การเปลี่ยนแปลงของโลกปัจจุบันเป็นภาวะที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ธุรกิจพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นด้านนวัตกรรม เทคโนโลยี และพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งหมดนี้ล้วนส่งผลกระทบต่อธุรกิจในทุกอุตสาหกรรม เป็นความท้าทายที่ทุกองค์กรต้องเผชิญ ทำให้แม้ระดับผู้บริหารเองก็มองอนาคตไม่ชัด และไม่สามารถคาดการณ์อนาคตไกลๆ ต่อไปได้
หากผู้นำองค์กรหยุดพัฒนาตัวเอง ยังใช้วิธีการแบบเดิมๆ ทักษะเดิมๆ ที่สั่งสมมาตั้งแต่อดีต ก็อาจก้าวพลาด ไล่ตามคนอื่นไม่ทันและยากที่จะไปต่อ สุดท้ายองค์กรจะพลาดโอกาสทางธุรกิจที่จะก้าวไปสู่เส้นชัย
อริญญา เถลิงศรี กรรมการผู้จัดการ SEAC ศูนย์พัฒนาและส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตแห่งภูมิภาคอาเซียน ชี้ว่า โลกธุรกิจได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก เราอาจเคยพูดได้ว่า ผู้ที่เป็นเจ้าของ ผู้บริหารระดับสูง หรือผู้นำองค์กรประสบความสำเร็จได้จากประสบการณ์ที่สั่งสมมาจากอดีต แต่ในวันนี้ ผู้บริหารเหล่านั้นล้วนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า พวกเขาไม่มีทางรู้จักสนามที่ตนเองกำลังแข่งได้ดีเหมือนกับในอดีตอีกแล้ว ไม่อาจล่วงรู้ได้เลยว่าอะไรจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ จะมีปัจจัยใดเข้ามากระทบธุรกิจบ้าง ไม่ว่าจะเป็นคู่แข่งทั้งในและนอกอุตสาหกรรม มีความกังวลว่าตนเองและองค์กรจะอยู่รอดได้อย่างไรในภูมิทัศน์ทางธุรกิจที่พลิกผันรุนแรงเช่นทุกวันนี้
จะเห็นได้ชัดว่า เรากำลังอยู่ในบริบทที่เปลี่ยนไป ภาพของธุรกิจที่เปลี่ยนไป โลกที่เปลี่ยนไป ไลฟ์สไตล์และสิ่งรอบด้านที่เปลี่ยนไป แม้เราจะอยู่ในหน้าที่ของเราแบบเดิม ทำตำแหน่งเดิม มีบทบาทของเราแบบเดิม แต่เราไม่สามารถที่จะใช้บริบทเดิมในการทำงานได้อีกต่อไปแล้ว ดังนั้น เราจำเป็นต้องเสริมทักษะที่มีอยู่ ฝึกฝนพัฒนาความรู้และทักษะใหม่ๆ ที่เราไม่เคยเรียนรู้มาก่อน แผนการ Reskill จึงเป็นกุญแจสำคัญสำหรับผู้นำและคนทำงานในอนาคต
เราต้องการ “ปลุก” ให้ “ผู้นำ” ลุกขึ้นมา “เปลี่ยน” เพื่อขับเคลื่อนองค์กรให้อยู่รอดและสามารถต่อกรกับความเปลี่ยนแปลงอย่างเฉียบพลัน และแสวงหาแนวทางให้สามารถรั้งตำแหน่งผู้นำเอาไว้ได้อย่างมั่นคง พร้อมกระตุ้นให้เกิดการสร้าง “ภาวะผู้นำ” ให้สามารถนำองค์กร สู่การ Transformation ที่สมบูรณ์ เพราะทุกวันนี้ ลำพังแต่จะพึ่งพิง หลักการ วิธีการ กลยุทธ์ทางการตลาด กลยุทธ์การขาย อาจจะไม่ได้นำมาซึ่งความสำเร็จอย่างยั่งยืน หากแต่การจะเป็น “ผู้นำ” ที่ดีต้องตระหนักรู้อยู่เสมอว่า โลกเปลี่ยนทุกวินาที องค์กรจะต้องไม่ย่ำอยู่กับที่ ต้องหาวิธี หรือแนวทางใหม่ๆ
ดังนั้น เมื่อผู้นำองค์กร ต้องไม่ชะล่าใจ ต้องเร่งแก้ไข และ Reskill เพื่อพลิกเกมธุรกิจให้ทันท่วงที เป็นแบบอย่างให้พนักงานตื่นตัวกับการเปลี่ยนแปลง ลุกขึ้นมาเรียนรู้ ติดอาวุธให้กับตนเอง เพื่อเติบโตไปพร้อมๆ กับบริษัท ซึ่งจะเป็นฟันเฟืองหลักในการขับเคลื่อนองค์กรให้ก้าวทันการเปลี่ยนแปลง ยกระดับความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมประเทศไทยให้ก้าวไกลได้มากขึ้น
ทั้งนี้ ประเด็นสำคัญคือหลายองค์กรยังคงจับจุดไม่ได้ว่า จะต้องเริ่มต้นเปลี่ยนแปลงให้ทันโลกนี้ได้อย่างไร หลายองค์กรเดินผิดทางจนไม่สามารถนำพาองค์กรก้าวทันการเปลี่ยนแปลงได้ทันท่วงที หากต้องการดำรงอยู่ในองค์กรและรั้งองค์กรให้มีตัวตนอยู่รอดในโลกธุรกิจปัจจุบันและอนาคต ผู้นำสามารถเริ่มต้นกระบวนการ Reskill ตามขั้นตอนเหล่านี้
ขั้นตอนแรก ปรับ Mindset ตนเองก่อนเป็นอย่างแรก ผู้นำต้องยอมรับแล้วว่าเราไม่สามารถรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป เพราะโลกที่ไม่เหมือนเดิม โลกเปลี่ยนทุกนาที ผู้นำองค์กรต้องไม่ใช่แค่รู้ว่าคู่แข่งเราคือใคร เทรนด์โลกและเทรนด์ผู้บริโภคจะเปลี่ยนแปลงไปทางไหน แต่ต้องคอยหาแนวทาง วิธีการใหม่ๆ ไม่ย่ำอยู่กับที่ หยุดหลอกตัวเองว่าเปลี่ยนทันยุค Disruption แม้องค์กรเราจะวิ่งได้เร็วหรือปรับตัวทันแล้ว แต่ก็มีองค์กรอื่นที่จะวิ่งตามได้ทันอยู่เสมอ
ขั้นที่สอง รู้จักและเข้าใจตัวเอง ประเด็นสำคัญคือ ต้องเข้าใจก่อนว่าความรู้และทักษะในวันนี้แค่ 2-3 ปีก็หมดอายุ ถึงแม้ว่าปีที่แล้วเราใช้ทักษะความรู้นี้ได้อย่างดี แต่ปีหน้าเราอาจใช้ไม่ได้แล้ว ผู้นำต้องกล้าโยนทักษะและแนวทางเก่าๆ ทิ้งไปไม่ยึดติดกับความสำเร็จในอดีต พร้อมที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ เมื่อผู้นำยอมรับในจุดนี้ได้ ก็ถึงเวลาที่ต้องประเมินจุดด้อยของตนเองอย่างเที่ยงตรง เปิดรับฟัง feedback จากคนรอบข้าง และมองหาช่องทางฝึกฝนทักษะเพิ่มเติมที่เรากำลังขาด
ขั้นที่สาม กำหนดเป้าหมาย และวางแผนการเรียนรู้ พอรู้แล้วว่าขาดทักษะเพิ่มเติมอะไรที่จำเป็น จากนั้นวางแผนและมองหาช่องทางฝึกฝนทักษะที่เหมาะสมกับตัวเองก่อน วางแผนพัฒนาทักษะที่สอดรับกับเป้าหมายขององค์กรในอนาคต โดยมองว่าองค์กรจะให้เติบโตไปในทิศทางใด ก็ต้องพยายามขนขวายหาโอกาสธุรกิจใหม่อยู่เรื่อยๆ เพื่อจะทำให้บริษัทเติบโตได้อย่างแข็งแรง ฝึกฝนทักษะเหล่านั้นอย่างต่อเนื่องในทุกๆ วัน จนเกิดเป็นความเชี่ยวชาญเฉพาะตัว
ขั้นที่สี่ มองภาพสถานะปัจจุบันขององค์กรและเข้าใจพนักงาน เมื่อ Reskill ให้ตนเองแล้ว ผู้นำองค์กรต้องเริ่มทำความเข้าใจบุคลากรในองค์กรได้แล้วว่า ด้วยเทคโนโลยีและสิ่งรอบด้านที่เปลี่ยนไป จะส่งผลต่อองค์กรอย่างไร พนักงานมีภาพและไลฟ์สไตล์เปลี่ยนแปลงไปอย่างไร มีบทบาทและงานตรงไหนบ้างที่บุคลากรในองค์กรไม่สามารถใช้ทักษะตัวเดิมได้แล้ว หรือจำเป็นต้องเพิ่มทักษะใหม่ๆ เพื่อช่วยประสานระหว่างโอกาสใหม่ๆ และปรับเปลี่ยนแนวทางในการนำทีมให้สามารถแข่งขันในโลกทุกวันนี้
ขั้นตอนสุดท้าย สร้างวัฒนธรรมแห่งการเรียนรู้ในองค์กร หลังจากเข้าใจว่าบุคลากรและพนักงานขาดทักษะอะไรแล้ว ขั้นตอนต่อมาคือการเตรียมความพร้อมให้กับคนหรือพนักงานเหล่านี้ด้วยวิธี Reskill สร้างความเข้าใจใหม่ว่า ในปัจจุบันเราไม่สามารถรอให้ผู้บริหารกำหนดหลายๆ อย่างลงมาได้ เพราะหากรอก็จะตามไม่ทันโลก ดังนั้นเราจึงต้องหาวิธีที่จะทำให้คนในองค์กรเกิดการแลกเปลี่ยนและเรียนรู้ด้วยตัวเอง การที่พนักงานแต่ละคนอยากจะประสบความสำเร็จ มันไม่ได้อยู่ในมือคนอื่น แต่ละคนสามารถสร้างอนาคตของตัวเองได้ด้วยการ Reskill เร่งเพิ่มศักยภาพ นำพาตนเองและองค์กรให้ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงได้
ทั้ง 5 วิธีดังกล่าวที่นำมาซึ่งกระบวนการ Reskill ของผู้นำและคนในองค์กรให้ก้าวทันความเปลี่ยนแปลง โดยมีปัจจัยสำคัญก็คือ “ผู้นำองค์กรที่มีวิสัยทัศน์และศักยภาพ” ตระหนักถึงสถานการณ์และรูปแบบเศรษฐกิจสังคมที่เปลี่ยนแปลงฉับพลัน เริ่มต้นเรียนรู้ ฝึกฝนทักษะเพิ่มเติม Reskill ตัวเอง เพื่อเป็นตัวอย่างที่ดี และเพื่อกระตุ้นให้ทุกคนในองค์กรดำเนินรอยตามในการพัฒนาขีดความสามารถให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น นี่คือคำตอบของการพัฒนาองค์กรให้ยั่งยืน
การเพิ่มพูนทักษะเสริมความแข็งแกร่งให้องค์กร ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ทำได้เพียงชั่วครั้งชั่วคราว และไม่สามารถทำสำเร็จได้ในระยะเวลาสั้นๆ หากแต่การรีสกิล “คน” สามารถสร้างการเรียนรู้ได้ในทุกเรื่อง ทุกด้าน หลากหลายสาขาวิชา แต่ “บุคคล” นั้นต้องใช้เวลากับสิ่งนั้นให้ได้มากที่สุด เพื่อสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ที่เหมาะสมตามลักษณะของแต่ละองค์กรที่แตกต่างกันไปข้ามผ่านเรื่องเดิมๆ
เปิดโลกแห่งการเรียนรู้เพื่อพัฒนาตนเองได้แล้วกับ SEAC พร้อมสัมผัสประสบการณ์การเรียนรู้ตลอดชีวิตกับ YourNextU แพลตฟอร์มการเรียนรู้ที่จะพาคุณอัพเดทสกิลรอบด้าน ปรับแนวคิดให้ทันโลก ด้วยหลักสูตรระดับเวิร์ลด์คลาส ตั้งแต่วันนี้ที่ https://www.yournextu.com
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด