นอกจากจะปลดพนักงานจำนวนมหาศาล บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่อย่าง Meta, Amazon หรือ Salesforce กำลังลดต้นทุนด้วยการลดจำนวนผู้บริหารระดับกลางในองค์กรลง ซึ่งเป็นการทำให้องค์กรแบนราบ (Flat) แต่ก็มาพร้อมความเสี่ยงในระยะยาว
จากความต้องการลดต้นทุน ลดค่าใช้จ่าย เนื่องจากขาดทุนและความกลัวภาวะเศรษฐกิจถดถอย หลายบริษัทในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีตั้งเป้าให้ปี 2023 เป็น ‘ปีแห่งประสิทธิภาพ’ นั่นก็คือบริษัทจะพยายามลดค่าใช้จ่ายในสิ่งที่ไม่จำเป็น ตัดโครงการที่ไม่มีประสิทธิภาพ และปรับลดพนักงานลง
ทั้ง Mark Zuckerberg CEO ของ Meta และ Andy Jassy CEO ของ Amazon ก็ต่างประกาศเป้าหมายของพวกเขาในปีนี้ว่าจะต้องมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้านการใช้จ่าย และการย้ายผู้บริหารจำนวนมากให้เข้าสู่บทบาทที่เรียกว่า ‘individual contributors’ นั่นก็คืองานที่ไม่มีลูกน้อง ก็เป็นหนึ่งในวิธีการสร้างประสิทธิภาพ เพื่อจะได้เติมเต็มตำแหน่งอื่น ๆ แทน เช่น Developer Sale เป็นต้น
ในด้านของ Meta ซึ่งประกาศจุดยืนชัดว่าปีนี้ต้องมีประสิทธิภาพ ด้วยการลดขนาดและปรับโครงสร้างองค์กรให้มีความแบนราบมากขึ้น และลดสถานะผู้บริหารระดับกลางลง ซึ่ง Mark Zuckerberg เชื่อว่าลำดับชั้นของการจัดการที่น้อย จะทำให้งานสนุกมากขึ้น นอกจากนั้นยังมองว่าผู้บริหารระดับกลางไม่มีความจำเป็น
"ผมไม่คิดว่าคุณต้องการโครงสร้างการจัดการที่มีเพียง ผู้จัดการที่จัดการผู้จัดการที่จัดการผู้จัดการที่จัดการ คนที่กำลังทำงาน" Mark Zuckerberg
ที่ Twitter หลังจากเข้าซื้อกิจการ Elon Musk ตอบคำถามเมื่อมีคนถามเขาว่าอะไรใน Twitter ที่วุ่นวายที่สุด ณ ตอนนั้น ซึ่ง Musk ตอบว่า ‘คนเขียนโค้ดสิบคน ทุกคนมีผู้จัดการหมด’ หลังจากนั้นเขาจึงสั่งให้ผู้จัดการพวกนั้นเขียนโค้ดด้วย นอกจากทำงานด้านบริหาร
เช่นเดียวกัน Amazon เองก็กำลังพิจารณาขอบเขตการควบคุม (Span of control) หรือ จำนวนผู้ใต้บังคับบัญชาโดยตรงภายใต้ผู้จัดการแต่ละคน Salesfoce ก็ได้ลดบทบาทและอำนาจของผู้จัดการลงเหมือนกัน เพื่อลดความซับซ้อนของสายบังคับบัญชาและเพิ่มประสิทธิภาพ
การปรับลดผู้บริหารระดับกลาง ทำให้การตัดสินใจเร็วขึ้น สามารถออกผลิตภัณฑ์บริการสู่ผู้บริโภคได้เร็วกว่าเดิม และผู้บริหารเหล่านั้นสามารถมุ่งเน้นไปที่การฝึกสอนพนักงานแทนที่จะคอยดูแลควบคุมพวกเขาอย่างเดียว
แม้จะมีข้อดี แต่ผู้เชี่ยวชาญมองว่าการปรับโครงสร้างแบบ flattening เป็นแนวโน้มที่เหมาะสมในระยะสั้น แต่อาจมีผลลบต่อบริษัทเหล่านี้ในระยะยาว เพราะการกำจัดผู้บริหารระดับกลางอาจส่งผลกระทบต่อวัฒนธรรมองค์กร และในที่สุดแล้วมันอาจทำให้ผลงานของบริษัทโดยรวมลดลง
ตัวอย่างหนึ่งที่สำคัญคือ : ความก้าวหน้าในอาชีพ เพราะพนักงานรุ่นใหม่ต่างรับรู้และเชื่อว่าการเดินทางไปสู่ระดับผู้จัดการเป็นเส้นทางสู่ความสำเร็จ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากพวกเข มีความทะเยอทะยานเพื่อเป็นผู้บริหารองค์กรในอนาคต แต่ถ้าบริษัทกำลังกำจัดตำแหน่งผู้จัดการออก แล้วเส้นทางในอาชีพตอนนี้จะมีภาพอย่างไร ?
ผู้จัดการระดับกลางยังมีอิทธิพลในการกำหนดวัฒนธรรมขององค์กรและอาจส่งผลต่อความรู้สึกผูกพันกับงานที่ทำของพนักงานด้วย
การวิเคราะห์ที่ทำโดย Gallup บริษัทวิเคราะห์และให้คำปรึกษาด้านองค์กรระดับโลก เกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของพนักงานพบว่า สิ่งที่กำหนดความรู้สึกของพนักงานเกี่ยวกับงานของพวกเขาคือไดนามิกของทีม ไม่ใช่ทั้งองค์กร ซึ่งหมายถึงพลัง ความคิด ความกระตือรือร้น และผู้จัดการระดับกลางจะเป็นผู้กำหนดจังหวะและน้ำเสียงนั้น
นอกจากนั้นรายงานของ Ito พบว่าการลดจำนวนชั้นบริหารมากเกินไปอาจเสี่ยงต่อการเป็นภาระหนักแก่ผู้บริหารที่เหลือให้มีงานมากเกินไปและไม่สามารถสอนหรือแนะแนวทางต่างๆและควบคุมดูแลผู้ร่วมทีมโดยตรงได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในทางกลับกัน ผู้จัดการที่มีประสิทธิภาพยังสามารถนำลูกทีมดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
"ผู้บริหารที่ดีและมีความสัมพันธ์กับทีมที่แข็งแกร่งสามารถนำทีมของพวกเขาไปสู่ผลงานขององค์กรที่ดีขึ้น สามารถขับเคลื่อนการดำเนินงานขององค์กรอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และเป็นส่วนเชื่อมโยงระหว่างวิสัยทัศน์และการดำเนินงานขององค์กรได้"
นอกจากนี้หลายๆบริษัทยังมีการเน้นให้พนักงานกลับมาทำงานในออฟฟิศ โดยเฉพาะกลุ่มบิ๊กเทคฯ ซึ่งหากไม่มีผู้บริหารที่มีประสิทธิภาพ การรักษาวัฒนธรรมของบริษัทในสภาพแวดล้อมการทำงานแบบไฮบริดจะยิ่งยากลำบากขึ้น
อ้างอิง : businessinsider
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด