คุณนาถฤดี โฆสิตาภัย รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มงานเทคโนโลยีและคาร์บอนโซลูชั่น บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ซึ่งดำรงตำแหน่งบอร์ดบริหารบริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จำกัด หรือ ARV พร้อมด้วย ดร.ธนา สราญเวทย์พันธุ์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จำกัด หรือ ARV ร่วมลงนาม MOU กับ Mr. David Parekh ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SRI International ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยที่ถือกำเนิดจาก Stanford Research Institute แห่ง มหาวิทยาลัย Stanford
เพื่อยกระดับความสามารถด้านการพัฒนาเทคโนโลยีเชิงลึก (Deep Technology) ของประเทศไทย ผ่านศูนย์วิจัยพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ปตท.สผ. หรือ PTIC (PTTEP Technology and Innovation Center) และเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก EECi บนพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ จังหวัดระยอง เพื่อผลักดันประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมขั้นสูงแห่งภูมิภาคอาเซียน (Deep Technology Innovation Hub of ASEAN) โดยพิธีลงนามจัดขึ้น ณ เมืองเมนโลพาร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา
ดร.ธนา สราญเวทย์พันธุ์ กล่าวว่า “เทคโนโลยีเชิงลึก (Deep Technology) นับเป็นหนึ่งเทรนด์นวัตกรรมที่ได้รับความสนใจและมีแนวโน้มการลงทุนที่เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ ARV จึงต้องการพัฒนาให้เกิด Ecosystem ทางด้านเทคโนโลยีและสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ ให้กับธุรกิจสตาร์ทอัพที่ต้องอาศัย Deep Technology ได้อย่างยั่งยืน เพื่อทำให้ประเทศไทยสามารถเป็น Innovation Center ที่ดึงดูดนักลงทุน จึงเป็นที่มาของความร่วมมือในครั้งนี้”
“SRI International คือผู้เชี่ยวชาญด้าน Deep Technology ที่ได้รับการยอมรับในระดับโลก และยังเป็นต้นกำเนิดของซิลิคอนวัลเลย์ แหล่งผลิตและบ่มเพาะนวัตกรรมที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งในโลก ความร่วมมือระหว่าง ARV และ SRI International จึงถือเป็นโอกาสครั้งสำคัญที่จะสร้าง Innovation Hub ที่สำคัญในระดับประเทศ หรือระดับภูมิภาคให้เกิดขึ้นจริงได้”
โดยในเฟสแรกของความร่วมมือในครั้งนี้ ทาง SRI International จะเข้ามาเยี่ยมชมศูนย์พัฒนานวัตกรรมของ PTTEP และ ARV ที่วังจันทร์วัลเลย์ เพื่อประเมินระบบนิเวศและสถานที่ ก่อนที่ SRI และ ARV จะเริ่มดำเนินการวางโครงสร้างและยกระดับพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ให้เป็นศูนย์ Deep Technology Innovation ที่สำคัญและเป็นอันดับ 1 ในภูมิภาค
“โดยเราคาดหวังว่าความร่วมมือในครั้งนี้จะเป็นการผลักดัน Deep-Tech Ecosystem อย่างยั่งยืนและเป็นจุดเริ่มต้นให้กับธุรกิจด้านนวัตกรรมในประเทศไทย ให้สามารถเริ่มเป็น Tech Hub แห่งอาเซียนในที่สุด” ดร.ธนา กล่าวทิ้งท้าย
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด