'แจ็ค หม่า' CEO ของอาลีบาบา กรุ๊ป (Alibaba Group) เยือนประเทศไทยวันพรุ่งนี้ (19 เมษายน 2561) เพื่อลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) 4 ฉบับ เตรียมลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC: Eastern Economic Corridor) ด้วยเงินลงทุนขั้นแรก 11,000 ล้านบาท สร้าง Smart Digital Hub เปิดใช้ในปี 2562 และร่วมส่งเสริมพัฒนาทักษะด้าน Digitial E-Commerce สำหรับผู้ประกอบการ SME และ Startup ของไทยอีกด้วย
ดร.อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่าในวันพรุ่งนี้ (19 เมษายน 2561) นายแจ็ค หม่า (Mr. Jack Ma) ประธานกรรมการบริหาร อาลีบาบา กรุ๊ป (Alibaba Group) และคณะผู้บริหาร มีกำหนดการเดินทางมาเยือนประเทศไทย ซึ่งจะเข้าพบพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ณ ทำเนียบรัฐบาล และจะเข้าหารือกับนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ถึงความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับ Alibaba Group เพื่อประกาศแผนการลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) รวมถึงโครงการความร่วมมือเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมดิจิทัล ส่งเสริมบุคลากรไทยในการพัฒนาทักษะและขีดความสามารถด้าน Digital E-Commerce
อ่านประกอบ
ดร.อุตตมกล่าวต่อว่า กระทรวงอุตสาหกรรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) กรมศุลกากร กระทรวงการคลัง การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ไปรษณีย์ไทย และหน่วยงานอื่น ได้ร่วมหารือกับทีมงานของ Alibaba มาอย่างต่อเนื่องนับแต่ที่ 'แจ๊ค หม่า' มาเยือนประเทศไทยเมื่อปี 2559
ขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ข้อสรุปความร่วมมือในโครงการหลักที่จะช่วยขับเคลื่อนอุตสาหกรรมดิจิทัลและการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อสนับสนุนยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 ดังต่อไปนี้
สำหรับกระทรวงอุตสาหกรรมได้เตรียมที่จะลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) 4 ฉบับ กับอาลีบาบา ดังนี้
โดยศูนย์ดังกล่าวจะอาศัยเทคโนโลยีของ Alibaba ในด้านการประมวลข้อมูล Logistics เพื่อทำให้การขนส่งสินค้าระหว่างไทยกับจีน การขนส่งสินค้าข้ามพรมแดนสู่ประเทศเพื่อนบ้าน (CLMV) และไปยังที่อื่นทั่วโลก ซึ่งการตั้งศูนย์ Smart Digital Hub นี้จะช่วยผลักดันให้เหล่าธุรกิจ Startup และ SME ไทยสามารถพัฒนาสินค้าและบริการใหม่ๆ โดยอาศัยเทคโนโลยีดิจิตอลให้เข้าถึงตลาดทั่วโลกได้
รวมถึงจะเป็นศูนย์กลางในการดำเนินกิจกรรมวิจัยพัฒนาดิจิตอลที่เกี่ยวข้อง ซึ่งสำนักงาน EEC จะเชื่อมประสาน Smart Digital Hub กับ เขตนวัตกรรมดิจิทัล หรือ Digital Park (EECd) และเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EECi) ด้วย
ดร.อุตตม กล่าวว่า
โครงการนี้อาลีบาบาจะลงทุนขั้นแรก มูลค่า 11,000 ล้านบาท เริ่มก่อสร้างในปีนี้ แล้วเสร็จและเปิดดำเนินการในปี 2562 และคาดว่าจะช่วยให้ SME ไทยขายสินค้าผ่านตลาด E-Commerce ได้ระยะแรก 30,000 กิจการ
Alibaba จะร่วมกับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม และกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ในการพัฒนากลุ่มคนเก่งหรือดาวเด่นด้านดิจิตอล (Digital Talent) โดย Alibaba ได้เสนอให้วิทยาลัยธุรกิจอาลีบาบา หรือ Alibaba Business School (ABS) เชื่อมโยงกับสถาบันการศึกษาและภาคเอกชน เพื่อมาร่วมสนับสนุนการใช้ E-Commerce Platform
Alibaba จะจัดทีมงานร่วมลงพื้นที่กับทีมงานของกระทรวงอุตสาหกรรม โดยใช้เครือข่าย ศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม 4.0 สู่อนาคต (Industry Transformation Center : ITC) ในระดับภาคและจังหวัดของกระทรวงอุตสาหกรรมทั่วประเทศ เพื่อทำโครงการร่วมส่งเสริมพัฒนาทักษะด้าน Digitial E-Commerce ให้เข้าถึงผู้ประกอบการ SME และ Startup ของไทย
รวมไปถึงยกระดับขีดความสามารถด้านเทคโนโลยีดิจิทัล โดยเน้นให้ผู้ประกอบการมีความเข้าใจ ได้เรียนรู้และเสริมทักษะการใช้เทคโนโลยีไทยให้สามารถเข้าถึง Regional Global Value Chain ได้
Alibaba จะร่วมมือกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ในการจัดทำ Thailand Tourism Platform สำหรับประเทศไทยโดยเฉพาะเพื่อจัดกิจกรรมด้านการตลาดร่วมกันบนออนไลน์แพลตฟอร์มที่สามารถเชื่อมโยงกับสื่อและช่องทางต่างๆ ของ ททท.
รวมทั้งจะร่วมมือกันในด้านการใช้ข้อมูลทางการท่องเที่ยว (Tourism Big Data) เพื่อเจาะลูกค้ากลุ่มเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนร่วมมือกันส่งเสริมการท่องเที่ยวในไทยให้รองรับยุทธศาสตร์และแนวทางการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวเมืองรองและการท่องเที่ยวในระดับชุมชนของรัฐบาล
นอกจากการลงนาม MOU แล้วจะยังสร้างความร่วมมือที่เน้นไปในเรื่องของการพัฒนาใน 4 ประเด็น ประกอบด้วย
ขณะเดียวกัน ในวันที่ 19 เมษายนนี้ กระทรวงพาณิชย์จะร่วมมือกับ Alibaba เปิดตัว Thai Rice Flagship Store บนเว็บไซต์ Tmall.com เพื่อสนับสนุนการขายข้าวและทุเรียนจากประเทศไทยผ่านระบบออนไลน์ไปยังจีน จากนั้นจะเร่งขยายไปยังสินค้าเกษตรประเภทอื่นๆ ต่อไปในระยะยาว ซึ่งการขายสินค้าดังกล่าวผ่านระบบออนไลน์จะช่วยให้เกษตรกรไทยเข้าถึงตลาด E-Commerce ได้อย่างเป็นรูปธรรม
ส่วนนายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (กรศ.) กล่าวว่า โครงการจาก Alibaba ครั้งนี้จะมี 2 ส่วน คือ ส่วนที่เป็นการลงทุนและส่วนที่เป็นการพัฒนาประเทศ ดังนั้นโครงการนี้จะต่างจากการลงทุนประเทศอื่นในอาเซียนด้วยกันที่ Alibaba จะมาเน้นพัฒนาประเทศไทยคู่กันไป เช่น นำสินค้าไทยส่งออกไปขายจีน และในอนาคตจะเป็นโครงการจะใหญ่ที่สุดในอาเซียน
ดร.อุตตมกล่าวต่อว่า การลงนามข้อตกลงความเข้าใจสำหรับโครงการการลงทุนใน EEC และความร่วมมือดังกล่าว ซึ่งโครงการที่ Alibab จะมีส่วนร่วมนั้นจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาผู้ประกอบการไทยให้สามารถแข่งขันและเข้าถึงตลาดการค้าได้ทั้งระดับภูมิภาคและระดับโลกโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและ E-Commerce รวมถึงการพัฒนาบุคลากรโดยเฉพาะกลุ่ม SME ผู้ประกอบการใหม่อย่างทั่วถึงในพื้นที่จังหวัดต่าง ๆ เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการสนับสนุนยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0
ทั้งนี้ ดร.อุตตมยังเปิดเผยด้วยว่า Alibaba ได้ทำการศึกษาข้อมูลเปรียบเทียบในระดับภูมิภาคและเล็งเห็นว่าประเทศไทยมีศักยภาพสูงที่จะเป็นศูนย์กลางด้านดิจิทัลและ E-Commerce ในภูมิภาค จึงมีความตั้งใจที่จะมาลงทุนและร่วมมือกับหน่วยงานของไทยในโครงการต่างๆ
ทั้งนี้ปัจจุบันมีประชากรโลกกว่าร้อยละ 68 สามารถเข้าถึงโทรศัพท์มือถือแล้ว ในขณะที่จำนวนผู้ใช้โซเชียลมีเดียผ่านมือถือ (Active Mobile Social Users) ของโลกและของภูมิภาคเอเซียแปซิฟิคมีการเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องเฉลี่ยร้อยละ 14 และ 16 ตามลำดับ
อีกทั้งรายได้จากธุรกิจ E-Commerce ในภูมิภาคนี้เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง โดยสำหรับประเทศไทยคาดว่ารายได้จากธุรกิจ E-Commerce จะเติบโตอย่างก้าวกระโดดจาก 113,400 ล้านบาท (3,544 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในปี 2561 เป็น 186,500 ล้านบาท (5,830 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในปี 2565 ประกอบกับนโยบายประเทศไทย 4.0 และเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ของรัฐบาลที่ช่วยสร้างความมั่นใจในทิศทางการพัฒนาประเทศ ระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน คมนาคมขนส่ง ระบบ Logistics โครงข่ายทางดิจิทัล และมาตรการสิทธิประโยชน์ รวมถึงการอำนวยความสะดวกในการลงทุน ทำให้ Alibaba เล็งเห็นโอกาสที่จะผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางธุรกิจ E-Commerce ในภูมิภาค รวมถึงการพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวเนื่องกับ Internet of Things (IoT) ที่เป็นเทคโนโลยีคลื่นลูกใหม่ที่จะเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการธุรกิจด้วย
ทั้งนี้ ความร่วมมือในลักษณะเช่นนี้ ดร.อุตตมกล่าวว่า จะเปิดกว้างสำหรับบริษัทหรือองค์กรชั้นนำอื่นด้วย ไม่จำกัดอยู่เฉพาะ Alibaba เท่านั้น แต่โครงการร่วมมือครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญที่จะส่งผลให้เกิดความร่วมมือที่จะขยายวงกว้างต่อไป
อ้างอิงข้อมูลจาก Manager Online, กรุงเทพธุรกิจ และประชาชาติธุรกิจ
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด