บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) (BDMS) ตั้งเป้าสู่ความเป็นเลิศทางการแพทย์ ผ่านกลยุทธ์การพัฒนานวัตกรรม เพื่อพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน 5 ด้าน ได้แก่ การรักษาทางไกล (Telehealth) ปัญญาประดิษฐ์ การจัดการข้อมูลเพื่อดูแลสุขภาพเชิงรุก การพัฒนาบริการ และการนำเทคโนโลยีสีเขียวเพื่อลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญในการผลักดันไทยสู่ศูนย์กลางทางการแพทย์ (Medical hub) ผ่านแผนพัฒนานวัตกรรมร่วมกับ Startup ไทย เพื่อคิดค้นนวัตกรรมและเทคโนโลยีสำหรับการรักษาพยาบาลอีกด้วย
ในมุมของ BDMS เติบโตมาจากการมีโรงพยาบาล ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 53 โรงพยาบาล และกลุ่มโรงพยาบาลถือเป็นธุรกิจหลักในการดูแลสุขภาพผู้มาใช้บริการ และอีกกลุ่มธุรกิจคือการสนับสนุนบริการทางการแพทย์ อาทิ ร้านยา Lab ทำให้เส้นทางการดำเนินธุรกิจของ BDMS เติบโตมากว่า 50 ปี โดยจะเน้นในเรื่องของการดูแลรักษาพยาบาล
และเมื่อ 4-5 ปีที่ผ่านมากระแสการดูแลสุขภาพ รวมถึงการส่งเสริมและป้องกัน เป็นหนึ่งในกระแสที่ได้รับการพูดถึงอย่างมากทั้งในไทยและต่างประเทศ ขณะเดียวกันการขาดแคลนทรัพยากรเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทั่วโลก และราคาของค่ารักษาพยาบาลก็ดูเหมือนกับว่าจะพุ่งสูงขึ้นเรื่อย ๆ จึงเป็นปัญหาที่ BDMS ได้มองเห็นว่าจะทำอย่างไร ? ให้ผู้คนสามารถเข้าถึงการรักษาเพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตคนไข้ได้ จึงเป็นที่มาของการมองหานวัตกรรมใหม่ ๆ ทางการแพทย์เพื่อมาซัพพอร์ตตรงจุดนี้
*โดยนวัตกรรมที่ BDMS มองหา และส่งเสริมนั้นจะต้องเกี่ยวข้องกับธุรกิจหลักนั่นคือการรักษาพยาบาล และการส่งเสริมสุขภาพ
ด้วยความมุ่งมั่นพัฒนาองค์กรให้เดินหน้าสู่เป้าหมายดังกล่าว BDMS จึงได้จัดตั้งฝ่ายนวัตกรรมขึ้นมาช่วยจัดกิจกรรมฝึกอบรมเพิ่มทักษะเพื่อพัฒนานวัตกรรมองค์กรให้สอดคล้องกับความต้องการของแต่ละภาคส่วน หน่วยงานนี้จึงเป็นเสมือนฟันเฟืองที่ขับเคลื่อนให้กิจกรรมด้านนวัตกรรมบรรลุวัตถุประสงค์ทั้งภายในและภายนอกองค์กร
หนึ่งในผลงานนวัตกรรมด้านปัญญาประดิษฐ์ ได้แก่ การวินิจฉัยโรคด้วยภาพรังสีเพื่อวิเคราะห์ความผิดปกติของทรวงอก ซึ่งเกิดจากความร่วมมือของ BDMS กับ Startup ไทย ร่วมด้วยคณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล รวมทั้งหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ปัจจุบันระบบปัญญาประดิษฐ์ดังกล่าวได้รับการติดตั้งเพื่อใช้งานจริงแล้วในโรงพยาบาล 34 แห่ง เพื่อช่วยวิเคราะห์โรคจากภาพรังสี โดยสามารถลดภาระงานของแพทย์รังสีวิทยาได้กว่า 2.5 ล้านบาท อีกทั้งยังสร้างรายได้ให้ Startup ไทยกว่า 15 ล้านบาท
ดร.พัชรินทร์ บุญยะรังสรรค์ ผู้ช่วยประธานฝ่ายนวัตกรรมองค์กรยั่งยืน บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) ให้ความเห็นต่อแนวทางการพัฒนาของ BDMS ว่าจะสอดคล้องกับเทรนด์โลกยุคปัจจุบันที่ผู้คนสามารถเข้าถึงการรักษาได้อย่างสะดวกและมีประสิทธิภาพ ด้วยเทคโนโลยีที่ถูกพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว “การสร้างเครือข่ายทางสังคมเป็นเรื่องสำคัญที่ทาง BDMS มุ่งเน้นมาโดยตลอด นอกจากเราจะกระตุ้นให้เกิดการสร้างสรรค์นวัตกรรมภายในองค์กรแล้ว เรายังมีความร่วมมือกับหน่วยงานภายนอกทั้งภาครัฐ และเอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งความร่วมมือที่เกิดขึ้นกับทางสมาคม Thai Health Tech Startup ที่เปิดพื้นที่ให้เกิดการทดลองนวัตกรรมใหม่ๆ ซึ่งสามารถนำไปสู่การเพิ่มประสิทธิภาพการบริการทางการแพทย์ที่เป็นเลิศต่อไป”
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา BDMS มีโครงการ BDMS Startup Pitching เพื่อเป็นสื่อกลางสร้างเครือข่ายให้กับผู้ประกอบการทางเทคโนโลยี ผ่านการเปิดพื้นที่โรงพยาบาลในเครือ BDMS ให้เป็นพื้นที่ทดลอง ซึ่งเปรียบเสมือนแซนด์บ็อก โดยที่สำเร็จและไปสู่ Series A มีประมาณ 50% (เริ่มทำมาตั้งแต่ปี 2020 ทำให้เกิดนวัตกรรมที่รวดเร็ว ทั้งยังมีประสิทธิภาพ และตอบโจทย์การใช้งานอีกด้วย)
โดยโครงการนี้มีวัตถุประสงค์ที่จะยกระดับมาตรฐานการบริการทางการแพทย์ของประเทศไปสู่ Smart healthcare เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศผ่านการพัฒนานวัตกรรม 5 ด้าน ได้แก่ การวินิจฉัยโรคและดูแลผู้ป่วยผ่านปัญญาประดิษฐ์ (AI for diagnosis and patient engagement) การวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อพัฒนาเทรนด์การให้บริการ (Data Analysis for service trend) การลดขั้นตอนเพื่อประสิทธิภาพในการปฏิบัติการ (Lean process for operation efficiency) การตรวจดูสุขภาพแบบเรียลไทม์เพื่อดูแลก่อนเกิดโรค (Real-time health monitoring for proactive health) และการให้บริการทางการแพทย์อย่างยั่งยืน (Sustainable healthcare)
การพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยี ภายใต้โครงการนี้ได้เกิดขึ้นแล้วอย่างเป็นรูปธรรมด้วยการใช้งานจริงของแอปพลิเคชันต่าง ๆ ได้แก่ Sukha งานวิจัยของทีมอาจารย์จุฬาฯ ที่คิดเรื่องของเซลลูโลสที่ใช้สมุนไพรไทย ยับยั้งแผล ซึ่งตัวพลาสเตอร์ปิดแผล, Perceptra สตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีเชิงลึก ที่พัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์ช่วยแพทย์ในการอ่านผลภาพถ่ายจากรังสีทรวงอก, Mineed ที่พัฒนาเทคโนโลยีนำส่งสารเข้าสู่ผิวหนังด้วยไมโครนีดเดิล (Microneedle) แบบละลายน้ำได้ และล่าสุดกับการให้เงินลงทุนระดับ Series A แก่แอปพลิเคชันอูก้า (Ooca) ที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อใช้งานในการปรึกษาจิตแพทย์ และนักจิตวิทยาแบบออนไลน์
*ซึ่ง Perceptra, Ooca และ Mineed จะมีการเปิดตัวในปีนี้ รวมทั้ง Ecosystem Platform ของ BDMS ที่มีชื่อว่า BD ที่เป็นแพลตฟอร์มที่ใช้ Telehealth ในการพบแพทย์ และ Telepharmacy ในการพบเภสัช และ Telemall ในการหาโปรดักท์หรือผลิตภัณฑ์ทางด้านสุขภาพทั้งหมด และ Health Content ที่จะอยู่ในนี้ด้วย โดยมีความตั้งใจที่จะให้บริการคนไข้ที่ไม่จำเป็นต้องมาโรงพยาบาล
ส่วนนิยามคำว่า "ยั่งยืน" ในมุมของ BDMS ดร. พัชรินทร์ ชี้ว่า เมื่อองค์กรเติบโตก็อยากที่จะให้สังคม และประเทศไทย รวมทั้งคนที่ทำงานด้วย เติบโตไปพร้อม ๆ กันในเชิงป้องกันสุขภาพ เพราะในวันที่เราโตขึ้นในมุมของ Health Care คนที่ทำเรื่องที่เกี่ยวข้องนี้ เราก็อยากที่จะสนับสนุนคนให้สามารถโตไปพร้อมกันได้ รวมทั้งผลักดันคนไทยให้สามารถเข้าถึงการดูแลสุขภาพ และเห็นไทยเป็น Destination health care
ดังนั้น BDMS จึงมุ่งหวังที่จะสนับสนุนการพัฒนา Health Tech ของไทย ที่สร้างโดยคนไทย เพื่อคนไทย เพราะการพัฒนานวัตกรรมไม่สามารถสำเร็จได้ด้วยการทำงานเพียงลำพัง และ BDMS ก็เช่นกัน ที่ได้รับความร่วมมือทั้งจากภาครัฐ มหาวิทยาลัยการแพทย์ และบริษัท Startup ในการยกระดับบริการทางการแพทย์ทั้งการดูแลสุขภาพกาย และสุขภาพจิต ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน และเราก็มุ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะเป็นหนึ่งในฟันเฟืองที่ช่วยยกระดับมาตรฐานสาธารณสุขไทยเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่อไป
ขณะที่งบลงทุนด้าน Innovation ของ BDMS ตั้งเป้าไว้อยู่ที่ 1,500 ลบ.สำหรับแผนดำเนินงานในปี 2022-2023 ส่วนจะมีการเพิ่มงบหรือไม่นั้น ก็จะมีการพิจารณาตาม Performance ที่สตาร์ทอัพเหล่านั้นทำได้
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด