หลังจากการประกาศยกธงข่าวอย่างเป็นทางการของ FTX ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่เรียกได้ว่าเป็นประเด็นที่ร้อนแรงที่สุดสำหรับเหล่าคริปโทเนียนก็ไม่ผิด เพราะด้วยชื่อเสียง และความเชื่อมั่นของผู้ใช้ทั้งคนใหม่ และคนเดิม ต่างไม่คาดว่าการล้มของ FTX ที่ถูกประเมินว่าเป็นแพลตฟอร์มแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลอันดับ 2 ของโลก จะออกมาในรูปแบบนี้ หรือล้มด้วยท่าง่ายๆ แบบนี้ จนสร้างความสั่นคลอนให้เกิดขึ้นกับกระดานเทรดเจ้าอื่นไปตามๆ กัน
ยิ่งไปกว่านั้น FTX เองยังถือหุ้นบริษัทอีกหลายที่ และลงทุนในโปรเจกต์ DeFi อีกหลายตัว การล้มลงของยักษ์ตนนี้ คงจะยังไม่สามารถฟื้นฟูความเสียหาย และคลายความกังวลของนักลงทุนโดยเร็ววันแน่นอน เพราะการเจ็บหนักครั้งนี้ไม่ได้ส่งผลกระทบแค่เพียงรายใหญ่ แต่รายใหญ่ที่เรารู้จักกันในตลาดหุ้น ยกตัวอย่างเช่น Softbank ก็คงเข้าเนื้อไปไม่น้อย โดยปัจจุบันได้มีการบักทึกมูลค่า FTX ในพอร์ทเป็น 0 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว แสดงให้เห็นถึงการหมอบยอมแพ้กับเหตุการณ์ดังกล่าว
คงไม่สามารถปฎิเสธได้ว่าการเข้ามาลงสนามในตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล นักลงทุนไม่ว่าจะเป็นมือใหม่ มือเก๋า ก็ต้องมี Centralized Exchange เป็นตัวเลือกในลิสต์ลำดับแรกไม่ผิดแน่ แล้วค่อยขยับเขยื้อนเข้ามาทดสอบตลาดการเงินแบบกระจายศูนย์ หรือ DeFi ที่มีความเสี่ยงมากขึ้น ซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดกับกระดานเทรด ที่เรียกว่าเป็นการบริการแบบรวมศูนย์ (Centralized Service) แบบนี้ จะทำให้คนเริ่มตระหนักรู้ในเรื่องของการลดการพึ่งตัวกลางลง และมีความเป็นไปได้สูงว่าแพลตฟอร์มผู้ให้บริการในรูปแบบของ DeFi จะเริ่มได้รับความสนใจในวงกว้างมากยิ่งขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่คุ้นเคยกันใน CEX อย่าง Spot ที่ผู้ใช้สามารถเลือกใช้ DEX ในการแลกเปลี่ยน (Swap) ได้ รวมไปถึงผลิตภัณฑ์อย่าง Derivatives มีพวกเรามักจะคุ้นเคย คือ การเปิด Long หรือ Short แบบ Perpetual Futures ซึ่งเป็นเพียงส่วนหนึ่งของผลิตภัณฑ์ในหมวดนี้ ก็มีให้เลือกใช้หลายแพลตฟอร์มเช่นกัน
โดยสัปดาห์ที่ผ่านมาหลังการประกาศล้มละลายของ FTX ดูเหมือนนักลงทุน และนักเก็งกำไร ก็เริ่มเก็งกันว่าคนน่าจะเริ่มแห่เข้ามาโลก DeFi ในไม่ช้า ทำให้ราคาของเหรียญในกลุ่มนี้บางตัวดีดขึ้น Outperform กว่าหลายเหรียญ ตัวที่เห็นได้ชัดน่าจะเป็นกลุ่มของ Derivatives Platform ที่ยังดูดี และคงความเชื่อมั่นของผู้ใช้ไว้ได้อยู่ ซึ่งเมื่อเทียบดูข้อมูลปริมาณการเทรดในแพลตฟอร์มนั้นจริงๆ ก็มีปริมาณการเทรดที่สูงขึ้นด้วยเช่นกัน เรียกได้ว่าเป็นสีสัน และการคาดเดาความเป็นไปได้ที่อาจจะเกิดขึ้นของคนในตลาด
แต่การจะทำให้บริการของ DeFi สามารถตอบสนองต่อการใช้งานของคนในวงกว้าง จนไปถึงระดับโครงสร้างนั้น ยังคงมีอุปสรรค และขวากหนามที่ต้องฟันฝ่าไปอีกมาก โดยเฉพาะกับเรื่องของความรับผิดชอบต่อข้อมูลที่จะถูกผลักให้เป็นความรับชอบของผู้ใช้แต่เพียงผู้เดียว รวมไปถึงความง่ายต่อการใช้งานที่ปัจจุบันกระบวนการนี้ ก็ไม่ได้ friendly ต่อผู้ใช้ทั่วไปที่เข้ามาแล้วจะใช้ได้เลยเหมือนแอพธนาคารที่เราใช้กันอยู่ตอนนี้ โดยส่วนตัว หากจะมอบการบริการที่ง่าย และเข้าถึงกลุ่มคนได้อย่างทั่วถึง การผสานกันตรงกลาง ระหว่าง DeFi และ CeFi จะกลายเป็นคำตอบของเรื่องนี้ และน่าจะเป็นอีกหนึ่งเทรนด์ที่น่าจะเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว หากข้อตกลงทุกอย่างลงตัว
อย่างไรก็ตาม การที่ Centralized ที่กำลังสั่นคลอนอยู่ ณ ปัจจุบัน ก็ใช่ว่าจะส่งผลกระทบต่อตลาดที่เป็น Decentralized เพราะบริษัทลักษณะนี้ ส่วนใหญ่ก็มักจะเหยียบขาไว้ทั้งสองฝั่ง เพื่อไม่ให้พลาดโอกาสการลงทุน พูดอีกนัยหนึ่ง คือ พวกเขาก็ลงทุนในโปรเจกต์ DeFi แบบที่กล่าวไว้ข้างต้น การที่ความเชื่อใดใดถูกลดทอนลงจากฝั่ง Centralized ก็ย่อมส่งผลเสีย ในระยะสั้น ถึงระยะยาวกลางต่อโปรเจกต์ DeFi หลายตัวที่ถูกลงทุนไม่ว่าจะทางตรง หรือทางอ้อม ซึ่งผลกระทบดังกล่าวอาจจะสร้างความเสียหายไม่มากในเชิงตัวเลข แต่ในเชิงจิตวิทยาแล้ว นักลงทุนน่าจะโดนจนเมาหมัด และไม่กล้าเข้ามาลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลอีกต่อไปเลยก็ได้เช่นกัน ซึ่งการสร้างความเชื่อมั่นใหม่ให้กลับมาจากความเสียหายที่เกิดขึ้น พร้อมกับคงความเชื่อมั่นของนักลงทุนเดิมที่มีอยู่ เป็นเรื่องที่หินและน่าจะกินเวลานานในระดับนึง ซึ่งก็ได้แต่หวังว่าหลังจากนี้ ผลกระทบที่เกิดขึ้นจาก FTX คงจะทุเลาลง และไม่เกิดเหตุการณ์ after-shock อื่นๆ ที่รุนแรงตามมา
แม้ความผิดพลาดดังกล่าวที่เกิดขึ้น จะเป็นความผิดพลาดที่อยู่บนตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล แต่ก็ไม่ได้แปลว่าตลาดทุนอื่น ไม่เคยเกิดข้อผิดพลาดแบบนี้ขึ้นเลย ถ้าจะให้ยกตัวอย่าง ลองดูได้จากวิกฤตต่างๆ ที่ผ่านมาเป็นข้อมูลก็จะเห็นภาพได้ชัดเจนขึ้น สิ่งที่ผู้เขียนอยากจะสื่อ คือ ไม่ว่าจะเป็นโลกของ Centralized หรือ Decentralized ความเสี่ยงที่จะเกิด Black Swan นั้น มีไม่ต่างกัน และผลกระทบเหล่านั้น สามารถสร้างความเสียหายได้อย่างมหาศาลกับทุกคนได้เสมอ ดังนั้น สิ่งที่นักลงทุนส่วนใหญ่ควรระลึกไว้เสมอ คือ “แผน” หรือทางหนีทีไล่ที่ต้องเตรียมเผื่อเหตุการณ์แบบนี้ เพราะไม่มีแพลตฟอร์มไหน หรือระบบใด ที่ปลอดภัย 100% มีแต่ที่ยังปลอดภัยอยู่ และยังไม่โดนแฮ็คก็เท่านั้น
บทความโดย บีม ชานน จรัสสุทธิกุล ผู้ร่วมก่อตั้ง และ CEO ของ Forward - Decentralized Derivatives Platform และ Forward Labs - Blockchain Technology Labs
Facebook แฟนเพจ Beam Chanon
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด