นับได้ว่าในช่วงเวลานี้ตลาดการเงินไทยกำลังดุเดือดหลังบริษัทยักษ์ใหญ่ต่างเร่งขอใบอนุญาตเปิดธุรกิจ Virtual Bank ธนาคารพาณิชย์เสมือนจริงรูปแบบใหม่ ไร้สาขา ที่มีความสามารถด้านการใช้เทคโนโลยี การให้บริการลูกค้าผ่านช่องทางออนไลน์ และการใช้ข้อมูลที่หลากหลาย ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อยู่ระหว่างการวางแผนที่จะอนุญาตในปีหน้า
โดยบริษัทจดทะเบียนหลายแห่งได้มีการจัดตั้งทีมเพื่อแข่งขันในธุรกิจธนาคารดิจิทัล ที่มีมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ อย่างล่าสุดผู้ให้บริการโทรคมนาคมยักษ์ใหญ่ของไทย บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) หรือ AIS ได้จับมือเป็นพาร์ทเนอร์ร่วมกับบริษัทพลังงานชั้นนําอย่าง บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จํากัด (มหาชน) หรือ GULF และธนาคารกรุงไทย เพื่อพัฒนาโมเดลธุรกิจและขอใบอนุญาตในการดำเนินการ Virtual Bank
โดยเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา Gulf และ AIS ได้แสดงให้เห็นถึงความร่วมมือกับ Singtel ผู้ให้บริการโทรคมนาคมของสิงคโปร์ เพื่อสร้างศูนย์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Data Center) ที่จังหวัดสมุทรปราการ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรองรับปริมาณการใช้งานที่เพิ่มขึ้นของผู้ให้บริการระบบคลาวด์ในประเทศไทยและต่างประเทศ รวมทั้ง Virtual Bank ที่กำลังจะเกิดขึ้น
เครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP) - เครือเจริญโภคภัณฑ์ นับว่ามีความสนใจที่จะเปิด Virtual Bank ด้วยเช่นกัน โดยนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า CP จะใช้ประโยชน์จากฐานลูกค้า True และร้านสะดวกซื้อ 7-Eleven ทั่วประเทศที่มีมากถึง 14,000 สาขา เพื่อระดมทุนทำธุรกิจ Virtual Bank อีกทั้งมีรายงานว่าเจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ และคุณศุภชัย เจียรวนนท์ แห่งงอาณาจักร CP ได้พบปะกับ Jack Ma แห่ง Alibaba Group ที่ฮ่องกงในช่วงตรุษจีนที่ผ่านมา อีกทั้งยังถูกพบเห็นที่ร้านอาหารระดับมิชลินสตาร์ในกรุงเทพฯ กับคุณศุภกิจ เจียรวนนท์ อีกด้วย ทำให้คาดการณ์ได้ว่าอาจจะมีการร่วมมือกันระหว่างสองบริษัทนี้ในการทำธุรกิจธนาคารไร้สาขา
Jaymart - ในฐานะ Technology Investment Holding Company เดินหน้าทำแผนธุรกิจเพื่อก้าวสู่การเป็น “ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา” หรือ Virtual Bank ด้วยเช่นกัน โดยคุณอดิศักดิ์ สุขุมวิทยา CEO ของบริษัท เผยว่าสนใจและกำลังหาพาร์ทเนอร์ในการประกอบธุรกิจธนาคารไร้สาขา
ธนาคารไทยพานิชย์ (SCBX) - ธนาคารไทยพาณิชย์ก็เช่นเดียวกันที่กระโดดเข้าสู่สังเวียนนี้ โดยคุณอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่าสนใจและกำลังศึกษานโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทยเกี่ยวกับธนาคารไร้สาขาและมองหาพาร์ทเนอร์ด้วยเช่นเดียวกัน
ประเทศไทยถือเป็นอันดับที่ 3 ในอาเซียน รองจากสิงคโปร์ และมาเลเซีย ที่เข้าสู่ Virtual Bank
ทั้งนี้ใบอนุญาต Virtual Bank ของ ธนาคารแห่งประเทศไทยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก ให้สามารถกู้ยืมเงินได้ง่าย รวดเร็วขึ้น และปลอดภัย พร้อมด้วยต้นทุนที่ต่ําลง ซึ่งธุรกิจ Virtual Bank จำเป็นต้องให้บริการผ่านแพลตฟอร์มที่มีระบบการตรวจสอบที่เข้มงวดมีประสิทธิภาพ และปลอดภัน เนื่องจาก การทำธุรกรรมเป็นในรูปแบบออนไลน์ที่ไม่มีสาขาจริง ดังนั้นทุกอย่างจึงต้องมีการดูแลอย่างเต็มประสิทธิภาพ
โดยหนึ่งในแนวนโยบาย Open Competition ที่สำคัญ คือ การเปิดให้มีผู้ให้บริการประเภทใหม่ ได้แก่ ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (Virtual Bank) ที่มีความสามารถด้านการใช้เทคโนโลยี การให้บริการลูกค้าผ่านช่องทางออนไลน์ และการใช้ข้อมูลที่หลากหลาย เพื่อเข้ามาพัฒนาบริการทางการเงินรูปแบบใหม่ที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าแต่ละกลุ่มได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยต้นทุนที่เหมาะสม โดยเฉพาะผู้ใช้บริการรายย่อยและ SMEs ที่เป็นกลุ่ม unserved ให้เข้าถึงบริการทางการเงินอย่างเหมาะสม และกลุ่ม underserved ที่เข้าถึงบริการทางการเงินด้วยช่องทางดิจิทัลบ้างแล้วให้ได้รับบริการทางการเงินอย่างครบวงจรและสะดวกมากขึ้น
ดังนั้นการเปิดให้มี Virtual Bank เข้ามาเป็นผู้เล่นใหม่ในระบบสถาบันการเงินไทยนั้นสอดคล้องกับแนวทางของผู้กำกับดูแลในหลายประเทศ เช่น เกาหลีใต้ ฮ่องกง ไต้หวัน สิงคโปร์ มาเลเซีย สหราชอาณาจักร และออสเตรเลีย ที่เปิดให้มีการขออนุญาต Virtual Bank เพื่อสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมและบริการทางการเงินรูปแบบใหม่ที่ตอบโจทย์ผู้ใช้บริการได้ดียิ่งขึ้น และช่วยกระตุ้นการแข่งขัน อีกทั้งผู้กำกับดูแลในหลายประเทศ ยังคาดหวังให้ Virtual Bank ช่วยลดช่องว่างการเข้าถึงบริการทางการเงินแก่กลุ่ม underserved และ unserved ด้วย
โดยหากพูดถึงมุมมองของ Virtual Bank นั้นต่างจากธุรกิจสินเชื่อเพื่อผู้บริโภคที่ธปท. เริ่มออกใบอนุญาตเมื่อปี 2019 ให้บริษัทเอกชนสามารถปล่อยสินเชื่อส่วนบุคคลในวงเงินสูงสุด 20,000 บาทต่อการกู้หนึ่งครั้ง และกำหนดให้ระยะเวลาชำระเงินคืนสูงสุด 6 เดือน
ด้าน คุณนริศ สถาผลเดชา รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์ธุรกิจทีทีบี (ttb analytics) ได้เปิดเผยกับ Nikkei Asia ว่า ธปท. จับจังหวะได้ดีในการโปรโมทธนาคารไร้สาขา หรือ Virtual Bank เพราะประเทศไทยเพิ่งผ่านสถานการณ์โรคระบาดมาได้ มันคงไม่ดีเท่าไหร่ที่จะริเริ่ม Virtual Bank ท่ามกลางช่วงวิกฤติ
ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่า ในอนาคตประเทศไทยจะมีธนาคารเสมือนจริง หรือ Virtual Bank ที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนไปในยุคดิจิทัลได้ดี นับเป็นการก้าวสู่จุดเปลี่ยนของอุตสาหกรรมการเงิน-การธนาคารในรูปแบบใหม่ ที่จะทำให้ธนาคารหลุดกรอบจากธนาคารพาณิชย์แบบดั้งเดิมได้อย่างชัดเจน ซึ่งสอดคล้องกับโลกการเงินยุคดิจิทัล ที่ส่งเสริมให้ทุกคนสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินผ่านเทคโนโลยีได้อย่างง่ายดาย และมีประสิทธิภาพ รวมทั้งเพิ่มโอกาสในการให้บริการทางการเงินได้อย่างแท้จริง
อ้างอิง NikkeiAsia
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด