แน่นอนว่าการทำงาน 5 วันต่อสัปดาห์ ถือเป็นแนวปฏิบัติทั่วไปที่ดำเนินมาอย่างยาวนานทั่วโลก แต่ในขณะนี้แนวทางการทำงานได้เปลี่ยนไป องค์กรจำนวนมากเริ่มหันมาลดเวลาการทำงานในแต่ละสัปดาห์ลง โดยอยู่ที่ 4 วันต่อสัปดาห์ และดูเหมือนกับว่านโยบายนี้จะกลายเป็น Herding Behavior หรือพฤติกรรมที่คนจะแห่กันทำตามคนส่วนมากไปโดยปริยาย
หากถามว่า 4 Day Work Week เริ่มกลายเป็นแนวคิดที่ได้รับความสนใจตั้งแต่เมื่อไหร่นั้น เห็นจะเป็นในช่วงที่หลายคนทั่วโลกประสบปัญหา จากการที่ต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานอย่างกระทันหันเพราะ COVID-19 เดิมทำงานที่ออฟฟิศ ปัจจุบันต้อง Work From Home ทำให้เกิดมรสุมของความเครียดขึ้น และนำมาสู่ภาวะ Burnout หรือที่หลายคนรู้จักในชื่อ "ภาวะหมดไฟ" นั่นเอง
การทดลองทำงาน 4 วัน หรือ 32 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เริ่มขึ้นในบริษัทในหลายประเทศ และผลปรากฎว่า แม้การทำงานจะลดน้อยลง แต่ก็ทำให้พนักงานมี Productivity มากขึ้น จนหลายบริษัทเริ่มที่จะนำรูปแบบการทำงานเช่นนี้มาใช้อย่างถาวร แล้วโมเดล 4 Day Work Week คืออะไร มีที่มาที่ไปอย่างไร ? และมีประเทศใดนำไปใช้บ้าง ?
หลังได้มีการทดลองแคมเปญใหญ่ของ 4 Day Week Global เพื่อทดลองการทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ ภายใต้ระยะเวลา 6 เดือน บริษัทกว่า 33 แห่ง และพนักงานกว่า 903 คน ได้ทดลองทำงานตามกำหนดเวลาดังกล่าวโดยไม่มีการลดค่าจ้าง กลายเป็นว่าได้รับผลตอบรับอย่างดีและมีแนวโน้มไปในทางบวก และดูเหมือนว่าไม่สามารถกลับไปทำงาน 5 วันต่อสัปดาห์ตามมาตรฐานเดิมได้อีกต่อไป
ทั้งนี้จากการสำรวจบริษัท 27 แห่ง และพนักงาน 495 คน พบว่า ประมาณ 97% พวกเขามีความเอนเอียงและมีแผนที่ต้องการจะสานต่อการทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ ซึ่งผู้ที่ตอบแบบสำรวจ ได้ให้คะแนนประสบการณ์นี้รวม 9 เต็ม 10 โดยพิจารณาจากประสิทธิภาพและผลงาน
(*บริษัทส่วนใหญ่ที่เข้าร่วมการทดลองจะอยู่ในสหรัฐอเมริกาและไอร์แลนด์)
ขณะที่พนักงานมีความคิดเห็นไปในเชิงบวกเท่า ๆ กันเกี่ยวกับการทดลอง โดยผลการรายงานระดับความเครียด ความเหนื่อยล้า การนอนไม่หลับ และภาวะการหมดไฟ มีระดับที่ลดลง สุขภาพร่างกายและจิตใจดีขึ้น และนอกจากนี้จากผลสำรวจพบว่า การทดลองนี้ยังส่งผลดีต่อรายได้ของบริษัท ซึ่งรายได้เฉลี่ยเพิ่มขึ้น 38% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา
Juliet Schor ศาสตราจารย์ด้านสังคมวิทยาของ Boston College และหัวหน้านักวิจัยของการทดลองกล่าวว่า การทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ ไม่ได้ส่งผลให้พนักงานเครียด ชี้ให้เห็นว่ากลยุทธ์การปรับโครงสร้างองค์กรประสบความสำเร็จ โดยที่ผ่านมาผลงานที่ไม่สำเร็จนั้นเกิดจากการที่มีวันหยุดไม่เพียงพอ ซึ่งไม่ยั่งยืนและไม่เป็นที่พึงพอใจ
Jon Leland ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายกลยุทธ์ของ Kickstarter บริษัทระดมทุนที่ได้เข้าร่วมในโครงการนี้ อธิบายว่า นี่เป็นการทำงานแบบ "win-win อย่างแท้จริง" โดยการทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ สร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับองค์กรและบุคลากรของเขา ซึ่งพนักงานมีสมาธิกับการทำงานมากขึ้น ให้ความร่วมมือ และทุ่มเทมากขึ้น ทั้งหมดนี้ช่วยให้พวกเขาบรรลุเป้าหมายได้ดียิ่งขึ้น
โดยที่ผ่านมาในสหราชอาณาจักร (UK) มีการทดลองทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ ซึ่งเป็นแคมเปญที่ดำเนินการโดยองค์กรไม่แสวงผลกำไรอย่าง 4 Day Week Global, Autonomy, Think Tank และ 4 Day Week UK Campaign ร่วมกับนักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Cambridge, Oxford, และ Boston โดยโครงการนี้จะมีระยะเวลาทั้งสิ้น 6 เดือน ประกอบด้วยบริษัทกว่า 70 แห่งและพนักงานกว่า 3,300 คน โดยแม้จะหักวันทำงานลง แต่ค่าตอบแทนยังเท่าเดิม
เมื่อผ่านไปครึ่งทางของระยะเวลาโครงการ กว่า 95% ขององค์กรที่เข้าร่วมล้วนตอบตรงกันว่า ประสิทธิภาพในการทำงานของพวกเขานั้นยังดีดังเดิม บางองค์กรประสิทธิภาพถึงกับเพิ่มขึ้นเลยด้วยซ้ำ อีกทั้งส่งผลต่อรายได้องค์กรที่เพิ่มขึ้น และกว่า 86% บอกว่า พวกเขามีแนวโน้มที่จะยึดแนวทางการทำงานแบบ 4 วันต่อสัปดาห์แบบนี้ตลอดไป
และจากผลสำรวจพบว่าบริษัท 83% ยังคงใช้นโยบายการทำงานแบบนี้ต่อไป และผลลัพธ์จากการทดลองนั้นส่งผลให้เกิดผลกระทบใหญ่
บรรดาพนักงานที่ได้เข้าร่วมการทดลองดังกล่าวเปิดเผยกับ CNN Business ว่า การที่ได้วันหยุดเพิ่มทำให้ชีวิตพวกเขาดีขึ้น อีกทั้งทำให้มีเวลาว่างเพื่อไปทำธุระอย่างอื่นมากขึ้น มีงานอดิเรกและถือเป็นการชาร์จพลังไปในตัว
ที่แอฟริกาใต้ก็ได้เข้าร่วมโครงการนำร่องทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ด้วยเช่นกัน โดยกลุ่มผู้เข้าร่วมคือธุรกิจทั้ง 29 แห่ง ซึ่งจะเริ่มในวันที่ 1 มีนาคม 2023 นี้
"นี่เป็นการทดลองครั้งแรกของแอฟริกาใต้ในการทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ ซึ่งหมายความว่าเจ้าของธุรกิจและพนักงานในแอฟริกาใต้ 500 คนจะร่วมทดสอบการทำงานที่ลดลงในครั้งนี้ โดยมีจุดประสงค์เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงาน เพิ่มความเป็นอยู่ที่ดี ดึงดูดผู้มีความสามารถ และการรักษาพนักงานไว้ อีกทั้งการลดชั่วโมงการทำงาน ถือเป็นหลักการสำคัญที่จะนำไปสู่อนาคตของการทำงานที่ดียิ่งขึ้น" Karen Lowe, Director of 4 Day Week SA. กล่าว
ทางด้าน Makhosi Kubheka COO Communicare กล่าวว่า การทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ ถือเป็นการเพิ่มคุณค่าให้กับพนักงาน และเชื่อว่าการลดวันทำงานลงอาจส่งผลดีต่อสุขภาพจิต เนื่องจากจะช่วยให้บุคลากรมีเวลาพิเศษมากขึ้น ซึ่งทั้งหมดนี้จะทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพ และสามารถมอบประสบการณ์ที่ดีสำหรับลูกค้าได้
ผลการวิจัยจากการทดลองทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ทั่วโลก ยังคงเป็นกรณีที่ชัดเจน และสร้างผลลัพธ์ที่โดดเด่น
รายได้ในทุกบริษัทเพิ่มขึ้น 8.1% ในช่วงทดลอง และเพิ่มขึ้น 38% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปี 2021
ความเหนื่อยล้าของพนักงานลดลง 10%
ความเครียดของพนักงานและปัญหาสุขภาพจิตลดลง 32% และ 38% ตามลำดับ
โดยเฉลี่ยพนักงานมีเวลาออกกำลังกายเพิ่ม 27 นาทีต่อสัปดาห์
ความสมดุลในชีวิตการทำงานและครอบครัวเพิ่มขึ้น 60% ในขณะที่ความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานและสมาชิกในครอบครัวดีขึ้น 44.9% และโดยรวมแล้ว ความพึงพอใจในชีวิตเพิ่มขึ้น 57.5%
จากสถิติดังกล่าว เห็นได้ชัดว่าการทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ เป็นกระแสที่กำลังขยายตัว บริษัทจำนวนมากหันมาร่วมแคมเปญลดวันทำงานของพนักงานลงโดยไม่ลดเงินเดือนมากขึ้น นับเป็นแนวทางการปฏิวัติวัฒนธรรมการทำงานที่น่าสนใจ ทำให้องค์กรทรานฟอร์มสู่รูปแบบใหม่ ๆ เพราะนอกจากจะช่วยเพิ่ม Productivity และคุณภาพงานของพนักงานตามที่กล่าวแล้วนั้น ยังช่วยให้องค์กรมีรายได้เพิ่มขึ้นอีกด้วย
แต่ทั้งหมดทั้งมวลนี้อาจเป็นเรื่องที่ทำได้ยากสำหรับธุรกิจบางประเภท อาทิ โลจิสติกส์ หรือโรงแรม ที่ต้องเปิดให้บริการทุกวัน แต่ไม่แน่ว่าในอนาคตอาจจะมีการปรับให้เข้ากับการทำงานมากขึ้นก็เป็นได้ ฉะนั้นเราก็ต้องมาดูกันว่าจะมีองค์กรไหนที่ยอมปรับมุมมอง และยอมลงทุนกับสิ่งนี้ เพราะขนาดประเทศไทยแม้จะมีกระแสการพูดถึงเรื่องการทำงาน 4 วัน/สัปดาห์ แต่ก็พบว่ายังคงเป็นประเด็นถกเถียงว่าจะเหมาะสมกับบริบทของงานและประเทศหรือไม่ ทั้งยังไม่สามารถสร้างความมั่นใจได้ว่าเมื่อวันทำงานลดน้อยลงแล้ว ประสิทธิภาพในการทำงานของพนักงานจะดีขึ้นดังเช่นที่ผ่าน ๆ มา ฉะนั้นก็ต้องรอดูกันต่อไปว่าท่ามกลางโลกการทำงานที่หมุนไปตามสถานการณ์ รูปแบบการทำงาน 4 Day Work Week นี้จะไปได้ไกลแค่ไหน และจะมีประเทศใดเปิดใจยอมรับอีกบ้าง
อ้างอิง Businesstech , CNN
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด