สำนักข่าว Nikkei รายงานว่า ระบบชำระเงินข้ามพรมแดนแบบเรียลไทม์ที่จะช่วยให้ประชาชนใน 5 ประเทศเอเชีย ได้แก่ ไทย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และอินเดีย สามารถโอนเงินถึงกันได้ทันที คาดว่าจะเปิดตัวในอีก 2-3 ปี โดยโครงการนี้อยู่ภายใต้การพัฒนาของ Nexus Scheme ซึ่งริเริ่มโดยธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (BIS) ขณะที่อินโดนีเซียได้เข้าร่วมในฐานะผู้สังเกตการณ์
โครงการนี้มุ่งสนับสนุนการค้าและอีคอมเมิร์ซในภูมิภาค โดยเฉพาะการช่วยเหลือธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง ซึ่งมีบทบาทสำคัญในเศรษฐกิจของประเทศสมาชิก
คุณนายณพงศ์ธวัช โพธิกิจ ผู้อำนวยการ ฝ่ายนโยบายระบบการชำระเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่าปัจจุบัน ธนาคารกลางของทั้งห้าประเทศกำลังอยู่ระหว่างการจัดตั้งบริษัทเพื่อดำเนินการระบบดังกล่าว และจะคัดเลือกผู้ดำเนินงาน รวมถึงพัฒนาระบบในขั้นตอนต่อไป คาดว่าโครงการจะเริ่มใช้งานได้ภายใน 2-3 ปี
ในช่วงแรก ระบบจะรองรับการโอนเงินจำนวนเล็กน้อยก่อน เพื่อแก้ไขข้อจำกัดด้านกฎระเบียบ ก่อนจะขยายขอบเขตการใช้งานให้รองรับประชาชนจำนวนมากขึ้นในอนาคต “ระบบนี้จะเปรียบเสมือน Hub ที่ทุกประเทศสามารถเชื่อมต่อถึงกันได้ง่ายขึ้น” คุณณพงศ์ธวัชกล่าว
ปัจจุบัน ประเทศสมาชิกแต่ละประเทศมีระบบชำระเงินของตัวเอง เช่น PromptPay ของไทย ซึ่งช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถโอนเงินระหว่างบัญชีธนาคารได้ทันทีโดยใช้หมายเลขโทรศัพท์ ระบบนี้ได้เชื่อมต่อกับ PayNow ของสิงคโปร์แล้ว ทำให้การโอนเงินระหว่างสองประเทศเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว
อย่างไรก็ตาม การเชื่อมโยงแบบทวิภาคี (bilateral linkages) การเชื่อมโยงระบบชำระเงินระหว่างสองประเทศโดยตรง อาจไม่คุ้มค่าในบางกรณี เพราะต้องใช้เวลาในการพัฒนา และปริมาณธุรกรรมระหว่างบางประเทศอาจไม่สูงมากนัก
ในทางกลับกัน โครงการ Nexus ที่เป็นระบบเชื่อมโยงแบบพหุภาคีจะช่วยลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพ “การเชื่อมต่อเพียงครั้งเดียวกับ Nexus จะทำให้แต่ละประเทศสามารถเชื่อมโยงกับทุกประเทศในเครือข่ายได้ทันที”
ประเทศไทยยังเดินหน้าขยายการใช้ระบบชำระเงินด้วย QR Code ระหว่างประเทศ เพื่อตอบโจทย์นักท่องเที่ยวและผู้ประกอบการรายย่อย โดยนักท่องเที่ยวจากบางประเทศสามารถใช้แอปพลิเคชันในประเทศของตนสแกน QR Code เพื่อชำระเงินในไทยได้ทันที
ปัจจุบัน ธนาคารแห่งประเทศไทยได้เชื่อมโยงระบบ QR Payment กับประเทศต่างๆ เช่น มาเลเซียและสิงคโปร์ และกำลังพัฒนาระบบเชื่อมโยงกับอินเดีย เพื่อตอบสนองจำนวนนักท่องเที่ยวอินเดียที่เพิ่มขึ้นในไทย
การใช้งาน PromptPay ในประเทศไทยเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยในปี 2566 มีการทำธุรกรรมผ่านระบบนี้เกือบ 20,000 ล้านรายการ นายณพงศ์ธวัชเน้นย้ำว่าการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบดิจิทัลมีความสำคัญ เนื่องจากข้อมูลการทำธุรกรรมจะช่วยสร้างประโยชน์ในระยะยาว “เมื่อคนใช้การชำระเงินดิจิทัล พวกเขาจะมี Digital Footprint ในประวัติการทำธุรกรรม ซึ่งข้อมูลนี้สามารถนำมาใช้เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตได้ในอนาคต”
อ้างอิง: asia.nikkei
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด