NIA เผย 'นโยบายนวัตกรรม' อีกวาระสำคัญของ 'ผู้นำคนใหม่' และการสร้างชาติ | Techsauce

NIA เผย 'นโยบายนวัตกรรม' อีกวาระสำคัญของ 'ผู้นำคนใหม่' และการสร้างชาติ

NIA เผย “นโยบายนวัตกรรม” อีกวาระสำคัญของผู้นำคนใหม่และการสร้างชาติ พร้อมจุดประเด็น “3C” ตัวบ่งชี้อนาคตประเทศไทย มิติเร่งด่วนที่ต้องนำนวัตกรรมมาคลี่ปม

นโยบายนวัตกรรมสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA เปิดบทบาทของผู้นำประเทศคนใหม่กับการนำนวัตกรรมมาขับเคลื่อนประเทศ พร้อมถอดบทเรียนจากผู้นำจากประเทศชั้นนำทั่วโลกที่ประสบความสำเร็จจากการนำนโยบายเชิงนวัตกรรมเรียกความเชื่อมั่นกับประชาชนจนได้รับชัยชนะและมีโอกาสได้เข้าไปพัฒนาประเทศตามเป้าหมาย 

นอกจากนี้ ยังเผยถึงนโยบายด้านนวัตกรรมกับการแก้ไขปัญหาของไทยตามแนวคิด 3C “Competitiveness – Corruption - Climate Change” ที่ผู้นำจำเป็นต้องนำนวัตกรรมมาเร่งสร้างการเปลี่ยนแปลง 

ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กล่าวว่า ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา นโยบายด้านนวัตกรรมเป็นประเด็นที่นักการเมืองหลายประเทศชั้นนำของโลกให้ความสนใจที่จะทำเป็นลำดับแรกหากได้รับเลือกตั้ง 

ซึ่งนโยบายดังกล่าวมีส่วนสัมพันธ์กับทั้งอุตสาหกรรมเทคโนโลยีป้องกันประเทศ การสร้างความสามารถทางการแข่งขันของผู้ประกอบการ การเพิ่มรายได้มวลรวม รวมถึงการสร้างชาติให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล โดยปัจจุบันจะเห็นได้ว่าหลายประเทศชั้นนำทั้งยุโรป อเมริกา เอเชีย ล้วนได้รับการยอมรับจากการมีขีดความสามารถทางเทคโนโลยีที่สูง มีแบรนด์นวัตกรรมที่มีชื่อเสียง รวมทั้งเพิ่มและสร้างมูลค่าใหม่ให้กับคนในประเทศด้วยอุตสาหกรรมและธุรกิจใหม่ ๆ 

ซึ่งในช่วงไม่กี่ปีมานี้จะเห็นได้ว่าผู้นำและว่าที่ผู้นำโลกหลายคนได้หยิบยกนโยบายด้านนวัตกรรมมาเป็นเครื่องมือเรียกความเชื่อมั่นจากภาคประชาชน เช่น ปัญญาประดิษฐ์ ยานยนต์ไฟฟ้า ดิจิทัล พลังงานใหม่ บริการสุขภาพ เพื่อกระตุ้นให้เกิด การจ้างงานที่มีค่าตอบแทนสูง และชีวิตที่สะดวกสบายยิ่งขึ้น 

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดของนโยบายด้านนวัตกรรม 

  • จีน ที่ทำอุตสาหกรรมส่งออกควบคู่กับอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ

  • ญี่ปุ่น ก็มีนโยบายนี้มาตั้งแต่ก่อนแพ้สงคราม และในปีที่ผ่านมาก็ได้ออกมาประกาศแนวทางฟื้นเศรษฐกิจของประเทศด้วยการส่งเสริมด้านนวัตกรรมของภาคเอกชนมากกว่าการเน้นนโยบายด้านการเงิน

  • สิงคโปร์ แม้นโยบายจะไม่ชัดเจนตอนหาเสียง แต่มีนโยบายนวัตกรรมผ่านกระทรวงการคลังในแต่ละปีอย่างชัดเจนว่าจะทำนวัตกรรมอะไร

  • เกาหลี กับการทำอุตสาหกรรมเทคโนโลยีป้องกันประเทศ ซึ่งประสบความสำเร็จร่วมกับอินโดนีเซียในการทำเครื่องบินรบลำใหม่

  • ตุรเคีย ที่มีผู้นำค่อนข้างเข้มแข็งจนทหารไม่สามารถรัฐประหารได้สำเร็จ ซึ่งหากดูนโยบายพบว่ามีการเติบโตในภาคอุตสาหกรรมและนวัตกรรมค่อนข้างรวดเร็ว

  • อินเดีย ก็ต่อเรือบรรทุกเครื่องบินสำเร็จเป็นครั้งแรกจากนโยบายของนเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีที่มีนโยบายพัฒนาห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมให้เกิดความสามารถทางด้านการผลิต การสนับสนุนเมกะโปรเจกต์ในด้านเทคโนโลยีป้องกันประเทศ การผลักดันสตาร์ทอัพจนเกิดการสร้างงาน และทำให้อินเดียกลายเป็นประเทศด้านนวัตกรรมแล้วในทุกวันนี้

ดร.พันธุ์อาจ กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะที่ประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมามีนโยบายมุ่งเน้นสร้างการเติบโตและพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวมด้านอุตสาหกรรมอาหารและภาคการเกษตร หรือ BCG ซึ่งบริษัทของไทยที่นำนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีเชิงลึกมาขับเคลื่อนอุตสาหกรรมส่วนใหญ่เติบโตในระดับโลกหมดแล้ว เช่น บริษัทมิตรผล ผลิตน้ำตาลอยู่อันดับ 3 ของโลก บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป ผลิตปลาทูน่ากระป๋องครองอันดับ 1 ของโลก และบริษัทไทยเบฟเวอเรจใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 

ต้องมองภาพใหญ่ก่อนว่านโยบายที่จะผลักดันเป็นนโยบายที่ควรส่งเสริมจริงหรือไม่ และจะนำนวัตกรรมมาช่วยสร้างการเติบโตให้อุตสาหกรรมใดต้องชัดเจน

แต่องค์กรเหล่านี้อาจยังไม่สามารถสะท้อนความเป็นชาติแห่งนวัตกรรมของไทยได้ทั้งหมด ซึ่งไทยยังต้องเร่งสร้างแบรนด์ระดับโลกที่ทำด้านนวัตกรรม และนโยบายทางการเมืองต้องมุ่งเน้นสิ่งนี้ให้มากขึ้น โดยยังต้องมองภาพใหญ่ก่อนว่านโยบายที่จะผลักดันเป็นนโยบายที่ควรส่งเสริมจริงหรือไม่ และจะนำนวัตกรรมมาช่วยสร้างการเติบโตให้อุตสาหกรรมใดต้องชัดเจน ถ้าเป็นอุตสาหกรรมที่ไทยไม่เคยมีก็ต้องสร้าง หากอะไรที่โดดเด่นอยู่แล้วต้องส่งเสริมให้โดดเด่นในระดับโลกให้ได้

“แม้ปัจจุบันไทยจะมีบริษัทขนาดใหญ่ด้านอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารที่เติบโตในระดับโลก แต่เรายังไม่ประสบความสำเร็จในการจารึกว่าบริษัทขนาดใหญ่ระดับโลกที่ทำนวัตกรรมด้านเกษตรและอาหารอยู่ในประเทศไทย กลับถูกจารึกว่าเราคืออู่ข้าวอู่น้ำของโลก ต่างจากสวิตเซอร์แลนด์แม้จะเป็นประเทศขนาดเล็ก ไม่มีทางออกทะเล แต่กลับขายซอสแม็กกี้ไปทั่วโลก นี่คือศักยภาพของการสร้างอาณาจักรธุรกิจด้วยนวัตกรรม แล้วค่อยมาลงที่ว่าจะแก้ปัญหาระยะสั้นอย่างไรด้วยนวัตกรรม ซึ่งเรื่องแรกตอบเรื่องของการแข่งขันทางการตลาด ส่วนเรื่องหลังตอบความสามารถทางการแข่งขันที่ทำได้ หลายประเทศทำแบบนี้ จีน เกาหลี ญี่ปุ่น อะไรที่เด่นอยู่แล้วต้องผลักดันให้เด่นในระดับโลกด้วย เอาเรื่องเด่นมาสู้เพื่อยกระดับความสามารถทางการแข่งขันหรือ Competitiveness ”

"คอรัปชั่น" หนึ่งปัญหาใหญ่ที่คนไทยให้ความสนใจ

ดร.พันธุ์อาจ ระบุเพิ่มเติมว่า การคอรัปชั่น เป็นอีกหนึ่งปัญหาใหญ่ที่คนไทยให้ความสนใจ เพราะสังคมมองว่าคนจนเพราะถูกคอรัปชั่น ดังนั้น นโยบายเชิงนวัตกรรมต้องแก้ปัญหาคอรัปชั่นและตอบคำถามเรื่องของประสิทธิภาพการทำงานของรัฐบาลได้ตั้งแต่การตรวจเงินแผ่นดิน การเอา Blockchain ไปใช้ ถ้ารัฐไม่ซื้ออุตสาหกรรมก็จะไม่เกิด 

ปัจจุบันไทยไม่ได้ขาดฝั่งของผู้สร้างนวัตกรรม เพราะหากดูจาก global innovation index (GII) จะเห็นว่า อัตราส่วนการลงทุนเรื่องวิจัยและนวัตกรรมโดยภาคเอกชนไทยติดอันดับ 1 ของโลก นั่นคือเอกชนลงมากกว่ารัฐ สัดส่วนเอกชนลงไว้แล้วกว่า 80% อันตรายมากคือรัฐจ่ายน้อยลงเรื่อยๆ เอกชนจ่ายมากขึ้นยังไงเค้าก็รอด อย่าบอกว่าเศรษฐกิจไทยจะไม่รอด รอดอยู่แล้ว แต่รอดในมือของบริษัทขนาดใหญ่

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งขยะทะเล ฝุ่นควัน PM 2.5 รถติด ปัญหาอุณหภูมิ ทะเลเปลี่ยน น้ำทะเลกัดเซาะ ทำให้การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ (Net Zero) เป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ทุกภาคส่วนหันมาให้ความสำคัญ แต่การใช้ชีวิตของคนในปัจจุบันยังเคยชินกับการสั่งเดลิเวอรี่ ทำให้ขยะเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัวต่อวัน การผลักดันให้ใช้รถ EV ไม่สามารถช่วยลดปัญหาฝุ่นควันได้ 

แม้ในอนาคตพื้นที่ กทม. จะใช้รถ EV สูงถึง 80% ฝุ่นควันก็ไม่หาย โดยมีกรณีศึกษาว่าการใช้รถไฟฟ้าไม่ได้หมายความว่า PM 2.5 จะลด เพราะว่าคุณยังใช้ถนนในการเดินทางเหมือนเดิม ปัญหา climate change จึงเป็นเรื่องใกล้ตัวทุกคน แต่ไกลตัวจากมุมที่ว่าจะต้องเปลี่ยนวิถีการใช้ชีวิตยังไง เพราะฉะนั้นปัญหาสภาพแวดล้อมเป็นโจทย์ใหญ่ที่ต้องเร่งแก้ไขด้วยเช่นเดียวกัน

อยากเห็นแคนดิเดต Innovation Minister ที่ไม่ใช่ทีมเศรษฐกิจทั่วไปมาแสดงจุดยืนและเจตนารมณ์ด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี

“ในฐานะของหน่วยงานเพื่อการส่งเสริมระบบนวัตกรรมแห่งชาติ อยากเห็นการนำเสนอนโยบายที่นำนวัตกรรมเป็นตัวตั้งอย่างแท้จริง อยากเห็นแคนดิเดต Innovation Minister ที่ไม่ใช่ทีมเศรษฐกิจทั่วไปมาแสดงจุดยืนและเจตนารมณ์ด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี ซึ่งเป็นอีกวาระสำคัญระดับชาติ อยากให้แต่ละพรรคลองสมมติบทบาทเสมือนว่าเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงนวัตกรรม แล้วลองดูว่าระบบที่มีอยู่เวิร์คหรือไม่ และจะดำเนินการอย่างไรต่อ รวมถึงหากเข้ามาในสภาได้แล้วอีก 4 ปีจะเปลี่ยนแปลงประเทศด้วยนวัตกรรมอย่างไร หรือจะให้นวัตกรรมช่วยขับเคลื่อนประเทศไปอยู่อันดับไหนของโลก โดยการดีเบตไม่เพียงแต่เป็นการแข่งขันหรือช่วงชิงคะแนนเท่านั้น แต่ยังเกิดประโยชน์ในมิติของประชาชนที่อาจจะได้แนวคิดไปพัฒนาธุรกิจ หรือทักษะความสามารถ ประโยชน์ต่อองค์กรธุรกิจ รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐอื่นในการกำหนดนโยบายและแผนเชิงรุกเพื่อนำพาประเทศไปสู่จุดที่สูงขึ้น”

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

IMD จัดอันดับ Digital Competitiveness ปีนี้ ไทยร่วงจาก 35 เป็น 37 ถ้าอยากขยับขึ้น...ต้องแก้ไขตรงไหนก่อน?

ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัล ประจำปี 2567 โดย IMD World Competitiveness Center ไทยได้อันดับ 37 ขยับลงจากปีก่อน 2 อันดับ (35) แล้วจะทำอย่างไรให้ไทยได้อยู่ในอัน...

Responsive image

สู่ Siri ยุคใหม่ ! เผย Apple เตรียมเปิดตัว LLM Siri ในปี 2026 ท้าแข่ง ChatGPT โดยเฉพาะ

OpenAI ถือเป็นหนึ่งในบิ๊กเทคฯ ยักษ์ใหญ่ที่มีความก้าวกระโดดด้านการพัฒนา AI หลังจากสร้างกระแสด้วยแชทบอท ChatGPT ไปเมื่อปลายปี 2022 ซึ่งเมื่อปีที่แล้วก็เพิ่งมีดีลกับ Apple ในการนำ Cha...

Responsive image

American Airlines เปิดตัวระบบจัดการคิวอัจฉริยะ เทคโนโลยีเสียงเตือนสองระดับ ปิดเกมสายแซงคิวขึ้นเครื่อง

เคยเจอไหม? คนแซงคิวขึ้นเครื่องจนวุ่นวายที่ประตูทางขึ้น หลังจากนี้จะไม่มีอีกต่อไป เมื่อ American Airlines แก้ปัญหานี้ด้วยเทคโนโลยีเสียงเตือนอัจฉริยะ ที่จะจับทุกความพยายามแอบขึ้นเครื...