รวมกำไรสุทธิไตรมาส 1 ปี 2023 ของ 7 ธนาคารใหญ่ในประเทศไทย | Techsauce

รวมกำไรสุทธิไตรมาส 1 ปี 2023 ของ 7 ธนาคารใหญ่ในประเทศไทย

แน่นอนว่าเมื่อผ่านไตรมาสแรกของปี กลุ่มภาคธุรกิจที่ทยอยออกมาประกาศผลประกอบการคงหนีไม่พ้นบรรดากลุ่มธนาคาร ซึ่งล่าสุด 7 ธนาคารใหญ่ในประเทศไทย ได้เดินหน้าประกาศผลประกอบการ 'รวมกำไรสุทธิไตรมาส 1 ปี 2023' ออกมาเป็นที่เรียบร้อย วันนี้ Techsauce จะมาสรุปและรวบรวมให้ดูว่า ไตรมาส 1 ของปี 2023 นี้ 7 ธนาคารพาณิชย์แห่งใหญ่ในไทยจะเป็นอย่างไรกันบ้าง และมีปัจจัยสำคัญอะไรบ้างที่จะต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

รวมกำไรสุทธิไตรมาส 1 ปี 2023

SCBX เผยผลกำไรสุทธิประจำไตรมาส 1 ของปี 2566 จำนวน 10,995 ล้านบาท

บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) มีกำไรสุทธิในไตรมาส 1 ของปี 2566 จำนวน 10,995 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.5% จากปีก่อน ในขณะที่กำไรจากการดำเนินงานก่อนหักสำรองมีจำนวน 24,143 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.0% ซึ่งเป็นผลจากการขยายตัวที่แข็งแกร่งของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ 

ในไตรมาส 1 ของปี 2566 รายได้ดอกเบี้ยสุทธิมีจำนวน 28,942 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17.0% เป็นผลจากการขยายตัวของส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิในภาวะอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น ในขณะที่สินเชื่อโดยรวมขยายตัว 3.1% จากการเติบโตสินเชื่ออย่างมีคุณภาพของธนาคารและการขยายตัวอย่างต่อเนื่องในธุรกิจสินเชื่อจำนำทะเบียนรถและธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลบนแพลตฟอร์มดิจิทัล 

รายได้ค่าธรรมเนียมและอื่น ๆ มีจำนวน 10,831 ล้านบาท ลดลง 6.6% เป็นผลจากการลดลงของรายได้ที่เกี่ยวข้องกับการขายผลิตภัณฑ์ประกันผ่านธนาคารและการชะลอตัวของธุรกิจการบริหารความมั่งคั่ง ในขณะที่รายได้จากธุรกรรมทางการเงินและรายได้ที่เกี่ยวกับการให้สินเชื่อปรับตัวดีขึ้น อีกทั้งรายได้จากการลงทุนและการค้ามีจำนวน 1,127 ล้านบาท ลดลง 17.5% แต่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสที่แล้ว

ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานมีจำนวน 16,757 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.8% เป็นผลจากกิจกรรมธุรกิจที่เพิ่มขึ้นโดยยังมีการควบคุมค่าใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้ ในไตรมาส 1 ของปีนี้อยู่ที่ 41.0%  

บริษัทฯ ได้ตั้งเงินสำรองจำนวน 9,927 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.5% เพื่อเป็นสำรองส่วนเพิ่มสำหรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นของลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่รายหนึ่ง ในขณะที่อัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพอยู่ในระดับสูงที่ 163.8%

คุณภาพของสินเชื่อโดยรวมปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2566 อยู่ที่ 3.32% ปรับตัวลดลงจาก 3.34% ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2565 และเงินกองทุนรวมตามกฎหมายของบริษัทฯ ยังคงอยู่ในระดับแข็งแกร่งที่ 18.6% 

ธ.กรุงเทพ รายงานกำไรสุทธิสำหรับไตรมาส 1 ปี 2566 จำนวน 10,129 ล้านบาท

ในไตรมาส 1 ปี 2566 เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยสำคัญมาจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลต่อการจ้างงานและการบริโภคภาคเอกชนเพิ่มขึ้น ในขณะเดียวกัน การส่งออกเริ่มเห็นสัญญาณฟื้นตัวขึ้นบ้างจากที่หดตัวในช่วงก่อนหน้า อย่างไรก็ดี ในระยะข้างหน้าเศรษฐกิจไทยยังคงเผชิญกับความเสี่ยงจากสภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัว อัตราเงินเฟ้อที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยืดเยื้อ และสถานการณ์ปัญหาสถาบันการเงินในประเทศเศรษฐกิจหลัก ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป

ภายใต้ทิศทางภาวะเศรษฐกิจที่ยังมีความไม่แน่นอน ธนาคารกรุงเทพยังคงดำเนินธุรกิจตามหลัก ความระมัดระวังรอบคอบ ให้ความสำคัญกับการบริหารความเสี่ยง ควบคู่กับการรักษาเสถียรภาพฐานะการเงิน สภาพคล่อง และเงินกองทุนให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ธนาคารให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการดูแลลูกค้า อย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งให้คำแนะนำในการปรับรูปแบบการดำเนินธุรกิจตามแนวโน้มของสภาวะตลาด ที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งด้านดิจิทัลเทคโนโลยี นวัตกรรมแห่งโลกอนาคต รวมถึงด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล เพื่อสร้างโอกาสการเติบโตทางธุรกิจอย่างเข้มแข็งและยั่งยืน ภายใต้เจตนารมณ์ของ การเป็น “เพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน”  

ธนาคารกรุงเทพและบริษัทย่อยรายงานกำไรสุทธิสำหรับไตรมาส 1 ปี 2566 จำนวน 10,129 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 4 ปี 2565 โดยมีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิอยู่ในระดับเดียวกับไตรมาสก่อน จากรายได้ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นตามการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ย สุทธิกับค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เงินรับฝากและการปรับอัตราเงินนำส่งกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินเข้าสู่ระดับเดิมที่ ร้อยละ 0.46 ต่อปี 

และส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิอยู่ที่ร้อยละ 2.84  สำหรับรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่มาจากการปรับมูลค่ายุติธรรมของเครื่องมือทางการเงินซึ่งเป็นไปตามสภาวะตลาด และรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิเพิ่มขึ้นเล็กน้อย สำหรับอัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้จากการดำเนินงานลดลงเป็นร้อยละ 46.8  ธนาคารตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจำนวน 8,474 ล้านบาท โดยพิจารณาถึงความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกที่อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า

ธ.กรุงศรี กำไรสุทธิไตรมาสแรก 2566 จำนวน 8.68 พันล้านบาท 

กรุงศรี (ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) และบริษัทในเครือ) รายงานผลประกอบการไตรมาสแรกปี 2566 มีกำไรสุทธิจำนวน 8,676 ล้านบาท เติบโต 17.0% จากไตรมาสแรกของปี  2565 โดยได้รับแรงสนับสนุนหลักจากการเพิ่มขึ้นของทั้งรายได้ดอกเบี้ยสุทธิและรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย ตลอดจนการลดลงของภาระตั้งสำรอง โดยกรุงศรีมุ่งมั่นเสริมสร้างความแข็งแกร่งเพื่อขับเคลื่อนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและภาคธุรกิจอย่างต่อเนื่อง

กรุงศรียังคงรักษาเสถียรภาพด้านการเงินที่แข็งแกร่งพร้อมสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจ โดยสินเชื่อเพื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) เติบโตอย่างครอบคลุมและทั่วถึงที่ 5.4% และเงินรับฝากเพิ่มสูงขึ้นถึง 3.0% นอกจากนี้ อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL) ยังคงอยู่ในระดับต่ำเพียง 2.26% ณ สิ้นไตรมาสแรกของปี 2566 จากการดำเนินนโยบายการบริหารความเสี่ยงที่รอบคอบรัดกุม

สรุปผลประกอบการและฐานะการเงินที่สำคัญสำหรับไตรมาสแรกของปี 2566

  • กำไรสุทธิ จำนวน 8,676 ล้านบาท ในไตรมาสแรกของปี 2566 เพิ่มขึ้นจำนวน 1,258 ล้านบาท หรือ 17.0% จากไตรมาสแรกของปี 2565 โดยได้รับแรงสนับสนุนหลักจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิและรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย รวมถึงภาระการตั้งสำรองที่ลดลง

  • เงินให้สินเชื่อรวม เพิ่มขึ้น 0.3% หรือจำนวน 5,145 ล้านบาท จากสิ้นเดือนธันวาคม 2565 โดยมีปัจจัยหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมและสินเชื่อเพื่อรายย่อย สุทธิกับการลดลงของสินเชื่อเพื่อธุรกิจขนาดใหญ่

  • เงินรับฝาก เพิ่มขึ้น 3.0% หรือจำนวน 53,964 ล้านบาท จากสิ้นเดือนธันวาคม 2565  

  • ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) อยู่ที่ 3.35% เทียบกับ 3.28% ในไตรมาสแรกของปี 2565

  • รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย เพิ่มขึ้น 6.1% หรือ 506 ล้านบาท จากไตรมาสแรกของปี 2565

  • อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้ ปรับสู่ 44.4% เพิ่มขึ้นจาก 42.7% ในไตรมาสแรกของปี 2565 สะท้อนกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เร่งตัวขึ้นและจากฐานที่ต่ำในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของสายพันธุ์โอมิครอน

  • อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL Ratio) ปรับตัวดีขึ้นที่ 2.26% จาก 2.32% ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2565 จากแนวโน้มการเติบโตอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจและการบริหารความเสี่ยงที่รอบคอบระมัดระวัง ส่งผลให้สัดส่วนการตั้งสำรองต่อสินเชื่อรวมปรับตัวดีขึ้นสู่ระดับที่ 116 เบสิสพอยท์ ในไตรมาสแรกของปี 2566

  • อัตราส่วนเงินสำรองต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ อยู่ในระดับแข็งแกร่งที่ 167.1%

  • อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (ของธนาคาร) อยู่ที่ 17.95% เทียบกับ 17.97% ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2565

คุณเซอิจิโระ อาคิตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ท่ามกลางความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกที่เพิ่มมากขึ้น โดยส่วนหนึ่งเกิดจากปัญหาวิกฤตสถาบันการเงินในประเทศกลุ่มเศรษฐกิจพัฒนาแล้ว เศรษฐกิจไทยยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่องในไตรมาสแรกของปี 2566 โดยได้รับแรงสนับสนุนหลักจากการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งของภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชน โดยกรุงศรีคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตในระดับ 3.3% ในปี 2566” 

กรุงศรียังคงรักษาเสถียรภาพด้านการเงินที่แข็งแกร่งมั่นคง ด้วยระดับเงินกองทุน ระดับการตั้งสำรอง และสภาพคล่องทางการเงินที่สูง และพร้อมเดินหน้าสนับสนุนแนวโน้มการเติบโตอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจและภาคธุรกิจ ทั้งในกลุ่มลูกค้าธุรกิจและลูกค้ารายย่อย โดยธนาคารกำหนดเป้าหมายการเติบโตของเงินให้สินเชื่อในปี 2566 ไว้ที่ 3-5%

ณ วันที่ 31 มีนาคม 2566 กรุงศรี ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจการเงินที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับห้าในระบบเศรษฐกิจไทยจากมูลค่าสินทรัพย์ สินเชื่อและเงินรับฝาก และเป็นหนึ่งในสถาบันการเงินที่มีความสำคัญเชิงระบบ (D-SIB) มีสินเชื่อรวม 1.95 ล้านล้านบาท เงินรับฝาก 1.86 ล้านล้านบาท และสินทรัพย์รวม 2.68 ล้านล้านบาท ขณะที่เงินกองทุนของธนาคารอยู่ในระดับแข็งแกร่งที่ 300.17 พันล้านบาท หรือเทียบเท่า 17.95% ของสินทรัพย์เสี่ยง โดยเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นของเจ้าของคิดเป็น 13.21%

TTB อวดกำไรสุทธิ Q1/66 โต 34%YoY สินเชื่อใหม่โตตามแผน

ธนาคารทหารไทยธนชาต (TTB) หรือ ทีเอ็มบีธนชาต แจ้งผลประกอบการไตรมาส 1/66 โดยมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 4,295 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 34% จากไตรมาส 1/65 และเพิ่มขึ้น 12% จากไตรมาสก่อน ด้านอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพหรือหนี้เสียทรงตัวในระดับต่ำที่ 2.69% ขณะที่อัตราส่วนสำรองฯ ต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 140% สะท้อนให้เห็นถึงผลการดำเนินงานที่เป็นไปตามเป้าหมายในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นการสร้างรายได้ การบริหารค่าใช้จ่าย และการดูแลคุณภาพสินทรัพย์

ในไตรมาส 1/66 ธนาคารสามารถเติบโตสินเชื่อใหม่ในกลุ่มเป้าหมายได้ตามแผน นำโดยสินเชื่อรถแลกเงินและสินเชื่อบ้านแลกเงิน แต่เนื่องจากมีการชำระคืนหนี้จากกลุ่มลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ เมื่อสุทธิแล้วจึงทำให้สินเชื่อรวม ณ สิ้นไตรมาสอยู่ที่ 1,358 พันล้านบาท ลดลง 1.3% จากสิ้นปีที่แล้ว ด้านเงินฝากอยู่ที่ 1,402 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.2% หนุนโดยเงินฝากประจำ ซึ่งเป็นไปตามแผนการบริหารต้นทุนเงินฝากภายใต้ทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้น

ทั้งนี้ เพื่อคงความสามารถในการสร้างผลตอบแทนจากการให้สินเชื่อ หลังจากที่ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประกาศปรับขึ้นอัตราเงินนำส่ง FIDF สู่ระดับก่อนโควิด-19 ซึ่งสร้างแรงกดดันต่อต้นทุนเงินฝาก ธนาคารได้ใช้กลยุทธ์การรีไซเคิลเงินทุน หรือนำสภาพคล่องที่ได้รับจากการชำระคืนหนี้ไปหมุนเวียนใช้ปล่อยสินเชื่อใหม่ที่ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าภายใต้กรอบความเสี่ยงที่เหมาะสม ประกอบกับหลายไตรมาสก่อนหน้านี้ธนาคารได้ทยอยขยายฐานเงินฝากไว้ล่วงหน้าก่อนที่จะเข้าสู่วัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้น จึงทำให้ยังสามารถขยายสินเชื่อใหม่ได้โดยที่ไม่ต้องเร่งขยายฐานเงินฝาก สะท้อนได้จากอัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากที่อยู่ที่ 97% ณ สิ้นไตรมาส 1/66

จากกลยุทธ์ด้านสินเชื่อและเงินฝากดังกล่าว รวมทั้งการบริหารสภาพคล่องส่วนเกินและพอร์ตการลงทุนในเชิงรุกเพื่อให้ได้รับประโยชน์จากทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้น รายได้ดอกเบี้ยสุทธิจึงฟื้นตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนแม้ว่ายอดสินเชื่อสุทธิจะลดลงก็ตาม ขณะที่รายได้ค่าธรรมเนียมก็ปรับตัวดีขึ้นเช่นกัน และเป็นปัจจัยหนุนให้รายได้จากการดำเนินงานรวมเพิ่มขึ้น 6.9% จากไตรมาส 1/65 มาอยู่ที่ 16,870 ล้านบาท

ด้านค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานอยู่ที่ 7,303 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน การเพิ่มขึ้นดังกล่าวสอดคล้องกับกิจกรรมทางธุรกิจที่เพิ่มขึ้นและแผนการลงทุนของธนาคาร โดยธนาคารยังคงสามารถบริหารจัดการค่าใช้จ่ายให้สอดคล้องกับด้านรายได้ได้เป็นอย่างดี สะท้อนจากอัตราส่วนต้นทุนต่อรายได้ซึ่งอยู่ที่ 43% เทียบกับ 44% ในไตรมาส 1/65 ส่งให้ผลกำไรจากการดำเนินงานก่อนหักสำรองฯ อยู่ที่ 9,561 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

ในไตรมาส 1/66 ค่าใช้จ่ายตั้งสำรองฯ อยู่ที่ 4,276 ล้านบาท ลดลง 11.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เมื่อหักค่าใช้จ่ายสำรองฯ และภาษี จึงทำให้มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 4,295 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 34.4% จากปีที่แล้ว

ทั้งนี้ การตั้งสำรองฯ ที่ลดลงเป็นผลต่อเนื่องมาจากการบริหารคุณภาพสินทรัพย์ได้ตามแผน โดยอัตราส่วนหนี้เสียต่อสินเชื่อรวมลดลงมาอยู่ที่ 2.69% เทียบกับ 2.73% จากสิ้นปีก่อนหน้า ด้านกันชนป้องกันความเสี่ยงยังคงแข็งแกร่ง สะท้อนได้จากอัตราส่วนสำรองฯ ต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพที่เพิ่มขึ้นจาก 132% ในไตรมาส 1/65 มาอยู่ที่ 138% ณ สิ้นปีที่แล้ว และอยู่ที่ 140% ณ สิ้นไตรมาส 1/66

ด้านความเพียงพอของเงินกองทุน อัตราส่วน CAR และ Tier 1 (เบื้องต้น) ณ สิ้นไตรมาส 1/66 อยู่ที่ 19.9% และ 16.2% สูงเป็นลำดับต้น ๆ ของอุตสาหกรรม และสูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำของธนาคารกลุ่ม D-SIBs ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดไว้ที่ 12.0% และ 9.5% ตามลำดับ

ผลการดำเนินงานในไตรมาสแรกของปี 2566 ถือว่าเป็นไปตามเป้าหมาย และสะท้อนถึงผลลัพธ์จากแนวทางการดำเนินธุรกิจของทีเอ็มบีธนชาต ที่เน้นย้ำการเติบโตธุรกิจอย่างมีคุณภาพ ควบคู่ไปกับการนำเอาจุดแข็งจากการรวมกิจการมาเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันและความสามารถในการสร้างกำไร ที่สำคัญอีกประการคือการดูแลสถานะทางการเงินให้มีความแข็งแกร่ง เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงของธนาคารให้พร้อมรับมือกับทุกสภาพเศรษฐกิจ

โดยในการดูแลสถานะทางการเงินนั้น ธนาคารดำเนินการผ่านการบริหารจัดการทุกองค์ประกอบของงบดุลทั้งด้านสินทรัพย์ หนี้สิน และส่วนทุนให้มีคุณภาพ เช่น ในด้านสินเชื่อ ธนาคารใช้กลยุทธ์การเติบโตอย่างรอบคอบ เน้นที่คุณภาพ เพราะไม่ต้องการสร้างความเสี่ยงต่องบดุลภายใต้ภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังคงเปราะบาง 

ด้านพอร์ตการลงทุน ธนาคารมีนโยบายการลงทุนในตราสารที่มีความเสี่ยงต่ำและสภาพคล่องสูง เพื่อจุดประสงค์ในการบริหารสภาพคล่องเป็นหลัก ไม่มีนโยบายแสวงหาผลกำไรจากการลงทุนในตราสารหรือสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีความเสี่ยงสูงแต่อย่างใด ในด้านเงินฝากก็เน้นขยายฐานเงินฝากกลุ่มลูกค้ารายย่อยในประเทศเป็นหลัก เพื่อไม่ให้เกิดความเสี่ยงจากการกระจุกตัวของผู้ฝากรายใหญ่ และในการบริหารส่วนทุน ก็ต้องมีประสิทธิภาพและเพียงพอพร้อมรองรับการเติบโตทางธุรกิจ

ผลลัพธ์จากการดำเนินการทั้งหมดนี้ ส่งผลให้ทีเอ็มบีธนชาตมีผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง สะท้อนได้จากการที่ธนาคารสามารถรักษาแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของผลกำไรมาตลอด 6 ไตรมาส ขณะที่สถานะทางการเงินก็แข็งแกร่งขึ้นในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นอัตราส่วนเงินกองทุนรวมที่เพิ่มขึ้นจากระดับก่อนรวมกิจการที่ประมาณ 18% ขึ้นมาสู่ระดับ 20% ในปัจจุบัน อัตราส่วนสำรองฯ ต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพซึ่งสะท้อนถึงกันชนป้องกันความเสี่ยงเพิ่มขึ้นจาก 120% มาอยู่ที่ 140% หรืออัตราส่วน LCR (Liquidity Coverage Ratio) ซึ่งเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดด้านสภาพคล่องอยู่ในระดับสูงที่ประมาณ 180% จากเกณฑ์ขั้นต่ำที่ 100% ทำให้มั่นใจได้ว่า ทีเอ็มบีธนชาตมีสถานะทางการเงินหลังการรวมกิจการที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้น มีการดำรงสภาพคล่องและเงินกองทุนที่เพียงพอ และมีความพร้อมที่จะเติบโตตามแผนธุรกิจที่วางไว้

โดยในปี 2566 นี้ เราตั้งเป้าที่จะเติบโตสินเชื่อรายย่อยมากขึ้น ด้วยการต่อยอดจากความเป็นผู้นำในตลาดสินเชื่อบ้านและสินเชื่อเช่าซื้อ ไปสู่การนำเสนอผลิตภัณฑ์สินเชื่อรถแลกเงิน (ttb cash your car) สินเชื่อบ้านแลกเงิน (ttb cash your home) สินเชื่อ ttb payday loan และกลุ่มผลิตภัณฑ์ประกันภัยรถ โดยจะเน้นฐานลูกค้าที่เพิ่มขึ้นจากการรวมกิจการเป็นหลัก ซึ่งธนาคารรู้จักและเข้าใจความต้องการของลูกค้าเป็นอย่างดี เป็นผลดีต่อการบริหารความเสี่ยงและการนำเสนอผลิตภัณฑ์ได้ตรงความต้องการ นอกจากนั้นแล้วยังเตรียมนำเสนอโซลูชันทางการเงินสำหรับกลุ่มพนักงานเงินเดือน คนมีบ้าน คนมีรถ ด้วยแนวคิด Ecosystem Play ซึ่งจะทยอยเปิดตัวให้บริการในไตรมาสถัด ๆ ไป

ธ.กรุงไทย โตแกร่ง โชว์ไตรมาส 1 ปี 66 กำไรสุทธิ 10,067 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 24%

“ธนาคารกรุงไทย” เผยผลการดำเนินงานเติบโตต่อเนื่อง กำไรสุทธิไตรมาส 1 ปี 2566 เท่ากับ 10,067 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 24 จากไตรมาสที่ผ่านมา และเพิ่มขึ้นร้อยละ 15 จากในช่วงเดียวกันของปีก่อน จากรายได้รวมที่ขยายตัวได้ดี การบริหารจัดการค่าใช้จ่าย และบริหารคุณภาพสินทรัพย์อย่างมีประสิทธิภาพ เดินหน้าดูแลลูกค้าทุกกลุ่มรับมือความท้าทายเศรษฐกิจ ชู 7 ยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนองค์กร “มุ่งสร้างคุณค่า สู่ความยั่งยืน”

คุณผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยปี 2566 มีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยมีแรงสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยวเป็นสำคัญ ขณะที่การส่งออกได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกและภาวะเงินเฟ้อในระดับสูง ซึ่งเศรษฐกิจไทยยังเผชิญความท้าทาย จากการเปลี่ยนผ่านเชิงนโยบายกลับเข้าสู่ ภาวะปกติหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย รวมถึงการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ภายใต้สภาวะเงินเฟ้อที่ยังคงอยู่ในระดับสูง ส่งผลต่อต้นทุนของภาคธุรกิจ 

โดยธนาคารดำเนินธุรกิจด้วยความระมัดระวังและให้ความสำคัญกับการดูแลช่วยเหลือลูกค้าทุกกลุ่มเพื่อให้สามารถปรับตัวเพื่อรับมือความท้าทายเศรษฐกิจ โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางและ SME ที่อ่อนไหวต่อต้นทุนที่ปรับเพิ่มขึ้น

ผลการดำเนินงานไตรมาส 1 ปี 2566 เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2565 ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของธนาคาร เท่ากับ 10,067 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.6 จากในช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีกำไรจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 24.0 จากการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ เพื่อสร้างคุณค่าอย่างยั่งยืน รายได้รวมจากการดำเนินงานขยายตัวอย่างแข็งแกร่งและต่อเนื่อง ร้อยละ 18.8 จากพอร์ตสินเชื่อที่มุ่งเน้นการเติบโตอย่างมีคุณภาพมากขึ้น 

รวมถึงการขยายตัวของรายได้ค่าธรรมเนียมสุทธิและรายได้จากการดำเนินงานอื่นๆ ประกอบกับการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายในองค์รวมอย่างมีประสิทธิภาพ ถึงแม้ ค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานขยายตัวจากค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อรองรับการพัฒนาผลิตภัณฑ์และการให้บริการแก่ลูกค้า ทำให้ Cost to Income Ratio เท่ากับร้อยละ 38.70 ลดลงจากร้อยละ 41.25 ในช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลตามฤดูกาลที่ Cost to Income Ratio ในไตรมาสอื่นจะสูงขึ้นกว่าไตรมาส 1

ทั้งนี้ ธนาคารและบริษัทย่อยตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น เพิ่มขึ้นร้อยละ 48.1 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยพิจารณาถึงการดำเนินธุรกิจด้วยความระมัดระวังภายใต้ภาวะเศรษฐกิจที่มีความไม่แน่นอน รวมทั้งเงินเฟ้อซึ่งแม้ว่าจะเริ่มลดลงแต่ยังคงอยู่ระดับที่สูง และยังคงรักษา Coverage Ratio ในระดับสูงที่ร้อยละ 183.2 เทียบกับร้อยละ 179.7 เมื่อสิ้นปี 2565 พร้อมทั้งบริหารจัดการคุณภาพสินทรัพย์อย่างระมัดระวัง โดยมีอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวม (NPLs Ratio-Gross) ร้อยละ 3.22 ลดลงจากสิ้นปี 2565 เมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2565 กำไรสุทธิส่วนที่เป็นของธนาคาร เพิ่มขึ้นร้อยละ 24.1 

โดยกำไรจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.1 ทั้งรายได้รวมจากการดำเนินงานที่ขยายตัวร้อยละ 1.8 ประกอบกับค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานลดลงร้อยละ 13.0 ส่วนหนึ่งเนื่องจากในไตรมาส 4 ปี 2565 มีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นตามฤดูกาล เช่น การส่งเสริมการตลาด 

ทั้งนี้ ตั้งสำรองเพิ่มขึ้น ร้อยละ 7.6 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา เพื่อยังคงรักษา Coverage ratio ในระดับสูงที่ร้อยละ 183.2 เพื่อรองรับความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจ ณ วันที่ 31 มีนาคม 2566 ธนาคาร (งบการเงินเฉพาะธนาคาร) มีเงินกองทุนชั้นที่ 1 ร้อยละ 16.55 ของสินทรัพย์ถ่วงน้ำหนักตามความเสี่ยง และมีเงินกองทุนทั้งสิ้น ร้อยละ 19.75 ของสินทรัพย์ถ่วงน้ำหนักตามความเสี่ยงซึ่งอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งเมื่อเทียบกับเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) 

รวมถึงมีสภาพคล่องในระดับที่เพียงพอ โดยมี Liquidity Coverage ratio (LCR) ที่ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 180 อย่างต่อเนื่อง ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่ธปท.กำหนด

ทั้งนี้ในปี 2566 ธนาคารดำเนินธุรกิจภายใต้ 7 ยุทธศาสตร์หลัก ตามแผนงาน 5 ปี (2566-2570) เพื่อเร่งขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง ภายใต้แนวคิด “มุ่งสร้างคุณค่า สู่ความยั่งยืน” เพื่อให้ธนาคารเติบโตอย่างมั่นคง ตอบโจทย์ผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มอย่างครอบคลุม ทั่วถึง ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง มุ่งสร้างโอกาสให้คนไทย ธุรกิจไทยยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม

ธ.ซีไอเอ็มบี ไทย ประกาศกำไรสุทธิ ไตรมาส 1 ปี 2566 จำนวน 830.1 ล้านบาท

ผลการดำเนินงานของกลุ่มธนาคาร สำหรับงวดสามเดือนสิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2566 มีรายได้จากการดำเนินงานจำนวน 3,828.8 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 344.7 ล้านบาท หรือร้อยละ 9.9 เมื่อเปรียบเทียบกับงวดเดียวกันปี 2565 สาเหตุหลักเกิดจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิร้อยละ 1.5  และรายได้อื่นร้อยละ 46.5 สุทธิกับการลดลงของรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิร้อยละ 15.0 

กำไรจากการดำเนินงานก่อนหักผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.2 เป็นจำนวน 1,868.4 ล้านบาท เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของรายได้จากการดำเนินงาน ร้อยละ 9.9 สุทธิกับการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน ร้อยละ 9.6      กำไรสุทธิลดลงจำนวน 230.9 ล้านบาท    หรือร้อยละ 21.8 เป็นจำนวน 830.1 ล้านบาทเมื่อเปรียบเทียบกับงวดเดียวกันสาเหตุหลักเกิดจากการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานและผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นเพิ่มขึ้นร้อยละ 128.0  โดยเป็นการตั้งสำรองเพิ่มขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับหลักความระมัดระวังและเหมาะสมกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ 

เมื่อเปรียบเทียบผลการดำเนินงานงวดสามเดือนปี 2566 และ 2565  รายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้น 35.0 ล้านบาท หรือร้อยละ 1.5 เป็นผลจากการขยายตัวของสินเชื่อ  รายได้อื่นเพิ่มขึ้นจำนวน 367.3 ล้านบาท หรือร้อยละ 46.5 ส่วนใหญ่เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของกำไรสุทธิจากเงินลงทุน และกำไรสุทธิจากการขายสินเชื่อด้อยคุณภาพ  สุทธิกับการลดลงของรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิจำนวน 57.7 ล้านบาท หรือร้อยละ 15.0 มาจากการลดลงของค่าธรรมเนียมจากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ประกันภัยและค่าธรรมเนียมจากการเป็นผู้จัดจำหน่ายตราสารหนี้

ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานสำหรับงวดสามเดือนปี 2566 เปรียบเทียบกับงวดเดียวกันปี 2565 เพิ่มขึ้นจำนวน 171.1 ล้านบาทหรือร้อยละ 9.6 สาเหตุหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของค่าเผื่อการด้อยค่าของทรัพย์สินรอการขาย  อย่างไรก็ตามอัตราส่วนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน ต่อรายได้จากการดำเนินงานงวดสามเดือนปี 2566 อยู่ที่ร้อยละ 51.2 ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปี 2565 อยู่ที่ ร้อยละ 51.4  เป็นผลมาจากการเติบโตของรายได้จากการดำเนินงาน      ที่แข็งแกร่งเมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน

อัตราส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (Net Interest Margin – NIM) สำหรับงวดสามเดือนปี 2566   อยู่ที่ร้อยละ 2.6 ลดลงจากงวดเดียวกันปี 2565 อยู่ที่ร้อยละ 2.8 เป็นผลจากต้นทุนเงินฝากที่เพิ่มขึ้น

วันที่ 31 มีนาคม 2566 เงินให้สินเชื่อสุทธิจากรายได้รอตัดบัญชี (รวมเงินให้สินเชื่อซึ่งค้ำประกันโดยธนาคารอื่นและเงินให้สินเชื่อแก่สถาบันการเงิน) ของกลุ่มธนาคารอยู่ที่ 237.4 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.9 เมื่อเทียบกับเงินให้สินเชื่อ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565   กลุ่มธนาคารมีเงินฝาก (รวมตั๋วแลกเงิน หุ้นกู้ และผลิตภัณฑ์ทางการเงินบางประเภท) จำนวน 267.9 พันล้านบาท ลดลงร้อยละ 7.6 จากสิ้นปี 2565 ซึ่งมีจำนวน 289.7 พันล้านบาท อัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝาก (the Modified Loan to Deposit Ratio) ของกลุ่มธนาคารเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 88.6 จากร้อยละ 81.2 ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565

 สินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPLs) อยู่ที่ 7.6 พันล้านบาท อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพ ต่อเงินให้สินเชื่อทั้งสิ้นอยู่ที่ร้อยละ 3.1 ลดลงเมื่อเทียบกับ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 อยู่ที่ร้อยละ 3.3  เป็นผลจากการปรับโครงสร้างพอร์ตสินทรัพย์ของธนาคารให้สอดคล้องกับการลดลงของสินเชื่อพาณิชย์ธนกิจ ธนาคารซีไอเอ็มบีไทยยังคงมาตรฐานการอนุมัติสินเชื่อ และนโยบายการบริหารความเสี่ยงที่รัดกุมขึ้น ตลอดจนได้มีแนวทางเพิ่มประสิทธิภาพการติดตามหนี้ การดำเนินการดูแลและการแก้ไขลูกหนี้ที่ถูกผลกระทบดังกล่าวอย่างใกล้ชิด 

 อัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพ ณ วันที่ 31 มีนาคม 2566 อยู่ที่ร้อยละ 122.6  เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2565 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 114.6  ค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นของกลุ่มธนาคารอยู่ที่จำนวน 8.6 พันล้านบาท ซึ่งเป็นเงินสำรองส่วนเกินตามเกณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทยจำนวน 1.5 พันล้านบาท

เงินกองทุนรวมของกลุ่มธนาคาร ณ สิ้นวันที่ 31 มีนาคม 2566 มีจำนวน 57.8 พันล้านบาท คิดเป็นอัตราส่วนเงินกองทุนรวมต่อสินทรัพย์เสี่ยงร้อยละ 22.2 โดยเป็นอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ร้อยละ 16.5

ธ.กสิกรไทย แจ้งผลประกอบการไตรมาส 1 ปี 2566 กำไร 10,741 ล้านบาท

ผลการดำเนินงานสำหรับไตรมาส 1 ปี 2566 เปรียบเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2565

ในไตรมาส 1 ปี 2566 ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิจำนวน 10,741 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาสเดียวกัน ของปีก่อน 4.19% โดยกำไรจากการดำเนินงานก่อนหักผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นและภาษีเงินได้มีจำนวน 26,781 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.32% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากการเติบโตอย่างแข็งแกร่งของรายได้จากการดำเนินงานและ การบริหารจัดการค่าใช้จ่ายที่มีประสิทธิภาพอย่างสม่ำเสมอ อย่างไรก็ตาม ธนาคารยังคงตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่า จะเกิดขึ้น (Expected credit loss : ECL) ตามหลักความระมัดระวัง แม้ว่าจะลดลงจากไตรมาส 4 ปี 2565 

แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนมีจำนวนเพิ่มขึ้น เนื่องจากธนาคารมีการบริหารจัดการคุณภาพสินทรัพย์เชิงรุกที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับความผันผวนของเศรษฐกิจโลกและปัจจัยแวดล้อมต่าง ๆ ที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ ที่อาจจะส่งผลต่อลูกค้าบางกลุ่มที่ยังมีความเปราะบาง นอกจากนี้ ในไตรมาส  1 ปี 2566 ธนาคารพบว่ามีลูกค้ารายใหญ่รายหนึ่ง ที่คุณภาพหนี้มีสัญญาณความเสื่อมถอย โดยธนาคารได้มีสำรองสำหรับหนี้ส่วนนี้ไว้แล้ว อย่างไรก็ตาม ธนาคารอาจพิจารณาความเหมาะสมในการกันสำรองเพิ่มเติมให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นอย่างใกล้ชิด                     

รายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้น 9.84% สอดคล้องกับภาวะอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นและการเติบโตของสินเชื่อใหม่ตามยุทธศาสตร์ของธนาคาร โดยอัตราผลตอบแทนสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้สุทธิ (Net interest margin : NIM) อยู่ที่ระดับ 3.46% แม้ว่าจะมีต้นทุนทางการเงินเพิ่มขึ้นจากอัตราเงินนำส่งกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ที่ปรับตัวสูงขึ้นเป็นอัตราปกติในอัตราร้อยละ 0.46 รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น 32.00% 

หลัก ๆ จากมูลค่ายุติธรรมของเครื่องมือทางการเงินที่วัดมูลค่าด้วยมูลค่ายุติธรรมผ่านกำไรหรือขาดทุนเพิ่มขึ้นตามภาวะตลาด ค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่น ๆ เพิ่มขึ้น 13.82% สอดคล้องกับรายได้ที่เพิ่มตามปริมาณธุรกิจ รวมทั้งมีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับพนักงานเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งจากมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว ส่งผลให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่น ๆ ต่อรายได้จากการดำเนินงานสุทธิ (Cost to income ratio) อยู่ที่ระดับ 42.50% ใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีก่อน  

ผลการดำเนินงานสำหรับไตรมาส 1 ปี 2566 เปรียบเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2565

เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2565 ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิจำนวน 10,741 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 7,550 ล้านบาท หลัก ๆ เกิดจากการลดลงของสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น ซึ่งในไตรมาส 4 ปี 2565 มีการตั้งสำรองฯ ในระดับสูงตามหลักความระมัดระวัง และสอดคล้องกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่มีความไม่แน่นอน สำหรับกำไรจากการดำเนินงานก่อนหักผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นและภาษีเงินได้มีจำนวน 26,781 ล้านบาท ลดลงจาก ไตรมาสก่อนส่วนใหญ่เกิดจากการลดลงของรายได้จากการดำเนินงาน 

ค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่น ๆ ลดลงหลัก ๆ จากค่าใช้จ่ายทางการตลาดซึ่งเป็นปกติตามฤดูกาล ในขณะที่ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับพนักงานเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเกิดจากมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพ ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว อัตราส่วนค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่น ๆ ต่อรายได้จากการดำเนินงานสุทธิ (Cost to income ratio) อยู่ที่ 42.50% ใกล้เคียงกับไตรมาส 4 ปี 2565 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 42.60%

ณ วันที่ 31 มีนาคม 2566 ธนาคารและบริษัทย่อยมีสินทรัพย์รวมจำนวน 4,238,084 ล้านบาท ลดลงจากสิ้นปี 2565 จำนวน 8,285 ล้านบาท หรือ 0.20% หลัก ๆ เกิดจากเงินให้สินเชื่อสุทธิลดลง ส่วนหนึ่งจากการดำเนินการบริหารจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ เช่น การปรับโครงสร้างหนี้ การขายหนี้ การตัดหนี้สูญ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม เงินให้สินเชื่อใหม่ยังคงเติบโต ในกลุ่มลูกค้าตามยุทธศาสตร์ของธนาคาร 

ทั้งนี้ เงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพต่อเงินให้สินเชื่อ (%NPL gross) อยู่ที่ระดับ 3.04% และ ค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพ (Coverage ratio) อยู่ที่ระดับ 156.68% สูงขึ้นเมื่อเทียบกับสิ้นปีที่ระดับ 154.26% สำหรับอัตราส่วนเงินกองทุนทั้งสิ้นต่อสินทรัพย์เสี่ยงของกลุ่มธุรกิจทางการเงินธนาคารกสิกรไทยตามหลักเกณฑ์ Basel III ณ วันที่ 31 มีนาคม 2566 ยังคงมีความแข็งแกร่งอยู่ที่ 18.90% โดยมีอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 อยู่ที่ 16.92%

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ เดินหน้าควบคุม Google ยื่นคำร้องขาย Chrome หวังสกัดการผูกขาดตลาด Search Engine

กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ เตรียมยื่นคำร้องต่อศาลให้ Google ต้องขายเบราว์เซอร์ Chrome แยกจากบริษัท หลังศาลตัดสินว่า Google ละเมิดกฎหมายการผูกขาดตลาด Search Engine...

Responsive image

TikTok ประกาศลุยสู่เป้าหมายเป็น 'บริษัทที่น่าเชื่อถือที่สุดในโลก' ท่ามกลางวิกฤตแบนสหรัฐฯ

Shou Zi Chew ซีอีโอ TikTok ประกาศเป้าหมายสู่การเป็นบริษัทที่น่าเชื่อถือที่สุดในโลก ท่ามกลางกระแสแบนในสหรัฐฯ และความกังวลด้านความปลอดภัยข้อมูลในยุโรปและแคนาดา พร้อมลงทุนเสริมความปลอ...

Responsive image

Apple ยอมลงทุนเพิ่ม 10 เท่า สู่ 100 ดอลลาร์สหรัฐฯ หวังอินโดนีเซียปลดแบน iPhone 16

Apple เพิ่มข้อเสนอการลงทุนในอินโดนีเซีย หลังรัฐบาลแบน iPhone 16 เนื่องจากขาดการผลิตในประเทศ ขณะที่นโยบายเข้มงวดนี้อาจดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมท้องถิ่น...