ธปท. รวมมาตรการรัฐช่วยเหลือการเงินประชาชน-SMEs สู้ COVID-19 | Techsauce

ธปท. รวมมาตรการรัฐช่วยเหลือการเงินประชาชน-SMEs สู้ COVID-19

ในขณะที่ COVID-19 แพร่ระบาดทั่วโลกจนส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยตรง ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกบทความรวบรวมนโยบายด้านเศรษฐกิจและการเงินของภาครัฐ ที่มีเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือประชาชนและธุรกิจขนาดเล็ก เพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบทางการเงินจากสถานการณ์ โดยแบ่งเป็นมาตรการ 4 ด้าน ดังนี้

มาตรการการเงินช่วยเสริมสภาพคล่องและแบ่งเบาภาระ 

  • มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบทางตรงและทางอ้อมจาก COVID-19 ผ่านธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (Soft Loan) คิดอัตราดอกเบี้ย 2% ระยะเวลา 2 ปี รายละไม่เกิน 20 ล้านบาท วงเงินสินเชื่อรวม 150,000 ล้านบาท
  • มาตรการพักต้น ลดดอกเบี้ย และขยายเวลาชำระหนี้ให้ลูกหนี้ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 รวมถึงให้สินเชื่อใหม่ช่วยเสริมสภาพคล่อง 
  • มาตรการสินเชื่อเพื่อส่งเสริมการจ้างงานต่อของสำนักงานประกันสังคม (สปส.) คิดอัตราดอกเบี้ยเริ่มต้น 3% ระยะเวลา 3 ปี สำหรับผู้ประกอบการที่ขึ้นทะเบียนประกันสังคม วงเงินสินเชื่อรวม 30,000 ล้านบาท
  • มาตรการค้ำประกันสินเชื่อผ่านบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ภายใต้โครงการ “บสย. SMEs สร้างไทย ต่อเติม เสริมทุน” สำหรับลูกค้า SMEs รายปัจจุบันและรายใหม่ที่ได้รับผลกระทบ โดยให้วงเงินค้ำประกันเต็มจำนวนเงินกู้ใหม่ไม่เกิน 30 ล้านบาทต่อราย ระยะเวลา 10 ปี ฟรีค่าธรรมเนียมค้ำประกัน 2 ปีแรก วงเงินค้ำประกันสินเชื่อรวม 60,000 ล้านบาท และให้ขยายระยะเวลาโครงการค้ำประกันสินเชื่อ Portfolio Guarantee Scheme (PGS) ระยะ 5-7 ที่มีอยู่เดิมไปอีก 5 ปี และฟรีค่าธรรมเนียมค้ำประกัน

นอกจากนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ออกมาตรการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ของสถาบันการเงินที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์เศรษฐกิจเป็นระยะเวลา 2 ปี เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ทุกประเภท ได้แก่ 

  1. ลูกหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล สามารถขอผ่อนบัตรเครดิตขั้นต่ำน้อยกว่า 10% ของยอดที่ค้าง หรือขอเปลี่ยนหนี้เป็นสินเชื่อระยะยาวที่ดอกเบี้ยถูกลง
  2. ลูกหนี้สินเชื่ออื่นๆ สามารถเจรจาประนอมหนี้ เช่น ขอขยายเวลาชำระหนี้ ขอต่ออายุวงเงิน ขอเปลี่ยนหนี้เป็นสินเชื่อระยะยาว ขอชำระหนี้แบบปลอดเงินต้น ขอลดดอกเบี้ย/เบี้ยปรับ/ค่าธรรมเนียม โดยแบงก์ชาติลดความเข้มงวดของเกณฑ์กำกับดูแลการจัดชั้นลูกหนี้ของสถาบันการเงินลง เพื่อลดผลกระทบความเสี่ยงด้านเครดิตของลูกหนี้ที่จะเกิดขึ้นกับสถาบันการเงินในช่วง 2 ปีนี้

มาตรการภาษีช่วยบรรเทาผลกระทบให้ผู้ประกอบการ

  • มาตรการคืนสภาพคล่อง ลดอัตราภาษี ณ ที่จ่ายจาก 3% เหลือ 1.5% ของเงินได้พึงประเมินช่วง เม.ย. - ก.ย. 2563
  • มาตรการลดภาระดอกเบี้ยให้ SMEs ที่เข้าร่วมโครงการ Soft Loan หักลดหย่อนภาษีจากรายจ่ายดอกเบี้ยช่วง เม.ย. - ธ.ค. 2563 ได้ 1.5 เท่า
  • มาตรการส่งเสริมเสถียรภาพการจ้างงาน SMEs หักลดหย่อนภาษีจากรายจ่ายค่าจ้างให้ลูกจ้างที่เป็นผู้ประกันตนได้ถึง 3 เท่า

มาตรการอื่นๆ ช่วยลดภาระผู้ประกอบการและประชาชนทั่วไป

  • มาตรการขยายเวลายื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปี 2562 ออกไป 3 เดือนเป็นภายใน มิ.ย. 63 
  • มาตรการบรรเทาภาระค่าน้ำค่าไฟฟ้า ขยายเวลาชำระ และคืนค่าประกันการใช้น้ำใช้ไฟฟ้า ลดค่าน้ำและค่าไฟ 3% เป็นเวลา 3 เดือน (เม.ย. - มิ.ย. 63) ขยายเวลาชำระค่าน้ำและค่าไฟสำหรับธุรกิจโรงแรมและกิจการให้เช่าพักอาศัย โดยให้ผ่อนผันได้ไม่เกิน 6 เดือนของแต่ละรอบบิล ไม่คิดดอกเบี้ย สำหรับใบแจ้งค่าน้ำค่าไฟรอบเดือน เม.ย. - พ.ค. 63 
  • มาตรการลดเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมจาก 5% เหลือ 4% เป็นเวลา 6 เดือนในช่วง มี.ค. - ส.ค. 63

นโยบายการเงินผ่อนคลายเป็นพิเศษและนโยบายการคลังเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณ

ธนาคารแห่งประเทศไทยดำเนินการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายติดต่อกันตั้งแต่ COVID-19 ยังไม่แพร่ระบาดรุนแรงมากจนอยู่ที่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์เหลือ 1 % เมื่อวันที่ 5 ก.พ. 2563 และล่าสุด ปรับลดเหลือ 0.75 % ตั้งแต่วันที่ 23 มี.ค. 2563 ซึ่งต่ำกว่าระดับในช่วงวิกฤตการเงินโลกปี 2552 ที่ 1.25% เพื่อช่วยให้ภาวะการเงินในประเทศผ่อนคลายขึ้นอีก เสริมแรงมาตรการการเงินที่เกี่ยวกับสภาพคล่อง และช่วยลดต้นทุนการกู้ยืมของรัฐบาลหากต้องกู้เงินเพื่อเร่งใช้จ่าย

นอกจากนี้ ยังมีนโยบายการคลังเร่งจ่ายงบประมาณที่ล่าช้า แม้การออกใช้ พ.ร.บ. งบประมาณปี 2563 จะสะดุดเมื่อต้นปี แต่ก็สามารถเร่งกระบวนการพิจารณาใหม่ได้เร็ว ทำให้ประกาศใช้ พ.ร.บ. งบประมาณช้ากว่าเดิมเพียงเดือนเดียว จากนั้นรัฐบาลได้ออกมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการเบิกจ่ายในช่วง 7 เดือนที่เหลือของปีงบประมาณ โดยลดขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างให้สั้นลงและเร่งเบิกจ่ายงบลงทุนโครงการใหม่ให้เร็วขึ้น

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

ไม่ยอมขายแอป ก็โดนแบน สหรัฐฯ จ่อแบน TikTok หวั่นเป็นภัยความมั่นคงชาติ

สหรัฐฯ ผ่านกฎหมายแบน TikTok แล้ว บังคับบริษัทแม่ ByteDance ต้องขายแอปภายใน 1 ปี มิฉะนั้นจะถูกแบนในสหรัฐฯ ด้านซีอีโอ TikTok ประกาศกร้าว พร้อมท้าทายกฎหมาย ไม่ไปไหนทั้งนั้น...

Responsive image

KBank ผนึก J.P. Morgan เปิดโปรเจกต์ Carina ใช้บล็อกเชน ลดเวลาทำธุรกรรมจาก 72 ชั่วโมงเหลือ 5 นาที

Kbank ร่วมกับ J.P. Morgan Chase Bank เปิดตัวโปรเจคต์นวัตกรรมคารินา (Carina) ลดระยะเวลาการทำธุรกรรม จากที่ใช้เวลา 72 ชั่วโมงเหลือเพียงแค่ 5 นาที...

Responsive image

Apple Vision Pro ขายไม่ดีอย่างที่คิด Apple ลดคาดการณ์ยอดขายกว่าครึ่ง ปรับแผนใหม่

Ming-Chi Kuo นักวิเคราะห์สาย Apple เผยว่า Apple ได้ลดตัวเลขยอดขาย Apple Vision Pro ในปีนี้เหลือเพียง 400-450,000 เครื่องเท่านั้น ต่ำกว่าที่ตลาดคาดไว้ (มากกว่า 700–800,000 เครื่อง)...