ข้อมูลจากเว็บไซต์ Chula เปิดเผยว่า “ใบยาไฟโตฟาร์ม” สตาร์ทอัพสังกัดจุฬาฯ เตรียมทดสอบ วัคซีนใบยา ป้องกันโควิด-19 วัคซีนสัญชาติไทยแท้ ที่ได้สร้างต้นแบบโรงงานผลิตวัคซีนจากพืชสำหรับใช้ในมนุษย์แห่งแรกในเอเชีย วางแผนพิสูจน์ประสิทธิภาพกับอาสาสมัครภายในเดือนกันยายน 2564 พร้อมกับวิจัยวัคซีนรุ่น 2 รองรับไวรัสกลายพันธุ์
สถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ในประเทศไทยทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ วัคซีนจึงกลายเป็นทางออกเดียวในการลดการแพร่ระบาดของโรค วัคซีนใบยา เป็นผลงานการวิจัยจากษริษัทใบยาไฟโตฟาร์ม จำกัด (ภายใต้ CU Enterprise) โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ภญ.ดร.สุธีรา เตชคุณวุฒิ และรองศาสตราจารย์ ดร.วรัญญู พูลเจริญ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ
วัคซีนใยบา ผลิตจากใบยาสูบดั้งเดิมของออสเตรเลีย เป็นวัคซีนป้องกัน COVID-19 ชนิด subunit vaccine การผลิตวัคซีนชนิดนี้เป็นการสร้างโปรตีนของเชื้อไวรัส แล้วผสมกับสารกระตุ้นภูมิ เมื่อร่างกายได้รับวัคซีนจะกระตุ้นให้ร่างกายสร้างแอนติบอดีต้านโปรตีนสไปค์ของไวรัส
เมื่อเดือนสิงหาคม 2563 คณะผู้วิจัยทดสอบวัคซีนใบยาในหนูขาวและลิง โดยฉีดวัคซีนทั้งหมด 2 เข็ม ห่างกัน 3 สัปดาห์ ผลปรากฎว่าสามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้สูง และไม่มีผลข้างเคียงใด ๆ จึงเริ่มสร้างโรงงานต้นแบบการผลิตวัคซีนที่อาคารจุฬาพัฒน์ 14 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โรงงานต้นแบบแห่งนี้มีกำลังผลิตถึง 1-5 ล้านโดสต่อเดือน และสร้างเสร็จสิ้นเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา
และในเดือนกันยายนนี้ จะเริ่มทดสอบวัคซีนในอาสาสมัครกลุ่มแรก จำนวน 50 คน อายุระหว่าง 18 - 60 ปี สุขภาพร่างกายแข็งแรงและไม่เคยรับวัคซีนใด ๆ มาก่อน โดยอาสาสมัครจะได้รับวัคซีนทั้งหมด 2 เข็ม ห่างกัน 3 สัปดาห์ หากทดสอบกับอาสาสมัครกลุ่มแรกสำเร็จจะทอดสอบกับกลุ่มผู้มีอายุระหว่าง 60 - 70 ปีต่อไป และคาดว่าวัคซีนใบยาจะสามารถฉีดให้ประชาชนทั่วไปในช่วงกลางปีหน้า ในราคาทุนโดสละ 300 - 500 บาท
นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาวัคซีนใบยารุ่นที่ 2 เพื่อรับมือกับเชื้อกลายพันธุ์ ซึ่งคาดว่าจะพร้อมทดสอบกับอาสาสมัครปลายปีนี้
อ่านเพิ่มเติม 3 เหตุผล ที่คนไทยควรสนับสนุน วัคซีน COVID-19 จาก Startup ไทย
ผู้สนใจบริจาคเพื่อสนับสนุนการพัฒนาวัคซีนใบยา โปรดดูรายละเอียดได้ที่https://www.cuenterprise.co.th/ หรือ Facebook: CUEnterprise
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด