Accenture เผยธนาคารในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เสี่ยงสูญรายได้บริการชำระเงินร่วม 5 พันล้านเหรียญภายในปี 2025 | Techsauce

Accenture เผยธนาคารในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เสี่ยงสูญรายได้บริการชำระเงินร่วม 5 พันล้านเหรียญภายในปี 2025

รายงานฉบับใหม่ของ Accenture เปิดเผยว่า 14.3% ของรายได้บริการชำระเงินที่ธนาคารในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เคยได้รับ อาจถูกแทนที่ด้วยการชำระเงินดิจิทัลที่กำลังขยายตัวและการแข่งขันจากภาคธุรกิจนอกภาคธนาคาร (non-bank) เพราะการชำระเงินกลายเป็นธุรกรรมที่ทำได้โดยทันที ไม่ต้องมีคนช่วยจัดการ และไม่มีค่าใช้จ่าย




 
นายนนทวัฒน์ พุ่มชูศรี กรรมการผู้จัดการ กลุ่มงานบริการทางการเงิน เอคเซนเชอร์ ประเทศไทย

รายงานฉบับนี้พบว่า รายได้บริการชำระเงินในภูมิภาคมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 6.1% ต่อปี จาก 2.6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2019 เป็นร่วม 3.7 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในปี 2025 ทั้งนี้ หากธนาคารเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจโดยนำเทคโนโลยีล่าสุดเข้ามาใช้และเน้นให้บริการที่ให้มูลค่าเพิ่มแก่ลูกค้า จะสามารถเจาะส่วนแบ่งจากตลาดมูลค่า 1.1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ และดันรายได้ให้เติบโตเพิ่มขึ้นได้

รายงานหัวข้อ “Banking Pulse Survey: Two Ways To Win” เป็นรายงานจากการใช้โมเดลวิเคราะห์รายได้และความเสี่ยงที่เอคเซนเชอร์พัฒนาขึ้น เพื่อประเมินแนวโน้มการชำระเงินของผู้บริโภค การเปลี่ยนแปลงด้านพฤติกรรมของผู้ค้า เทคโนโลยี และ กฎระเบียบต่าง ๆ นอกจากนี้ ยังเสริมด้วยข้อมูลจากการสำรวจผู้บริหารที่ดูแลด้านการชำระเงิน 240 คนใน 22 ประเทศ เพื่อให้ทราบว่าผู้บริหารมีแผนจะลดผลกระทบและใช้ประโยชน์จากการพลิกโฉมของวงการการชำระเงินอย่างไร จึงจะเสริมสร้างความภักดีของลูกค้า รายได้ และอัตราการทำกำไร

“โลกแห่งการชำระเงินที่ทำได้โดยทันที ไม่ต้องมีคนช่วยจัดการ และไม่มีค่าใช้จ่ายอะไร จะยังคงอยู่กับเราต่อไป ทำให้มาร์จิ้นของธุรกิจน้อยลง ๆ จนเกิดแรงกดดัน จากทั้งคู่แข่งใหม่ ๆ โดยเฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-wallet) เฟื่องฟูมาก” นายนนทวัฒน์ พุ่มชูศรี กรรมการผู้จัดการ กลุ่มงานบริการทางการเงิน เอคเซนเชอร์ ประเทศไทยกล่าว “เมื่อระบบการชำระเงินที่ทันสมัย มีพัฒนาการที่ดีมากในอาเซียน โดยหลาย ๆ ประเทศได้นำระบบการชำระเงินทันที (instant payment) มาใช้แล้ว รายได้ที่มาจากลูกค้าในปัจจุบันจึงน้อยมาก ๆ หรือเกือบจะเป็นศูนย์ ยกเว้นธุรกิจบัตรต่าง ๆ ประเด็นที่เร่งด่วนสำหรับภูมิภาค จึงเป็นการหาทางเลือกแหล่งรายได้อื่นและประหยัดต้นทุนให้ได้”

“ตลาดการชำระเงินกำลังบูม และมีโอกาสมูลค่าหลายพันล้านเหรียญสำหรับผู้ที่มีความพร้อมลงทุนในเทคโนโลยีใหม่และใช้โมเดลธุรกิจที่ปรับให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมด้านเทคโนโลยีใหม่ ๆ ด้วย ธนาคารที่ตามไม่ทันจึงมีความเสี่ยงที่จะถูกทิ้งห่างในตลาดบริการชำระเงิน”

รายงานฉบับนี้ชี้ให้เห็นว่า ในอีก 6 ปีข้างหน้า ธนาคารต่าง ๆ จะมีแรงกดดันมากขึ้นในด้านรายได้ธุรกรรมจากบัตรต่าง ๆ และค่าธรรมเนียม เพราะธุรกรรมชำระเงินทำได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ส่งผลให้รายได้บริการการชำระเงินสัดส่วน 9.6% ในภูมิภาคนี้ ต้องสั่นคลอน นอกจากนี้ การแข่งขันจากธุรกิจนอกภาคธนาคารในด้าน invisible payment การชำระเงินจึงทำผ่านทางกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์บนโทรศัพท์มือถือหรืออุปกรณ์พกพาต่าง ๆ ได้ รายได้ของธนาคารราว 3.1% จึงสั่นคลอนด้วยเช่นกัน อีกทั้งระบบการชำระเงินทันทียังเข้ามาทดแทนการใช้บัตร การโอนและชำระรายการต่าง ๆ สามารถทำได้แบบเรียลไทม์ ซึ่งธนาคารอาจไม่ได้สนใจเท่าใดนัก แต่ก็อาจกระทบต่อรายได้ 1.7% ของบริการการชำระเงินส่วนนี้

สถานการณ์จะเข้มข้นจากรายได้ธุรกรรมจากบัตรและค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ที่ลดลง โดยทั้งกฎระเบียบและเทคโนโลยีก็จะเป็นปัจจัยทำให้ธนาคารมีบทบาทด้านการชำระเงินน้อยลงด้วย ซึ่งในระหว่างปี 2015-2018 รายได้จากธุรกรรมบัตรเครดิตองค์กรของธนาคารทั่วโลกนั้น ลดลง 33% ขณะที่รายได้ธุรกรรมบัตรเดบิตลดลงเกือบ 15% ส่วนรายได้จากบัตรเครดิตลดลงเกือบ 12%

รายงานฉบับนี้พบว่า อุตสาหกรรมธนาคารมีความตระหนักเกี่ยวกับความท้าทายจากเทคโนโลยีที่ส่งผลต่อบริการชำระเงิน โดยกว่า 2/3 หรือ 71% ของผู้บริหารที่สำรวจจากทุกตลาด เห็นพ้องว่ามีหลายธุรกรรมการชำระเงินมากขึ้นเรื่อย ๆ ที่ทำได้โดยไม่ต้องมีค่าใช้จ่าย และเกือบ 3/4 หรือ 73% ก็เชื่อว่าการชำระเงินส่วนใหญ่ทำได้โดยไม่ต้องอาศัยตัวกลางแล้ว หรือจะทำได้ภายในอนาคตอันใกล้คือ 12 เดือนข้างหน้า ผู้บริหาร 78% ยังกล่าวว่าการชำระเงินในปัจจุบัน สามารถทำได้โดยทันที หรือจะทำได้ภายในอนาคตอันใกล้คือ 12 เดือนข้างหน้านี้

“การเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคดิจิทัลของระบบการชำระเงินในภูมิภาคจะส่งผลกระทบเชิงลึกต่อผู้ประกอบการทุกรายในอุตสาหกรรม ซึ่งธนาคารจะต้องเปลี่ยนในระดับฐานรากเกี่ยวกับมุมมองต่อรายได้ในส่วนนี้” นายนนทวัฒน์กล่าว “แต่ก่อนธนาคารมีรายได้หลายพันล้านเหรียญสหรัฐฯ จากช่องทางเหล่านี้ แต่ก็กำลังจะเสียส่วนนี้ไปเมื่อมีการแข่งขันเข้มข้นขึ้น จึงต้องพัฒนาโมเดลธุรกิจดิจิทัลสำหรับการแข่งขันยุคใหม่”

เพื่อรับมือกับความท้าทายในตลาด 18% ของผู้ตอบแบบสำรวจกล่าวว่า ประเด็นสำคัญสำหรับธนาคารคือ การสร้างความปลอดภัยในการทำธุรกรรมการชำระเงินสำหรับรายย่อย และราว 1/4 หรือ 22% ได้ระบุถึงเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หุ่นยนต์ การเรียนรู้ของเครื่อง และนวัตกรรมศูนย์รวมการชำระเงิน ในฐานะแพลตฟอร์มเทคโนโลยีที่จำเป็นต้องนำมาปรับใช้เข้ากับระบบหลัก ๆ เพื่อให้การชำระเงินทำได้ต่อเนื่องและฉับไว

สำหรับประเทศไทยนั้น ธนาคารมีรายได้ที่เกี่ยวข้องกับการชำระเงินประมาณ 17% หรือราวหนึ่งพันล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเสี่ยงที่จะถูกทดแทนด้วยระบบชำระเงินดิจิทัลและการแข่งขันจากภาคนอกธนาคาร รายงานฉบับนี้ ประเมินว่ารายได้บริการชำระเงินในไทย จะเพิ่มขึ้นประมาณ 5.2% ต่อปี จากร่วม 5.4 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2019 เป็น 7.2 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในปี 2025 จึงมีโอกาสการสร้างรายได้อีก 1.9 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ที่ธนาคารสามารถทำได้เมื่อนำเทคโนโลยีใหม่และโมเดลธุรกิจใหม่ในเชิงนวัตกรรมเข้ามาใช้

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

8 ล้านคนเสี่ยงตกงานเพราะ AI การบ้านใหญ่ของรัฐบาล UK

สถาบันวิจัยนโยบายสาธารณะหรือ IPPR ประกาศเตือน ชาวสหราชอาณาจักรกว่า 8 ล้านคนเสี่ยงตกงาน จากนโยบายด้าน AI ของรัฐบาล...

Responsive image

พกสะดวก กินได้ทุกที่ ‘ซีอิ๊วเม็ดเด็กสมบูรณ์’ วางขายทางออนไลน์เร็วๆ นี้

นวัตกรรมแห่งรสชาติ เด็กสมบูรณ์ออกผลิตภัณฑ์ใหม่ ‘ซีอิ๊วเม็ดเด็กสมบูรณ์’ พกติดตัวได้ทุกที่ ใช้งานสะดวกสบาย แค่ละลายพร้อมอาหาร เตรียมจำหน่ายตามช่องทางออนไลน์เร็วๆ นี้...

Responsive image

Adobe GenStudio สร้างแคมเปญด้วย AI ตอบโจทย์การทำคอนเทนต์ครบวงจร เพื่อนักการตลาด

ข่าวดีนักการตลาด ทาง Adobe ประกาศในงาน Adobe’s Summit เปิดตัวแพลตฟอร์มใหม่อย่าง GenStudio ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มสร้างโฆษณาครบวงจรด้วย AI...