างชัดเจนเท่าไรนัก ซึ่งบางส่วนมองว่าหากปล่อยให้เข้ามาอย่างปราศจากเงื่อนไขอาจทำให้เกิดความเสี่ยงด้านโควิด-19 ได้
ยุติโครงการก่อสร้างกำแพงกั้นชายแดนเม็กซิโก
ประธานาธิบดีไบเดนได้ระบุประเด็นกำแพงกั้นชายแดนเม็กซิโกไว้ตั้งแต่วันแรกของการดำรงตำแหน่ง และแผนงบประมาณของไบเดนมูลค่า 1.5 ล้านล้านดอลลาร์ก็ไม่ได้กล่าวถึงการให้ทุนก่อสร้างกำแพงกั้นชายแดนแต่อย่างใด แต่ทว่าแผนการณ์ยุติโครงการยังไม่เห็นผลชัดเจนเท่าไรนัก เนื่องจากยังมีรายงานว่าการก่อสร้างกำแพงบางส่วนยังคงทำต่อไป
เพิ่มอำนาจรัฐบาลให้การกำกับดูแลกองตรวจคนเข้าเมืองและศุลกากร และหน่วยงานศุลกากรอย่างใกล้ชิด พร้อมตรวจสอบทันทีหากมีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติผิดหลักสิทธิมนุษยธรรม
ในงบประมาณกว่า 1.5 ล้านล้านดอลลาร์ของไบเดนได้รวมในส่วนของการเพิ่มเงินทุนเพื่อสอบสวนเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองหากเข้าข่ายลัทธิคนผิวขาวสูงส่ง หรือ White Supremacy เพื่อเลือกปฏิบัติกับชาติพันธุ์อื่น
นอกจากนี้ในนโยบายได้ปรับคำที่ใช้กับคนเข้าเมืองบางส่วน เช่น illegal (ผิดกฎหมาย), alien (ต่างด้าว), assimilation (การผสมผสาน) ให้เป็น ผู้ที่ยังไม่ได้รับเอกสารเข้าเมือง (undocumented), ผู้ที่ยังไม่ได้รับสัญชาติ (noncitizen) และผู้ย้ายถิ่น (migrant) ตามลำดับ
ให้คำมั่นว่าจะประสานรอยร้าวความสัมพันธ์ระหว่างต่างประเทศที่เสียหายไปในยุคทรัมป์
ภายใต้ยุคอดีตประธานาธิบดีทรัมป์ มุมมองของประเทศส่วนใหญ่ที่มีต่อสหรัฐฯ ในฐานะพันธมิตรที่แข็งแกร่งได้เปลี่ยนไป เมื่อประธานาธิบดีไบเดนเข้ารับตำแหน่งก็ตั้งใจจะให้สหรัฐมีจุดยืนแบบพหุภาคีมากขึ้น ให้ความสำคัญกับการทูตและการต่างประเทศ ฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างประเทศผ่านคำประกาศ “อเมริกากลับมาแล้ว” (America is back) แต่ทว่าประเทศบางส่วนกลับไม่ให้ความร่วมมือกับสหรัฐฯ อีกต่อไป
นอกจากนี้การถอนทหารสหรัฐฯ ออกจากอัฟกานิสถาน ซึ่งเป็นความตั้งใจของไบเดนที่ต้องการจะทำให้สำเร็จภายในวันที่ 11 กันยายน ปี 2021 ก็ยังไม่บรรลุผลเท่าไรนัก เนื่องจากยังมีความกังวลในส่วนของกลุ่มก่อการร้ายในอัฟกานิสถาน
การประชุมสุดยอดผู้นำระหว่างประเทศ
Joe Biden ต้องการจะเป็นเจ้าภาพจัดประชุมสุดยอดผู้นำระดับโลกในด้านประชาธิปไตยเพื่อฟื้นฟูสปิริตของผู้นำและหาจุดหมายร่วมกันในฐานะประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย ซึ่งจุดมุ่งหมายของไบเดนก็คือต้องการต่อต้านการคอร์รัปชัน ระบอบเผด็จการ และการละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่ทว่าแนวคิดดังกล่าวกลับเจอแรงปะทะที่ตึงเครียดจากต่างชาติ เช่น จีนและรัสเซีย
อ้างอิง: NPR
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด